บทความพิเศษ /โชคชัย บุณยะกลัมพ/VR พัฒนาระดับสติปัญญา แบบไอน์สไตน์

บทความพิเศษ / โชคชัย บุณยะกลัมพ

https://www.facebook.com/ChokCyberAIEntertainment/

VR พัฒนาระดับสติปัญญา

แบบไอน์สไตน์

 

ศาสตราจารย์เมล สเลเตอร์ เปิดเผยผลการศึกษาที่ระบุว่า กลุ่มตัวอย่าง 30 คนที่ทดลองเล่นเครื่อง VR รับบทเป็นนักวิทยาศาสตร์ระดับโลกอย่างอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ผู้คิดค้นทฤษฎีสัมพัทธภาพ มีการคิดและการตัดสินใจที่ดีขึ้น โดยที่ผู้ทดสอบส่วนหนึ่งมีระดับ IQ สูงขึ้นด้วยหลังทำแบบทดสอบดังกล่าว
คงต้องพูดได้ว่าไม่มีใครที่ไม่รู้จักนักวิทยาศาสตร์ที่ชื่อไอน์สไตน์ นักวิทยาศาสตร์ที่เป็นอัจฉริยะของโลก
จินตนาการความคิดของไอน์สไตน์ เปรียบเสมือนประตูในการเปลี่ยนยุคสมัย
เป็นตัวแทนของคำว่าวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และนักฟิสิกส์
และยังเป็นนักคิดที่ไม่เคยหยุดคิดค้นในสิ่งต่างๆ
ความอัจฉริยะของไอน์สไตน์ เป็นที่ยอมรับของทุกคนทั่วโลก ว่าเป็นอัจฉริยะแห่งยุค

ไอน์สไตน์เป็นพวกหัวก้าวหน้าและรักอิสระ ไม่ชอบการเรียนที่อยู่ในกรอบแบบแผนดั้งเดิม
ตอนเด็กๆ เขาจะเป็นเด็กที่ไม่ชอบการเรียนที่โรงเรียนแบบทั่วไป
เขาไม่ชอบการเรียนแบบที่ต้องคอยเรียนแบบท่องจำเพราะมันไม่ได้มีกระบวนการคิด แต่มันคือการจดจำมากกว่าการคิด
เพราะแบบนั้น คนที่สามารถจดจำได้มากกว่าก็จะเก่งกว่าแบบนี้ ไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง
เขาจึงไม่สนใจกับการเรียนที่โรงเรียนสักเท่าไหร่
หลายคนบนโลกยังเข้าใจว่านอกจากเป็นอัจฉริยะของโลกแล้ว ไอน์สไตน์เป็นผู้คิดค้นระเบิดปรมาณูหรือนิวเคลียร์ที่ถูกใช้ในสงครามโลกครั้งที่สอง ที่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ จนกองทัพญี่ปุ่นยอมแพ้สงครามไป
เป็นการจบสงครามโลกครั้งที่สองอย่างสมบูรณ์ โดยที่ฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นฝ่ายชนะสงครามโลกไป
แต่ใครจะรู้ว่าจริงๆ แล้วไอน์สไตน์ไม่ได้เป็นคนคิดระเบิดปรมาณูหรือนิวเคลียร์
เพียงแค่มีนักวิทยาศาสตร์ใช้สมการของเขาในการสร้างระเบิดปรมาณูหรือนิวเคลียร์ (Atomic Bomb) นั่นก็คือสมการ E=mc2 ที่ดังสะท้านโลกนั่นเอง
เรื่องนี้ทำให้ไอน์สไตน์นั้นเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างมากจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิตของเขา
หลังจากทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปได้รับการพิสูจน์ ไอน์สไตน์ก็กลายเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยธรรมดานักสำหรับนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่ง
เขาเป็นที่เคารพนับถือในความรู้แจ้งเห็นจริงในจักรวาลซึ่งช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้แก่นักวิทยาศาสตร์จำนวนมาก กลายเป็นแบบอย่างและสัญลักษณ์ของความฉลาดหรือความอัจฉริยะ ได้ทำงานสอนหนังสือในตำแหน่งศาสตราจารย์ในสถาบันหลายแห่งรวมทั้งที่วิทยาลัยโพลีเทคนิคเมืองซูริกที่ซึ่งเขาเรียนจบมา
ไอน์สไตน์ได้เดินทางไปหลายประเทศทั้งในอเมริกา เอเชีย ตะวันออกไกล และยุโรป ได้รับการยกย่องและต้อนรับเป็นอย่างดีจากทุกแห่งในฐานะนักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่
มีเรื่องหนึ่งที่ไม่ค่อยพูดถึงกันคือ ไอน์สไตน์เป็นนักไวโอลินฝีมือเยี่ยม เขาหัดเล่นไวโอลินตั้งแต่เด็ก เป็นดาวเด่นในการแสดงคอนเสิร์ตเสมอ
ตกดึกเขาชอบที่จะด้นทำนองเพลงไปเรื่อยๆ ขณะที่ในหัวคิดหาทางแก้ปัญหาเรื่องที่ซับซ้อน
หลายครั้งที่คำตอบผุดขึ้นท่ามกลางเสียงดนตรี

