คิดถึง ศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช กับ โขนธรรมศาสตร์

คอลัมน์หน้าพระลาน โดย จัตวา กลิ่นสุนทร

คิดถึง ศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช (28)

คงต้องหยุดเรื่องราวจากอดีตของท่านศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช “ปราชญ์” ของแผ่นดินไว้อีกสักเพียง 1-2 ตอนเท่านั้น

แต่ถ้าหากว่าบังเอิญมีเรื่องอะไรต่างๆ เช่น “การเมือง” ของประเทศนี้ ซึ่งไม่เคยก้าวหน้าไปไหน วนเวียนอยู่แต่ในบ่อ “น้ำเน่า” เฉียดเข้ามาคล้ายคลึงใกล้เคียงกับยุคสมัยของท่าน ซึ่งพยายามต่อสู้เพื่อรักษาระบอบ “ประชาธิปไตย” จนสุดความสามารถตลอดมา ก็อาจต้องแวะเลี้ยวไปเขียนถึงอีก

ได้กล่าวแต่แรกแล้วว่าการเขียนถึงอาจารย์คึกฤทธิ์ในบทบาทต่างๆ ทั้งส่วนตัวและการทำงานส่วนรวมเพื่อประเทศชาติ พยายามปลูกฝัง “ประชาธิปไตย” ทั้งด้าน “เศรษฐกิจ การเมือง” ตลอดจนผลงานทางด้านสื่อมวลชน ซึ่งใช้เป็นเวทีต่อต้าน ต่อสู้กับระบอบ “เผด็จการ” เป็น “นักประพันธ์” อภิปราย เขียน พูด ปาฐกถาต่างๆ นานา จนถึงมุมสนุกสนานเฮฮาแบบไม่มีสาระอะไร ล้วนแล้วแต่มาจาก “ประสบการณ์” ตรงทั้งสิ้น

ไม่ได้มีการเก็บข้อมูลด้วยการบันทึกใดๆ เพราะไม่เคยคิดเลยว่าจะต้องมานั่งคิดถึง เขียนถึง เนื่องจากว่ามีผู้อื่นจำนวนมากมายที่ใกล้ตัวใกล้ชิดกับท่าน ซึ่งพวกเขาเหล่านั้นก็ได้แสดงออกในพื้นที่ตามแนวทางของแต่ละคนไปกันไม่น้อย

ขณะเดียวกันก็ไม่ได้เขียนตามคำบอกเล่าจากแหล่งข่าวที่ไหน

 

อาจารย์คึกฤทธิ์เป็น “บุคคลสำคัญของโลก” เป็น “ศิลปินแห่งชาติ” เป็นปราชญ์ของแผ่นดิน เป็นอดีตนายกรัฐมนตรี (คนที่ 13) ที่มาจากการ “เลือกตั้ง” เป็นทุกสิ่งอย่างในคนคนเดียวซึ่งหาไม่ค่อยจะได้ง่ายนักจึงไม่ต้องการให้คนรุ่นหลังลืมท่าน เพราะฉะนั้น คนที่จะเขียนถ่ายทอดเรื่องราวผลงานของท่านจึงย่อมจะต้องเป็นผู้รู้ เป็นนักวิชาการมีระดับสติปัญญาสามารถวิเคราะห์ เจาะลึกได้

สำหรับศิษย์นอกมหาวิทยาลัยอย่างผู้เขียนแม้จะมีโอกาสได้อยู่ภายใต้ร่มไม้ชายคาของหนังสือพิมพ์ “สยามรัฐ” มายาวนาน โดยได้เริ่มรู้จักกับท่านตั้งแต่ยังศึกษาอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่ท่านไม่ได้สอน เหมือนอย่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพียงแต่อาจารย์รอบรู้ และเป็นผู้ที่เข้าอกเข้าใจงานในทุกด้านไม่เฉพาะการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ แต่เพียงเท่านั้น ด้าน “นาฏศิลป์” และ “ศิลปะ” แขนงต่างๆ ไม่เว้นแต่ศิลปะร่วมสมัย ดูเหมือนจะเข้าใจอย่างลึกซึ้ง เส้นทางเดินในชีวิตจึงได้มาเกี่ยวพันกับท่าน

เนื่องจากไม่ได้มีการเก็บบันทึกอะไรดังที่กล่าว เมื่อนึกถึงเรื่องอะไรขึ้นมาได้ก็เอามาเล่าสู่กันฟัง

เอาเฉพาะที่สามารถเผยแพร่กระจายสู่สาธารณะได้โดยไม่ให้ไปสร้างความกระทบกระเทือนกับใครต่อใครตลอดจนบุตรหลานทายาทของท่าน รวมทั้งพาดพิงหรือล้ำเส้นจนถึงเข้าไปสู่การละเมิดสิทธิของบุคคลท่านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรเอกชน สถาบันสำคัญๆ ของประเทศชาติ โดยไม่มีการเรียงลำดับระยะเวลา

 

