เพราะอะไร? ภัยพิบัติธรรมชาติจึงกระหน่ำใน กรกฎาคม แล้ว’สิงหา’ น่ากลัวขนาดไหน?

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

โลกร้อนเพราะมือเรา ตอนที่ 139 : หวัง “ส.ค.” ไม่ซ้ำรอย “ก.ค.”

เดือนกรกฎาคมที่เพิ่งผ่านไปสดๆ ร้อนๆ ชาวโลกได้เห็นปรากฏการณ์ “ภัยพิบัติ” หลากหลายรูปแบบ ทั้งคลื่นความร้อน น้ำท่วม ภัยแล้งและไฟป่า เกิดขึ้นในหลายๆ จุด

บางจุดนั้นทั้งมีคลื่นความร้อน น้ำท่วมฉับพลัน เกิดในห้วงเวลาไล่เลี่ยกัน บางจุดเกิดภัยแล้งและไฟป่าพร้อมๆ กัน

ปรากฏการณ์ดังกล่าว นักวิทยาศาสตร์ออกมายืนยันว่ามีหลักฐานบ่งชัดมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศ หรือภาวะโลกร้อน

ดร.ไมเคิล มานน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ว่าด้วยระบบโลกแห่งมหาวิทยาลัยเพนน์สเตต สหรัฐอเมริกา ระบุการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกคือเครื่องชี้วัดถึงภาวะโลกร้อน

ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนไม่ใช่เป็นเรื่องที่ทำความเข้าใจยากอีกต่อไป เพราะได้เห็นของจริงๆ ทั้งหมดเกิดขึ้นในช่วงนี้ ช่วงตลอดเดือนกรกฎาคมของปีนี้

การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ปีชนปี

ปี 2559 เป็นปีที่ร้อนที่สุดเท่าที่มีการบันทึกมา ตามด้วยปี 2558 อันดับสาม ปี 2560 ส่วนปีนี้ ทำสถิติร้อนที่สุดเป็นลำดับที่ 4

 

“แคตเธอรีน เฮย์โฮ” นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศแห่งมหาวิทยาลัยเท็กซัส เทค เป็นอีกคนที่อธิบายถึงปรากฏการณ์โลกร้อนว่า ได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศอย่างฉับพลัน รุนแรง เกิดขึ้นต่อเนื่องและมีความถี่สูงขึ้นมากกว่าในอดีต

ฝ่าย ดร.เฟรดเดอริก ออตโต แห่งมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด ชี้ว่าภาวะโลกร้อนเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว การเกิดคลื่นความร้อนกลายเป็นเรื่องปกติ

ข้อมูลของสำนักงานมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศสหรัฐ หรือเอ็นโอเอเอ (NOAA) ระบุว่า ค่าเฉลี่ยอุณหภูมิทั้งบนผิวโลกและผิวน้ำทะเลในครึ่งปีแรกของปี 2561 สูงเพิ่มขึ้น

ความร้อนแผ่ไปทั่วโลก จากทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ข้ามไปถึงทวีปอเมริกาเหนือ เอเชียและออสเตรเลีย ในเวลาเดียวกันบางพื้นที่กลับมีอากาศหนาวเย็นจัดตลอดตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมิถุนายนของปีนี้

ปัจจุบันอุณหภูมิทั้งบนบกและน้ำทะเลอยู่ที่ 0.77 ํC สูงกว่าค่าเฉลี่ยของศตวรรษที่ 20

คลื่นความร้อนที่เกิดขึ้นในแถบยุโรปเหนือ ไล่ตั้งแต่ไอร์แลนด์ อังกฤษ เดนมาร์ก สวีเดน นอร์เวย์ ฟินแลนด์ และรัสเซีย ซึ่งเป็นอาร์กติกเซอร์เคิล (Arctic Circle) หรือวงขั้วโลกเหนือ สร้างความพิศวงงงงวย เนื่องจากบางแห่งอุณหภูมิอยู่ที่ 32 องศาเซลเซียสต่อเนื่องหลายวัน

