อ่านบทสัมภาษณ์ทูตกัมพูชาเล่าเหตุการณ์ “เขมรแดง” และ การกวาดล้างผู้ที่เป็นปฏิปักษ์ทางความคิด

คุยกับทูต ลง วิซาโล ไทย-กัมพูชา สัมพันธ์อันราบรื่นไร้พรมแดน (5)

“สําหรับผม ฝรั่งเศสเป็นภาษาต่างประเทศภาษาแรกที่ผมเรียนที่พนมเปญ และนักเรียนสัญชาติกัมพูชาทุกคนต้องเรียนภาษาสเปนหรือภาษาอังกฤษในปีแรกของการเรียนชั้นมัธยม ผมเลือกเรียนภาษาอังกฤษ จึงต้องใช้พจนานุกรมภาษาฝรั่งเศส-อังกฤษ”

นายลง วิซาโล (H.E. Mr. Long Visalo) เอกอัครราชทูตแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ประจำประเทศไทย ซึ่งพูดและเขียนภาษาต่างประเทศได้ถึง 4 ภาษาคือ ฝรั่งเศส อังกฤษ สเปน และฮังการี มาเล่าถึงประสบการณ์ชีวิตนักเรียนในต่างแดน แล้วต้องกลับมาผจญกับความอดอยากขาดแคลนและทุกข์ทรมานในยุคเขมรแดง

“ผมได้รับทุนเล่าเรียนไปศึกษาที่ Technical University นครบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี ปี ค.ศ.1967 มาถึงปี ค.ศ.1970 ก็ได้รับทราบข่าวจากประเทศของผมว่ามีการถอดถอนพระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ ออกจากประมุขแห่งรัฐกัมพูชา โดยผู้ก่อการรัฐประหารขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นประมุขแห่งรัฐแทน ทำให้ผมรู้สึกโกรธแค้นมาก”

พระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ เป็นกษัตริย์แห่งกัมพูชา ประมุขแห่งรัฐกัมพูชา และนายกรัฐมนตรีหลายสมัย

พระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ เป็นกษัตริย์แห่งกัมพูชา ประมุขแห่งรัฐกัมพูชา และนายกรัฐมนตรีแห่งกัมพูชาหลายสมัย และได้สละราชบัลลังก์ให้แก่พระราชโอรสนโรดม สีหมุนี ดำรงพระอิสริยยศเป็นพระมหาวีรกษัตริย์ (พระวรราชบิดา) ในท้ายสุด

ลอน นอล (Lon Nol) เป็นผู้ก่อการรัฐประหารล้มอำนาจของรัฐบาลเจ้านโรดม สีหนุ ขณะที่เจ้านโรดม สีหนุ เดินทางไปเยือนยุโรป สหภาพโซเวียต และจีน ในปี ค.ศ.1970 โดยสถาปนาสาธารณรัฐเขมร และกำหนดให้เรียกชื่อประเทศว่ารัฐกัมพูชา (?tat du Cambodge) แล้วแต่งตั้งตัวเองขึ้นเป็นประธานาธิบดีและประมุขแห่งรัฐ

ลอน นอล เข้าร่วมกับกองทัพกัมพูชาในปี ค.ศ.1952 จนกระทั่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหาร รัฐมนตรีกลาโหม และรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลเจ้านโรดม สีหนุ ในเวลานั้นลอน นอล เริ่มมีความเห็นด้านนโยบายการต่างประเทศขัดแย้งกับเจ้านโรดม สีหนุ ซึ่งเอนเอียงไปทางจีนแผ่นดินใหญ่และเวียดนามเหนือ ส่วนลอน นอล นั้นสนับสนุนสหรัฐอเมริกา

นายลง วิซาโล เอกอัครราชทูตแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา

