คนมองหนัง : “กระเบนราหู” และ “A Room with a Coconut View” สองหนังไทยที่ “เวนิส-โลคาร์โน” 2018

คนมองหนัง

ล่วงเข้าสู่ครึ่งหลังของปี ก็ได้ฤกษ์ที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติหลายแห่งในทวีปยุโรปจะหวนย้อนกลับมาอีกคำรบ

เทศกาลสองแห่งที่คัดเลือกหนังไทย โดยเฉพาะสายอินดี้ไปร่วมฉายอยู่เสมอ เห็นจะเป็นเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิส ประเทศอิตาลี และเทศกาลภาพยนตร์โลคาร์โน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

เทศกาลภาพยนตร์โลคาร์โน 2018 ระหว่างวันที่ 1-11 สิงหาคมนี้ มีหนังไทย 1 เรื่องได้ไปร่วมงาน นั่นคือ “A Room with a Coconut View” ภาพยนตร์สั้นแนวทดลอง ความยาว 29 นาที โดย “ตุลพบ แสนเจริญ”

หนังเล่าเรื่องราวของ “กันยา” ไกด์สาวชาวไทย ที่พานักท่องเที่ยวต่างชาติชื่อ “อเล็กซ์” เดินทางไปชายหาดบางแสน

การนำเที่ยวของกันยาดำเนินไปตามระเบียบกฎเกณฑ์อันเคร่งครัดตายตัว และพยายามถ่ายทอดภาพความงดงามของสถานที่ต่างๆ อย่างจงใจ ด้วยลีลาการพูดจาที่แข็งทื่อประหนึ่งหุ่นยนต์

อเล็กซ์จึงตัดสินใจออกไปเยี่ยมชมค้นหาและจินตนาการถึงเมืองบางแสนด้วยตัวเอง ผ่านชุดประสบการณ์ที่หลุดออกจากกรอบจำกัดของไกด์ไทย

ตุลพบเริ่มส่งผลงานเข้าร่วมเทศกาลภาพยนตร์สั้นของมูลนิธิหนังไทยตั้งแต่เรียนชั้นมัธยมศึกษา เขาจบการศึกษาระดับปริญญาโทสาขาวิจิตรศิลป์จากสเลด สกูล ออฟ ไฟน์ อาร์ต, ยูนิเวอร์ซิตี้ คอลเลจ ลอนดอน และปริญญาโทสาขาสุนทรียะและการเมืองจากสถาบันศิลปะแห่งแคลิฟอร์เนีย (แคลอาร์ตส์)

ทั้งนี้ “A Room with a Coconut View” จะเข้าฉายในสาย “Signs of Life” ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมผลงานภาพเคลื่อนไหวที่นำเสนอวิธีการเล่าเรื่องและภาษาทางภาพยนตร์แบบใหม่ๆ

ข้ามไปที่อิตาลี หนึ่งในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติระดับเมเจอร์คือ เวนิส 2018 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 สิงหาคม – 8 กันยายน

ปีนี้ “กระเบนราหู” (Manta Ray) ภาพยนตร์ไทยโดย “พุทธิพงษ์ อรุณเพ็ง” ได้รับคัดเลือกให้เข้าฉายในสายการประกวด “Orizzonti” (ที่เสาะแสวงหาแนวทางการเล่าเรื่องและรูปแบบทางสุนทรียศาสตร์ใหม่ๆ ในประชาคมหนังนานาชาติ)

หนังความยาว 105 นาที เล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้น ณ หมู่บ้านชายทะเล ซึ่งมีผู้อพยพชาวโรฮิงญาจำนวนมากต้องจมน้ำเสียชีวิตจากการพยายามหลบหนีขึ้นฝั่ง

วันหนึ่งชาวประมงท้องถิ่นได้ไปพบชายบาดเจ็บนอนหมดสติอยู่ในป่า เขาตัดสินใจช่วยเหลือชายแปลกหน้า ที่ทำไม่ได้แม้กระทั่งพูดจาสื่อสาร

