โฟกัสพระเครื่อง / โคมคำ /พระผงพระพุทธสิหิงค์ ศาลหลักเมืองยครศรีฯ มงคลรุ่นแรก พ.ศ.2530

พระพุทธสิหิงค์ จ.นครศรีธรรมราช

โฟกัสพระเครื่อง / โคมคำ [email protected]

 

พระผงพระพุทธสิหิงค์

ศาลหลักเมืองยครศรีฯ

มงคลรุ่นแรก พ.ศ.2530

 

“พระพุทธสิหิงค์” เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองที่ชาวไทยสักการบูชามาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล และมีอยู่หลายองค์ด้วยกันกระจายไปตามจังหวัดต่างๆ
ที่ถือว่าเป็นองค์แท้จริงมีเพียง 3 องค์ คือ องค์แรกประดิษฐาน ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร, องค์ที่สองประดิษฐานที่วิหารลายคำ วัดพระสิงค์ จ.เชียงใหม่ ส่วนองค์ที่สามประดิษฐานที่หอพระพุทธสิหิงค์ จ.นครศรีธรรมราช
พระพุทธสิหิงค์ นครศรีธรรมราช เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชรแบบขนมต้ม มีพระพักตร์กลม อมยิ้ม พระอุระอวบอ้วน ประทับนั่งในท่าขัดสมาธิเพชร ชายสังฆาฏิสั้นระดับพระถัน วัสดุสัมฤทธิ์ ขนาดหน้าตักกว้าง 14 นิ้ว สูง 16.8 นิ้ว สกุลช่างนครศรีธรรมราช นับเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัด
ประดิษฐานอยู่ ณ หอพระพุทธสิหิงค์ ตั้งอยู่ระหว่างศาลากลางจังหวัดและศาลจังหวัด แต่เดิมเป็นหอพระประจำวังของเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช อยู่ในบริเวณที่ตั้งวังเดิมของเจ้าพระยานคร (น้อย)

พระผงพระพุทธสิหิงค์ ศาลหลักเมืองนครศรีธรรมราช ปี 2530

วัตถุมงคลของพระพุทธสิหิงค์ มีการจัดสร้างวัตถุมงคลอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นพระบูชา พระเครื่อง หรือเหรียญ
ที่ได้รับความนิยมอย่างสูงคือ เหรียญปั๊มพระพุทธสิหิงค์ รุ่นฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ 150 ปี วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ปี 2475 ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็น 1 ใน 10 เหรียญพระพุทธยอดนิยมของไทย
แต่ที่นับได้ว่าเป็นที่นิยมสะสมของภาคใต้คือ “พระผงพระพุทธสิหิงค์ ศาลหลักเมืองนครศรีธรรมราช ปี 2530” สร้างขึ้นในวาระสร้างศาลหลักเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อปี พ.ศ.2530 จึงนับเป็นรุ่นแรกของศาลหลักเมืองอีกด้วย
ลักษณะเป็นพระเนื้อผง ประกอบด้วยมวลสารศักดิ์สิทธิ์สำคัญ อาทิ ไม้ตะเคียนทองหลักเมือง, ปูนเปลือกหอย, ปูนหิน, ดินสังเวชนียสถานทั้ง 4, ดิน 7 ป่าช้า, แร่ 7 เหมือง, ข้าวสุก 7 นา, ผงกะลาตาเดียว, เกสรดอกไม้ 108 ชนิด, ว่านมงคล 108 ชนิด, น้ำตาลอ้อย, น้ำผึ้งหลวง, กล้วย, เกลือ, อับเพชร, น้ำศักดิ์สิทธิ์ 4 บ่อ, ผงอิทธิเจ, น้ำมันจันทน์, เงิน, ทอง, นาก ฯลฯ
ลักษณะพิมพ์ทรง เป็นรูปทรงแบบสี่เหลี่ยมผืนผ้าแบบชิ้นฟัก
ด้านหน้า ตรงกลางเป็นรูปจำลองพระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง ประทับนั่ง แสดงปางมารวิชัย เหนืออาสนะฐานบัวเล็บช้าง 2 ชั้น รองรับด้วยฐานเขียง อยู่ภายในซุ้มเรือนแก้ว เส้นซุ้มแกะเป็นรูปก้นหอยหรือสะดือทะเลน้อยใหญ่ จำนวน 21 วง และรองรับฐานซุ้มด้วยฐานหน้ากระดาน 3 ชั้น องค์พระแลดูอวบอ้วนสมบูรณ์ พระอุทรพลุ้ยเล็กน้อย ปรากฏเส้นจีวรและเส้นสังฆาฏิ
ด้านหลัง เป็นรูปพระราหูอมสุริยัน-จันทรา ด้านล่างกำกับด้วยยันต์หัวใจพระคาถา 3 ตัว คือ ยันต์หัวใจธรณี, หัวใจมนุษย์ และหัวใจพระคาถากำกับธาตุ ตามคติธรรมของชาวศรีวิชัย
จำนวนการจัดสร้างเป็นหลักแสนองค์ ทำให้มีแม่พิมพ์หลายบล๊อก รายละเอียดจึงแตกต่างกันไปบ้าง เช่น พระเกศ จะมี 3 ลักษณะ คือ เกศบัวตูม, เกศแหลม และเกศยาวคล้ายเปลวเพลิงชนเส้นซุ้ม หรือพระบางองค์พระอังสกุฏ (ไหล่) ข้างขวาจะกว้าง พระพาหา (แขน) อ่อนเข้าหาองค์เล็กน้อย
ส่วนใหญ่แล้ว พระพาหาข้างขวาจะอยู่ในลักษณะกางพระกัปประ (ศอก) เล็กน้อย
นอกจากนี้ องค์พระยังแบ่งเป็นแบบมีเม็ดพระถัน (หัวนม) และแบบไม่มีพระถัน เป็นต้น

