ชุติมา นุ่นมั่น : “ยายศรี” คนคลั่งเขียน

http://www.praphansarn.com/article/detail/1486

บ้านหลังน้อย ทรงโบราณ เก่า แต่แสนเก๋ ถูกปกคลุมด้วยหมู่ไม้เขียวครึ้ม ในบริเวณรั้วรอบขอบชิดหลังนั้น ท่าจะสร้างมานานมากกว่าครึ่งศตวรรษแล้ว ข้าวของเครื่องใช้ บ่งบอกชัดเจนว่าอยู่คู่ กับสถานที่แห่งนี้มาแต่ไหนแต่ไร

เจ้าของบ้านเป็นหญิงชราใจดี เธอค่อยๆ เดินลงจากบันได ส่งยิ้มต้อนรับผู้ไปเยือนอย่างมีไมตรี

“ศรีเฉลิม สุขประยูร” หรือคุณยายศรี นักเขียนนวนิยายชื่อดัง เจ้าของผลงานกว่า 300 เรื่อง ดูอิ่มเอิบ และแข็งแรง

ชื่อศรีเฉลิม อาจจะยังไม่คุ้นเคยกันนัก แต่ถ้าเอ่ยถึง วลัย นวาระ นลิน บุศกร จามรี พรรณชมพู หรือชมนาด ชวัลนุช แล้ว นักอ่านนวนิยายทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ต้องคุ้นเคย
“บ้านคุณยายน่าอยู่จังเลย ไม่น่าเชื่อว่ายังมีบ้านแบบนี้อยู่ใจกลางเมืองหลวงได้” ผู้ไปเยือนทักทาย
อยู่มาตั้งแต่ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบก เมื่อก่อนมันดูโล่งๆ นะ แต่เดี๋ยวนี้ ถูกตึกล้อมหมดแล้ว มีคนมาขอซื้อบ่อยมาก แต่ปฏิเสธไปทุกราย

จากสาวน้อยอารมณ์โรแมนติคอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สู่นักศึกษาวิชาวรรณคดี มหาวิทยาลัยน็อตติงแฮม ประเทศอังกฤษ มาเป็นเจ้าหน้าที่ประมวลข่าวกลาง สำนักนายกรัฐมนตรี หรือซีไอเอเมืองไทย มาถึงคุณยายศรี ของหลานๆ ในปัจจุบัน วันนี้ 60 กว่าปีแล้ว ที่ยึดอาชีพนักเขียนประทังชีวิต (คุณยายว่าอย่างนั้น) มีคนถามกันเยอะว่า ทำอย่างไรถึงจะเป็นนักเขียนที่เก่งๆ ได้ คุณยายบอกว่า จนแล้วจนรอด แกก็ไม่เคยให้คำตอบที่สมบูรณ์แบบกับใครได้สักที

“แต่ละคนไม่เหมือนกันหรอก สำหรับตัวเอง ต้องเขียนไปเรื่อยๆ ด้วยความพยายามอย่างหนัก จนกว่าคนอ่านจะยอมรับงานของเราได้ ระหว่างความพยายามนี้ มันก็ต้องอดทนน่าดูเหมือนกัน”

ความอดทนที่คุณยาย บอก คือ อดทนต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์ และอย่าให้คำตัดสินของคนอื่นมาบั่นทอนความตั้งใจ ความพยายามของตัวเอง

“ตอนเริ่มต้นเขียนหนังสือใหม่ๆ เอาต้นฉบับไปส่ง บ.ก.นั้น เราอ่อนน้อมถ่อมตนมาก เขาแนะนำอะไร เราก็รับฟัง พร้อมจะนำมาปรับปรุงงานของเราเสมอ แต่มีเพื่อนคนหนึ่งเขาเล่าให้ฟังว่า เด็กรุ่นใหม่เอาต้นฉบับมาส่ง เขาถามว่า เป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร เด็กคนนั้นบอกว่า ให้อ่านเอาเอง ถามว่าใช้นามปากกาอะไร เขาก็บอกอีกว่า อ่านเอาเอง เพื่อนคนนั้นก็ยังอดทนและใจดี บอกว่า งั้นเก็บไว้ก่อน เจ้าเด็กคนนั้นยังบอกอีกว่า ถ้าจะเก็บเอาไว้ ต้องจ่ายค่าต้นฉบับมาก่อน” คุณยายเล่ายิ้มๆ

ผู้ไปเยือนเลยเดาเอาเองว่า ทุกวันนี้ ต้นฉบับของเจ้าคนนั้น ยังคงอยู่ที่ใดที่หนึ่งสักแห่ง แต่ไม่ใช่บนแผงหนังสือแน่นอน

นวนิยายของคุณยายศรี ทั้ง 300 กว่าเรื่อง มากกว่า 100 เรื่อง ถูกนำมาพิมพ์ใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า หลายเรื่องยังกลายเป็นละครทีวี โลดแล่นอยู่ในแวดวงจอแก้ว

คุณยายยังจำชื่อตัวละคร ทั้งพระเอก นางเอก และตัวประกอบ ทุกตัวได้ แต่ต้องใช้ระยะเวลาในการนึกสักระยะหนึ่ง

