เบื้องหลัง “ทุน” ยะเยือก เขื่อนเซเปียน “แตก” แบกภาระเยียวยาพี่น้องลาว

คืนวันที่ 22 กรกฎาคมที่ผ่านมา เขื่อนดินย่อยกั้นช่องเขาส่วน D (Saddle Dam D) ขนาดสันเขื่อนกว้าง 8 เมตร ยาว 770 เมตร สูง 16 เมตรที่สร้างขึ้นเพื่อเสริมการกั้นน้ำรอบอ่างเก็บน้ำเซน้ำน้อยในโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อย แขวงอัตตะปือในเขตลาวใต้ได้เกิดทรุดตัวลงมา

ซึ่งตามรายงานของ Korea Western Power 1 ในผู้ร่วมทุนโครงการนี้ระบุว่า ตัวเขื่อนได้ทรุดตัวลงถึง 4 นิ้วในวันที่ 20 กรกฎาคม และก่อให้เกิดรอยร้าวด้านบนของสันเขื่อนในอีก 2 วันต่อมา ประกอบกับมีฝนตกหนักน้ำไหลลงเขื่อนมาก

เป็นเหตุให้เขื่อนแตกและมวลน้ำไหลทะลักลงสู่พื้นที่ท้ายน้ำสร้างความเสียหายให้กับพื้นที่บริเวณเมืองสนามไชย แขวงอัตตะปือ มีประชาชนลาวจาก 7 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านท่าบก, หินลาด, สมอใต้, ท่าแสงจัน, ท่าหินใต้, ท่าบก และท่าม่วง ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้มากกว่า 6,600 คน และมีผู้เสียชีวิตล่าสุด 27 คน

นายคำมะนี อินทิรัต รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ สปป.ลาว กล่าวภายหลังเหตุเขื่อนแตกว่า เกิดจากการก่อสร้างที่ “ต่ำกว่า” มาตรฐาน โครงสร้างของเขื่อนไม่มีความยืดหยุ่นเพียงพอที่จะรองรับปริมาณน้ำฝนที่ไหลลงอ่างได้

แน่นอนว่าทางรัฐบาล สปป.ลาวกำลังรอรายงานการตรวจสอบอยู่ภายใต้ความเชื่อว่าเกิดปัญหามาจากการก่อสร้างเขื่อน “ไม่ใช่เรื่องของอุบัติเหตุหรือภัยจากธรรมชาติ” อย่างที่ผู้ร่วมทุนในโครงการนี้พยายามจะสื่อสารออกมา

 

โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อย จะมีการออกแบบอ่างเก็บน้ำ 3 ระดับ พร้อมด้วยอุโมงค์ผันน้ำทั้งแนวราบและแนวดิ่งเพื่อเพิ่มระดับความสูงของน้ำสร้างแรงดันน้ำในการหมุนกังหันผลิตกระแสไฟฟ้า อ่างเก็บน้ำของเขื่อนมีขนาดความจุ 1,043.27 ล้าน ลบ.ม. สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 354 เมกะวัตต์ (MW)

โครงการได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว (Power Purchase Agreement หรือ PPA) กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ไปแล้ว โดยมีอายุสัญญา 27 ปี (2562-2589) ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 2.50 บาท/หน่วย กระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ร้อยละ 90 หรือประมาณ 354 MW

จะขายให้กับ กฟผ. ผ่านจุดเชื่อมต่อสายส่งที่จังหวัดอุบลราชธานี

ส่วนอีกร้อยละ 10 หรือประมาณ 40 MW จะถูกใช้ใน สปป.ลาว มีกำหนดเริ่มจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562

สำหรับบริษัทผู้ร่วมพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าเซเปียน-เซน้ำน้อย หรือบริษัทไฟฟ้าเซเปียน-เซน้ำน้อย จำกัด ประกอบไปด้วย SK Engineering & Construction Company Limited ร้อยละ 26

Korea Western Power Company Limited ร้อยละ 25

Lao Holding State Enterprise ร้อยละ 24

และบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH ร้อยละ 25

ซึ่งจะเห็นได้ว่าโครงการนี้ถือหุ้น 3 ฝ่าย ได้แก่ เกาหลี (SK Engineering-Korea Western) สปป.ลาว (Lao Holding) และฝ่ายไทย (RATCH)