ชาวประมงค่อยๆ สานก่อมิตรภาพกับชายผู้นั้น และตั้งชื่อให้เพื่อนใหม่ว่า “ธงชัย”

แต่แล้วเมื่อชาวประมงประสบอุบัติเหตุจมหายไปในท้องทะเล “ธงชัย” กลับค่อยๆ คืบคลานเข้ามายึดครองวิถีชีวิต, บ้านเรือน, อาชีพ และอดีตภรรยาของเพื่อนผู้เคยช่วยชีวิตเขา

พุทธิพงษ์ระบุว่า หนังเรื่อง “กระเบนราหู” ถูกสร้างขึ้นเพื่ออุทิศแด่เหยื่อผู้อพยพชาวโรฮิงญา

ภาพยนตร์ของเขาจะกล่าวถึงภาวะคลุมเครือของอัตลักษณ์ ซึ่งในด้านหนึ่ง ทุกผู้คนมีสิทธิพื้นฐานในการถือครองอัตลักษณ์ของตนเอง (ไม่ว่าจะผ่านเอกสารราชการหรือไม่ก็ตาม) แต่ในอีกด้าน มนุษย์ทุกคนต่างอาศัยอยู่บนโลกใบเดียวกัน และชื่อหนึ่งชื่อสามารถถูกครอบครองโดยคนหลายคนได้ ไม่ว่าเขาจะเป็นผู้อพยพ, คนแปลกหน้า หรือเซเลบในสังคม

พุทธิพงษ์บอกว่าเขาเข้าใจได้ หากตัวละครชาวประมงจะรู้สึกขุ่นเคืองชายแปลกหน้าซึ่งตนเองเคยช่วยเหลือชีวิตเอาไว้ ทว่าอีกทางหนึ่ง เขาก็เข้าใจว่า “ธงชัย” มิได้มีความมุ่งมาดปรารถนาแต่แรกเริ่มที่จะยึดครองวิถีชีวิตและทรัพย์สินของชาวประมง

อย่างไรก็ดี สิ่งที่เขาไม่อาจเข้าใจได้เลยคือ โศกนาฏกรรมดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นมาในสังคมของเราได้อย่างไร

ท้ายสุด ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทยไม่ได้ต้องการจะประณามหรือลงทัณฑ์ตัวละครฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เขาหวังเพียงว่า “กระเบนราหู” จะสามารถส่องสะท้อนให้ผู้ชมตระหนักถึงภาวะเปราะบางและความบกพร่องไม่สมบูรณ์ของมนุษย์

พุทธิพงษ์จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปากร ผลงานภาพยนตร์สั้นหลายเรื่องของเขาเคยถูกคัดเลือกเข้าฉายในเทศกาลหนังนานาชาติหลายแห่ง โดยเฉพาะ “ชิงช้าสวรรค์” ที่เล่าเรื่องราวชีวิตข้ามแดนของผู้อพยพชาวพม่าเช่นกัน ซึ่งได้รับรางวัลจากเทศกาลทั้งในและนอกประเทศไปมากมาย

นอกจากนี้ พุทธิพงษ์ยังรับหน้าที่เป็นผู้กำกับภาพ (ตากล้อง) ให้แก่หนังยาวบางเรื่อง อาทิ “วานิชชิ่ง พอยท์” (จักรวาล นิลธำรงค์) และ “คำพิพากษาของมหาสมุทร” (พิมพกา โตวิระ)

“กระเบนราหู” ถือเป็นงานกำกับภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกของเขา

รูปภาพ-ข้อมูลจาก

เพจเฟซบุ๊ก “Manta Ray กระเบนราหู” http://www.diversion-th.com/mantaray/ https://www.locarnofestival.ch/pardo/program/archive/2018/film.html?fid=1040016&eid=71