ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 3 - 9 สิงหาคม 2561 |
---|---|
คอลัมน์ | เครื่องเสียง |
ผู้เขียน | พิพัฒน์ คคะนาท [email protected] |
เผยแพร่ |
GoldenEar Technology A Passion for Sonic Perfection
แรกที่ผ่านตาเห็นชื่อลำโพงนี้ (GoldenEar) บอกตรงๆ ครับว่าอารมณ์เดียวกับตอนเห็นชื่อลำโพง Now Hear This หรือ NHT เมื่อกว่ายี่สิบปีมาแล้วโน่นเลย คือนึกในใจว่าพี่เค้าคง “มั่น” มากเอาการ ถึงหาญกล้าตั้งเป็นชื่อบริษัท
และที่สำคัญคือ ใช้เป็นชื่อแบรนด์ด้วยน่ะซี ขณะเดียวกันก็พานจะให้นึกไปถึง Golden Ear Awards รางวัลที่นิตยสาร The Absolute Sound มอบให้แก่เครื่องเสียงและลำโพงในแต่ละปีด้วย
รวมทั้งให้รู้สึกค้างในอารมณ์ที่ใคร่รู้ ว่าสุ้มเสียงมันขนาดไหนหรือ เพราะตอนที่ผ่านตาเห็นชื่อนั้น มันหราอยู่ในหนังสือฝรั่ง และยังไม่ได้ยินว่ามีใครนำเข้ามาในบ้านเรา
กระทั่งไม่นานวันที่ผ่านมา ดูหมือนน่าจะเป็นสัปดาห์แรกๆ ของเดือนก่อน ก็เห็นชื่อนี้มาปรากฏบนหน้ากระดาษที่เป็นแจ้งความโฆษณา ในนิตยสารเครื่องเสียงบ้านเราหัวหนึ่ง
จึงให้รู้สึกว่าอารมณ์ค้างที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ กับชื่อนี้ น่าจะได้รับการบรรเทาในเร็ววันอย่างแน่นอน
แต่ก่อนที่จะติดต่อไปยังผู้นำเข้าที่พอจะมักคุ้นกันอยู่ ว่าได้นำเข้าอะไรของค่ายนี้มาบ้าง ก็เข้าไปแวะหาข้อมูลอย่างเป็นทางการ ดูที่มาที่ไปของชื่อนี้ค่ายนี้ก่อนพอให้รู้เป็นสังเขป ว่าเป็นมาอย่างไร แต่นั้นกลับกลายเป็นว่ายิ่งทำให้ต่อมกิเลสที่อยากฟังของผมพุ่งสูงขึ้นไปอีก เพราะเจอข่าวว่าล่าสุดเป็นปีนี้เอง ที่ชื่อเดียวกันนี้แหละไปได้รางวัลในสาขา Editors” Choice Awards ของ TAS แบบฟาดมันหมดครบทุก Category ที่เขาแบ่งกลุ่มลำโพงออกเป็นระดับราคาต่างๆ ด้วยการคว้ารางวัลมันครบทุกระดับชั้นที่เขาแบ่งออกมา แบบว่ากันตั้งแต่ราคาคู่ละ US$500.- ไปจนถึงระดับ US$10,000.- ต่อคู่โน่นเลย
ซึ่งทั้งหมดนิตยสารเขาแบ่งเป็น 7 กลุ่มราคา ก็มีลำโพงของ GolgenEar ถึง 7 รุ่น ที่ได้รางวัล Editors” Choice แล้วยังแถมพกได้มาอีกรางวัลในกลุ่มของลำโพง Sub-Woofer ด้วย
เรียกได้ว่ามาครบหมดตั้งแต่รุ่นเล็กๆ แบบวางหิ้ง ที่สูงแค่คืบ ไปยันรุ่นเรือธงที่เป็นแบบวางพื้น ทรง Tower สูงร่วมเมตรครึ่ง ซึ่งเป็นลำโพงในอนุกรม Triton Series คือ Model Triton Reference ครับ