“หลังถูกถอดถอน เจ้านโรดม สีหนุ ไม่ได้กลับไปกัมพูชา หากแต่เดินทางต่อไปยังประเทศจีน และได้ก่อตั้งแนวร่วมปลดปล่อยชาติเขมร (Khmer People”s National Liberation Front) จากลอน นอล ผมจึงตัดสินใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกแนวร่วมนี้ด้วยทันที เมื่อได้รับการชักชวนจากเจ้านโรดม สีหนุ ซึ่งในขณะนั้นผมมีอายุเพียง 23-24 ปี และทำกิจกรรมร่วมกับแนวร่วมนักศึกษาจากกัมพูชาหลายคนที่ไปเรียนในฮังการี และบางครั้งผมก็ไปพบแนวร่วมนักศึกษากัมพูชา ณ ประเทศอื่นๆ ในยุโรป เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส”

ท่านทูตชี้แจงถึงบทบาทเพื่อชาติขณะยังเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยในต่างแดน

“ผมได้รับทุนให้ไปเรียนต่อที่ประเทศฮังการี แต่เมื่อเกิดรัฐประหารในกัมพูชา ผมจึงย้ายไปเข้าร่วมกับขบวนการในกรุงปารีส เนื่องจากฮังการียุติการสนับสนุนทุนการศึกษา เพราะผมกลายเป็นคนไร้สัญชาติอันเกิดจากความวุ่นวายทางการเมืองการปกครองในกัมพูชา แต่ผมสามารถไปฝรั่งเศสได้โดยความสัมพันธ์ผ่านสถานทูตฝรั่งเศสในนครบูดาเปสต์ ฮังการี ซึ่งเป็นผู้มอบเอกสารการเดินทางให้แก่ผมในเวลาต่อมา”

“อย่างไรก็ตาม เวลานั้นสถานทูตกัมพูชาในกรุงปารีสได้อยู่ภายใต้การดำเนินงานของรัฐบาลใหม่กลุ่มเขมรแดง (Khmer Rouge) แม้ผมจะเป็นพลเมืองของรัฐบาลใหม่แล้ว แต่รัฐบาลใหม่ต้องการให้ผมเรียนที่ฝรั่งเศสเพื่อจะได้ควบคุมผมไม่ให้ทำการเคลื่อนไหวใดๆ ในนครบูดาเปสต์ ฮังการี ผมจึงอยู่ที่กรุงปารีสอีกสองสามปีแล้วกลับไปเรียนต่อที่ฮังการีภายหลัง”

นายพลลอน นอล (Lon Nol)

เมื่อกองกำลังฝ่ายคอมมิวนิสต์กัมพูชาหรือเขมรแดงซึ่งมีเวียดกงเป็นพันธมิตรได้เข้ายึดอำนาจปกครองกัมพูชาโดยโค่นล้มรัฐบาลลอน นอล ที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาได้สำเร็จในวันที่ 17 เมษายน ค.ศ.1975 จากนั้นมากัมพูชา ตกอยู่ภายใต้อำนาจของนายพล พต (Pol Pot) ผู้นำกลุ่มเขมรแดง

ในช่วงแรกผู้คนต่างโห่ร้องดีใจหลังจากที่เขมรแดงได้ยึดอำนาจจากนายพลลอน นอล เพราะหวังว่าความสงบสุขจะกลับมาเยือนชาวกัมพูชาอีกครั้ง โดยพล พต สั่งให้อพยพผู้คนจากกรุงพนมเปญสู่ชนบท เพื่อทำการเกษตร

การฆ่าล้างผ่าพันธ์ในยุคเขมรแดง

ตอนนั้นทุกคนได้แต่หวังว่าจะมีข้าวกิน มีการทำนาที่เป็นระบบนารวม แต่กลายเป็นการเดินทางไปสู่ความทุกข์ทรมานและความตาย

