สำเริงคดี : ละครจบ หลากคิดจำราย

ความคิดเราจำรายกระจายฟุ้งไปเรื่อย เมื่อได้ดูละครทีวี 2 เรื่องจบลงช่วงต้นกรกฎาคมเฮฮา

เรื่องแรกคือ “รูปทอง” ละครหลังข่าวค่ำประจำวันจันทร์-อังคารของช่อง GMM 25

และที่ตามจี้จบไปติดๆ ในอาทิตย์เดียวกันคือ “สายรัก สายสวาท” ละครหลังข่าว 4 คืนรวดจันทร์ถึงพฤหัสฯ ของช่อง ONE 31

เรื่องหลังเนี่ยแหละที่ทำเอาไม่แน่ใจว่าเป็นงานฝีมือผู้กำกับละคร/ควบคุมบทคนเดียวกันกับคุณผอูนที่เคยทำ “มาลัยสามชาย” รึเปล่า

ความขัดข้องห้องใจมาจากตัวเรื่องซึ่งเอามาทำบทนั่นเอง สายรักพันพัว ผิดขั้ว ไขว้เขวในภาคพ่อแม่ ยังพอไหว

แต่พอถึงภาคลูกยิ่งอ่อนยวบยาบ ตัวละครไม่มีมิติ สถานการณ์ซ้ำซาก

คนทำบทก็ช่างกระไร ไม่ช่วยแปลงปรุงให้เรื่องมีน้ำหนักและสมจริงขึ้นบ้างเลย น่าเสียดาย “ของ” อันได้แก่นักแสดงฝีมือดีที่ชักแถวกันมาขยี้บทในรุ่นพ่อแม่

แม้นักแสดงรุ่นใหม่ซึ่งดูว่าพยายามทุ่มเท แต่เมื่อตัวเรื่องไม่เอื้อ

รสละครจึงเจื่อนปร่า

แต่รูปทองซึ่งทำจากงานเขียนของศิลปินแห่งชาติ คุณกฤษณา อโศกสิน เนื้อแน่นออกแนวเรียลลิสต์ตามต้นฉบับ ใครที่เลือกดูละครทีวีจากเนื้อเรื่องน่าจะชอบละครในโปรเจ็กต์ The Writers ของช่องนี้

ยิ่งเรื่องไหนได้นักแสดงมีฝีมือมาลงจอก็ยิ่งสนุก

อาทิ ปิยธิดา มิตรธีรโรจน์ และวิลลี่ แมคอินทอช ใน “ป่ากามเทพ”

หรือพลอย เฌอมาลย์ ใน “ความรักครั้งสุดท้าย งานเขียนของคุณสุวรรณี สุคนธา เงียะ

“รูปทอง” เป็นการเปรียบรูปภายนอกกับภายในของสองหนุ่มพี่น้อง หมูกับเสือ เมื่อพ่อแม่แยกทางเพราะทัศนะไม่ตรงกันอย่างยิ่ง หมูไปอยู่กับพ่อ เสืออยู่กับแม่

หมูจึงเป็นตัวแทนของพ่อในความติดดิน

แต่กลับกลายเป็นซอมซ่อ ต่ำตมในสายตาของแม่ผู้หลงใหลในภาพลักษณ์และแคร์ปากชาวบ้าน

ขณะที่เสือถูกแม่ปั้นปรุงให้มีภาพลักษณ์เพียบพร้อม เป็นหนุ่มที่สาวๆ หมายปอง โดยทางบ้านไม่รู้ว่าเขาเป็นเกย์

หมูอยากให้แม่เลิกครอบงำน้องชาย อยากให้เสือเป็นตัวของตัวเองเพื่อจะได้มีความสุข

แต่แม่ขัดขวางทุกทางกระทั่งขับรถไล่ชนเขา หาว่าเขาทำลายครอบครัว ใส่ร้ายน้อง

แต่เมื่อรู้แน่ว่าเสือเป็นเกย์จริงๆ กลับสนับสนุนให้ลูกรักแต่งงานกับสาวที่ตัวเองเคยกีดกันมาตลอด

ทั้งหมดทั้งมวลก็เพื่อรักษาภาพลักษณ์ของนางและเสือไว้

ดูละครเรื่องนี้แล้วหวนระลึกถึงหนังสัญลักษณ์เรื่อง PERFUME ของเยอรมนีซึ่งทำจากงานเขียนของเบสต์เซลเลอร์ของ Patrick Suskind เนื้อหาว่าด้วยหนุ่มผู้เกิดที่แผงขายปลาสดในตลาดซกมกกลางกรุงปารีสคราวศตวรรษที่ 18

ชีวิตของเธออบร่ำด้วยกลิ่นคละคลุ้งของเมือกคาวปลา ทำให้เขาใฝ่ฝันอยากเป็นเจ้าของโรงงานทำน้ำหอม

ครั้นได้สมใจก็ทะยานอยากจะทำน้ำหอมพิเศษหนึ่งเดียวในโลกที่มีกลิ่นอวลอายแห่งรักพิสุทธิ์

เพื่อการนี้ เขาจึงสังหารหญิงสาวไปหลายต่อหลายคน ทว่าน้ำหอมที่กลั่นได้จากร่างของพวกเธอมิได้ทำให้เขารู้จักรักแท้

เขายังคงรักใครไม่เป็น และไม่มีใครรักเขาเลย

ทุกคนที่ได้กลิ่นน้ำหอมเพียงศิโรราบให้กับมัน

สุดท้ายเขาจึงกลับไปยังถิ่นเกิด ราดรดน้ำหอมพิเศษทั้งขวดลงบนหัว ชาวบ้านต่างคิดว่าเขาเป็นเทวดา จึงกลุ้มรุมเข้าทึ้งกายของเขา จนที่สุดก็เหลือแต่เพียงเสื้อผ้าและขวดน้ำหอมเปล่าเท่านั้น

ละคร “รูปทอง” กับหนัง PERFUME จึงสื่อสารในประเด็นเดียวกัน นั่นคือการหลงใหลให้ความสำคัญถึงระดับทุ่มเทกับภาพลักษณ์ภายนอก ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วมันก็กลวงเปล่า…