ถึงจะประสบความสำเร็จอย่างมากกับผลงานการคิดค้นทฤษฎีสัมพัทธภาพ
แต่เจ้าของวาทะเด็ด “จินตนาการสำคัญกว่าความรู้” และ “การเมืองนั้นแสนสั้น แต่สมการคงอยู่ชั่วนิรันดร์” ยังสร้างผลงานทางวิชาการต่อไป ไอน์สไตน์ได้ตีพิมพ์ผลงานทางวิทยาศาสตร์มากกว่า 300 ชิ้น และงานอื่นที่ไม่ใช่วิทยาศาสตร์อีกกว่า 150 ชิ้น
สมองคนเราถูกออกแบบมาให้มีโครงสร้างไม่แตกต่างกัน สิ่งที่ต่างกันคือความสามารถในการจินตนาการ
ไอน์สไตน์จึงบอกว่า จินตนาการสำคัญมากกว่าความรู้ จงพยายามจินตนาการไปแล้วอย่าลืมใส่ความรู้สึกเข้าไปด้วย ในที่สุดมันจะมีพลังมหัศจรรย์จากจิตใต้สำนึกมาขับดันให้คุณเกิดการหยั่งรู้โดยอัตโนมัติ
ในปี ค.ศ.1915 อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ได้เขียนจดหมายจากกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ถึงลูกชายของเขา ฮานส์ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ซึ่งขณะนั้นพักอาศัยอยู่ที่เมืองซูริก ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
จดหมายของไอน์สไตน์สื่อถึงความคิดถึงต่อลูกชายของเขา แต่ก็มีส่วนหนึ่งที่เขาเขียนว่า
“พ่อดีใจมากที่ลูกมีความสุขในการเล่นเปียโน พ่อเชื่อว่าการเล่นเปียโนและการเป็นช่างไม้เป็นเรื่องที่ดีที่สุดของลูกในวัยนี้ ดีกว่าการเรียนในโรงเรียนเสียอีก เพราะสิ่งเหล่านี้เหมาะสมกับลูกจริงๆ จงเล่นเปียโนที่ลูกชอบไปเรื่อยๆ ถึงแม้ว่าคุณครูจะไม่ได้สั่งให้ลูกทำก็ตาม นี่เป็นวิธีการเรียนรู้ที่ดีที่สุด ทำสิ่งที่ลูกชื่นชอบมากๆ จนลืมไปเลยว่าเวลาผ่านไปนานแค่ไหน ในบางครั้ง พ่องมอยู่กับการทำงาน จนลืมไปเลยว่าต้องกินข้าวเที่ยง”

ในช่วงปลายทางของชีวิต ไอน์สไตน์พยายามคิดค้นทฤษฎีที่จะสามารถอธิบายแรงพื้นฐานธรรมชาติทุกชนิดได้ภายในทฤษฎีเดียวเรียกว่าทฤษฎีสนามรวม (Unified field theory) แต่ไม่สำเร็จ
เขาเสียชีวิตในปี 1955 ด้วยวัย 76 ปี
ทฤษฎีในฝันของไอน์สไตน์คงต้องรอยอดอัจฉริยะคนใหม่มาสานงานต่อให้ลุล่วง
แต่ผลงานของเขานั้นมากมายและยิ่งใหญ่มากแทบไม่น่าเชื่อว่ามนุษย์คนหนึ่งจะทำได้
ภาพของผู้ชายผมตั้งฟูหนวดเฟิ้ม ท่าทางไม่ถือตัว นัยน์ตาเป็นประกายผู้นี้จึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของยอดอัจฉริยะผู้ทรงภูมิปัญญาของโลกมาตั้งแต่บัดนั้นเรื่อยมาจวบจนปัจจุบัน
นักเรียนที่เรียนเก่ง ก็ค้นพบความลับนี้ เขาจะกลับมานั่งคิดและจินตนาการต่อที่บ้านเสมอ นักเรียนทุกคนในห้อง เรียนกับอาจารย์คนเดียวกัน บรรยากาศเดียวกัน แต่ความสามารถในการจินตนาการต่างกัน
สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันในหมู่เด็กที่เรียนเก่งคือจะมีจินตนาการสูงมาก ความลับนี้เขาไม่ได้บอกใคร อาจเพราะไม่อยากบอก หรือไม่รู้ว่าจะบอกอย่างไร
เด็กที่เรียนเก่งทุกคนจะมีพรสวรรค์ทางด้านนี้คือ เมื่อเห็นภาพปุ๊บ เขาจะใส่ความรู้สึกเข้าไปปั๊บ เกิดขึ้นเกือบจะพร้อมๆ กัน โดยที่ตัวเขาเองก็ไม่รู้ด้วยว่าทำไม แต่สิ่งเหล่านี้สามารถฝึกได้
ประสบการณ์ที่เหมือนกันเปี๊ยบระหว่างคนสองคน จึงส่งอิทธิพลต่อวิถีชีวิตได้ไม่เท่ากัน เพราะความสามารถในการจินตนาการต่างกัน
แน่นอนว่า อุปนิสัย ความชอบ ความสนใจ ความถนัด ฯลฯ เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้มีพลังแห่งจินตนาการสูงขึ้นหลังจากได้พบกับประสบการณ์จริง
พวกเขาจะเห็นภาพแห่งความสำเร็จในเรื่องที่ตนเองชอบหรือถนัด ชัดเจนกว่าคนอื่น จึงมีโอกาสบรรลุเป้าหมายได้ง่ายกว่า