เช่นนั้นแล้วจะไม่ให้ความอยากได้ ใคร่ฟัง แบบอารมณ์เดิมๆ ของผมมันพุ่งปรี๊ดขึ้นไปได้อย่างไรกัน
สําหรับความเป็นมาของ GoldenEar Technology นั้น บอกเอาไว้ว่าผู้ร่วมก่อตั้งคือ Sandy Gross และ John Givogue รวมทั้งหัวหน้าทีมวิศวกรอย่าง Bob Johnston ล้วนแล้วแต่เป็นผู้มีความช่ำชองและสั่งสมประสบการณ์ทางด้านการออกแบบลำโพงมานานช้า ทั้งต่างยังอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของลำโพงที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น Best-Sound และ Best-Selling อีกมากกว่ามาก และบอกว่ามารวมตัวกันตั้งบริษัทเพื่อรังสรรค์ลำโพงอันสุดวิเศษออกมาสู่วงการ
สำหรับเหตุที่ใช้ชื่อนี้ ก็เนื่องเพราะในอุตสาหกรรมที่พวกเขาทำนั้น Golden Ear คือใครบางคนที่มีประสาทการรับฟังเสียงดนตรีอันยอดเยี่ยม และคนพวกนี้เคยชื่นชมในสุ้มเสียงของบรรดาลำโพงที่พวกเขามีส่วนร่วมในความสำเร็จมานานปี จึงเมื่อคิดจะร่วมกันทำลำโพงที่หลอมรวมขึ้นมาจากประสบการณ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละคนออกมา ก็เลยตกลงใจใช้ชื่อนี้นี่ละ ทำนองว่า – ทำลำโพงออกมาเพื่อสนองตอบบรรดาพวก “หูทอง” หรือกลุ่มออดิโอไฟล์โดยเฉพาะ, อะไรแถวๆ นั้นแหละครับ
และพวกเขามั่นใจว่า ด้วยสุ้มเสียงที่เป็นเอกลักษณ์ของ GolgenEar อันมีความสมานเสมอในน้ำเสียงอย่างมั่นคงเหนือกว่าลำโพงอื่นๆ จะยังความพึงใจให้แก่บรรดานักฟังได้โดยมิพักคำนึงถึงราคา
แต่ดูจากราคา (ที่มีลำโพงให้เลือกตั้งแต่ US$500.- ขึ้นไปถึง US$10,000.-) แล้ว จะว่าไปก็ออกจะดูครอบคลุมกลุ่มนักเล่นตั้งแต่ Mid-Fi ไปยัน Hi-End ได้ครบอยู่นะครับ
ได้ข้อมูลแล้วก็สอบถามไปยังผู้ที่นำเข้ามาจำหน่ายในบ้านเรา เลยได้ข่าวว่าเตรียมจะนำไปเปิดตัวในงานที่ผมบอกกล่าวไปเที่ยวก่อน คือ 2018 Hi-End Show (ซึ่งตอนนี้งานก็เริ่มมาได้วันสองวันแล้วละครับ)
ก็เลยตั้งใจว่าจะไปลองฟังในงานเลย แต่ก่อนจะถึงงานประมาณสองสัปดาห์ ผมมีเวลาว่างอยู่วันสองวัน เลยบอกน้องนุ่งที่ร้านว่าขอเข้าไปฟังที่โชว์รูมก่อนดีกว่า
น้องเขาก็ยินดี บอกสะดวกเมื่อไรแวะเข้าไปได้เลยเพ่
