มองบ้านมองเมือง / ปริญญา ตรีน้อยใส / ข้อแนะนำสำหรับ สว.

มองบ้านมองเมือง / ปริญญา ตรีน้อยใส

ข้อแนะนำสำหรับ สว.

พาไปมอง ศาลาราชการุณย์ มาเมื่อฉบับที่แล้ว
ขออนุญาตพาไปมองพื้นที่ใกล้เคียง ด้วยเมื่อครั้งที่สภากาชาดไทยก่อสร้างอนุสรณ์สถาน ศาลาราชการุณย์ เมื่อปี พ.ศ.2535 เพื่อเป็นประจักษ์พยานแห่งพระมหากรุณาธิคุณต่อผู้อพยพชาวกัมพูชา ที่ลี้ภัยสงครามมา ที่เขาล้าน จังหวัดตราด เมื่อปี พ.ศ.2522 นั้น
ได้ปรับปรุงโรงอาหาร โรงพยาบาล และโรงฝึกอบรมและสอนหนังสือ รวมทั้งบ้านพักแพทย์และเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ ที่ถูกทิ้งร้าง หลังจากปิดศูนย์ผู้ลี้ภัย เมื่อปี พ.ศ.2529
โดยปรับเปลี่ยนเป็นค่ายฝึกอบรมสำหรับยุวกาชาด และสถานที่พักผ่อนสำหรับประชาชนทั่วไป
ทุกวันนี้ ศูนย์ราชการุณย์ สภากาชาดไทย เขาล้าน 0-3951-0821 เปิดบริการที่พักแรมสำหรับบุคคลทั่วไป มีห้องพักแบบธรรมดากว่าสามสิบห้อง และห้องพักรวมอีกหลายขนาด พอที่จะรองรับผู้เข้าประชุมและสัมมนาได้ถึงสองร้อยคน
ยังมีพื้นที่สำหรับกิจกรรมค่ายพักแรมสำหรับเยาวชน สามารถตั้งเต็นท์ และทำกิจกรรมกลางแจ้งได้
รวมทั้งกิจการปีนเขาล้าน ชมบึงเขาล้าน และเรียนรู้ไม้มงคล สมุนไพร และผลไม้

ด้วยสภาพสิ่งก่อสร้างมิใช่โรงแรมหรู ด้วยวัตถุประสงค์มิมุ่งหวังทางการเงิน และด้วยที่ตั้งอยู่ตรงกิโลเมตรที่ 48 ห่างจากตัวเมืองตราด และหาดเล็กชายแดนเขมร จึงมีผู้เข้าพักแรมเฉพาะกลุ่ม และไม่เป็นที่รู้จักเหมือนรีสอร์ตเอกชนอื่น
การดำเนินกิจการมายาวนานกว่ายี่สิบปีนั้น มีคุณสุวรรณ พิมลแสงสุริยา อดีตผู้ช่วยผู้อำนวยการกลาง สภากาชาดไทย และภริยา มีจิตอาสารับดูแลจัดการ
ตอนที่ผู้เขียนไปเยี่ยมชมและเข้าพักแรมที่ศูนย์ราชการุณย์ เมื่อเร็วๆ นี้นั้น นอกจากจะเป็นโอกาสฟื้นความหลัง ตามวิสัยผู้สูงวัยที่ยังฝังใจกับเรื่องเก่าๆ ยังมีโอกาสพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ถึงเรื่องราวในอดีต สมัยที่เป็นศูนย์ผู้ลี้ภัยเมื่อสี่สิบกว่าปีก่อน สมัยที่ก่อสร้างอนุสรณ์สถานเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน และสมัยที่เป็นค่ายฝึกอบรมและสถานพักผ่อนสำหรับประชาชน เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
โดยเฉพาะมีโอกาสสนทนาและรับประทานอาหารร่วมกับคุณสุวรรณและภริยา ที่ปัจจุบันมีอายุมากถึงแปดสิบปีแล้ว
ทั้งสองคนยังมีสภาพร่างกายแข็งแรง สุขภาพดีเมื่อเทียบกับคนวัยเดียวกัน
ที่สำคัญหน้าตาที่ดูอ่อนวัยกว่าตัวเลขอายุ จึงได้เรียนรู้ว่า หลังเกษียณงานที่สภากาชาดไทย ทั้งสองคนตัดสินใจย้ายถิ่นฐานจากกรุงเทพฯ มาอาศัยอยู่ไกลถึงตราด
ด้วยทำเลที่ตั้ง ศูนย์ราชการุณย์ อยู่ติดทะเล ที่มีชายหาดยาวกว่าสองร้อยเมตร ด้วยพื้นที่ศูนย์ราชการุณย์กว้างขวางกว่าสองร้อยไร่ ที่เต็มไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่และบึงน้ำกว้าง
ด้วยกิจการพักแรม ที่คึกคักเฉพาะวันหยุดสุดสัปดาห์ กิจการงานจึงไม่วุ่นวายมากนัก
ทั้งสองท่านจึงมีการงานที่ไม่ยุ่งยาก ทั้งสองท่านพักอาศัยในพื้นที่ จึงไม่มีปัญหาการเดินทางและผจญกับปัญหาการจราจรติดขัด ใช้ชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์ เรียบง่าย แต่ไม่เหงา อยู่ห่างไกล แต่ไม่ไร้ผู้คน
ที่สำคัญสภาพแวดล้อมที่ร่มรื่น ร่มเย็น ทำให้ฝ่ายภรรยาผู้เคยมีโรคประจำตัวเกี่ยวกับทางเดินหายใจ มีสุขภาพแข็งแรง อาการเจ็บไข้หายไปจนหมดสิ้น หลังจากมาอยู่ที่ศูนย์ราชการุณย์ เพียงสามปีเท่านั้น
จึงกลายเป็นว่า งานอาสารับดูแลกิจกรรมที่พักแรมให้สภากาชาดไทย เป็นการเลือกสภาพแวดล้อม และภาระงานที่เหมาะกับสภาพร่างกายและอายุ ทำให้สุขภาพร่างกายและจิตใจดีเลิศ