หรือหากรวมหุ้นกันแล้ว เกาหลีจะเป็นฝ่ายถือหุ้นใหญ่สุด

 

อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก “ไฟฟ้า” ที่ผลิตได้จากโครงการเซเปียน-เซน้ำน้อยถึงร้อยละ 90 จะถูก “ขายส่ง” ให้กับ กฟผ. เพื่อที่ กฟผ. จะนำมา “ขายปลีก” ให้กับประชาชนคนไทยอีกต่อหนึ่ง

โดยการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างประเทศไทยและ สปป.ลาว ภายใต้ความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าระหว่างไทย-สปป.ลาว มีการลงนามในบันทึกช่วยจำ (MOU) มาตั้งแต่ปี 2536

เริ่มต้นจาก MOU ฉบับที่ 1 จะรับซื้อไฟฟ้าภายในปี 2543 จำนวน 1,500 MW มาจนถึงปัจจุบัน MOU ฉบับที่ 5 ปี 2559 จะรับซื้อไฟฟ้าจากลาวจำนวน 9,000 MW หรือมีการรับซื้อไฟฟ้าจากลาวเพิ่มขึ้นทุกช่วงปีที่ลงนาม MOU ระหว่างรัฐบาลทั้ง 2 ประเทศ

ความร่วมมือดังกล่าวดูเหมือน “Win Win” ด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย

กล่าวคือ สปป.ลาวตั้งใจที่จะส่งออกกระแสไฟฟ้าตามนโยบาย Battery of Asia ขายให้กับประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทย โดยการส่งออกไฟฟ้าของลาวนั้นสามารถทำรายได้เข้าประเทศ “มากกว่า” การส่งออกสินค้าโดยรวมของประเทศ

ในขณะที่ประเทศไทยก็จะมีกระแสไฟฟ้าราคาถูกที่ได้จากทรัพยากรน้ำหรือถ่านหิน (โครงการหงสาลิกไนต์) ใน สปป.ลาว จากความจริงที่ว่า ทุกพื้นที่ในประเทศไทยขณะนี้แทบจะไม่สามารถก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่มีต้นทุน “ถูก” อย่างพลังน้ำหรือถ่านหินได้อีกแล้วจากปัญหาการต่อต้านของประชาชนในพื้นที่

กระทรวงพลังงานถึงกับกำหนดให้มีการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ (มากกว่าร้อยละ 95 มาจาก สปป.ลาว) ถึงร้อยละ 20 ไว้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือแผน PDP ฉบับล่าสุด

จนอาจกล่าวได้ว่า เป็นยุคที่ “ทุนไทย” พาเหรดเข้าไปตั้งโรงไฟฟ้าขนาดไหนก็ได้ใน สปป.ลาว เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้ามาป้อนให้กับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา

โดยบริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง หรือ RATCH ซึ่งก็ถือหุ้นใหญ่ (ร้อยละ 45) โดย กฟผ. จัดเป็นหนึ่งในทุนไทยที่เข้าไปสร้างโรงไฟฟ้าใน สปป.ลาวนั่นเอง

 

แม้ว่าบริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้งจะไม่ใช่ผู้ถือหุ้นใหญ่ในโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อย แต่ด้วยเหตุผลสำคัญที่ว่า ไฟฟ้าจากโครงการร้อยละ 90 ถูกขายให้กับ กฟผ. ซึ่งจัดเป็นแหล่ง “รายได้หลัก” ของบริษัทนี้ ทำให้ RATCH ตกอยู่ในสถานะต้องออกมา “รับหน้า” กับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์เขื่อนแตก

โดยนายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เคยให้สัมภาษณ์ถึงรายได้ของบริษัทในการดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าใน สปป.ลาวว่า RATCH มีโครงการเป็นผู้ร่วมพัฒนาโรงไฟฟ้า 3 แห่ง ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังน้ำน้ำงึม 2 (NN2 ถือหุ้น 25%) คิดเป็นกำลังผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการถือหุ้น 153.75 MW, โรงไฟฟ้าหงสาลิกไนต์ (Hongsa ถือหุ้น 40%) คิดเป็นกำลังผลิตไฟฟ้า 751.2 MW และโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อย (PNPC ถือหุ้น 25%) คิดเป็นกำลังผลิตไฟฟ้า 102.5 MW