ตอนที่ไปถึงน้องเขากำลังเบิร์น-อินลำโพงซีรี่ส์เรือธงที่บอกข้างต้นอยู่สองรุ่นคือ Triton One กับ Triton Two+ โดยแยกห้องแยกซิสเต็มกัน ผมเห็นเครื่องที่นำมาใช้ลองกันแล้ว ก็สนใจชุดของ Two+ มากกว่า เพราะใช้แอมป์หลอดของ PrimaLuna เป็นตัวขับ คือ DiaLogue Premium HP Integrated Amp. ที่มีราคาประมาณว่าใกล้ๆ แสน
ก็เลยถามน้องเขาไปว่าตั้งราคาลำโพงหรือยัง ได้คำตอบว่าเจ้า Two+ นั้นประมาณแสนต้นๆ (ทั้งคู่คือที่เห็นในรูป) ก็ให้รู้สึกว่าอยู่ในเกณฑ์กำลังดี ที่ใครกำลังจะเริ่มกับ Hi-End พอรับได้ เพราะเมื่อรวม Source กับสาย อีกสักแสน ก็จะได้ซิสเต็มในงบสามแสน/บวกลบนิดหน่อยแบบกำลังพอเหมาะเลย
ก็เลยตกลงใจบอกว่าจะลองฟังซิสเต็มนี้ละ ซึ่งขณะนั้น Source ที่ใช้อยู่เป็น CD/SACD Player ครับ
สองสามแทร็กแรกที่ได้ฟัง รับรู้ได้ว่าเสียงยังไม่ “หลุด” ออกมาสักเท่าไรนัก โดยเฉพาะกับเบส เพราะยังอยู่ในช่วงเบิร์น-อินที่กำลังจะ “ปลดปล่อย” ตัวตนออกมา เป็นเสียงที่ยัง “อั้น” อยู่นิดหน่อยของลำโพงล้วนๆ เพราะแอมป์กับซอร์ซนั้นมีบุคลิกเสียงที่มักคุ้นอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเบสจะยังไม่หลุด แต่ก็บอกให้รู้ได้อยู่ในทีเหมือนกัน ว่าหากมันได้สำแดงตัวตนออกมาอย่างเต็มประสิทธิภาพแล้วละก็ จะให้คุณภาพเสียงออกมาระดับไหน, ซึ่งนั้นพอจะประมาณการได้ไม่ยากเลยจริงๆ ครับ
ประกายเสียงแหลมให้ออกมาได้ดี มีรายละเอียดอันกระจ่างใส และเนียนนุ่ม ฟังรื่นหูไปตลอดยันย่านความถี่ตอนปลายๆ นี้, คืออานิสงส์ที่ได้จากการมีส่วนร่วมของ PrimaLuna อย่างเป็นสำคัญ รวมทั้งในการช่วยให้สัมผัสได้ถึงเสียงของเครื่องเป่าทองเหลืองอย่างแซ็กโซโฟนที่ให้ออกมาได้อย่างนุ่มหวาน ละมุนละไม รวมทั้งให้กังวานเสียงออกมาได้อย่างโอ่อ่า ขณะที่เสียงร้องนั้นแทบจะรับรู้ได้ถึงอาการเผยอขยับของริมฝีปากนั่นเทียว
แม้จะใช้เวลาอยู่ประมาณสองชั่วโมงกับการฟังซิสเต็มที่อยู่ในช่วงเบิร์น-อิน
แต่จากประสบการณ์ก็พอจะบอกได้ว่า ถ้ามันทำงานเต็มร้อยร่วมกันทั้งซิสเต็มได้เมื่อไร หลายๆ ซิสเต็มระดับสี่ซ้าห้าแสนที่เคยฟังๆ มา-มีหนาวแน่นอนครับ–
ถึงเวลานี้ที่กำลังโชว์อยู่ในงาน ผมว่าสุ้มเสียงทั้งซิสเต็มน่าจะเอาการเอางานได้แล้ว ลองไปฟังกันดูครับ มีเวลาอีกสองสามวัน รวมทั้งจะได้ฟังนานาซิสเต็มที่เป็นความสุดยอดของแต่ละค่าย ที่ได้นำมาโชว์อีกมากกว่ามากด้วย