ครึ่งศตวรรษแฟรงคลิน ตัวละครผิวสีคนแรกใน “พีนัตส์”

แฟรงคลิน อาร์มสตรอง ตัวละครชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันคนแรกที่ปรากฏตัวในการ์ตูนคลาสสิคเรื่อง “พีนัตส์” ร่วมกับชาร์ลี บราวน์ และสนูปปี้ มีอายุครบรอบ 50 ปีเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมา

นับเป็นหลักไมล์สำคัญสำหรับตัวละครที่เกิดในช่วงที่ความตึงเครียดด้านเชื้อชาติพุ่งสูงจากเหตุการณ์ลอบสังหารมาร์ติน ลูเธอร์ คิง นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนผิวสี

เจ้าหนูน้อยแฟรงคลินเข้าร่วมเป็นตัวละครในการ์ตูนเรื่องนี้เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 1968 ระหว่างช่วงที่เกิดการจลาจลและความไม่สงบทางสังคมในฤดูร้อนอันเนื่องมาจากการลอบสังหารมาร์ติน ลูเธอร์ คิง เมื่อวันที่ 4 เมษายนในปีนั้น

ในช่วงเวลาดังกล่าว “พีนัตส์” ได้รับการตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์หลายร้อยเล่ม และเป็นช่วงเวลาที่การ์ตูนเรื่องนี้ได้รับความนิยมสูงสุด จากเนื้อหาที่เป็นการเปิดเผยข้อบกพร่องเล็กๆ น้อยๆ ของมนุษย์ผ่านการเล่นและแสดงขำขันของเด็กกลุ่มหนึ่งและสุนัขพันธุ์บีเกิลเจ้าเล่ห์อีกตัวหนึ่ง

 

การมาถึงของแฟรงคลินสร้างแรงสั่นสะเทือนครั้งใหญ่ และได้รับคำชื่นชมเป็นส่วนมาก ซึ่งเรื่องนี้อาจไม่เกิดขึ้นหากไม่ใช่เพราะครูชาวลอสแองเจลิส แม่ลูก 3 คนหนึ่งเกิดปิ๊งไอเดียนี้

ในวันที่ 15 เมษายน แฮเรียต กลิกแมน เขียนจดหมายถึงชาร์ลส์ ชูลซ์ ผู้เขียนการ์ตูนเรื่องพีนัตส์และแนะนำว่าเขาควรจะรวมเอาตัวละคร “นิโกร” เข้าไว้ในการ์ตูนเรื่องนี้ที่เขียนมาตั้งแต่ปี 1950 ด้วย

“นับตั้งแต่การเสียชีวิตของมาร์ติน ลูเธอร์ คิง ฉันตั้งคำถามกับตัวเองมาตลอดว่าจะสามารถทำอะไรได้บ้างที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมเช่นนี้ในสังคมเราที่นำไปสู่การลอบสังหารซึ่งก่อให้เกิดความเข้าใจผิดอย่างใหญ่หลวง ความกลัว ความเกลียดชัง และความรุนแรง” เธอเขียน

“ฉันมั่นใจว่าคนคนเดียวไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในสถาบันที่สำคัญโดยปราศจากกลุ่มคนที่สามารถสร้างแรงสั่นสะเทือนเป็นระลอกได้ อย่างไรก็ตาม คุณมีสถานะและชื่อเสียงที่สามารถสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้”

จดหมายฉบับนี้ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ชาร์ลส์ เอ็ม. ชูลซ์ ในรัฐแคลิฟอร์เนีย

 

ไม่กี่วันถัดมา ชูลซ์เขียนจดหมายตอบกลับว่าเขาอยากทำเช่นนั้นเหมือนกัน “แต่ผมต้องเผชิญกับปัญหาเดียวกับนักเขียนการ์ตูนคนอื่น… เราต้องการที่จะทำเรื่องนี้อย่างมาก แต่พวกเราทุกคนกลัวว่าจะเป็นการแสดงถึงการดูหมิ่นเพื่อนชาวนิโกรของเรา”

“ผมไม่รู้ว่าทางออกของปัญหานี้คืออะไร” เขาระบุไว้ในจดหมายที่เขียนไว้สั้นๆ

ด้วยความไม่ย่อท้อ กลิกแมนเขียนกลับมาอีกครั้งด้วยข้อเสนอว่าจะเผยแนวคิดนี้กับบรรดาเพื่อนผิวสีของเธอที่ทั้งหมดเป็นแฟนๆ ของพีนัตส์เพื่อดูว่าพวกเขาพบว่าเป็นการดูหมิ่นหรือไม่

เธอบอกชูลซ์ถึงการอนุมัติเรื่องนี้โดยเพื่อนของเธอ แต่ดูเหมือนเขาจะยังไม่คล้อยตาม

หลังจากนั้นในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 1968 เขาเขียนถึงกลิกแมนอีกครั้ง โดยบอกเธอว่าให้รอดูการ์ตูนที่ตีพิมพ์ลงในสัปดาห์ปลายเดือนที่เริ่มต้นในวันที่ 29 กรกฎาคม

และในฉบับวันที่ 31 กรกฎาคม ชาร์ลี บราวน์ ทำลูกบอลหายที่ชายหาด และได้ถูกนำกลับมาคืนให้โดยเด็กชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันคนหนึ่ง

แฟรงคลินปรากฏตัวบนหน้ากระดาษและสร้างความสัมพันธ์กับชาร์ลี บราวน์ ด้วยการก่อปราสาททรายและเล่นเบสบอลด้วยกัน

“ครอบครัวนายมาเที่ยวชายหาดด้วยกันหมดรึเปล่า” ชาร์ลี บราวน์ ถามเพื่อนใหม่ของเขา

“ไม่ พ่อฉันไปรบในสงครามเวียดนาม” แฟรงคลินตอบ

“พ่อฉันเป็นช่างตัดผม” ชาร์ลี บราวน์ บอก “เขาไปรบเหมือนกัน แต่ฉันไม่รู้ว่าที่ไหน”

 

ปฏิกิริยาตอบสนองจากผู้อ่านและบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่เป็นไปในทางบวก ชูลซ์เปิดเผยในเวลาต่อมา แม้ว่าเขาจะได้รับเสียงตำหนิจากบรรณาธิการจากภาคใต้อย่างน้อย 1 คนในเรื่องที่ชาร์ลี บราวน์ เรียนโรงเรียนเดียวกับแฟรงคลินซึ่งมีผิวสี

2 ปีก่อนหน้านั้น มาร์เวลสร้างซูเปอร์ฮีโร่ผิวสีคนแรกของตนขึ้นมา นั่นคือแบล๊กแพนเธอร์ โดยสแตน ลี กับแจ๊ก เคอร์บี้ ปรมาจารย์ของการ์ตูนแนวนี้

แต่แฟรงคลินพิสูจน์ให้เห็นถึงความแปลกใหม่ในโลกของการ์ตูนกระแสหลักที่คนอ่านส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางผิวขาว

แม้ว่าผู้อ่านผิวสีในช่วงเวลาหนึ่งบางส่วนจะมองว่าเขาเป็นตัวละครที่ค่อนข้างจืดชืด ขาดสีสันในหมู่ตัวละครที่ค่อนข้างแปลกก็ตาม