คำ ผกา : เหยียดซ้อนซ่อนเร้น

คำ ผกา

ช่วงวันหยุดยาวที่ผ่านมา ผู้กำกับหนังที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งเขียนในทวิตเตอร์เขาในทำนองว่า “ได้กรุงเทพฯ ที่ควรจะเป็นกลับมา” จากนั้นก็ต้องออกมาขอโทษ เพราะถูกโจมตีว่าข้อเขียนนี้ดูถูกคนต่างจังหวัด

ฉันอ่านข่าวนี้ถึงกับต้องคราง อื้อหือ… ในประเทศที่เราพาดหัวข่าวเกี่ยวกับ “ทอมโหด” “โจ๋หื่นข่มขืนแม่เฒ่า” และมีโฆษณาที่คลาสสิคเป็นที่จดจำของคนทั้งประเทศด้วยสโลแกน โง่ จน เจ็บ แล้วยังถึงพร้อมด้วยคำขวัญประเภท “ให้เหล้าเท่ากับแช่ง” มีแคมเปญต้านเอดส์ว่า “เอดส์โรคร้าย เป็นแล้วตายอย่างเดียว” และอื่นๆ ทำนองนี้เยอะแยะ นับไม่ถ้วน

แต่เรากลับอกสั่นหวั่นไหวกับถ้อยความเรียบๆ ง่ายๆ ว่า “ได้กรุงเทพฯ ที่ควรจะเป็นกลับคืนมา”

ซึ่งฉันอ่านทวนไปกี่รอบๆ ก็ยังไม่เห็นว่ามันมีนัยของการเหยียดคนต่างจังหวัดที่ตรงไหน

แฟ้มภาพ

ผู้กำกับหนังคนนั้นไม่ได้เขียนว่า “ไอ้พวกบ้านนอกกลับบ้านหมดแล้วโว้ย ดีใจจัง กรุงเทพฯ โล่งแล้ว รถไม่ติดแล้ว”

ถ้าเขาเขียนแบบนี้ เออ.. เราค่อยมาตั้งหลักถลกผ้าถุงด่าให้ตายกันไปข้างว่า เฮ้ยยย.. ถ้าในกรุงเทพฯ ไม่มีคนต่างจังหวัดและแรงงานต่างด้าวเลยนี่ เมืองแทบจะเป็นอัมพาตนะ แท็กซี่กว่าครึ่งคงหายไปจากกรุงเทพฯ ร้านอาหารทุกร้านคงไม่มีทั้งเชฟ คนเสิร์ฟ ไปจนถึงคนทำความสะอาด รถเข็นส้มตำ ไข่ปิ้ง โรตี ข้าวแกง คงอันตรธานหายไปหมด และแม้กระทั่งในอุตสาหกรรมสื่อ สำนักข่าว บริษัท ห้างสรรพสินค้า ภาคการเงิน ฯลฯ คนก็คงหายไปเกือบครึ่ง

แค่ในออฟฟิศวอยซ์ทีวีที่ฉันรู้จักนี่ มีคนกรุงเทพฯ ทำงานอยู่ถึงร้อยละสิบหรือเปล่าไม่รู้ เพราะมีทั้งคนใต้ คนเหนือ คนอีสาน เยอะแยะไปหมด

และเยอะกว่าที่เราจะจินตนาการได้ด้วยซ้ำ

ในฐานะคนต่างจังหวัดที่มาทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ ฉันรู้สึกเข้าใจมากๆ ว่าทำไม วันหนึ่ง คืนหนึ่ง คนเราจะรู้สึกสุขสบายกับความโล่งของถนนในกรุงเทพฯ จนต้องลุกขึ้นมาเขียนว่า “นี่คือกรุงเทพฯ ที่ควรจะเป็น”

