เมื่อคนแดนไกล ถวายอาลัยลา…”คิงภูมิพลอดุลยเดชสแควร์”

ขณะผู้คนหลายล้านรวมใจถวายความอาลัยแด่ในหลวงผู้เป็นที่รักอยู่ในแผ่นดินไทย ไกลออกไป 8,000 ไมล์ในเมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเสตต์ สหรัฐอเมริกา ผู้คนในดินแดนห่างไกลก็เริ่มรวมตัวกันตั้งแต่เช้าตรู่วันที่ 13 ตุลาคม บริเวณจัตุรัสเล็กๆ ในร่มเงาของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ตามรายงานของ เกรเทล คอฟฟ์แมน แห่งซีเอสมอนิเตอร์ เมื่อ 14 ตุลาคมที่ผ่านมา

บางรายที่ยังคงอยู่ในสภาพใบหน้าเปื้อนน้ำตา คุกเข่าลงด้านหน้าแท่นหินอ่อนสำหรับประดิษฐานแผ่นจารึกข้อความพร้อมตราสัญลักษณ์ประจำรัชกาลที่ 9 ขนานนามจัตุรัสแห่งนี้ว่า “คิงภูมิพลอดุลยเดชแสควร์” เพื่อวางดอกไม้สักการะพระองค์ผู้เสด็จสวรรคต

ถึงช่วงบ่ายจำนวนผู้คนทวีขึ้นเป็นหลายร้อยและหลายพันคน ล้นออกมายังท้องถนน ทั้งหมดมาร่วมตัวกันในที่นี่ด้วยจุดประสงค์เดียวกันคือ ถวายอาลัยลา

“วิลล์ ศรีภักดีวงศ์” บอกว่าเพื่อนๆ หลายคนไม่รู้ว่าสถานที่นี้เชื่อมโยงกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศอย่างไร ผู้คนที่ผ่านไปมาก็แปลกใจกับการรวมตัวกันครั้งนี้

“หลายคนมากหยุดถามว่า เกิดอะไรขึ้น”

ความเชื่อมโยงระหว่างดินแดนไกลโพ้นนี้กับองค์กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ของไทยพระองค์นี้ก็คือข้อเท็จจริงที่ว่า ทรงมีพระราชสมภพที่โรงพยาบาล เมาต์ ออเบิร์น ในเมืองเคมบริดจ์ แห่งนี้เมื่อ ค.ศ.1927 (พ.ศ.2470) เมื่อครั้ง สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เมื่อครั้งดำรงพระยศเป็น สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ เสด็จฯ ประทับในสหรัฐอเมริกา เพื่อทรงศึกษาด้านสาธารณสุข ณ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และสถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาชูเสตต์ (เอ็มไอที) ในปี 1916

และเป็นสถานที่ซึ่งทรงพบกับ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เมื่อครั้งยังเป็น นางสาวสังวาลย์ ตะละภัฏ นักเรียนทุนการศึกษาของสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา เพื่อศึกษาวิชาการพยาบาล ที่วิทยาลัยซิมมอนส์ ในเมืองเคมบริดจ์

ทุกวันนี้ แท่นประดิษฐานแผ่นจารึก คือจุดเริ่มต้นของ “เส้นทางราชวงศ์ไทย” ทั้งภายในและโดยรอบนครบอสตัน ซึ่งประกอบด้วยอาคารสถานที่ซึ่งมีนัยทางประวัติศาสตร์ทั้งหลาย ซึ่งรวมถึงอาคารหลังหนึ่งในชานเมืองบรูกไลน์ อันเป็นสถานที่ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศประทับอยู่ขณะยังทรงพระเยาว์

ทั้งหมดอยู่ในความดูแลของมูลนิธิสถานที่พระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (เคทีบีเอฟ) องค์กรไม่แสวงผลกำไรที่ตั้งอยู่ในเมืองเบอร์ลิงตัน รัฐแมสซาชูเสตต์ ซึ่งนอกจากจะทำหน้าที่อนุรักษ์ประวัติศาสตร์ไทยในแมสซาชูเสตต์เอาไว้แล้ว ยังช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ของบุคคลทั่วไปต่อนัยสำคัญทางประวัติศาสตร์และความสัมพันธ์เชิงวัฒนธรรมระหว่างแมสซาชูเสตต์กับประเทศไทย ทั้งยังจัดทำโครงการนักเรียนแลกเปลี่ยน นำนักเรียนไทยไปเรียนในโรงเรียนอเมริกัน รวมทั้งจัดสัมมนาทางวิชาการด้านสาธารณสุขในประเทศไทยร่วมกับสำนักสาธารณสุขแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดอีกด้วย

“คิงภูมิพลอดุลยเดชสแควร์” ประกอบพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อปี 1990 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จฯ ร่วมอยู่ในพิธีดังกล่าว

อีก 2 ปีต่อมา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเยือนจัตุรัสแห่งนี้อีกครั้ง ในขณะที่แท่นประดิษฐานสัญลักษณ์ประจำรัชกาลและคำจารึกถึงความเชื่อมโยงระหว่างเคมบริดจ์กับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น ทางนครบอสตันร่วมกับมูลนิธิฯ จัดทำขึ้นแล้วเสร็จเมื่อปี 2003

“สมนึก พูลลิ่ง” สมาชิกของเคทีบีเอฟ 1 ในคณะกรรมการจัดงานถวายความอาลัย กล่าวว่า เคทีบีเอฟ ได้แรงบันดาลใจมาจากแบบอย่างในองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

“ทรงให้ความสำคัญต่อประชาชนเป็นลำดับแรก ทรงอุทิศทั้งชีวิตเพื่อพสกนิกรของพระองค์ ทรงยึดถือเรื่องนี้เป็นราชภารกิจ เรารักวิธีที่พระองค์ประสิทธิ์ประสาทความรู้ให้ทุกผู้คน ทรงสอนให้ได้รู้คุณค่าของชีวิต คุณค่าของการใช้ชีวิต และคุณค่าของความเพียร”

โจเซฟ เอ. มิลาโน กงสุลใหญ่ไทย ณ นครบอสตัน ผู้เสนอให้ขนานนามจัตุรัสตามพระนามพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช หลังจากเคยมาใช้ชีวิตช่วงหนึ่งอยู่ในประเทศไทยในทศวรรษ 1980 กล่าวว่า โดยปกติ เคมบริดจ์ก็มักให้ความเคารพต่อใครก็ตามที่มีคุณูปการต่อตัวเมืองอยู่แล้ว แต่ในกรณีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศนั้นต่างออกไปอยู่บ้าง

ตรงที่ “พระองค์ทรงเป็นที่รักเหลือเกิน”!