วิธีหุงข้าวสวยของ “เสียวหมี่”

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

สัปดาห์ที่ผ่านมาซู่ชิงมีโอกาสได้ไปเยือนกรุงมาดริดของสเปนเป็นครั้งแรกค่ะ

ทริปนี้เดินทางไปตามคำเชิญของเสียวหมี่ (Xiaomi) แบรนด์เทคโนโลยีชื่อดังจากประเทศจีนซึ่งจัดงานเปิดตัวสมาร์ตโฟนรุ่นใหม่ที่กรุงมาดริด

ก่อนไปก็ตรวจสอบอากาศแล้วพบว่าค่อนข้างร้อน

แต่ไปถึงจริงๆ ร้อนกว่าที่คิดอีกค่ะ แดดแผดเผาจนแสบผิวไปหมด

แต่ถ้าไม่นับอากาศที่ร้อนระอุแล้วมาดริดก็เป็นอีกหนึ่งเมืองที่มีเสน่ห์น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว

โดยเฉพาะคนที่ชอบท่วงทำนองของภาษาสเปนอย่างซู่ชิงก็รู้สึกเหมือนมีอะไรรื่นหูฟังอยู่ตลอดเวลาเลยค่ะ

เสียวหมี่เปิดตัวสมาร์ตโฟนรุ่นใหม่ 2 รุ่นในงานครั้งนี้ คือ A2 และรุ่นราคาย่อมเยากว่าคือ A2 Lite ซึ่งจุดเด่นของสมาร์ตโฟน A2 คือการเป็นโทรศัพท์ที่มีดีไซน์ทันสมัย กล้องคุณภาพดีที่ถ่ายรูปได้สวย ถ่ายหน้าชัดหลังเบลอได้ทั้งกล้องหน้าและกล้องหลัง

ถ่ายภาพในที่แสงน้อยได้ดี และใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์วัน ซึ่งเป็นระบบปฏิบัติการที่ส่งตรงจากกูเกิลในแบบที่ไม่ผ่านการปรับแต่งจากค่ายโทรศัพท์มือถือ ทำให้ระบบดูสะอาดตา ไม่รกรุงรัง และใช้งานง่าย

ซึ่งสิ่งที่ทำให้ทั้งหมดที่พูดมานี้น่าใช้เพิ่มขึ้นอีกสองเท่าก็คือราคาที่ค่อนข้างสบายกระเป๋า ตามสไตล์ของเสียวหมี่ที่เน้นผลิตภัณฑ์ราคาเป็นมิตรกับผู้ใช้งานทั่วไปนั่นเอง (ราคาในไทยจะวางขายเท่าไหร่ก็จะต้องรอประกาศอย่างเป็นทางการจากเสียวหมี่ประเทศไทยเร็วๆ นี้นะคะ)

ไปงานคราวนี้ก็เลยได้เกร็ดที่น่าสนใจเกี่ยวกับแบรนด์นี้มาพอสมควรเลยค่ะ

 

แม้ว่าเสียวหมี่จะนับเป็นแบรนด์น้องใหม่ที่เพิ่งจะเปิดตัวโทรศัพท์รุ่นแรกไปเมื่อ 7 ปีที่แล้วนี้เอง

แต่ว่ากลับมีอัตราการเติบโตที่รวดเร็วมาก บนเวทีเปิดตัวโทรศัพท์รุ่นใหม่ครั้งนี้ ผู้บริหารของเสียวหมี่ได้ประกาศก้องอย่างภาคภูมิใจว่าตอนนี้แบรนด์เสียวหมี่ได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้ผลิตสมาร์ตโฟนที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสี่ของโลกแล้ว (สามแบรนด์แรกคือ ซัมซุง แอปเปิล และหัวเว่ย เรียงตามลำดับค่ะ)

แถมยังให้ข้อมูลเพิ่มด้วยว่าถ้าหากนำเอาตัวเลขรายได้ 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเสียวหมี่เพิ่งจะทำได้ในไตรมาสที่สองของปีนี้มาเป็นตัวตั้ง จะพบว่าแบรนด์กูเกิลใช้เวลา 9 ปี เฟซบุ๊กใช้เวลา 12 ปี อาลีบาบากับเท็นเซนต์ใช้เวลา 17 ปี ส่วนแอปเปิลใช้ 20 ปี กว่าจะสร้างรายได้ระดับนี้ได้

