เยือน ILOILO ฟิลิปปินส์ เยี่ยมครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้า ตอนจบ “เครือข่ายเชื่อมโยง”

สมหมาย ปาริจฉัตต์

เครือข่ายการศึกษาเพื่อพัฒนาครู

กรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าฯ บอกลาปลัดกระทรวงศึกษาธิการฟิลิปปินส์ สัมผัสมือพร้อมคำมั่น “แล้วเราจะพบกันใหม่”

เกลียวสัมพันธ์แห่งมิตรภาพกระชับแน่นขึ้นอีกระดับหนึ่ง สมดังพุทธภาษิตที่ว่า ความคุ้นเคยเป็นญาติอย่างยิ่ง

ออกเดินทางต่อเพื่อภารกิจสุดท้าย เยี่ยมคำนับท่านเอกอัครราชทูตไทยประจำมะนิลา คุณธนาธิป อุปัติศฤงค์ พร้อมคณะผู้บริหารองค์กรธุรกิจไทยที่มาลงทุนในฟิลิปปินส์ 3 เจ้าใหญ่ คุณดุษฎี เขมปุณมนัส รองประธานฝ่ายสาขาธนาคารกรุงเทพ จำกัด มะนิลา คุณภาสกร บูรณะวิทย์ ประธานสาขาฟิลิปปินส์ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด คุณอุดมศักดิ์ อักษรภักดี ประธานสาขาฟิลิปปินส์ บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหารสัตว์ มาร่วมเวทีแลกเปลี่ยนอย่างมีสาระและบรรยากาศอบอุ่น

สนทนาปราศรัยอย่างเป็นกันเอง เชิญชวนให้ร่วมกิจกรรมโครงการด้านการศึกษา ที่มูลนิธิพยายามสร้างเครือข่ายเพื่อพัฒนาครู ผู้บริหาร พัฒนาโรงเรียน ยกระดับคุณภาพและเพิ่มโอกาสทางการศึกษาอย่างต่อเนื่อง เสริมจากกิจกรรมที่องค์กรธุรกิจต่างๆ ดำเนินการอยู่แล้วให้ยั่งยืนยิ่งขึ้น

“คนไทยรู้เรื่องประเทศเพื่อนบ้านน้อย ทำอย่างไรจะเอาครูไทยที่ได้รับการคัดเลือกมาเป็นตัวเชื่อม ทำให้รู้เรื่องประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น อย่างครูไทยไปพม่า ครูพม่ามาไทย พูดให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องระหว่างกัน”

“เหตุนี้จึงต้องมีกิจกรรมหลังพิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าฯ เพื่อให้เกิดความร่วมมือทำงานร่วมกันในกลุ่มครูอาเซียน มูลนิธิมีคนทำงานที่มีเงินตอบแทนประจำแค่ 4 คน นอกนั้นเป็นอาสาสมัครทั้งหมด”

ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานมูลนิธิ เล่าวัตถุประสงค์ความเป็นมาของการเดินทาง

 

ท่านเอกอัครราชทูตกล่าวขอบคุณ และว่า เดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ ปี 2016 สถานเอกอัครราชทูตเฝ้ารับเสด็จสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จพระราชดำเนินเยือนฟิลิปปินส์ พบประธานาธิบดีฟิลิปปินส์คนก่อน พระราชทานเงินเพื่อช่วยเหลือโรงเรียน 2 แห่ง ต่อมาเพิ่มอีก 4 แห่ง

“ผมไปเยี่ยมโรงเรียนที่เสด็จฯ ไปอยู่ในพื้นที่เขตอิทธิพลคอมมิวนิสต์ บางโรงอยู่ในเกาะ ในสวนยาง ผมแซวเขาว่าทำไมเอาโรงเรียนในเขตพื้นที่เสี่ยงให้เรา ปัญหาเยอะ บางโรงขุดดินลงไป ไม่มีน้ำ เพราะข้างๆ เป็นโรงไฟฟ้า ไปตอนแรกๆ ครูท่าทางเก่งเชียว ไปครั้งที่สอง เอ้าครูใหญ่คนเดิมไม่อยู่แล้ว จริงๆ โรงเรียนใดก็ตามหากอยู่ภายใต้การดำเนินงานของกองทุนใดไหนก็แล้วแต่ ผู้บริหาร ครู ควรอยู่ยาว มีระยะเวลาบริหารให้เกิดความต่อเนื่อง ทำให้เกิดคุณภาพ”