20 กว่าปีจะเรียกว่าใกล้ชิดคงไม่ผิด แต่ก็ใกล้ชิดในฐานะของคนทำงานในสำนักงานหนังสือพิมพ์ของท่าน ซึ่งจะต้องแบ่งเวลาไปช่วยงานที่ถนัด อาทิ ด้านตกแต่ง หรือเกี่ยวข้องกับเรื่องศิลปะในบ้านพักซอยสวนพลูบ้าง

เมื่อท่านก่อตั้งพรรค “กิจสังคม” จึงต้องร่วมเดินทางไปยังต่างจังหวัดเพื่อช่วยลูกพรรคในการหาเสียงเลือกตั้งผู้แทนราษฎรบ่อยครั้ง

ขณะเดียวกันได้ติดสอยห้อยตามนายโรง “โขนธรรมศาสตร์” ขณะพาคณะไปทำการแสดงตามคำเชิญในจังหวัดต่างๆ เนื่องจากอาจารย์คึกฤทธิ์เป็นผู้ก่อตั้ง “โขนธรรมศาสตร์” โดยทุนทรัพย์ส่วนตัว

จากคนที่ดูโขนไม่เป็นเพราะไม่เข้าใจนาฏศิลป์ชั้นสูงขนาดนี้ ในเวลาต่อมาก็สามารถพอเข้าใจเรื่องราว ลักษณะท่าทางร่ายรำตลอดจนวงปี่พาทย์ และได้รู้จักคุ้นเคยบรรดาครูโขน ครูนาฏศิลป์ทั้งหลายจากคำสอนคำอธิบายของท่าน

เนื่องจากเวลาทำการแสดงนั้น เหล่าศิษย์โขน ครูโขนจะต้องรัดเครื่องเพื่อขึ้นเวที เรียกว่าทุกคนมีหน้าที่ต้องทำในการแสดง กำกับการแสดง

คงเหลือเพียงผู้ติดตามอย่างเราเท่านั้นนั่งชมการแสดงอยู่หน้าเวทีกับอาจารย์คึกฤทธิ์ นายโรงใหญ่เพียงลำพัง ได้รับฟังคำติชมวิพากษ์วิจารณ์ ผู้แสดงเป็นพระราม พระลักษณ์ พญายักษ์ พญาวานร อย่างหนุมาน สุครีพ และ ฯลฯ เหล่าทหารยักษ์ ลิงปลายแถวทั้งหลาย ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งในการได้ร่วมเดินทางไปด้วยทุกครั้งเมื่อมีการยกโรงโขนธรรมศาสตร์ไปแสดงหลายจังหวัด ในโอกาสต่างๆ

รวมทั้งเดินทางไปร่วมแสดงยัง “ฮ่องกง” ก็เคยไปสร้างชื่อเสียงมาแล้วในงานแสดงทางศิลปวัฒนธรรมของประเทศนั้นเมื่อกว่า 4 ทศวรรษ

 

มีเรื่องขำขันสมัยโบราณข้ามทศวรรษทีเดียว เรื่องการสั่งอาหารในตลาดโต้รุ่งใกล้โรงแรมที่พักฝั่งเกาะฮ่องกง ซึ่งพวกนักแสดงและผู้ร่วมขบวนทั้งหลายจะฝากท้องไว้หลังจากเสร็จการแสดงแต่ละคืนกลับมาถึงโรงแรม

พ่อค้าแม่ค้าทั้งหลายเป็นคนจีนมณฑลกวางตุ้งล้วนๆ ไม่สามารถพูดภาษาอื่นได้เหมือนคนจีนสมัยใหม่ฮ่องกงที่ใช้ภาษาอังกฤษ จึงพูดกันไม่รู้เรื่อง เพราะฉะนั้น วิธีการสั่งอาหารส่วนใหญ่จะไปชี้ๆ เอา หรือไม่ก็มองหาดูว่าโต๊ะใกล้เคียงสั่งอะไรกินกัน เห็นว่าหน้าตาน่ากินก็ชี้ให้เอาเหมือนกับโต๊ะข้างๆ ซึ่งแก้ปัญหาผ่านไป ได้กินกันทุกคืน

คืนหนึ่งหลังเสร็จการแสดงกลับมาถึงโรงแรมที่พักท่านบ่นหิวจะไปตลาดโต้รุ่งด้วย

ใครที่รู้จักอาจารย์คึกฤทธิ์ ย่อมทราบดีว่าเป็นคนช่างกิน และรู้จักอาหารของทุกชาติ โดยเฉพาะอาหารจีน อยู่เมืองไทยท่านชอบไปรับประทานเสมอ

“ปลานึ่งซีอิ๊ว” เป็นเมนูหนึ่งซึ่งท่านชอบมากต้องสั่งทุกครั้ง ที่ตลาดโต้รุ่งฮ่องกงจะมีตู้ขังปลาไว้หลายชนิดเกือบทุกร้านเรียงกันตลอดซอย ที่เห็นมีมากกว่าปลาอื่นๆ ดูเหมือนจะเป็นปลาเก๋าสายพันธุ์ต่างๆ อาจารย์ท่านบอกให้สั่งปลานึ่งมากิน หลายคนเสนอตัวเดินไปสั่ง ก็ได้แต่ปลาผัดกับผักมา ไม่ได้ปลานึ่ง