ในขณะที่เสียวหมี่ใช้เพียง 7 ปีเท่านั้น

ถ้าถามว่าคนชอบอะไรเกี่ยวกับเสียวหมี่มากที่สุด

ซู่ชิงคิดว่าคำตอบของคนส่วนใหญ่น่าจะตอบว่าชอบที่ของดีราคาเข้าถึงได้

ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเสียวหมี่เองก็รู้ว่านี่คือจุดขายอันดับหนึ่ง สังเกตได้จากบนเวทีตอนที่โดโนแวน ซง ผู้อำนวยการฝ่ายการจัดการผลิตภัณฑ์และการตลาดเสียวหมี่ หยุดนิ่งเพื่อสร้างบรรยากาศให้คนได้รอลุ้นก่อนที่เขาจะประกาศราคาขายด้วยน้ำเสียงที่เปี่ยมไปด้วยความมั่นใจว่าผู้ฟังจะต้องตื่นเต้นที่ได้ยินว่าคุณสมบัติมากมายของโทรศัพท์ที่เขาได้สาธยายเสร็จไปหมาดๆ นั้นเปิดตัวมาด้วยราคาเริ่มต้นที่คิดเป็นเงินไทยแล้วไม่ถึงหนึ่งหมื่นบาท

 

หากถามซู่ชิงว่าสนใจแง่มุมไหนของแบรนด์นี้มากที่สุด

หนึ่งในสิ่งที่รู้สึกทึ่งทุกครั้งที่ได้เห็นก็คือแฟนๆ ของเสียวหมี่ หรือที่มีชื่อเรียกกันว่า “หมี่แฟน” (mi fan) นั่นเองค่ะ

ชื่อแบรนด์ “เสียวหมี่” แปลเป็นภาษาไทยว่า ข้าวเมล็ดเล็ก ในขณะที่คำว่า mi fan นั้นเป็นเหมือนการยิงกระสุนนัดเดียวได้นกสองตัว คือภาษาจีนอ่านได้ว่า หมี่ฟ่าน แปลความหมายว่า ข้าวสวย

ส่วนถ้าอ่านเป็นภาษาอังกฤษว่า หมี่แฟน ก็ได้ความหมายว่า แฟนๆ ของแบรนด์หมี่ นับว่าเป็นการตั้งชื่อที่น่ารักมากทีเดียว

หมี่แฟนกระจายตัวอยู่ในหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยด้วย

นี่คือกลุ่มคนที่รักและชื่นชอบผลิตภัณฑ์ของแบรนด์เสียวหมี่อย่างเหนียวแน่น

ที่ไหนมีเสียวหมี่ ที่นั่นจะมีพวกเขาอยู่

แม้กระทั่งในงานเปิดตัวสมาร์ตโฟน A2 ในครั้งนี้ก็มีหมี่แฟนมาร่วมงานอย่างคับคั่ง

เสียวหมี่เปิดร้านใหม่ที่ไหนก็จะมีหมี่แฟนไปต่อคิวรอ

หรืออย่างในกรณีของงานเปิดตัวในฝรั่งเศสและอิตาลีเมื่อสองเดือนก่อน มีแฟนๆ จากทั่วประเทศกว่าพันคนมารอคิวล่วงหน้านานถึง 24 ชั่วโมง

หมี่แฟนมีชุมชนที่จับตัวกันเป็นกลุ่มก้อนเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็นเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของเสียวหมี่ด้วย นี่นับเป็นความสำเร็จของเสียวหมี่ที่น้อยแบรนด์นักจะทำได้ คือการสร้างให้เกิดกลุ่มผู้ใช้งานที่จงรักภักดีและมีความภาคภูมิใจที่จะยืดอกเรียกตัวเองว่าเป็นแฟนของแบรนด์ได้อย่างเต็มปาก

ซู่ชิงถามคุณโดโนแวนว่าเพราะอะไรเสียวหมี่จึงสามารถสร้างวัฒนธรรมหมี่แฟนได้ในขณะที่อีกหลายๆ แบรนด์ไม่สามารถทำได้

เขายิ้มอย่างสุภาพและตอบกลับมาว่ากุญแจความสำเร็จของการชนะใจแฟนๆ คือ “ความจริงใจ” ในการทำผลิตภัณฑ์ที่ดีด้วยราคาที่สมเหตุสมผล

และเขาเชื่อมั่นว่าแฟนๆ สามารถสัมผัสได้

 