พระพุทธสิหิงค์ สร้างขึ้นตามตำนานที่ยังปรากฏอยู่ในนิทานพระพุทธสิหิงค์ที่แต่งเป็นภาษาบาลีโดยพระโพธิรังสี พระภิกษุชาวเชียงใหม่ในระหว่าง พ.ศ.1945-1985
ตำนานกล่าวไว้ว่า พระพุทธสิหิงค์เป็นพระพุทธรูปที่พระมหากษัตริย์ลังกา ได้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.700 ให้มีลักษณะใกล้เคียงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามากที่สุด จนกระทั่งในสมัยสุโขทัย พระพุทธศาสนาจากลังกาได้เข้ามาเผยแผ่และเป็นที่นิยมนับถือ
พ่อขุนรามคำแหงกษัตริย์สุโขทัย ทรงทราบถึงลักษณะที่งดงามของพระพุทธสิหิงค์ จึงให้พระยานครศรีธรรมราช แต่งทูตอัญเชิญพระราชสาส์นทูลขอพระพุทธสิหิงค์มาจากพระเจ้ากรุงลังกา ซึ่งก็ได้ตามพระราชประสงค์ จึงอัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่สุโขทัย และได้กราบไหว้บูชากันสืบเนื่องมา
กระทั่งกรุงสุโขทัยได้เสื่อมอำนาจลง พระพุทธสิหิงค์ได้ถูกเคลื่อนย้ายไปตามหัวเมืองสำคัญต่างๆ หลายครั้ง จนเมื่อมีการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นแล้ว สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท วังหน้าในรัชกาลที่ 1 ได้ยกทัพไปเชียงใหม่ และได้นำพระพุทธสิหิงค์กลับมาประดิษฐานที่พระนั่งพุทไธสวรรย์
พระพุทธสิหิงค์ เป็นที่เลื่อมใสเคารพบูชาในหมู่ชาวภาคใด้ โดยเฉพาะชาวนครศรีธรรมราชเป็นอย่างยิ่ง ว่ากันว่า ผู้ทุจริตคิดมิชอบทั้งหลายจะไม่กล้าสาบานต่อหน้าองค์พระ หลังจากที่ได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ประดิษฐานที่ศาลากลางจังหวัดแล้ว คดีความที่จะต้องขึ้นโรงขึ้นศาลลดน้อยลงไปอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากมักมีการเอ่ยอ้างนามพระพุทธสิหิงค์ในการสาบานตัว ทำให้ไม่มีใครกล้าเบิกความเท็จ
เชื่อได้ว่า พระพุทธสิหิงค์เป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นโดยอ้างอิงตำนานที่เกี่ยวข้องกับการประดิษฐานพระพุทธศาสนาแบบลังกาในประเทศไทย
การมีพระพุทธสิหิงค์ไว้เคารพบูชา ก็หมายถึงพระพุทธศาสนาได้เป็นที่เคารพบูชาในดินแดนแถบนั้น
ดังข้อความของพระโพธิรังสีกล่าวไว้ว่า “พระพุทธสิหิงค์เมื่อประทับอยู่ ณ ที่ใด ย่อมทรงทำให้พระพุทธศาสนารุ่งเรืองดั่งดวงประทีปชัชวาล เหมือนหนึ่งว่าพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์ชีพอยู่”