สมุนไพรเพื่อสุขภาพ / โครงการสมุนไพรเพื่อการพึงพาตนเอง/ยาหอมนวโกฐ สร้างเสริมสุขภาพสังคมผู้สูงอายุ

สมุนไพรเพื่อสุขภาพ / โครงการสมุนไพรเพื่อการพึงพาตนเอง มูลนิธิสุขภาพไทย www.thaihof.org

 

ยาหอมนวโกฐ

สร้างเสริมสุขภาพสังคมผู้สูงอายุ

เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ ในที่สุดไทยแลนด์ก็กลายเป็นประเทศน้องใหม่ที่ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ในปี 2561 นี้เอง
ก่อนหน้านี้สังคมไทยเรายังเป็นแค่สังคมที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุ ซึ่งภาษาอังกฤษเรียกว่า เอจจิ้งโซไซตี้ (Aging Society) เพราะเกณฑ์ประชากรผู้สูงอายุไทยยังไม่ทะลุร้อยละ 20
แต่ปีนี้ทะลุแล้วจึงต้องเรียกใหม่ว่าเอจเจ็ดโซไซตี้ (Aged Sosiety) หรือสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์นั่นเอง
สังคมที่มั่นคงยั่งยืนคือสังคมที่มีประชากรเด็กมากกว่าผู้สูงอายุ หรือพูดง่ายๆ ว่ามีเด็กมากกว่าคนแก่นั่นเอง
แต่เพิ่งเมื่อปีที่แล้วนี้เองได้เกิดอุบัติประวัติการณ์ที่สังคมไทยมีคนแก่มากกว่าเด็ก
ซึ่งนอกจากจะเสี่ยงต่อความมั่นคงด้านแรงงานและรายได้แล้ว
ครอบครัวไทยจะเงียบเหงามากขึ้น เพราะไม่มีเสียงเด็ก มีแต่คนแก่ที่อยู่บ้านคนเดียว
หรืออยู่อย่างเงียบเหงาตามบ้านสงเคราะห์คนชราซึ่งจะขยายตัวมากขึ้น

ตอนนี้สมุนไพรที่ชื่อต้นป่าช้าเหงา (ต้นป่าเฮ่วหมอง) กำลังดังเป็นพลุเพราะโฆษณาสรรพคุณรักษามะเร็งและช่วยให้คนแก่ตายยาก จนเป็นที่มาของชื่อต้นป่าช้าเหงา ซึ่งก็ไม่เหงาวังเวงเท่ากับ “บ้านเหงา” เพราะเหลือแต่คนแก่
ถ้าว่ากันตามหลักความมั่นคงในมนุษย์แล้ว ผู้สูงอายุเกิน 60 ปี ถูกจัดให้เป็นประชากรในกลุ่มเดียวกับเด็กที่ต้องพึ่งพิงหรืออาศัยคนอื่นเลี้ยงดู
แต่ถ้าคนพึ่งพิงมีมากกว่าคนหาเลี้ยงแล้ว นานไปผู้สูงอายุสังคมไทยจะมีสภาพเช่นไร
ถึงวันนี้ผู้สูงอายุคงต้องเปลี่ยนนิยามตนเองจากประชากรที่พึ่งพิงผู้อื่นไปเป็นประชากรที่พึ่งพิงลำแข้งตนเอง
เริ่มต้นจากดูแลตัวเองให้เป็นผู้สูงวัยอย่างมีคุณภาพ และมีสุขภาพดีไม่สามวันดีสี่วันไข้ให้เป็นภาระของลูกหลาน
กล่าวสำหรับสุขภาพทางกายนั้น หัวใจย่อมเป็นอวัยวะสำคัญที่สุด และทำงานหนักนับตั้งแต่เสียงเต้นตุบแรกของหัวใจทารกในครรภ์มารดาที่อัลตร้าซาวนด์จับสัญญาณได้ จนเติบใหญ่สู่วัยชรา ที่การเต้นของหัวใจเริ่มอ่อนล้าและผิดจังหวะ ซึ่งพลอยทำให้องคาพยพทั้งปวงเสื่อมถอยไปด้วย
แต่หากสุขภาพหัวใจดี แม้สูงอายุแค่ไหนสุขภาพกายทั้งปวงย่อมดีไปด้วย