“ซีพีมาช่วยทำบ่อปลา ทรงอยากให้เด็กนักเรียนทำกันเอง ซีพีคอยดูแล เมื่อไหร่อาหารหมด พอจับปลาได้ ที่เหลือเอาไปขาย เด็กๆ ไม่รู้ต้นทุนเท่าไหร่ ทำอย่างไรก็ได้กำไรหมด เพราะมีผู้ช่วยเหลือ จึงต้องสอนวิธีทำบัญชี คิดบัญชีให้เป็น จะได้รู้ต้นทุน กำไร โรงเรียนอยู่ภายใต้พระอุปถัมภ์ฯ รัฐบาลจะให้งบฯ มากกว่าโรงเรียนปกติ ทุกโรงเรียนเลยอยากอยู่ในโครงการ”

 

ประธานมูลนิธิเล่าบ้างว่า อยากให้คนไทยคิดว่ารางวัลนี้เป็นของคนไทยทุกคน เวลาไปร่วมประชุมวิชาการเชิญครูต่างประเทศมาพูดให้ครูไทย คนไทยฟัง ให้สถานทูตช่วยแนะนำ เขาพัฒนาหลักสูตรกันอย่างไร เอาเด็กไปเรียนอาชีพเสริม บางประเทศไม่ต้องการอะไรจากเรา อย่างบรูไน รวยมาก เราจนกว่า แต่เขาอยากมาเรียนรู้จากเมืองไทย ไปดูเมืองไทย สถานทูตสามารถใช้ครูรางวัลเผยแพร่งานในประเทศนั้นๆ ได้”

“ครูจากประเทศลาวส่งข้อความมาในโอกาสวันพระราชสมภพสมเด็จพระเทพฯ บอกว่าทรงเป็นเจ้าฟ้าหญิงของครูอาเซียน ครูเขามีความผูกพันกันมาก ต่อไปอาจจัดกิจกรรม มินิคอนเฟอเรนซ์ใประเทศนั้นๆ สถานทูตช่วยติดต่อครูที่อยู่ไกลๆ ให้ครูทุกประเทศได้รับการสนับสนุนจากองค์กรธุรกิจ ให้ไปดูการดำเนินกิจการของธุรกิจไทยในประเทศนั้น อย่างของบริษัทไทยเบฟในสิงคโปร์”

“ระยะยาวอาจจะมีคันทรีฟอรั่มในต่างประเทศ สถานทูตช่วยประสานแลกเปลี่ยนกัน เพราะแต่ละประเทศมีกติกาการปฏิบัติต่างกัน อย่างสิงคโปร์ไม่ให้ครูออกนอกห้องเรียนไปไหนในเวลาที่ต้องสอนเด็ก ครูเป็นทรัพยากรสำคัญ เมื่อส่วนใหญ่ใช้ไอทีได้ก็จะประสานความร่วมมือกันได้ดียิ่งขึ้น องค์กรธุรกิจจัดให้ไปดูงาน นักเรียนไปดู ครูไปดู ทำกิจกรรมเพื่อสังคมอยากให้ช่วยเรื่องการพัฒนาครู เพื่อพัฒนาเด็กต่อไป ต้องอาศัยพึ่งพาภาคเอกชนด้วย”

“แนวทางของมูลนิธิ 3 ระดับ หนึ่ง สร้างเครือข่ายความร่วมมือ สอง สร้างกิจกรรมโครงการเพื่อการพัฒนา สาม สร้างครูรุ่นใหม่ เป็นครูด้วยใจ ไม่ถามหาวัตถุเป็นสำคัญ เมื่อเกิดการยอมรับทางสังคม ทำให้ครูทำอะไรได้มากขึ้น”

 

