หลายคำถามจากสีกากี ถึงนิยาม “หลักอาวุโสแต่งตั้ง” เป็นไปตามรัฐธรรมนูญหรือไม่?!

คาดว่าเร็วๆ นี้ “บิ๊กแป๊ะ” พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) จะส่งสัญญาณ “คิกออฟ” เปิดฤดูกาลแต่งตั้งโยกย้ายสีกากีอย่างเป็นทางการ

เพื่อให้การแต่งตั้งโยกย้ายระดับชั้นนายพล ตั้งแต่ตำแหน่งผู้บังคับการ ขึ้นไปถึงรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม ตามที่กฎ ก.ตร. ว่าด้วยการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ พ.ศ.2561 ชี้ไว้

สัญญาณ “คิกออฟ” เริ่มชัดเจนขึ้นเมื่อมีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง หลักเกณฑ์การแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการตำรวจตามหลักอาวุโส ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2561 เผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา

เหล่าสีกากีชี้ว่า นี่คือการ “ปลดล็อก” ที่รัฐธรรมนูญตราไว้ ความว่า หากภายในวันที่ 6 เมษายน 2561 (ซึ่งผ่านมาหลายเดือนแล้ว) การปฏิรูปองค์กรตำรวจโดยกรรมการตามรัฐธรรมนูญไม่สามารถแก้ไขปรับปรุงข้อกฎหมายเพื่อแก้ปัญหาการแต่งตั้งตำรวจแล้วเสร็จ ให้การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจดำเนินการตามหลักอาวุโสตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ทว่าประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง หลักเกณฑ์การแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการตำรวจตามหลักอาวุโสที่ออกมา และ “นิยามหลักอาวุโส” กลับเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในกลุ่มสีกากี กลุ่มที่หวังจะเห็นการเปลี่ยนแปลงการแต่งตั้งให้เป็นธรรมอย่างแท้จริง ในยุคที่เปลี่ยนได้ยากเย็น?!

กางรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 258 ง. (4) เขียนว่า ให้ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ โดยแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับหน้าที่ อำนาจ และภารกิจของตำรวจให้เหมาะสม และแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการตำรวจให้เกิดประสิทธิภาพ มีหลักประกันว่าข้าราชการตำรวจจะได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม ได้รับความเป็นธรรมในการแต่งตั้งและโยกย้าย และการพิจารณาบำเหน็จความชอบตามระบบคุณธรรมที่ชัดเจน ซึ่งในการพิจารณาแต่งตั้งและโยกย้ายต้องคำนึงถึงอาวุโสและความรู้ความสามารถประกอบกันเพื่อให้ข้าราชการตำรวจสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีอิสระ ไม่ตกอยู่ใต้อาณัติของบุคคลใด มีประสิทธิภาพและความภาคภูมิใจในการปฏิบัติหน้าที่ของตน

รัฐธรรมนูญกำหนดให้ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปชุดหนึ่ง ผลคือ ชุดที่มี “บิ๊กสร้าง” พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธาน แต่แล้วผลการปฏิรูปก็ถูกพับขึ้นหิ้ง ไม่ทันกาล

ขณะที่มาตรา 260 วรรค 3 เมื่อครบกำหนดตามวรรคสอง (กรอบเวลา 1 ปี ที่ให้คณะกรรมการชุดบิ๊กสร้างทำงาน) แล้ว การแก้ไขปรับปรุงข้อกฎหมายดังกล่าวยังไม่แล้วเสร็จ ให้การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจดำเนินการตามหลักอาวุโสตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ในประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง หลักเกณฑ์การแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการตำรวจตามหลักอาวุโส กำหนดคำว่า “หลักอาวุโส” ไว้ในข้อ 2 “ข้าราชการตำรวจที่มีระดับตำแหน่ง ระยะเวลา และคุณสมบัติตามวรรคหนึ่ง (มีคุณสมบัติเหมาะสมเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น ในประเด็นการครองยศ จำนวนปีครองตำแหน่ง) ให้ถือว่าเป็นข้าราชการตำรวจที่อยู่ในหลักอาวุโสเดียวกัน

โดยให้พิจารณาข้าราชการตำรวจที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้เรียงลำดับอาวุโสไว้แล้วได้รับการพิจารณาเรียงลำดับตามลำดับอาวุโสร้อยละ 33 ของจำนวนตำแหน่งว่างในระดับเดียวกัน ขณะที่ในหลักเกณฑ์ตามข้อ 3 สำหรับข้าราชการตำรวจที่มีระดับตำแหน่ง ระยะเวลา และคุณสมบัติไม่ครบถ้วนตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าเป็นข้าราชการตำรวจที่ไม่อยู่ในหลักอาวุโส

มีการตั้งข้อสังเกตจากกลุ่มสีกากีว่า จากข้างต้น ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง หลักเกณฑ์การแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการตำรวจตามหลักอาวุโส เป็นไปตามมาตรา 260 วรรค 3 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่กำหนดว่าต้องใช้หลักอาวุโสหรือไม่?!?