“ผมกลับไปปารีสอีกครั้งเมื่อเรียนจบจากฮังการีและขอให้สถานทูตกัมพูชาในปารีสอนุญาตให้ผมกลับบ้านที่กัมพูชา เพราะต้องการกลับมาดูแลพ่อแม่และพี่น้องอีกห้าคน กลุ่มเขมรแดง (Khmer Rouge) ซึ่งเข้ามาบริหารงานสถานทูตให้ผมรอเป็นเวลาหลายเดือนทีเดียว ในที่สุดเมื่อได้รับอนุญาตให้กลับไปกัมพูชา ก็ไม่มีเที่ยวบินตรง ผมจึงจำเป็นต้องเดินทางกับกลุ่มเขมรแดงไปยังกรุงปักกิ่ง และจากกรุงปักกิ่งโดยเที่ยวบินพิเศษไปกัมพูชา ถึงกรุงพนมเปญในวันที่ 22 มิถุนายน หรือกรกฎาคม ปี ค.ศ.1976”

ค่ายกักกันชาวกัมพูชาโดยเขมรแดง

กัมพูชาภายใต้นายพล พต ระหว่างปี ค.ศ.1975-1979 ไม่ยอมรับความช่วยเหลือจากประเทศภายนอก ใช้ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมพึ่งตนเอง และไม่ยอมเป็นพันธมิตรกับชาติใดๆ โดดเดี่ยวประเทศออกจากอิทธิพลของต่างชาติ ปิดโรงเรียน โรงพยาบาล โรงงาน ยกเลิกระบบธนาคาร ระบบเงินตรา ยึดทรัพย์สินจากเอกชนทั้งหมด เชื่อว่าระบบสังคมนิยมจะนำกัมพูชาไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองเหมือนในอดีตได้โดยไม่ต้องพึ่งวิทยาการเทคโนโลยีใดๆ

กระดูกของชาวเขมรที่ถูกฆ่าโดยน้ำมือของเขมรแดง ภาพเครดิต -Choeung Ek

มีการกวาดล้างผู้ที่เป็นปฏิปักษ์ทางความคิด รวมทั้งนักศึกษา ปัญญาชน แพทย์ วิศวกร นักปราชญ์ และศิลปิน เล่ากันว่าคนใส่แว่นสายตาที่ดูเหมือนมีความรู้ จัดเป็นภัยต่อความมั่นคง และปกครองยาก ก็จะถูกฆ่าอย่างไร้เหตุผล

“อย่างไรก็ตาม ระบบการปกครองภายใต้พล พต ทำให้ผมต้องอยู่ประจำในค่ายเพื่อปลูกฝังแนวคิดไม่ให้ต่อต้านรัฐบาล (Re Education Camp) ซึ่งมีหลายคนมาจากฝรั่งเศส หรือมาจากเมืองอื่นๆ ในกัมพูชา เราทำหน้าที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการปฏิวัติ เพื่อให้รู้ว่าตอนนี้เราต้องปฏิวัติ ทำอย่างไร และทำไมเราถึงปฏิวัติ ครูสอนเรื่องการปฏิวัติเป็นเวลาสามวัน แล้ววันต่อมาจึงเป็นเวลาของการพูดคุย ปรึกษาหารือกัน”

นายพล พต (Pol Pot) ผู้นำกลุ่มเขมรแดง

“หลังจากนั้นผมก็ต้องกลับไปทำงานร่วมกับคนอื่น ๆ ตามเดิม เป็นชีวิตที่ยากลำบากมาก ที่สำคัญคือครอบครัวของเราไม่ได้มาอยู่กับเราด้วย เราต้องทำงานทุกวันตั้งแต่เช้าจรดค่ำ อาหารมีจำนวนน้อยเพียงข้าวและผักบุ้ง บางทีก็ถูกส่งไปทำงานยังค่ายอื่น เช่น ในช่วงฤดูกาลของการเก็บเกี่ยวข้าวประมาณ 1-3 เดือน แล้วถึงได้กลับมาทำงานที่ค่ายเดิมต่อไป”

“แต่อย่าเพิ่งถามตอนนี้ว่า ที่ผมต้องทำเป็น “งาน” อะไร”