ยาหอมเป็นยาอายุวัฒนะคู่สุขภาพผู้สูงอายุไทยมาแต่โบราณกาล ใช้เป็นทั้งยานัตถุ์เข้าจมูก ชงน้ำอุ่นดื่ม หรือจะใช้ช้อนเล็กๆ ตักผงดิบๆ เข้าปาก ก็สดชื่นชุ่มใจไปอีกแบบ
ยาหอมไทยเฉพาะยาตำรับหลวงเองก็มีไม่น้อยกว่า 30 ตำรับ
แต่ตำรับเด่นที่มีงานวิจัยค่อนข้างชัดเจนยืนยันว่ามีสรรพคุณบำรุงหัวใจ คือ ยาหอมนวโกฐ ซึ่งเป็นยาสูตรใหญ่ ประกอบด้วยเครื่องยาถึง 54 ชนิด
เป็นพืชวัตถุ 53 ชนิด (ตัดรากไคร้เครือออกไปแล้ว) และธาตุวัตถุอีก 1 ตัวคือพิมเสน
ในสูตรยาหอมนี้นอกจากมีโกฐครบทั้ง 9 ตัว สมชื่อนวโกฐแล้ว ได้แก่ โกฐสอ โกฐเขมา โกฐหัวบัว โกฐเชียง โกฐจุฬาลัมพา โกฐกระดูก โกฐก้านพร้าว โกฐพุงปลา โกฐชฎามังสี เป็นกลุ่มยาหลัก สำหรับบำรุงหัวใจ
คู่กับเทียนทั้ง 9 ที่เสริมสรรพคุณบำรุงกำลัง ได้แก่ เทียนดำ เทียนแดง เทียนขาว เทียนข้าวเปลือก เทียนตาตั๊กแตน เทียนเยาวพาณี เทียนสัตตบุษย์ เทียนเกล็ดหอย เทียนตากบ
ยังมีกลุ่มสมุนไพรรสหอมเย็นชุ่มชื่นใจ เช่น กฤษณา ขอนดอก กระลำพัก และ กลุ่มเกสรทั้ง 5 ได้แก่ เกสรบัวหลวง ดอกบุนนาค ดอกพิกุล ดอกสารภี ดอกมะลิ
รวมทั้งกลุ่มสมุนไพรรสร้อนช่วยสร้างสมดุลธาตุทั้ง 5 ได้แก่ ดีปลี รากช้าพลู เถาสะค้าน เจตมูลเพลิงแดง ขิง เป็นต้น

มีงานวิจัยสารสกัดยาหอมนวโกฐทั้งตำรับ พบว่ามีฤทธิ์เพิ่มความความดันขณะหัวใจบีบตัว (systolic pressure) ช่วยให้รู้สึกกระชุ่มกระชวยยิ่งขึ้น และในรายที่เป็นลมหน้ามืด วิงเวียนเนื่องจากความดันโลหิตต่ำ สารสำคัญในตำรับยาหอมจะค่อยๆ เพิ่มความดันโลหิตตามขนาดยาที่เพิ่มขึ้น และทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวโดยไม่มีอันตรายเนื่องจากความดันโลหิตที่สูงขึ้น
ที่สำคัญยังพบว่าสารสกัดยาหอมตำรับนี้มีฤทธิ์เพิ่มอัตราการไหลเวียนเลือดในสมอง ช่วยให้ความจำดี ห่างไกลอัลไซเมอร์ ทั้งยังเพิ่มการไหลเวียนโลหิตในหลอดเลือดขนาดเล็กที่ไปเลี้ยงอวัยวะส่วนปลาย ป้องกันอาการเหน็บชา อาการสั่น อัมพฤกษ์ อัมพาตตามปลายมือปลายเท้า และยังออกฤทธิ์เพิ่มการแบ่งตัวของเม็ดเลือดขาว ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันโรคในผู้สูงอายุ ไม่ให้เจ็บป่วยง่าย
ยาหอมนวโกฐเป็นยาสามัญคู่บ้านคู่เรือนไทยมาช้านาน ทั้งยังได้รับการบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติมาเป็นเวลา 12 ปีมาแล้ว
กระทรวงสาธารณสุขน่าจะผลักดันให้โรงพยาบาลของรัฐนำร่องใช้ยาหอมตำรับนี้กับกลุ่มผู้สูงอายุอย่างแพร่หลายโดยสามารถเบิกจ่ายได้ด้วย
และเมื่อนั้นยาหอมก็จะมีส่วนช่วยให้สังคมผู้สูงอายุของไทยมีหัวใจและสมองแข็งแรง สามารถพึ่งตัวเองในวัยหลังเกษียณได้อีกหลายปี
โดยไม่กลายเป็นผู้ป่วยชรานอนติดเตียงเป็นภาระแก่ลูกหลาน