สุจิตต์ วงษ์เทศ / หมอลำเริ่มแรก ทำขวัญ งันเฮือนดี

หมอลำกับหมอแคน ราว 2,500 ปีมาแล้ว ล้วนเป็นผู้หญิง หมอลำขับลำคำคล้องจองทำนองง่ายๆ แล้วหมอแคนเป่าแคนคลอ พร้อมฟ้อนประกอบในพิธีเรียกขวัญคืนร่างคนตาย (ลายเส้นจำลองจากลายสลักบนขวานสำริด ขุดพบในหลุมศพที่เวียดนาม)

สุจิตต์ วงษ์เทศ

 

หมอลำเริ่มแรก

ทำขวัญ งันเฮือนดี

 

หมอลำคู่กับหมอแคน มีกำเนิดและพัฒนาการจากพิธีกรรมทางศาสนาผีหลายพันปีมาแล้ว
พบหลักฐานเก่าสุดในพิธีทำขวัญ (เรียกขวัญ, ส่งขวัญ) ในพิธีกรรมหลังความตาย

ทำขวัญ งันเฮือนดี

งานศพตามประเพณีลาวในอีสานเรียก “งันเฮือนดี” มีการละเล่นสนุกสนานอย่างยิ่ง เช่น เล่านิทานโดยอ่านจากหนังสือผูกใบลานเป็นทำนอง (เรียก อ่านหนังสือ), เล่นดีดสีตีเป่าร้องรำทำเพลง ขับลำคำกาพย์กลอน กับเล่นว่าเพลงโต้ตอบ ฯลฯ
[“งันเฮือนดี” หมายถึง งานฉลองมีความสนุกสนานอย่างยิ่งด้วยการละเล่นเป็นมโหสพคบงันอึกทึกครึกโครม (มโหสพคบงัน กลายคำจาก มหรสพ หมายถึง การละเล่นหลายอย่างในงานฉลอง) งัน หมายถึงงานฉลองสนุกสนานอย่างยิ่ง ไม่ใช่งานอาชีพในชีวิตประจำวัน เช่น หุงข้าว, ทำนาทำไร่ ฯลฯ เฮือนดี น่าจะกลายจาก เรือนผี หมายถึงเรือนที่มีคนตายเพราะขวัญหาย (มีอธิบายอีกมากในหนังสือ งานศพ ยุคแรกอุษาคเนย์ ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ สำนักพิมพ์นาตาแฮก พิมพ์ครั้งแรก กันยายน 2560)]
ประเพณี “งันเฮือนดี” มีรากเหง้าจากพิธีศพหลายพันปีมาแล้วในภูมิภาคอุษาคเนย์ ซึ่งเป็นต้นทางงานศพของไทย มีมหรสพหลายวันหลายคืน
เมื่อมีคนตาย ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นเพราะขวัญหาย บรรดาญาติพี่น้องเพื่อนบ้านในชุมชนท้องถิ่นต้องร่วมกันมีพิธีทำขวัญ โดยผู้หญิงเป็นหมอขวัญและหมอแคน เรียกสมัยหลังสืบต่อมาว่า “งันเฮือนดี” มีผู้หญิงเป็นแม่งานทั้งหมด 2 ตอน ดังนี้
ตอนแรก เรียกขวัญ เพื่อเรียกขวัญคืนร่างให้ฟื้นเป็นปกติ
ตอนหลัง ส่งขวัญ เพื่อส่งขวัญที่เป็นผีขวัญไปสิงสู่อยู่รวมกับผีบรรพชน (ในโลกหลังความตาย)
ทั้งตอนแรกและตอนหลัง ไม่กำหนดจำนวนวันทำขวัญ จึงมักมีหลายวันหลายคืนต่อเนื่องกันตามตกลงในชุมชนหมู่บ้าน

ทำขวัญ งันเฮือนดี มีหมอแคนหมอลำสนุกสนานด้วยการละเล่นต่างๆ พบในลายสลักบนหน้ากลองทองมโหระทึก ราว 2,500 ปีมาแล้ว (บน) รูปขวัญเป็นแฉกอยู่ตรงกึ่งกลางวงกลมหน้ากลอง มีลายสลักรูปนกอยู่ขอบนอก ส่วนด้านในเป็นรูปการละเล่นต่างๆ (ล่าง) จำลองรูปการละเล่นแผ่ตรงๆ เพื่อดูสะดวก [ลายเส้นจากรูปหน้ากลองทองมโหระทึก พบที่เวียดนาม ในหนังสือ Dong Son Drums in Viet Nam จัดพิมพ์โดย The Viet Nam Social Science Publishing House ค.ศ.1990, pp.8-9. คัดลอกลายเส้นโดยนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ใช้ประกอบในหนังสือ ชาติพันธุ์สุวรรณภูมิ บรรพชนคนไทยในอุษาคเนย์ ของสุจิตต์ วงษ์เทศ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2547 หน้า 54]
ส่งขวัญขึ้นเมืองฟ้า