นอกเหนือจากคำตอบที่โดโนแวนให้มาแล้ว

ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ทำให้เสียวหมี่สามารถสร้างกลุ่มแฟนคลับขึ้นมาได้

หนึ่งในนั้นคือการไม่ทำตัวเหินห่างกับผู้ใช้งานบนโซเชียลมีเดีย ช่องทางโซเชียลมีเดียของเสียวหมี่มักจะเป็นการโพสต์เพื่อกระตุ้นให้เกิดการแสดงออกทางความคิดเห็นจากผู้ติดตาม อย่างเช่น การถามว่า “คุณกำลังใช้โทรศัพท์หมี่รุ่นไหนอยู่” หรือ “ใครอยากได้โทรศัพท์รุ่นนี้บ้าง”

โพสต์ภาพกิจกรรมต่างๆ รวมถึงภาพของบรรดาหมี่แฟนทั้งหลายด้วย ภาษาที่ใช้ก็มักจะสั้นและเรียบง่าย เพื่อให้เหมือนเป็นการสื่อสารระหว่างเพื่อนถึงเพื่อน มากกว่าจะเป็นประกาศอย่างเป็นทางการจากบริษัท ทั้งหมดนี้ช่วยสร้างความผูกพันระหว่างคนกับแบรนด์ ได้ง่ายขึ้น

และอีกปัจจัยที่ทำให้แบรนด์เติบโตและมีฐานแฟนที่กว้างขวาง คือการขยายไลน์ผลิตภัณฑ์ให้หลากหลายค่ะ เสียวหมี่ไม่ได้มีแค่โทรศัพท์ แต่มีคอมพิวเตอร์ ลำโพง หม้อหุงข้าว กระติกน้ำ นาฬิกา เครื่องดูดฝุ่น หุ่นยนต์ มีแม้กระทั่งเครื่องชั่งน้ำหนัก ร่ม แปรงสีฟัน กระเป๋าเดินทาง ไปจนถึงผ้าขนหนูเลยค่ะ การเข้าไปในร้านหมี่สโตร์ ถึงได้เป็นกิจกรรมที่สนุกเพราะว่ามีผลิตภัณฑ์ให้ลองเล่นเต็มไปหมด

ซีอีโอของจีทรี พาร์ตเนอร์ส ได้เขียนบล๊อกเกี่ยวกับสูตรปรุงความสำเร็จของเสียวหมี่ในการสร้างหมี่แฟนว่าประกอบไปด้วยวัตถุดิบดังต่อไปนี้

1. ใช้โซเชียลมีเดียอย่างสม่ำเสมอเพื่อแสดงให้เห็นว่าแบรนด์เองก็เป็นหนึ่งในกลุ่มแฟน แทนที่จะเป็นบริษัทใหญ่ที่ถูกยกไว้อยู่บนหิ้ง

2. การมีปฏิสัมพันธ์บนโซเชียลมีเดียจะต้องเป็นไปในภาษาเดียวกันกับที่บริษัทและกลุ่มเป้าหมายใช้ เช่น บางทีเราอาจจะสามารถใช้สแลงได้ ใช้แฮชแท็กได้ โยงไปแตะเรื่องราวที่กำลังเป็นกระแสสังคมบ้างก็ได้ ถ้าหากดูแล้วว่าเหมาะสมเข้ากับบริษัทและลูกค้าของตัวเอง

3. สร้างชุมชนที่คนจะรู้สึกว่าอยากเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง และทำตัวเองให้เป็นมากกว่าผู้ให้ข้อมูลข่าวสาร วิธีนี้จะทำให้คนแวะเวียนมาพูดคุยแชร์ไอเดียด้วยบ่อยๆ

4. เชิญชวนให้ผู้ใช้งานเข้ามาที่บริษัท โพสต์ภาพเบื้องหลัง ประกาศรับสมัครงาน อัพโหลดภาพแฟนๆ จากอีเวนต์ต่างๆ ทำให้ผู้ใช้งานรู้สึกว่าตัวเองก็เป็นส่วนหนึ่งของบริษัท

ใครมีแบรนด์ที่ต้องการจะสร้าง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างแบรนด์บริษัทหรือแบรนด์ตัวเอง ก็ลองหยิบไปปรับใช้งานกันดูได้นะคะ เพราะว่านี่แหละคือสูตรที่เสียวหมี่ใช้หุงให้เมล็ดข้าวเล็กๆ กลายเป็นข้าวสวยที่นุ่มฟูเต็มหม้อขึ้นมาได้ในที่สุด