ผู้แทนบริษัทปูนซิเมนต์ไทยกล่าวเสริม ปูนซิเมนต์ไทยมีโครงการ SCG Sharing the Dream มอบทุนการศึกษาให้นักเรียนในกลุ่มประเทศอาเซียนที่ปูนไปลงทุน ที่ฟิลิปปินส์ครูนำนักเรียนโรงเรียนที่สมเด็จพระเทพฯ ทรงอุปถัมภ์มารับทุนด้วย เราติดตามเด็กต่อเนื่อง บางคนมาทำงานกับเรา”

ผู้แทนบริษัทซีพีขอคิวต่อ บอกว่า ซีพีทำธุรกิจอาหารสัตว์ ทั้งสัตว์บก สัตว์น้ำ ภายใต้หลักการ ประเทศได้ประโยชน์ ประชาชนได้ประโยชน์ และซีพีได้ประโยชน์ การช่วยเหลือการศึกษา เจาะลึกลงไปให้ครูได้ นักเรียนได้ ให้ทุนนักเรียนยากจน ช่วยสถานทูตในโครงการพัฒนาโรงเรียนที่สมเด็จพระเทพฯ พระราชทานความช่วยเหลือ ให้นักเรียนปลูกผัก เลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ รอบๆ โรงเรียน ส่งเสริมปลูกมันสำปะหลัง ข้าวโพดเป็นรายได้เสริม ยินดีสนับสนุนโครงการที่มูลนิธิกำลังดำเนินการนี้ สถานทูตเป็นเกตเวย์สำคัญ

ผู้แทนแบงก์กรุงเทพยกมือบ้าง แบงก์กรุงเทพได้รับใบอนุญาตเข้ามาเปิดสาขาในฟิลิปปินส์ตั้งแต่ปี 1995 กลุ่มธุรกิจในรุ่นเดียวกันประมาณ 10 แห่ง กิจกรรมซีเอสอาร์ที่ทำสนับสนุนการพัฒนาคนที่ทำงานกับเราให้ได้รับการศึกษา ให้ทุนเรียนต่อ ให้เขามีโอกาส และยินดีจะสนับสนุนมูลนิธิให้ครูมาแชร์ความรู้ ความเข้าใจระหว่างประเทศร่วมกัน

“จุดอ่อนอยู่ที่ต้องปรับปรุงระบบการศึกษาของเรา การใช้เทคโนโลยีให้สู้เขาได้”

 

“เชื่อไหม ฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่คนใช้เฟซบุ๊กมากที่สุดในโลก” ทูตธนาธิปบอก ก่อนการสนทนาจะจบลง

“สถานทูตเปิดช่องทางการสื่อสารไว้รองรับให้ข่าวสาร ความเคลื่อนไหวต่างๆ ให้ความร่วมมือ ช่วยเหลือคนไทย ธุรกิจไทย นักเรียนไทยที่มาเรียน บางกรณีเป็นปัญหาน่าสนใจต้องช่วยกันไป เรื่องอะไรบ้างให้ไปเปิดอ่านในเฟซบุ๊ก เราพยายามช่วยหมด”

คุณธนาธิปผ่านชีวิตเป็นทูตที่อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น ก่อนมาฟิลิปปินส์ และกำลังเตรียมย้ายไปรับตำแหน่งใหม่ที่รัสเซีย

“แต่ละประเทศก็มีกรณีปัญหาต่างกันไป การศึกษาจึงเป็นพื้นฐานสำคัญ อย่างที่มูลนิธิพยายามดำเนินงานเพื่อให้คุณภาพการศึกษา คุณภาพนักเรียน คุณภาพครูดีขึ้น ต้องร่วมมือสนับสนุนด้วยความยินดี ขอให้กำลังใจทุกคนครับ”

ก่อนบอกคุณอุรวดี ศรีภิรมย์ อัครราชทูต ช่วยดูแลคณะมูลนิธิด้วย

คณะเราจึงพบเธอและเจ้าหน้าที่อีกครั้งเมื่อค่ำวันเดียวกัน ที่สนามบินนินอย อาคิโน กรุงมะนิลา หลังเสร็จสิ้นภารกิจการทูตทางการศึกษา ด้วยความราบรื่น สวัสดี