หมอขวัญเรียกขวัญ แล้วขวัญไม่คืนร่าง เมื่อนานไปจนแน่ใจว่าขวัญหายถาวรแล้ว ต้องทำพิธีส่งขวัญไปสู่โลกหลังความตาย เพื่อรวมพลังกับผีขวัญบรรพชน ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าอยู่ที่ไหน? จึงต้องมีหมานำทาง และต้องไปทางน้ำ
โลกหลังความตาย เชื่อกันในคนหลายกลุ่มว่าอยู่บนฟ้า ดูจากรูปหมาหลายแห่งเขียนไว้ในทิศทางขึ้นลงจากข้างบน
พิธีสู่ขวัญเป็นข้อความบอกทางผีขวัญ ว่าคนตายต้องล่องเรือแพทางน้ำไปเมืองฟ้า มีร่องรอยเหลืออยู่ใน ไต-ไท บางกลุ่มของเวียดนามภาคเหนือ
เริ่มด้วยบอกเล่าประวัติคนตาย ตั้งแต่ปฏิสนธิ กระทั่งเติบโตเป็นผู้ใหญ่ แล้วแต่งงานมีลูกมีหลานจนแก่เฒ่าเจ็บไข้ล้มตาย
จากนั้นเชิญผีขวัญกินข้าวปลาอาหาร เสร็จแล้วออกเดินทางไปเมืองฟ้า ผ่านหมู่บ้านต่างๆ หลายแห่ง แล้วล่องเรือหรือแพไปทางน้ำ อันเป็นเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างโลกมนุษย์กับเมืองฟ้า

ส้นทางไปเมืองฟ้า

พิธีส่งผีขวัญขึ้นฟ้าทำโดยหมอมดหมอผีขับลำคำขับ เป็นคำคล้องจองเข้ากับแคนคลอเป็นทำนอง ต่อมาแต่งเติมเนื้อหายืดยาวตามต้องการที่สังคมเปลี่ยนแปลงเติบโตขึ้น
คำส่งผีขวัญมีเป็นร้อยแก้วสลับด้วยคำคล้องจองตามจังหวะที่ต้องการ ดังที่มีเอกสารอยู่ในพงศาวดารล้านช้างในลาว กับเล่าความเมืองของไทดำในเวียดนาม
เส้นทางส่งขวัญคนตายขึ้นฟ้า ซ้อนทับกับเส้นทางโยกย้ายของบรรพชนตระกูลไต-ไท จากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก หรือจากลุ่มน้ำดำ-แดง ในเวียดนาม ไปลุ่มน้ำโขงในลาว แต่กลับทิศทาง
[สรุปจากหนังสือ ประวัติศาสตร์ไทดำ : รากเหง้าวัฒนธรรม-สังคมไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของ ยุกติ มุกดาวิจิตร (สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม พิมพ์ครั้งแรก มกราคม 2557 หน้า 23-49)]

คำส่งขวัญ ต้นแบบหมอลำทำบทชมดง

คําส่งขวัญคนตายไปเมืองฟ้า เป็นคำคล้องจอง ที่หมอขวัญใช้ขับลำด้วยทำนองเสียงโหยหวน มีลูกคอกลั้วเป็นครั้งคราวตั้งแต่ต้นจนจบ
แต่ไม่พบตัวบทจริงๆ จึงคาดเดาว่าเนื้อความรำพึงรำพันสั่งเสียสั่งลาผู้คนเครือ ญาติ, สัตว์, สิ่งของ, ภูมิสถานบ้านเรือน, ป่าดงพงไพร ที่ขวัญเดินทางผ่านไป
ล้วนเป็นต้นแบบบทสั่งเสียสั่งลาในวรรณคดีสมัยหลังๆ เช่น นิราศ เป็นต้น และเป็นต้นแบบให้หมอลำทำบทชมดงใน “เสบลำ” คำขับต่างๆ สืบเนื่องจนทุกวันนี้
[เสบลำ เป็นคำลาวกลายจาก เสพลำ หมายถึง ร้องรำทำเพลง]