ปกติแล้ว เมื่อเข้าหน้าร้อน อุณหภูมิในแถบดังกล่าวจะอยู่ระหว่าง 7 ํC-13 ํC บางปีอาจพุ่งสูงบ้าง อย่างมาก 20 ํC

ในฤดูหนาว อุณหภูมิแถบอาร์กติกเซอร์เคิลติดลบ อย่างน้อย -20 ํC

แต่ผลการตรวจวัดอุณหภูมิ ปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา บริเวณขั้วโลกเหนือ เช่น เกาะกรีนแลนด์ อุณหภูมิกระโดดขึ้นไปที่ 6 ํC

 

นักวิทยาศาสตร์บางคนถึงกับโวยวายผ่านทวิตเตอร์ว่าสภาพอากาศปีนี้เพี้ยนหนัก

ระดับอุณหภูมิในอาร์กติกเซอร์เคิลใกล้เคียงกับเขตร้อนอย่างเมืองไทย เป็นไปได้อย่างไร?

ถ้าไม่ใช่สภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง อะไรคือสาเหตุของความวิปริตแปรปรวนเช่นนี้

ความร้อนที่แผ่ซ่านทำให้หิมะที่ปกคลุมในยุโรปเหนือละลายลงอย่างรวดเร็ว

พื้นที่ในแถบดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นทุ่งทุนดร้าปกคลุมด้วยซากพืชจำพวกมอสส์ หรือที่เรียกว่าพีตมอส (peat moss)

หากเกิดไฟไหม้ ความร้อนทำให้พีตมอสส์คุระอุอยู่ใต้ดิน ดับได้ยากมาก

เมื่อใดอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น กระแสลมแรงจะกระพือไฟให้ลุกโชนเผาพื้นที่ทุนดร้ากว้างใหญ่

การเผาไหม้ยิ่งทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณมากลอยสู่ชั้นบรรยากาศ นั่นหมายถึงสภาวะภูมิอากาศเกิดความแปรปรวนซ้ำ เป็นปฏิกิริยาลูกโซ่

คลื่นความร้อนแผ่ไปทางตะวันตกเฉียงเหนือของยุโรป ทำให้อากาศแห้ง ความชื้นลดลง ประกอบกับทุ่งทุนดร้ามีพีตมอสส์และหญ้าแห้งหมักหมมไว้ตลอดฤดูหนาวที่ผ่านมากลายเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี

ปรากฏการณ์ไฟป่าจึงเกิดขึ้นมากกว่าปกติ

นักผจญเพลิงบอกว่า เมื่ออุณหภูมิสูง 30 ํc ขึ้นไป ความชื้นสัมพัทธ์ต่ำกว่า 30 เปอร์เซ็นต์และกระแสลมแรงเกินกว่า 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จะทำให้ไฟป่าลุกโหมรุนแรงจนเอาไม่อยู่

นี่คือสูตรไฟป่า “30-30-30”

ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดไฟป่า มีทั้งจากฟ้าผ่า ไฟคุพีตมอสส์ลุกโชนจากชั้นใต้ดิน นักเดินทางจุดไฟทิ้งไว้ในแคมป์ หรือพวกมือบอนทิ้งก้นบุหรี่สร้างสถานการณ์

กระนั้นก็ดี ถ้าอุณหภูมิในเขตยุโรปเหนือไม่ร้อนจัด ความชื้นสัมพัทธ์สูงและกระแสลมไม่แรง ไฟจะไม่ลุกลามใหญ่โตเหมือนเช่นในปัจจุบัน

 

ข้ามกลับมาดูญี่ปุ่น ต้นๆ เดือนกรกฎาคมเจอพายุฝนกระหน่ำ สร้างความเสียหายอย่างหนักให้กับพื้นที่ทางภาคตะวันตกเนื่องจากมีน้ำท่วมใหญ่ ดินถล่ม บ้านเรือนพังพินาศ ผู้คนเสียชีวิตกว่า 200 คน