ทำไมเราจะไม่รู้สึกอย่างนั้นล่ะ ในเมื่อทุกวันนี้เราเดินทางในระยะทางสิบกิโล สิบห้ากิโล โดยใช้เวลาเป็นชั่วโมงๆ ในชั่วโมงเร่งด่วน นั่งบีทีเอส ที่ไม่ได้เชื่อมต่อได้ทั้งเมือง ราคาก็ใช่ว่าจะถูก แถมต้องมาลุ้นอีกว่าจะเสียหรือเปล่า

บ้างก็ต้องเสี่ยงชีวิตนั่งมอเตอร์ไซค์ อีกจำนวนไม่น้อยฝากชีวิตไว้กับรถตู้ รถเมล์ เรือในคลองแสนแสบที่ใครๆ บอกว่าเหมือนนั่งเรือในท่อระบายน้ำโสโครก ข่าวโป๊ะร่ม เรือล่ม คนตกน้ำจากการโดยสารเรือก็มีให้อ่านอยู่เนืองๆ

แล้วเราจะยอมรับความจริงกันได้ไหมเล่าว่าการจราจรในกรุงเทพฯ นั้นมันทำให้ชีวิตของชาวเมืองทุกผู้ทุกคนไม่ว่าชาติไหน ภาษาใด จังหวัดไหน ที่ต้องมาใช้ชีวิตอยู่ที่นี่มันกะปลกกระเปลี้ย อ่อนเพลีย หงุดหงิด

ซึ่งตัวฉันเองทั้งเขียนทั้งพูดเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นล้านๆ ครั้งว่า กรุงเทพฯ อันได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่รถติดหนักที่สุดในโลก -ย้ำว่าในโลก- นั้นเป็นเมืองที่ทำลายทุกพลังความคิดสร้างสรรค์ ทำลายสติปัญญา ทำให้ต่อมการรับรู้เรื่องสุนทรียศาสตร์พิกลพิการ เพราะเรี่ยวแรงของพวกเราทั้งหมดมันถูกเผาผลาญไปกับการต่อสู้ฟาดฟันกับการเดินทาง การจราจร

กับการคิดว่า วันนี้จะไปไหน จะวางแผนเดินทางอย่างไร เวลาวันละหลายๆ ชั่วโมงของเราก็ถูกเผาไปอย่างเปล่าดายบนถนน

อันคนนั่งรถเมล์ รถแท็กซี่ ก็ได้แต่ไถหน้าจอโทรศัพท์ของตัวเองฆ่าเวลาไปเรื่อยๆ

เมื่อเป็นเช่นนี้ หากจะมีสักสาม-สี่วันที่ถนนมันโล่ง รถมันไม่ติด และเราเดินทางไปไหนได้ในเวลาอันสั้น-ยาว สัมพันธ์กับระยะทางที่เป็นจริง เราก็คงต้องรำพึงออกมาดังๆ ว่า เออ นี่ไง กรุงเทพฯ แบบที่มันควรจะเป็น!

และทั้งหมดนี้ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับคนต่างจังหวัดหรือไม่ต่างจังหวัด เพราะคนที่ไม่ออกไปไหนในช่วงวันหยุดยาว ก็อาจจะเป็นคนต่างจังหวัดจำนวนมากที่ยังต้องทำมาค้าขาย ยังต้องขับแท็กซี่ ยังต้องเป็นยาม ยังต้องเข้าเวรทำข่าว ยังต้องทำโอที ยังต้องเสิร์ฟอาหารในร้านอาหาร ยังต้องเป็นหมอ เป็นพยาบาล เป็นผู้ช่วยพยาบาลอยู่ในโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ นี่แหละ ยังต้องขับรถเมล์ ขับรถตุ๊กตุ๊ก ยังต้องไปสอนโยคะ ฯลฯ

นึกออกไหมว่า มันมีธุรกิจ กิจการอีกร้อยสีพันอย่างที่ไม่ได้หยุดตามวันหยุดราชการ และมีธุรกิจ กิจการอีกร้อยสีพันอย่าง ที่ยิ่งเป็นวันหยุดของคนอื่น ตัวเองยิ่งต้องเปิดทำการ (เช่น โรงพยาบาล โรงแรม หน่วยกู้ภัย ตำรวจ นักข่าว ฯลฯ)

