E-DUANG : จาก ‘บ็อบ ดีแลน’ ถึง ‘พี่หงา คาราวาน’

มติ “ราชบัณฑิตยสภา สวีเดน” มอบรางวัลโนเบลสาขาวรรณคดีให้ ‘บ็อบ ดีแลน’ ฮือฮาเป็นอย่างมาก

ก่อให้เกิด “ปฏิกิริยา” อย่างกว้างขวาง’
เป็นปฏิกิริยาทั้งๆที่ “เห็นด้วย” และเป็นปฏิกิริยาทั้งๆที่”ไม่เห็นด้วย”
หลายคนอาจชื่นชอบ บ็อบ ดีแลน
เหมือนอย่าง สุชาติ สวัสดิ์ศรี หรือ “สิงห์สนามหลวง” แต่ก็รู้สึกทะแม่งๆกับมติของ”ราชบัณฑิตยสภา สวีเดน”
เพราะถือว่า บ็อบ ดิแลน อยู่ในพรมแดน “ดนตรี”
อาจเป็นนักร้องที่มีความสามารถสูงในการแต่งเพลงอย่างที่เรียกว่า “กวีนิพนธ์เพลง”
แต่ก็มิใช่ในฐานะ “กวี” หรือ “นักเขียน”
ยิ่งเมื่อมีการประกาศ บ็อบ ดิแลน มีท่าทีเงียบเฉย ไม่แสดงท่าทีออกมา ยิ่งสร้างความฮือฮาเป็นอย่างสูง
เหมือนกับกำลัง “กบไต๋” อะไรบางอย่าง

ท่าทีและมติของ “ราชบัณฑิตยสภา สวีเดน” อาจเป็นเรื่องใหม่ในสายตาของ “นักหนังสือ
เท่ากับเป็นการให้รางวัล “ข้าม” พรมแดน
เพราะที่ บ็อบ ดิแลน โด่งดังมิใช่ในฐานะ “นักเขียน” หากแต่ในฐานะ นักร้องหรือ “นักแต่งเพลง”
จัดเป็น “ขอบเขต” ใหม่ในทาง “วรรณกรรม “แน่นอน
หากนำมาเปรียบเทียบกับที่ พี่หงา คาราวาน ได้รับรางวัล”ศรี บูรพา” ก็อาจใกล้เคียงกัน
เพราะ “พี่หงา” ก็เป็น นักร้อง นักแต่งเพลงเหมือน บ็อบ ดิแลน
กระนั้น ก็ต้องยอมรับว่าในพรมแดนในด้าน “การเขียน” อย่างที่เป็นวรรณกรรม เป็นหนังสือ “พี่หงา” ก็มีงานมากกว่า สุชาติ สวัสดิ์ศรี ด้วยซ้ำ
การได้รางวัล “ศรีบูรพา” ของ “พี่หงา” ก็เหมาะสม

การได้รับรางวัลโนเบลของ บ็อบ ดิแลน กับการได้รับรางวัลศรีบูรพาของ พี่หงา คาราวาน

จึง “ใกล้เคียง” กันเป็นอย่างมาก
เพราะ บ็อบ ดิแลน ในห้วงที่แต่งและร้องเพลงก็ได้รับความสนใจเป็นอย่างสูง
เนื่องจากอยู่ในกลุ่ม “บีท เจนเนอเรชั่น”
และกระบวนการประพันธ์ “เนื้อร้อง” ของเขาก็จัดว่าอยู่ในฐานะ “กวีสมัยใหม่”
ดำรงอยู่ในจุดอันเป็น “เสียงแห่งยุคสมัย” ได้เด่นชัด
หากมองอย่างเปรียบเทียบ พี่หงา คาราวาน เองก็ได้รับอิทธิพลส่วนหนึ่งมาจาก บ็อบ ดีแล่น และประสานกับสถาน การณ์ก่อนและหลัง 14 ตุลาคม 2516
เท่ากับว่าคณะกรรมการรางวัล”ศรีบูรพา” ตามแหลม
ตาแหลมในการข้าม “พรมแดน” ในทาง “วรรณกรรม” ล้ำหน้าก่อน “ราชบัณฑิตยสภา สวีเดน” ไปหลายก้าว ในทางความคิดและในทางวรรณกรรม
การก้าวข้ามอย่างนี้พวก “จารีตนิยม” ย่อม “หงุดหงิด”