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยบาร์เซโลนาของสเปน ตีพิมพ์ผลการศึกษาเรื่องนี้ลงในวารสาร Frontiers in Psychology โดยระบุว่าได้ทดลองใช้เทคโนโลยีเสมือนจริง (VR) กับอาสาสมัครชาย 30 คน ที่มีอายุระหว่าง 18-30 ปี
อาสาสมัครกลุ่มหนึ่งจะได้สวมร่างอวตารที่มีรูปร่างหน้าตาเหมือนกับไอน์สไตน์ทุกประการ
ส่วนผู้เข้ารับการทดลองอีกกลุ่มนั้นได้สวมร่างอวตารที่ดูเป็นเพศชายโดยทั่วไป
โดยทั้งสองกลุ่มมีการเคลื่อนไหวทำกิจกรรมในโปรแกรมโลกเสมือนจริงตามการเคลื่อนไหวของอาสาสมัครเองราวครึ่งชั่วโมง
ทั้งก่อนและหลังใช้เทคโนโลยีเสมือนจริง อาสาสมัครจะได้รับการทดสอบเชาวน์ปัญญา รวมทั้งระดับความมั่นใจ-ภาคภูมิใจในตนเอง และแนวโน้มที่จะมีอคติต่อผู้สูงอายุอย่างไอน์สไตน์แฝงอยู่ด้วย
ผลการทดลองชี้ว่า อาสาสมัครกลุ่มที่สวมร่างอวตารเป็นไอน์สไตน์ มีคะแนนทดสอบเชาวน์ปัญญาในรอบหลังดีขึ้นมาก ทั้งมีคะแนนความภาคภูมิใจในตนเองเพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มเรื่องอคติแฝงต่อผู้สูงอายุลดลง ในขณะที่อาสาสมัครอีกกลุ่มหนึ่งไม่มีความเปลี่ยนแปลงที่ว่าชัดเจนแต่อย่างใด
ทีมวิจัยทดสอบกลุ่มตัวอย่างใน 3 ทักษะ คือ ระดับสติปัญญา ระดับความพึงพอใจในตัวเอง และอคติต่อผู้สูงวัย โดยพบว่าเมื่อผ่านการทดสอบด้วยเทคโนโลยี VR แล้ว กลุ่มตัวอย่างมี 2 อย่างแรกเพิ่มขึ้น และมีอคติลดลง
ตอกย้ำผลการศึกษาก่อนหน้านี้ของสเลเตอร์ที่ชี้ว่า การเข้าไปอยู่ในสถานการณ์จำลองเสมือนจริงสามารถเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมของคนเราได้
โดยสเลเตอร์มองว่าสถานการณ์สมมุติทำให้กลุ่มตัวอย่างแทนตัวเองเป็นคนอื่น เรียกว่าเป็นภาวะการรวมตัวเสมือน หรือ virtual embodiment เมื่อตัวบุคคลมองเป็นตัวเองเป็นคนอื่นจะกระตุ้นให้พวกเขาคิดและเคลื่อนไหวแตกต่างออกไป

ศาสตราจารย์เมล สเลเตอร์ ผู้นำทีมวิจัยบอกว่า “การที่ผู้ร่วมการทดลองได้เห็นร่างอวตารของตนเหมือนกับไอน์สไตน์ไม่ผิดเพี้ยนราวกับส่องกระจก ทำให้เกิดสภาพลวงตาที่มีพลังดึงดูดให้คล้อยตาม จนรู้สึกว่าร่างอวตารก็คือตนเอง ซึ่งไม่แตกต่างจากอัจฉริยะระดับโลก”
ศาสตราจารย์สเลเตอร์ยังบอกว่า ผลการทดลองนี้อาจนำไปใช้ในด้านการศึกษา โดยช่วยให้นักเรียนที่ขาดความมั่นใจและมีความภาคภูมิใจในตนเองต่ำสามารถมีผลการเรียนที่ดีขึ้นกว่าเดิมได้
เคล็ดลับความฉลาดของไอน์สไตน์ “ทำสิ่งที่ตัวเองรัก” และทำไปเรื่อยๆ เพื่อความสนุก โดยไม่ได้หวังผลอะไร จนท้ายที่สุดความสนุกนั้นก็เปลี่ยนมาเป็นอัจฉริยภาพ

ที่มา https://www.firstpost.com/tech/science/being-einstien-in-vr-could-give-ones-self-esteem-a-boost-4705641.html