และในธุรกิจร้อยสีพันอย่างนี้ก็มีคนต่างจังหวัดจำนวนมากทำงานอยู่ และคนที่พากันออกต่างจังหวัดในช่วงวันหยุดยาวและวันหยุดราชการ ก็เช่นเดียวกัน ที่คงมีทั้งคนต่างจังหวัด และคนกรุงเทพฯ ที่ได้หยุด มีทั้งกลับบ้าน และมีทั้งออกไปเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ

ดังนั้น บนถนนสายที่ไปเขาใหญ่ หัวหิน อันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวใกล้กรุงเทพฯ จึงติดสาหัสสากรรจ์แทน

เพราะฉะนั้น ความโล่งของกรุงเทพฯ ในช่วงวันหยุดยาว จึงไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับความเป็น “ต่างจังหวัด” แต่เป็นการตั้งคำถามที่ใหญ่กว่านั้นว่า “เฮ้ยยย ทำไมกรุงเทพฯ แม่งไม่หลวมๆ โล่งๆ แบบนี้วะ”

คําถามที่เราควรถามต่อมาคือ ทำอย่างไรจะให้ประชากรในกรุงเทพฯ เบาบางลงกว่านี้?

แทนการนั่งประสาทแดกว่าใครเหยียดใคร เราควรมานั่งประสาทแดกว่า ทำไมเราปล่อยให้กรุงเทพฯ ดูดกลืนเอาทรัพยากร งบประมาณ ทุกอย่างมาไว้ในเมืองที่มีขนาดเล็กกว่าอำเภอของบางอำเภอในบางจังหวัดที่เรียกว่ากรุงเทพฯ และเราควรจะหยุดป้อนอาหารให้กรุงเทพฯ ได้แล้วหรือยัง?

การเหยียดหยามคนต่างจังหวัดที่รุนแรงที่สุดไม่ได้อยู่ในข้อเขียนของผู้กำกับหนังคนนั้น แต่อยู่ที่การกักขัง หน่วงเหนี่ยว หวงแหนความเจริญเอาไว้ที่กรุงเทพฯ แต่เพียงผู้เดียวแล้วไม่ยอมให้จังหวัดอื่นๆ ได้มีโอกาสในการกุมงบประมาณ ตัดสินใจพัฒนาบ้านเมืองของตัวเองโดยไม่มีอำนาจรัฐส่วนกลางมายุ่มย่ามเกินความจำเป็นต่างหาก!

การเหยียดหยามคนต่างจังหวัดที่รุนแรงที่สุดคือการไม่ยอมให้เกิดการกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่นอย่างแท้จริงต่างหาก!

การเหยียดหยามคนต่างจังหวัดที่แท้จริงคือการมีข้อสมมุติฐานและความเชื่อว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ นั้นเต็มไปด้วยการทุจริต คอร์รัปชั่น คนต่างจังหวัดโง่ ถูกนักการเมืองท้องถิ่นซื้อได้ด้วยเงินราคาถูก แค่ อบต. ขนคนขึ้นรถบัสไปทัศนาจรก็จะได้รับการเลือกตั้งแล้ว

ในขณะที่คนกรุงเทพฯ ที่เลือกผู้ว่าฯ ได้เอง ยังไม่รู้ ไม่หือ ไม่อือ กับสัมปทานรถไฟฟ้าที่จะยาวไปถึงปี 2572!