เมื่อได้ยินได้ฟังเรื่องนี้ ทำให้นึกถึงบรรดาเพื่อนผู้สูงวัย ที่กำลังทนทุกข์ทรมานอยู่กับชีวิตไร้ความหมาย ในสภาพแออัดวุ่นวายของกรุงเทพฯ หากนำแนวคิดเดียวกันนี้ มีจิตอาสาไปช่วยกิจกรรมในพื้นที่ต่างจังหวัด ที่มีสภาวะแวดล้อมดีกว่ากรุงเทพฯ
อย่างเช่น ไปเป็นครูสอนในโรงเรียนประถมและมัธยมศึกษา ในชนบทหรือในต่างจังหวัด เป็นผู้จัดการสหกรณ์พืชผักผลไม้ หรือร้านค้าชุมชน เป็นผู้จัดการผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน เป็นเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีประจำชุมชน เป็นหมอ พยาบาล ทันตแพทย์ประจำสุขศาลา เป็นวิศวกร สถาปนิก ประจำหมู่บ้าน และเป็นอะไรอื่นก็ได้
ชีวิตของผู้สูงวัย ถ้ามีอะไรให้ทำ งานไม่ยากเกินกำลังหรือสติปัญญา อาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี ร่มรื่น ไม่มีมลภาวะ มีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนบ้าง ย่อมช่วยต่อชีวิตให้ยืนยาวมากขึ้น สุขภาพกายและใจดีเหมือนกับคุณสุวรรณและภริยา
มองบ้านมองเมืองคราวนี้ จะนับเป็นการร่วมกิจกรรมจุฬาอารี (ผู้สูงวัย) ก็คงได้ หรือจะนับเป็นการรวมกิจกรรมจิตอาสาของพระเจ้าอยู่หัวก็ได้เช่นกัน แต่คงเป็นเรื่องเฉพาะสำหรับให้ผู้สูงวัยเท่านั้น
ส่วนผู้เยาว์วัยข้ามไปก่อน จึงใช้ชีวิตที่รีบเร่ง ท่ามกลางมลภาวะในเมือง และทำงานขัดข้องและเต็มไปด้วยปัญหา ให้รอจนร่างกายบอบช้ำแล้วค่อยรักษาภายหลังก็แล้วกัน