ชื่อตัวละครทุกตัวโดยเฉพาะพระเอกกับนางเอกนั้น จะเปิดจากหนังสือชื่อดี ของ อ.บรรจบ พันธุ์เมธา ทุกครั้ง มีอยู่ด้วยกัน 6 เล่ม ห่อปกเอาไว้อย่างดี ในส่วนของเนื้อหานั้น จะเขียนเรื่องแนวไหนก็ต้องศึกษาบรรยากาศ และฉากของเรื่องอย่างดี เรื่องไหนที่ไม่รู้จริงๆ ต้องเปิดสารานุกรมเอา คุณยายบอก

จุดเด่นในนวนิยายของคุณยาย คือ มักจะใส่เกร็ดความรู้ ขนบธรรมเนียม วัฒนธรรม การใช้ชีวิต เอาไว้ด้วยเสมอ นักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยหลายแห่ง หยิบเอานวนิยายของคุณยายไปเขียนเป็นรายการประกอบวิชาที่เกี่ยวกับจิตวิทยาหลายครั้ง

“ผกานิรมล ต้องทำเฉยถ่วงเวลาไว้หน่อย ไม่กล้าเริ่มรับประทานอาหารจานใหม่ที่คนเสิร์ฟยกมาตั้ง เพราะไม่แน่ใจว่าควรหยิบมีดหรือส้อมอันไหน ความจริงเขาก็มีหลักอยู่ว่า ควรหยิบจากด้านนอกเข้าไป แต่บางที่หล่อนก็ไม่แน่ใจ เพราะมีมากเหลือเกิน ทั้งมีดส้อมกลัวจะปล่อยไก่ ก็เลยต้องรอดูคนอื่นก่อน”

ตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆเกี่ยวกับมารยาททางสังคมที่คุณยายแทรกเอาไว้ในนวนิยายเรื่อง “เส้นทางสายรัก”

“ทำไมนางเอกของคุณยายถึงมีอายุน้อยๆ จังเลย 17-18 ปี ก็แต่งงานกันแล้ว” ผู้ไปเยือนถามตามประสาแฟนพันธุ์แท้

หญิงชราหัวเราะชอบใจ กับคำถามนี้

“นั่นแสดงว่าเขียนเอาไว้นานแล้ว ยุคสมัยไม่เหมือนกัน สมัยก่อนผู้หญิงแต่งงานกันเร็ว เคยเขียนเรื่องเจ้าสาว 16 แต่สมัยนี้ไม่ได้แล้วนะ มีอะไรกับสาว 16 ก็ติดคุกเอาได้ หลังๆ นางเอกอายุมากขึ้นแล้ว เรื่องนี้นางเอกอายุ 33 ปี พระเอกอายุ 40 ปี” คำตอบนี้ ทำเอาคนฟังยิ้มแก้มปริ

ยุคสมัยที่เปลี่ยนไป แม้อินเตอร์เน็ตกับโทรศัพท์มือถือจะแพร่หลายไปทุกพื้นที่ในประเทศไทย แต่ต้นฉบับของคุณยายก็ยังเป็นลายมืออยู่ เขียนใส่กระดาษฟุลสแก๊ปมาแต่ไหนแต่ไร เมื่อก่อนเขียนเสร็จก็นั่งรถเมล์ เอาไปส่ง บ.ก.ด้วยตัวเอง แต่วันนี้ จะมีคนมารับต้นฉบับที่บ้าน

ทุกวันนี้ คุณยายเพลาๆ การเขียนหนังสือบ้างแล้ว แต่เพลาๆ ของคุณยายก็ยังมีเรื่องค้างคาที่ยังเขียนไม่จบอยู่ถึง 4 เรื่องด้วยกัน เป็นเรื่องยาว 4 ภาคจบ นอกจากนี้ ก็ยังมีงานแปลอีก

“เคยเขียนหนังสือได้เยอะที่สุด 41 เรื่องต่อปี เป็นนิยายตอนๆ ส่งให้นิตยสารบ้าง วารสารบ้าง เยอะแยะไปหมด เรียกว่า เขียนอย่างบ้าคลั่ง เหมือนโรงงานผลิตหนังสือเลย จนมีหนังสือเล่มหนึ่งบันทึกเอาไว้ว่า เขียนหนังสือมากที่สุด ตอนนั้นเขียนไปกินข้าวไป จนไม่รู้ว่าอิ่มเมื่อไร น้ำหนักตัวพุ่งพรวด ปีต่อมาก็เพลาๆ ลงบ้าง เหลือแค่ 21 เล่ม เวลาที่ไม่เขียนเอาไปลดน้ำหนัก” พูดจบก็หัวเราะชอบใจกับพฤติกรรมในอดีตของตัวเอง

“ทำอย่างไรจึงกลายเป็นคนเขียนหนังสืออย่างบ้าคลั่งได้ คนอยากเป็นนักเขียนบ้าง ถามทิ้งท้าย
คุณยายตอบคำถามนี้ทันทีว่า ต้องผ่านการอ่านอย่างบ้าคลั่งก่อน ไม่มีใครเป็นนักเขียนที่ดีได้ ถ้าไม่ผ่านการอ่านมาเลย

เวลาที่เหลือนับจากนี้ คุณยายบอกว่า จะเขียนหนังสือไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเขียนไม่ไหว

ผู้ไปเยือนออกจากบ้านทรงโบราณหลังนั้น ด้วยความอิ่มเอม