จักรวรรดิในกำแพง : ใต้หล้ารวมกันแล้วแยกกัน ตอนที่ 1 “วัฏจักรอาณาจักร”

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

ความนำ

โดยทั่วไปแล้ว เรื่องราวในช่วงปลายราชวงศ์ฮั่นจนถึงเมื่อฮั่นสิ้นวงศ์นั้น คือเรื่องราวที่มีปลายทางอยู่ที่ยุคสามรัฐ (ค.ศ.220-280, ซันกว๋อ, Three Kingdoms) อันเป็นยุคที่จีนแตกแยกออกเป็นสามรัฐที่ต่างทำศึกเพื่อสร้างจักรวรรดิขึ้นมาใหม่

อันที่จริงความแตกแยกของยุคนี้ก็ไม่ต่างกับที่เคยเกิดเมื่อหลายร้อยปีก่อนหน้านี้ แต่ที่ยุคนี้มีชื่อเสียงส่วนหนึ่งเป็นเพราะเรื่องราวในยุคนี้ถูกสร้างสรรค์เป็นวรรณกรรม

เมื่อเป็นวรรณกรรมก็ย่อมมีการผูกเรื่องราวให้น่าอ่าน การผูกเรื่องเช่นนี้จึงมีเรื่องที่ไม่จริงแทรกอยู่ในเรื่องจริงเพื่อให้ความรื่นรมย์แก่ผู้อ่าน แต่ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ผู้แต่งวรรณกรรมชิ้นนี้ได้ขึ้นต้นร้อยแก้วในบทแรกย่อหน้าแรก ดังนี้ (1)

“ธรรมดาสรรพสิ่งในใต้ฟ้า เมื่อแยกกันนานๆ ก็กลับเข้ารวมกัน เมื่อรวมกันนานๆ ก็กลับแยกกันอีก”

ความหมายของถ้อยร้อยแก้วดังกล่าวชัดเจนอยู่ในตัว ว่าพัฒนาการของประวัติศาสตร์จีนก็คือ พัฒนาการที่สลับกันไปมาระหว่างความเป็นเอกภาพกับความแตกแยก ถ้อยร้อยแก้วนี้จึงเข้าถึงธาตุแท้ของประวัติศาสตร์จีน

ที่สำคัญ ยุคสมัยที่ปรากฏในวรรณกรรมชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของยุคสมัยที่จะได้กล่าวถึงในบทนี้ โดยส่วนอื่นๆ ที่เหลือส่วนใหญ่ก็ไม่ต่างกับที่วรรณกรรมกล่าวถึง นั่นคือ เป็นยุคสมัยที่จีนยังคงแตกแยก ซ้ำร้ายยังแตกแยกยาวนานกว่ายุคสามรัฐเสียอีก

และมีช่วงเวลาเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่เป็นยุคที่จีนมีเอกภาพ

 

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ “ใต้หล้า” จะแตกแยกกันนี้ได้มีสถานการณ์ต่างๆ สั่งสมกันมาอย่างยาวนาน เริ่มจากความขัดแย้งภายในราชสำนักที่มาจากการแย่งชิงอำนาจของกลุ่มต่างๆ แต่ละกลุ่มต่างก็ผลัดกันก้าวขึ้นมามีอำนาจที่ต่างก็อ้างพระนามของจักรพรรดิ แล้วกลุ่มที่เหลือไม่พอใจและรวมกลุ่มกันขึ้นมาเพื่อต่อต้าน

ตราบจนเมื่อสถานการณ์สุกงอมอีกระดับหนึ่ง กลุ่มอำนาจจึงเหลืออยู่สามกลุ่ม ถึงตอนนี้ฮั่นก็ล่มสลายแล้วจีนก็เข้าสู่ยุคสามรัฐ (ค.ศ.220-280) ยุคนี้ยุติลงเมื่อมีผู้กำชัยชนะแล้วตั้งราชวงศ์จิ้น (ค.ศ.265-420)