อาจารย์คึกฤทธิ์เริ่มโมโหหิว เราจึงไปเรียกเจ้าของร้านมาที่โต๊ะ ท่านก็สั่งเป็นภาษาอังกฤษ ผลไม่แตกต่างจากคนอื่น ขนาดลูกอังกฤษอย่างท่านสั่งไม่ได้แล้วพวกเราจะไปทำอะไรได้

สุดท้ายจึงต้องใช้วิธีวาดรูปให้ดูจึงได้กินปลานึ่งซีอิ๊ว

 

การเดินทางร่วมคณะ “โขนธรรมศาสตร์” เพื่อเปิดการแสดงตามคำเชิญของผู้บริหารเกาะฮ่องกงครั้งนั้น จำได้ว่าเป็นภายหลังการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงนิตยสาร “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” จากการพิมพ์ขาว-ดำ หน้าปกเป็นสีฟ้า ซึ่งคนที่จำได้ทุกวันนี้อยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุทั้งสิ้น อีกทั้งจำนวนไม่น้อยได้ลากลับบ้านเก่าไปบ้างแล้ว ทั้งนักอ่านและผู้ผลิต การเปลี่ยนแปลงครั้งนั้นต้องบอกว่าพลิกโฉมทั้งหมดโดยหน้าปกจะมีการพิมพ์สี่สีด้วย

ภาพถ่ายซึ่งจะนำมาพิมพ์เป็นปกหน้าจึงมีความจำเป็นต้องสวยงามคมชัด ขณะเดียวกันขนาดของฟิล์มต้องใหญ่กว่าธรรมดา เนื่องจากนิตยสารฉบับนี้มีขนาดแทบลอยด์ (Tabloid Size) ถ้าใช้ภาพถ่ายเป็นฟิล์มขนาดเล็กขยายใหญ่มากไปฟิล์มก็จะแตก

กระบวนการผลิตของสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ เวลานั้นขาดแคลนเครื่องไม้เครื่องมือพอสมควร โดยเฉพาะกล้องถ่ายรูป

ไหนๆ จะเดินทางไปแหล่งสินค้าราคาถูกกว่าบ้านเรามาก จึงเสนอบริษัทดูว่าจะลองเสี่ยงหอบหิ้วกล้องถ่ายรูปเข้ามาได้หรือไม่? เพราะมันไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร

ปรากฏว่าทางบริษัทเห็นด้วย ครั้งนั้นเราจึงได้เครื่องมือกลับเข้ามาพัฒนาหนังสือของค่ายสยามรัฐให้ร่วมสมัยขึ้นมาบ้าง

 

การเดินทางไปพักผ่อนส่วนตัวของอาจารย์คึกฤทธิ์ส่วนใหญ่จะเป็นทางภาคเหนือ เนื่องจากเป็นสถานที่ซึ่งมีอากาศดีมากกว่าภาคอื่น โดยเฉพาะบนยอดดอยขุนตาน จังหวัดลำปางติดต่อกับลำพูน ซึ่งอาจารย์มีบ้านพักอยู่บนนั้น ก่อนจะก่อสร้างอีกหลังหนึ่งที่เรียกว่า “บ้านริมปิง” จังหวัดเชียงใหม่ สถานที่ทั้ง 2 แห่งนั้นทุกวันนี้จะเป็นอย่างไรอยู่ในความครอบครองของใคร? ไม่ทราบเหมือนกัน ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมต้องเปลี่ยนแปลงด้วยเวลา

ไปดอยขุนตานทุกครั้งใช้รถไฟไทยไปลงสถานีปากถ้ำขุนตาน แล้วเดินขึ้นไปบนยอด 2 (ย.2) อันเป็นที่พักได้ ติดตามอาจารย์ไปแทบทุกครั้งจนกระทั่งท่านเดินเองไม่ไหวต้องขี่ล่อ และสุดท้ายนั่งเสลี่ยงมีคนหามขึ้นไป

บนยอดอยแห่งนี้ จึงมีตำนานเรื่องเล่าขานต่อๆ กันมามากมาย ซึ่งได้เคยถ่ายทอดไว้หลายที่หลายทาง รวมทั้งจัดทำหนังสือแจกจ่ายในวันเกิดท่านมานานปี ตั้งแต่อาจารย์มีอายุ 69-70 ปี

ย้อนคิดถึงการเดินทางไปต่างประเทศครั้งแรกในชีวิตขึ้นมาครั้งใด ก็ยังตื่นเต้นทุกครั้ง เมื่อได้ติดตามท่านสู่สวิตเซอร์แลนด์ (Switzerland) จุดแรกบินไปลงที่ซูริก (Zurich) เข้าพักโรงแรมในกรุงเจนีวา (Geneve) และโลซานน์ (Lausanne) บินต่อสู่ลอนดอน (London-England) และไปโคเปนเฮเกน (Copenhagen-Denmark) ก่อนกลับเมืองไทย ทั้งหมดใช้เวลา 1 เดือน

ยังจบไม่ลง ขออนุญาตต่อตอนจบสัปดาห์ถัดไป