บริษัทมีการลงทุนใน สปป.ลาวทั้งหมด 20,800 ล้านบาท คิดเป็นกำลังผลิตไฟฟ้ารวม 1,121.81 MW (รวม EDL-Gen หรือบริษัทผลิตไฟฟ้าลาว อีก 114.36 MW) ส่งผลให้ RATCH มีรายได้จากธุรกิจใน สปป.ลาวในปี 2560 ประมาณ 2,500 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 5 ของรายได้รวมทั้งหมดของบริษัท (46,438 ล้านบาท)

โดยโครงการในลาวที่ทำรายได้ให้ RATCH มากที่สุดขณะนี้ก็คือโรงไฟฟ้าหงสาลิกไนต์ ในปีที่ผ่านมามีการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าร้อยละ 80 ส่วนปี 2561 น่าจะเดินเครื่องได้สูงสุดที่ร้อยละ 85 จากกำลังผลิตติดตั้ง 1,473 MW ซึ่งจัดเป็นโรงไฟฟ้าที่ขายไฟฟ้าให้กับประเทศไทยที่ใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน ในขณะที่ตัว RATCH เองน่าจะมีส่วนแบ่งกำลังผลิตไฟฟ้าสูงที่สุดเช่นเดียวกัน

 

แน่นอนว่าเหตุการณ์เขื่อนดินย่อยกั้นช่องเขาส่วน D ในโครงการเซเปียน-เซน้ำน้อยทรุดตัวและพังลงมาย่อมส่งผลกระทบกับการดำเนินธุรกิจของ RATCH ใน สปป.ลาวแน่นอน

นอกเหนือไปจากการจ่ายเงินเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้ว สถาบันการเงินเจ้าของเงินกู้ (ร้อยละ 70) ในโครงการนี้จะต้องจับตาดูว่า เมื่อถึงวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD-Commercial Operation Date) ที่กำหนดการไว้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 หรืออีก 6 เดือนข้างหน้า RATCH จะทำได้หรือไม่

เพราะหากถึงวัน COD แล้ว แต่ไม่มีไฟฟ้าส่งขายให้กับ กฟผ.นั้น ย่อมเท่ากับว่าบริษัทไฟฟ้าเซเปียน-เซน้ำน้อย ก็ยังไม่มี “รายได้” เข้ามาชำระหนี้ให้กับสถาบันการเงิน และยังอาจจะส่งผลกระทบไปถึง “เงินกู้” ที่ RATCH จะพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำแห่งอื่นๆ ใน สปป.ลาวอีกด้วย

จริงอยู่ที่ว่าสถาบันการเงินส่วนใหญ่ “ยินดี” ที่จะปล่อยเงินกู้ให้ง่ายๆ ให้กับ “ทุนไทย” เจ้าของธุรกิจโรงไฟฟ้าที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า PPA หรือ Power Purchase Agreement กับ กฟผ. โดยมองว่าไม่มีความเสี่ยงเนื่องจากอัตราจำหน่ายไฟฟ้าได้ถูก Fix ไว้แล้วตลอดอายุโครงการ

แต่กรณี “เขื่อนแตก” ไม่ว่าจะด้วยเหตุจากภัยธรรมชาติ หรือการก่อสร้างที่ต่ำกว่ามาตรฐานของโครงการเซเปียน-เซน้ำน้อย ต่อจากนี้ไปจะกลายเป็น “โจทย์ใหญ่” ที่จะต้องถูกทบทวนทั้งเจ้าของโครงการและผู้ปล่อยเงินกู้สำหรับโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในอนาคต

พร้อมกับภารกิจเฉพาะหน้าที่ต้องเร่งให้ความช่วยเหลือ นอกเหนือไปจากกระแสน้ำใจจากคนไทยที่หลั่งไหลเข้าไปสู่เมืองสนามไชยอยู่ในขณะนี้

เป็นภารกิจที่จะต้องจ่ายค่าชดเชยเยียวยาให้กับประชาชน สปป.ลาวที่ได้รับความเดือดร้อนเสียหายอย่างหนักทั้งในด้านชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งยังยากที่จะระบุตัวเลขที่แน่ชัดว่างบประมาณทั้งหมดจะเป็นเท่าไหร่