แต่ด้วยปัญหาต่างๆ ที่รุมเร้า โดยเฉพาะปัญหาที่มีที่มาจากชนชาติที่มิใช่ฮั่นนั้น ได้ทำให้ราชวงศ์นี้ถูกแบ่งเป็นสองสมัย คือจิ้นตะวันตกหรือจิ้นสมัยแรก (ค.ศ.265-317) และจิ้นตะวันออกหรือจิ้นสมัยหลัง (ค.ศ.317-420) คล้ายที่ฮั่นเคยเป็น

แต่ที่ต่างกันอย่างมากก็คือ การแบ่งเป็นสองสมัยของจิ้นนี้หาได้มีเสถียรภาพไม่ เพราะราชวงศ์นี้ต้องตกอยู่ท่ามกลางกลุ่มอำนาจต่างๆ ที่กระจายตัวไปทั้งแผ่นดิน ด้วยมีรัฐของชนชาติต่างๆ ตั้งตนเป็นใหญ่รวมแล้ว 16 รัฐ รัฐทั้งหมดนี้ทำศึกระหว่างกันอย่างยาวนาน

และทำศึกในขณะที่จิ้นยังคงอยู่อย่างไร้ความหมาย

 

จนเมื่อจิ้นล่มสลายลงอย่างแท้จริง จีนก็เข้าสู่ยุคราชวงศ์ใต้-เหนือ (ค.ศ.420-589) (2) ในยุคนี้จีนยังคงแตกเป็นหลายรัฐ แต่ละรัฐต่างก็ตั้งตนเป็นใหญ่และต่างก้าวขึ้นมามีอิทธิพลอย่างโดดเด่นในแต่ละช่วงเวลา บางรัฐก็มีอิทธิพลก่อน ค.ศ.420 อันเป็นปีเริ่มต้นของยุคนี้

หากรวมเวลาโดยเริ่มจากยุคสามรัฐจนถึงเมื่อสิ้นสุดยุคราชวงศ์ใต้-เหนือแล้ว จะยาวนานมากกว่า 360 ปี ในระหว่างนี้มีเวลาที่จีนเป็นเอกภาพในสมัยราชวงศ์จิ้นอยู่ช่วงหนึ่ง ที่ถ้าหากนับตามปีที่ราชวงศ์นี้ดำรงอยู่แล้วจะมีอายุประมาณ 155 ปี

แต่เวลาที่ว่านี้มิได้หมายความว่าราชวงศ์นี้จะมีอำนาจอยู่จริง เพราะโดยส่วนใหญ่ของเวลาดังกล่าวจะพบว่า จิ้นตั้งอยู่ท่ามกลางรัฐต่างๆ ที่ล้วนก็เป็นอิสระต่อกัน ที่สำคัญ ต่างก็ตั้งราชวงศ์ของตนขึ้นมาจนแทบกล่าวได้ว่า การมีอยู่ของจิ้นสะท้อนความเป็นจักรวรรดิน้อยมากและเป็นในช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้น

ดังนั้น สิ่งที่เห็นตลอดช่วงเวลาดังกล่าวจึงคือ ระบบสัมพันธภาพทางอำนาจที่สลับซับซ้อนระหว่างรัฐต่างๆ ซึ่งรวมทั้งการคงอยู่ของราชวงศ์จิ้นด้วย แต่ทั้งหมดนี้คือประเด็นที่งานศึกษานี้จะได้ประมวลและแยกแยะให้เห็นต่อไป

 

สถานการณ์ก่อนฮั่นจะล่มสลาย

ฮั่นนับเป็นราชวงศ์แรกที่มีการสำรวจจำนวนประชากร การสำรวจนี้เริ่มเมื่อ ค.ศ.2 ซึ่งพบว่า เวลานั้นจีนมีครัวเรือนอยู่ 12,366,470 ครัวเรือน และเมื่อคิดเป็นรายบุคคลแล้วจะมีจำนวนอยู่ที่ 57,671,400 คน ซึ่งก็คือจำนวนประชากรทั้งหมด

