เมื่อกองทัพไทย ฟื้นสัมพันธ์อเมริกัน ด้วยเต็งหนึ่ง ผบ.ทบ.

เมื่อ “บิ๊กแดง” พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ได้รับการคาดหมายทั่วกันว่าคือ “เต็งหนึ่ง” ของผู้ที่จะได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกคนต่อไป

“บรรดานักการทูตตะวันตก” ก็แสดงความเชื่อมั่นว่าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับสหรัฐอเมริกาก็จะได้รับการเยียวยาฟื้นฟู หลังจากเกิดความตึงเครียดระดับ “รุนแรง” ขึ้นอันสืบเนื่องมาจากการรัฐประหารในปี 2014 ที่ผ่านมา

ข้อมูลดังกล่าวปรากฏอยู่ในข้อเขียนของมาร์วาน มากัน-มาร์คาร์ เมื่อ 30 กรกฎาคมที่ผ่านมา ในนิกเกอิ เอเชียน รีวิว ที่บอกเอาไว้ด้วยว่า ความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพไทยกับกองทัพอเมริกันก็กำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่โฉมหน้าใหม่

เพราะ “โยงใยที่เชื่อมต่อกันมานานระหว่างอภิรัชต์กับสหรัฐอเมริกา ทำให้เขาคือมิตรผู้หนึ่ง”

มาร์วานบอกเอาไว้ด้วยว่า ในฐานะผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.อภิรัชต์ต้องรับผิดชอบภารกิจส่งกำลังบำรุง, ยุทโธปกรณ์และการจัดซื้อจัดจ้างของกองทัพ และเป็นผู้กำกับดูแลรับผิดชอบในความตกลงทางทหารกับสหรัฐอเมริกา มูลค่า 261 ล้านดอลลาร์ (ราว 8,700 ล้านบาท) ซึ่งรวมทั้งการจัดซื้อ “แบล๊กฮอว์ก” เฮลิคอปเตอร์ฝูงใหม่ของกองทัพอีกด้วย

“การก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกของเขา (พล.อ.อภิรัชต์) ได้รับการคาดหมายว่าจะเป็นการช่วยสกัดความพยายามล็อบบี้ของกลุ่มที่นิยมจีนในกองทัพ” อีกด้วย

 

แหล่งข่าวในกองทัพไทยรายหนึ่งบอกกับมาร์วานว่า พล.อ.อภิรัชต์เดินทางไปเยือนสหรัฐอเมริกาอยู่เป็นประจำ

“เขามีเพื่อนหลายคนอยู่ในหน่วยงานด้านกลาโหมของสหรัฐอเมริกา เพราะเรียนสำเร็จวิชาการทางทหารมาจากที่นั่น และเพราะสายสัมพันธ์ที่พัฒนาต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยผู้เป็นพ่อ” นายทหารผู้หนึ่งบอก

โดยผู้เป็นบิดาของว่าที่ผู้บัญชาการทหารบกคนใหม่นี้ ไม่ใช่ใคร แต่เป็น พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุดเมื่อปี 1991 และเป็นหนึ่งในแกนนำการก่อรัฐประหารขึ้นในปีเดียวกันนั้น

อย่างไรก็ตาม ตามข้อสังเกตของมาร์วาน การจัดการด้านการทหารของไทยทุกวันนี้ก็ยังคงดำเนินการตาม “ตำรับอเมริกัน” อยู่อย่างต่อเนื่อง นอกจาก พล.อ.อภิรัชต์แล้ว จึงยังมีนายทหารระดับสูงอีกไม่น้อยที่เคยรับการฝึกในสหรัฐอเมริกา สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เองก็เป็นหน่วยงานที่ซีไอเอริเริ่มให้มีการจัดตั้งขึ้นในยุคสงครามเย็น

นั่นหมายถึงว่า แม้ในยามที่สัมพันธ์ทางการทูตตึงเครียดไม่น้อย สัมพันธ์ทางทหารก็ไม่ได้ถูกตัดขาด

ในทำนองเดียวกัน ความสัมพันธ์ทางทหารที่ดีขึ้นกับสหรัฐอเมริกา ก็คงไม่ถึงกับทำให้สายสัมพันธ์ทางด้านการทหารกับจีนถึงกับ “ถูกแช่แข็ง” ไปแต่อย่างใด

 

เขาชี้ว่า เมื่อต้นปีที่ผ่านมานี่เองกองทัพไทยยังได้แสดงความสนใจที่จะเพิ่มการสั่งซื้อรถถังยุทธการแบบ วีที-4 จากจีนเพิ่มขึ้นเป็น 49 คัน นอกจากนั้น ทุกฝ่ายยังคงรอรายละเอียดเพิ่มเติมที่เกี่ยวกับโครงการความร่วมมือระดับ “บุกเบิก” ทางการทหารระหว่างสองประเทศ นั่นคือ โครงการร่วมมือกันจัดตั้งโรงงานผลิตสรรพาวุธไทย-จีนขึ้น

โรงงานสรรพาวุธไทย-จีนนั้นเผยแพร่ออกมาครั้งแรกเมื่อราวเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา หลังจากมีเจ้าหน้าที่และนายทหารระดับสูงของจีนเดินทางมาเยือนไทย คาดกันว่าที่ตั้งโรงงานที่เป็นไปได้ ถ้าหากไม่ใช่ทางภาคอีสานของไทยก็คงเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งตามแนวอีสเทิร์นซีบอร์ด

พอล แชมเบอร์ส ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองและความมั่นคงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ความเห็นไว้กับมาร์วานเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ทางการจีนเองต้องการตั้งโรงงานเช่นนี้ขึ้นในไทย “เพื่อผลิตอาวุธสำหรับกองกำลังส่วนหน้าของจีนภายในภูมิภาคนี้ในอนาคต”

แชมเบอร์สให้เหตุผลไว้ว่า “เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับทหารของจีนที่เข้ามาปฏิบัติภารกิจฝึกซ้อมเคลื่อนกำลัง” ทั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และในทะเลจีนใต้ และเป็นไปได้ที่จะทำหน้าที่เป็น “เส้นทางลำเลียงอาวุธให้กับกองทัพจีนในกรณีที่ต้องส่งกำลังเข้ามาประจำการเพื่อการสู้รบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยโรงงานแห่งนี้จะช่วยให้ห่วงโซ่การผลิต (อาวุธ) มั่นคงปลอดภัยนั่นเอง”

ตามคำบอกเล่าของแชมเบอร์สนั้น ในส่วนของไทย เมื่อมีโรงงานเช่นนี้อยู่ภายในประเทศเอง ทางกองทัพไทย “ก็คาดหวังว่าจะสามารถซื้อหาอาวุธจีนได้มากขึ้น ในระดับราคาที่น่าสนใจมากขึ้น” ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามความต้องการ “ส่งเสริมคลังสรรพาวุธ” อันเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนากองทัพ 10 ปีนั่นเอง

โดยที่งบประมาณด้านความมั่นคงของประเทศสำหรับปีงบประมาณ 2019 ที่ผ่านความเห็นชอบออกมาแล้วนั้น

เพิ่มขึ้นจาก 274,000 ล้านบาทในปีนี้ เป็น 329,000 ล้านบาทด้วยอีกต่างหากครับ