1. หลักเกณฑ์ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีดังกล่าว ข้าราชการตำรวจที่มีระยะเวลาการดำรงตำแหน่งในแต่ละระดับไม่น้อยกว่าตามตารางในข้อ 2 (ซึ่งตารางนั้นเป็นเรื่องของข้าราชการตำรวจที่มีคุณสมบัติในการเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น ตามกฎ ก.ตร. ที่ใช้เดิม) ให้ถือว่าอยู่ในหลักอาวุโสเดียวกัน หมายความว่า ถือว่าทุกคนที่มีคุณสมบัติได้รับการแต่งตั้ง “มีอาวุโส” แสดงว่าจะครองตำแหน่งมา 1 ปี หรือ 5 ปี ก็อยู่ในหลักอาวุโสเดียวกัน เป็นไปตามหลักสากลหรือไม่

เกิดคำถามว่า ออกแบบมาเพื่อช่วยเหลือบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่มีอาวุโสน้อยให้ได้รับการแต่งตั้งเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น โดยไม่ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่!!

2. กำหนดนิยาม หลักอาวุโสใหม่ ให้ทุกคนที่ครบเกณฑ์อาวุโสเดียวกัน โดยให้ได้รับการพิจารณาเรียงลำดับตามอาวุโสร้อยละ 33 ของจำนวนตำแหน่งว่างในระดับเดียวกัน จึงเกิดข้อสังเกตว่า ไม่ได้มีอะไรแตกต่างไปจากกฎ ก.ตร. ว่าด้วยการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ พ.ศ.2561

3. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีฉบับนี้กำหนดอาวุโสขัดหรือแย้งกับประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 89/2557 ซึ่งประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นกฎหมายลำดับรองซึ่งต่ำกว่าประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ การจัดลำดับอาวุโสตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีฉบับนี้จึงไม่สามารถใช้ได้ หรือไม่!?

4. การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจที่อยู่ในหลักอาวุโสเดียวกันให้ไปดำรงตำแหน่งในระดับเดียวกันหรือเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น ให้พิจารณาโดยคำนึงถึงอาวุโสและความรู้ความสามารถตลอดจนผลงานและประโยชน์แก่ทางราชการตำรวจตามนัยแห่งมาตรา 258 ง.ด้านกระบวนการยุติธรรม (4) ซึ่งในข้อกำหนดนี้ไม่ได้อยู่ใน ม.260 วรรค 3 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 เนื่องจาก ม.260 วรรค 3 กำหนดให้การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจดำเนินการตามหลักอาวุโสเท่านั้น เพียงแต่ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนดซึ่งคณะรัฐมนตรีจะกำหนดหลักการอื่นที่ไม่ใช่หลักอาวุโสไม่ได้

และ 5. ในข้อที่ให้นำหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจที่กำหนดไว้แล้วซึ่งใช้อยู่เดิมและไม่ขัดหรือแย้งกับหลักเกณฑ์นี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม หมายความว่าการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ไม่มีการปฏิรูปในเรื่องการแต่งตั้ง

สิ่งที่รัฐบาลบอกจะปฏิรูปตำรวจไทยโดยเฉพาะการแต่งตั้งโยกย้ายไม่มีอะไรเกิดขึ้น เหมือนเดิมทุกประการหรือไม่

เป็นคำถามจากเหล่าสีกากีที่หวังจะมีการปฏิรูปตำรวจเพื่อองค์กรและประเทศโดยแท้จริง ไม่ใช่เพื่อใครคนใดคนหนึ่ง ดังที่วิจารณ์หวั่นหวาดกันทั้งวงการ!?!

หรือการปฏิรูปประเทศ ตั้งธงปฏิรูปตำรวจมาตลอด 4 ปี ล้มเหลวไม่เป็นท่า

เรื่องนี้คนคิกออฟเปิดฤดูกาลแต่งตั้งสีกากี ต้องตั้งหลักให้ดี หากกลัดกระดุมเม็ดแรกผิด อาจวุ่นวายทั้งกระบวน!?