การสำรวจมีหลายครั้งในฮั่นสมัยหลัง ที่น่าสนใจคือการสำรวจเมื่อ ค.ศ.146 อันเป็นช่วงที่จีนเริ่มเข้าสู่วิกฤตการณ์นั้น พบว่า มีครัวเรือนทั้งสิ้น 9,348,227 ครัวเรือน และมีประชากรทั้งสิ้น 47,566,772 คน

ตัวเลขที่ลดลงจากก่อนหน้านี้ไม่ได้หมายความว่าลดลงจริง แต่มาจากความหย่อนยานในการบริหารของทางการจีนในเวลานั้น ถึงกระนั้น ตัวเลขนี้ก็เป็นตัวเลขที่แท้จริง เพราะเป็นตัวเลขที่รัฐสามารถสัมผัสจับต้องได้เพื่อการเก็บภาษีและการจัดหาแรงงาน

แต่ประเด็นในที่นี้ก็คือว่า จำนวนประชากรในที่นี้ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือชาวนานั้น คือประชากรที่กำลังเดือดร้อนอย่างหนักทั้งจากภัยธรรมชาติ ภัยจากพ่อค้าและเจ้าที่ดิน ภัยจากชนชั้นปกครองท้องถิ่น และภัยจากอำนาจอันฉ้อฉลของราชสำนัก

ในที่สุด ภัยเหล่านี้ก็กลายเป็นเชื้อที่ดีที่นำไปสู่การรวมตัวของราษฎรเพื่อโค่นล้มราชวงศ์ฮั่น

เวลานั้นจึงมีกบฏเกิดขึ้นทั่วทั้งจักรวรรดิ ในขณะที่ภายในราชสำนักก็เดินเข้าหาวิกฤตมากขึ้น เมื่อยังคงมีการแย่งชิงอำนาจของกลุ่มบุคคลต่างๆ ความอ่อนแอของจักรพรรดิ และการฉ้อราษฎร์บังหลวงของขุนนางทั้งในส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น

วิกฤตนี้จึงมีพัฒนาการโดยตัวของมันเอง

 

กบฏที่ก่อเกิด

ช่วงก่อนเกิดกบฏเป็นช่วงที่ฮั่นหลิงตี้ยังทรงเป็นจักรพรรดิ ขณะที่การฉ้อฉลในราชสำนักที่มีมาแต่เดิมยังไม่จางหาย เหล่าขันทีกลับยิ่งทวีวิธีการฉ้อฉลเพิ่มมากขึ้นไปอีก โดยเฉพาะเรื่องการซื้อขายตำแหน่งขุนนางให้แก่ใครก็ตามที่มีเงินมากพอที่จะจ่าย

และที่น่าอเนจอนาถใจยิ่งก็คือ ฮั่นหลิงตี้ทรงมีส่วนร่วมในการซื้อขายนี้ด้วย

เหตุดังนั้น ราชสำนักจึงไม่เพียงจะไร้ขุนนางที่มีความรู้และคุณธรรม ที่โดยมากได้ถูกกวาดล้างไปในเหตุการณ์หายนะแห่งคณะอภิชนก่อนหน้านี้เท่านั้น หากขุนนางที่รับเข้ามาใหม่ยังคือคนที่มาด้วยการซื้อขายตำแหน่งอีกด้วย

ขุนนางกเฬวรากเหล่านี้เมื่อลงทุนไปแล้วก็ย่อมหาทางถอนทุนคืน วิธีที่ใช้จึงคือ การขูดรีดภาษีเอาจากราษฎร เช่นนี้แล้วจึงเท่ากับไปกระตุ้นให้ราษฎรที่ไม่พอใจอยู่แต่เดิมยิ่งไม่พอใจมากขึ้น ถึงตอนนี้สถานการณ์ก็ไม่ยากที่จะพัฒนาไปสู่การเกิดกบฏขึ้นมาในที่สุด