ในฐานะคนต่างจังหวัด ไม่ได้แคร์กับการที่จะมีใครมาบอกว่า ไอ้พวกคนบ้านนอกจะมาอยู่อะไรกันนักกันหนาในกรุงเทพฯ ชอบจังเลย วันหยุดยาว คนบ้านนอกกลับบ้านนอก คนกรุงเทพฯ จะได้อยู่สบายๆ เสียที

เพราะในฐานะคนต่างจังหวัดก็อยากจะบอกว่า ตรูไม่ได้อยากมาอยู่เลยเมืองฟ้าอมรเนี่ยะ

แต่ช่วยเลิกเอาทุกอย่างมากองไว้ที่กรุงเทพฯ สิ กระจายอำนาจให้ได้จริงๆ สิ ภาษีที่ท้องถิ่นเก็บได้ก็ให้เขาบริหารเองสิ!

และกรุงเทพฯ พึงมองเห็นตัวเองเป็นหน่วยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหน่วยหนึ่งเหมือนเทศบาลที่อื่นๆ ได้แล้ว

และกรุงเทพฯ ควรจะยินดีมาก ที่ตัวเองจะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มั่งคั่งมากๆ ด้วย

เพราะกว่าหกสิบปีมานี้ กรุงเทพฯ ได้ใช้งบประมาณของประเทศมาสร้างโครงสร้างพื้นฐานไว้ให้เยอะมาก

จนกรุงเทพฯ กลายเป็นเมืองท่าและเมืองธุรกิจที่สำคัญเกือบที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว

เพราะฉะนั้น โปรดบริหารเมืองที่ถึงพร้อมด้วยต้นทุนที่ได้เปรียบเมืองอื่นๆ นี้ให้มีประสิทธิภาพ

จากนั้น รัฐบาลส่วนกลางควรปล่อยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นๆ บริหารรายรับ-รายจ่าย ซึ่งหมายถึงงบประมาณและภาษีของตนเองตามที่เป็นจริง

หลายคนอาจมองว่า จังหวัดเล็กๆ ไม่มีรายได้มากอย่างอุดรฯ โคราช เชียงใหม่ ภูเก็ต ก็ย่ำเท้าอยู่กับความยากจนสิ ถ้าต้องใช้เงินภาษีของตนเองอย่างเดียวและรัฐอุดหนุนไม่มาก ฉันกลับเห็นว่า เมืองเล็กๆ หลายเมืองหากมีโอกาสได้บริหารทรัพยากรของตนเอง

อาจเป็นแรงผลักดันให้แข่งขันกันพัฒนาด้วยศักยภาพของวิสัยทัศน์ที่เป็นของท้องถิ่นเอง มีกำลังจะทำอะไรให้แก่เศรษฐกิจของท้องถิ่น เพราะหาเงินได้เท่าไหร่ก็ต่อยอดเป็นงบฯ พัฒนาท้องถิ่นต่อไปเลย ไม่ต้องส่งเข้าส่วนกลาง แล้วรอว่างบฯ จากส่วนกลางจะถูกแบ่งมาหาเราเท่าไหร่

ทำได้เช่นนี้ท้องถิ่นก็ไม่ต้องเกณฑ์คนไปต้อนรับนายกฯ เพื่อจะอ้อนว่า ของบฯ มาลงบ้านเราไม่ต่ำกว่าหมื่นล้านได้ไหม??

ปลดปล่อยศักยภาพท้องถิ่นออกมา ให้เขาบริหารงบฯ บริหารเงิน บริหารโครงการของเขาเองภายใต้นักการเมืองที่เขาจะเลือกไปบริหาร เทศบาลของเขาเอง

รัฐบาลกลางดูแลแค่เรื่องใหญ่ๆ อย่างความมั่นคง กลาโหม คลัง ต่างประเทศ หากทำได้จริง กรุงเทพฯ แบบที่ผู้กำกับหนังคนนั้นอยากเห็นก็จะเป็นจริงในไม่ช้า

การ “เหยียด” คนต่างจังหวัดไม่ใช่เรื่องการไปเรียกเขาว่า “บ้านนอก” แต่คือการที่เราไม่เคยเชื่อ ไม่เคยไว้ใจให้พวกเขาบริหารจัดการท้องถิ่นของตนเองต่างหาก