เพลงลูกทุ่ง และคำว่า สำแล เป็นภาษามอญ หรือ เขมร? : โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ

เพลงลูกทุ่ง
และคำว่า สำแลŽ เป็นภาษามอญ หรือ เขมร?

สุจิตต์ วงษ์เทศ

รำลึก 100 ปี ครูไพบูลย์ บุตรขันŽ
พร้อมกับรำลึกถึงนักเขียนพลัดถิ่นลี้ภัย วัฒน์ วรรลยางกูร ผู้เขียนหนังสือชื่อ คีตกวี ลูกทุ่ง ไพบูลย์ บุตรขันŽ พิมพ์ใหม่โดยสำนักพิมพ์ The Writeržs Secret
บินหลา สันกาลาคีรี กับ วรพจน์ พันธ์พงศ์ ร่วมกันจัดเมื่อวันเสาร์ 14 กรกฎาคม 2561 (ร้านเฮมล็อค ถนนพระอาทิตย์) ที่ผ่านมา
เพลงลูกทุ่ง มาจากไหน? ในงานนี้ผมบอกเล่าว่าเพลงลูกทุ่งเป็นแขนงหนึ่งของเพลงไทยสากลในวัฒนธรรมป๊อป มีกำเนิดและพัฒนาการเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางชนชั้น อันเนื่องมาจากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจการเมือง และสังคมวัฒนธรรมหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475
ช่วงเปลี่ยนผ่านจากเพลงไทยสากลแยกแขนงเป็นเพลงลูกทุ่ง กับ เพลงลูกกรุง
มีหนังฝรั่งชื่อเพลงลูกทุ่งเข้าฉายโรงหนังคิงส์ (วังบูรพา) เกี่ยวกับนักร้องอเมริกัน แฮงค์
วิลเลียมส์ วัยรุ่นยุคนั้นแห่ไปดู รวมทั้งขรรค์ชัย บุนปาน กับ เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ ส่วนผมไปดูคนเดียว 3 รอบ เพราะชอบมาก (ค่าตั๋วดูหนังขั้นสุด 5 บาท กับ 7 บาท)
ไม่ใช่คอเพลงไม่ว่าลูกทุ่งหรือลูกกรุง ยุคนั้นผมแค่วัยรุ่นแถวหลังๆ ฟังเพลงอยู่ชายขอบรอบนอกๆ เหมือนวัยรุ่นอื่นๆ อีกมาก จึงไม่ลึกซึ้งเรื่องเพลงลูกทุ่งไม่ว่าในแง่คนแต่งเนื้อร้อง ทำนอง หรือนักร้องนักดนตรี ถ้าจะรู้อะไรบ้างเล็กๆ น้อยๆ ก็ไม่ใช่ด้วยตนเอง แต่ฟังจากคนอื่น ซึ่งอาจอยู่ในข่ายฟังไม่ได้ศัพท์ จับมากระเดียดก็ได้

สำแล ภาษามอญ หรือ เขมร?
ครูไพบูลย์ บุตรขัน อยู่บ้านใกล้วัดสำแล ที่สามโคก ปทุมธานี (มหาŽ ชินวัฒน์
ตั้งสุทธิจิต บอกไว้นานแล้ว)
ย่านนี้ผมเคยไปบ่อยๆ สำรวจหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดี ยุคก่อนอยุธยา ที่พบชื่อ พญาเมืองŽ ในโคลงกำสรวลสมุทร น่าเชื่อว่าเป็นชุมชนคนพูดภาษาเขมร เพราะย่านนั้นมีชื่อ เชียงรากŽ เพี้ยนคำจากภาษาเขมรว่า เชิงราคŽ หมายถึง เชิงเลน
ส่วนคำว่า สำแลŽ คิดอย่างผิวเผินว่าจะเป็นภาษามอญ ของกลุ่มมอญที่โยกย้ายเข้ามาอยู่ยุคหลังๆ ราวต้นกรุงรัตนโกสินทร์ จึงไหว้วาน มหาŽ สอบถามคนรู้ภาษามอญ แปลว่าอะไร? ได้คำตอบคล้ายกันคือหาไม่พบในภาษามอญ
ผมเป็นผู้ไม่รู้ทางภาษา ทั้งภาษามอญ ภาษาเขมร และภาษาอังกฤษ เมื่อไปคุยกันในร้านเฮมล็อคเรื่องเพลงลูกทุ่ง มาจากไหน? ตอนท้ายจึงบอกเล่าการสืบค้นคำว่า สำแล ว่าหาไม่พบในภาษามอญ เลยต้องเร่ไปหาภาษาเขมรจากนักปราชญ์ โดยไม่คิดว่าเป็นข้อยุติใดๆ ดังนี้
สำแล ในชื่อวัดสำแล (อ. สามโคก จ. ปทุมธานี) กลายคำจากภาษาเขมร ว่า แสฺร (ออกเสียงว่า ซฺแร) แปลว่า นา, ทุ่งนา, ท้องนา
แสฺร แผลงคำเป็น สำแร ภาษาเขมรโบราณ แปลว่า ไพร่นา หมายถึงคนทำนาของเจ้าขุนมูลนาย
สำแร กลายคำเป็น สำเร แล้วไทยออกเสียงเป็น สำเหร่ แปลว่า บางนา, บ้านนา
[สรุปย่อจากหนังสือ ความเป็นมาของคำสยามฯ ของ จิตร ภูมิศักดิ์ โครงการตำราฯ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2519]
ต่อมาไม่กี่วันนี้เอง มีผู้บอกว่าสำแลที่ปทุมธานี เป็นชื่อได้จาก ซัมฮะแลŽ หมู่บ้านมอญในพม่า
ฟังคำบอกเล่านี้แล้วตื่นเต้นน่าเชื่อว่าเป็นไปได้ (เพราะมีกรณีเทียบเคียงอย่างนี้เคยพบชื่อ เว่ขะราวŽ อ. พระประแดง จ. สมุทรปราการ) จึงขอคำอธิบายและหลักฐานมั่นเหมาะกว่านี้ จะได้บันทึกไว้แบ่งปัน
ตั้งแต่บัดนั้นจนบัดนี้ผมยังไม่ได้รับอะไรเพิ่มเติม ต้องจนปัญญาไม่รู้จะปรึกษาใคร? เลยเขียนมาเล่าสู่กันฟังไว้ก่อน บางทีอาจจะมีบางท่านอ่านพบแล้วแนะนำพร้อมหลักฐานสนับสนุนได้ดีกว่านี้