หมดฝนเจอคลื่นความร้อนแผ่ซ้ำ มีผู้เสียชีวิตราวๆ 80 คน และเจ็บป่วยเพราะอากาศร้อนจัดต้องเข้าโรงพยาบาลราว 35,000 คน

ล่าสุดอิทธิพลของพายุไต้ฝุ่น “ชงดารี” มีความเร็วลมถึง 180 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำให้เกิดฝนตกหนักอีกครั้งในพื้นที่ตะวันตก บริเวณชายฝั่งเกิดคลื่นยักษ์ซัดถล่ม ทางการต้องอพยพผู้คนไปอยู่ในที่ปลอดภัย

กรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นบอกว่าพายุไต้ฝุ่นลูกนี้เคลื่อนตัวในเส้นทางผิดปกติ โดยขึ้นฝั่งทางตะวันตกเนื่องจากผ่านภูมิภาคทางตะวันตกก่อน แล้วจึงเคลื่อนตัวลงใต้สู่เกาะคิวชู

“ชงดารี” เปลี่ยนทางเพราะอุณหภูมิน้ำของมหาสมุทรแปซิฟิกฝั่งตะวันตกเพิ่มขึ้น มีผลกระแสลมเจ๊ตสตรีมและความกดอากาศสูงแผ่ลงมาเหนือมหาสมุทรแปซิฟิก

ปรากฏการณ์นี้สรุปได้ว่า ชาวญี่ปุ่นเผชิญกับวิกฤตที่เป็นผลจากภาวะโลกร้อนเกือบตลอดทั้งเดือนกรกฎาคม

 

หันมาดูเพื่อนบ้านเรามั่ง ที่ลาว เหตุการณ์เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย ซึ่งเป็นเขื่อนไฟฟ้าพลังงานน้ำอยู่ระหว่างก่อสร้างในแขวงอัตตะปือ แตกร้าวเมื่อคืนวันที่ 23 กรกฎาคม

น้ำกักเก็บไว้ 5,000 ล้านลูกบาศก์เมตรพุ่งทะลักออกจากรอยแตกท่วมหมู่บ้าน มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 27 คน สูญหายอีกนับร้อย

สาเหตุสำคัญมาจากพายุฝนถล่มอย่างหนัก

สำหรับเหตุการณ์ดินโคลนถล่มทับบ้านเรือนชาวบ้าน 4 หลัง ที่บ้านห้วยขาบ หมู่ 7 ต.บ่อเกลือเหนือ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน เมื่อเช้าตรู่วันที่ 28 กรกฎาคม มีผู้เสียชีวิต 8 คน

สาเหตุเนื่องจากอิทธิพลของพายุ “เซินติญ” ทำให้ฝนตกหนัก ปริมาณน้ำสะสมบนภูเขาสูงไหลทะลักกระชากดินโคลนและก้อนหินถล่มใส่หมู่บ้านดังกล่าว

ฤดูร้อนของทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือยังเป็นไปอย่างต่อเนื่องจนถึงปลายเดือนสิงหาคมนี้

เช่นเดียวกับพายุฝนในแถบเส้นศูนย์สูตร รวมถึงประเทศไทย ยังเกิดขึ้นเป็นระลอกๆ

ปรากฏการณ์คลื่นความร้อน ภัยแล้ง ไฟป่า ดินโคลนถล่มและน้ำท่วมหนักในเดือนสิงหาคม จะเกิดซ้ำรอยเหมือนเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมานี้หรือไม่ ขึ้นกับสภาวะภูมิอากาศจะวิปริตแปรปรวนรุนแรงแค่ไหน และประสิทธิภาพในการรับมือกับภัยพิบัติของชาวโลก