เหตุดังนั้น เมื่อวิกฤตที่ว่านำไปสู่การเกิดขึ้นของกบฏขบวนการต่างๆ ราชสำนักซึ่งไร้สำนึกใดๆ นอกจากผลประโยชน์ส่วนตัวจึงไม่เห็นเป็นปัญหาใหญ่ และยังเชื่อด้วยว่าตนสามารถที่จะปราบกบฏเหล่านี้ได้

ส่วนกบฏที่เกิดขึ้นประดุจหนึ่งไฟลามทุ่งในขณะนั้นมีอยู่หลายขบวนการทั่วจักรวรรดิ แต่ที่มีขนาดใหญ่จนส่งผลสะเทือนไปทั่วมีเพียงไม่กี่ขบวนการ และที่มีโดดเด่นมากก็คือ กบฏข้าวสารห้าถังและกบฏโพกผ้าเหลือง และในสองขบวนการนี้กบฏโพกผ้าเหลืองจะเป็นที่รู้จักกันมากกว่า เพราะเป็นกบฏที่สร้างความเสียหายให้แก่ฮั่นสมัยหลังอย่างหนัก

ในที่นี้จึงขอกล่าวถึงกบฏข้าวสารห้าถังแต่พอสังเขป

————————————————————————————————————————–
(1) สำนวนแปลใน วรรณไว พัธโนทัย แปลและเรียบเรียง, สามก๊ก : ฉบับแปลใหม่ เล่มที่ 1 (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ธรรมชาติ, 2538) วรรณไวแปลสำนวนนี้ตรงตามต้นฉบับภาษาจีน ในขณะที่ฉบับที่อำนวยการแปลโดยเจ้าพระยาพระคลัง (หน) จะแปลว่า “เดิมแผ่นดินจีนทั้งปวงนั้น เป็นสุขมาช้านานแล้วก็เป็นศึก ครั้นศึกสงบแล้วก็เป็นสุข” เพื่อให้ผู้อ่านชาวไทยเข้าใจได้ง่าย ดูใน สามก๊ก : ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เล่มที่ 1 (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, 2536). อนึ่ง วรรณกรรม สามก๊ก นี้แปลจากเรื่องซันกว๋อเอี่ยนอี้ ที่แต่งขึ้นในสมัยราชวงศ์หมิง (ค.ศ.1368-1644) โดยหลอกว้านจง โดยผู้แต่งท่านนี้อิงข้อมูลจากซันกว๋อจื้อ (จดหมายเหตุสามรัฐ) ที่เป็นพงศาวดารที่บันทึกขึ้นโดยเฉินโซ่ว ซึ่งมีชีวิตในยุคสามรัฐ (ค.ศ.220-280,) ต่อเนื่องถึงราชวงศ์จิ้น (ค.ศ.265-420)

(2) คำเรียกขานว่า ราชวงศ์ใต้-เหนือ นี้แปลตรงตัวตามคำเรียกฝ่ายจีนที่ว่า หนันเป่ยเฉา การเรียกอย่างจีนคงไม่เป็นที่คุ้นเคยของไทยเรา จึงทำให้งานที่เขียนถึงยุคนี้ของฝ่ายไทยเรียกยุคนี้กลับกันว่า ยุคราชวงศ์เหนือ-ใต้ งานศึกษานี้จะเรียกอย่างที่จีนเรียกคือ ราชวงศ์ใต้-เหนือ (Southern and Northern Dynasties) เพื่อหมายให้ตรงตามหลักวิชาการ ถึงแม้จะฝืนกับความคุ้นชินของฝ่ายไทยก็ตาม