พิศณุ นิลกลัด : ตลาดซื้อขายนักเตะ 2018

พิศณุ นิลกลัด

วันพฤหัสบดีที่ 9 สิงหาคม เวลา 5 โมงเย็นของประเทศอังกฤษ จะเป็นวันและเวลาสิ้นสุดของการซื้อตัวนักเตะ หรือ Transfer Window ในพรีเมียร์ ลีก ซึ่งจะเปิดฤดูกาลในวันเสาร์ที่ 11 สิงหาคม

ทุกทีมในพรีเมียร์ ลีก จะต้องซื้อนักเตะให้จบภายในวันที่ 9 สิงหาคม เพื่อที่นักเตะจะสามารถลงทะเบียนเล่นในพรีเมียร์ ลีกได้

ส่วนการขายนักเตะนั้น ทีมในพรีเมียร์ ลีกยังคงสามารถขายให้ลีกที่ตลาดนักเตะยังไม่ปิด ซึ่งลีกในยุโรปส่วนใหญ่จะปิดตลาดซื้อขายวันที่ 31 สิงหาคม

แต่ไหนแต่ไร ตลาดซื้อขายนักเตะพรีเมียร์ ลีกจะเปิด-ปิดเหมือนกับลีกฟุตบอลอื่นๆ ในยุโรป คือ เปิดตลาด 1 มิถุนายน ปิดตลาด 31 สิงหาคม กินเวลา 12 สัปดาห์

แต่สำหรับพรีเมียร์ ลีก ฤดูกาล 2018/2019 ที่กำลังจะเริ่มขึ้นนี้ ทางทีมต่างๆ ได้มีการลงคะแนนโหวตว่าจะเลื่อนการเปิด-ปิดตลาดซื้อนักเตะให้เร็วขึ้นหรือไม่

โดยจะต้องมีทีมโหวตเห็นด้วยอย่างต่ำ 14 ทีม ถึงจะมีผลบังคับให้เลื่อนการเปิด-ปิดตลาดซื้อนักเตะให้เร็วขึ้นได้

ซึ่งผลออกมาว่า มี 14 ทีมพอดิบพอดีที่ต้องการเลื่อนการเปิด-ปิดตลาดซื้อนักเตะให้เร็วขึ้น เพื่อทีมจะได้ซื้อนักเตะให้เสร็จสิ้นก่อนฤดูกาลแข่งขันจะเริ่ม และจะได้ทุ่มเทกับการแข่งขันเต็มที่โดยไม่ต้องแบ่งเวลาไปกับการคอยตามซื้อนักเตะเข้าทีมหลังจากฤดูกาลแข่งขันเริ่มแล้ว

สำหรับทีมที่โหวตไม่เห็นด้วยกับการเลื่อนตลาดซื้อนักเตะให้เปิด-ปิดเร็วขึ้นคือ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, แมนเชสเตอร์ ซิตี้, วัตฟอร์ด, สวอนซี และคริสตัล พาเลซ ส่วนเบิร์นลีย์ งดออกเสียง

ดังนั้น ตลาดซื้อนักเตะของพรีเมียร์ ลีก ฤดูกาล 2018/2019 จึงเลื่อนมาเปิดวันที่ 17 พฤษภาคม และปิดวันที่ 9 สิงหาคม

รวมเวลา 12 สัปดาห์ ตามกฎของฟีฟ่า

หลังจากที่นักเตะและทีมตกลงเรื่องราคา สัญญาค่าตัวกันได้แล้ว สิ่งสำคัญมากที่ต้องทำให้เสร็จก่อนวันที่ 9 สิงหาคม คือการตรวจสุขภาพนักเตะ หรือ Medical Test ซึ่งทางพรีเมียร์ ลีกไม่ได้ออกกฎเอาไว้ แต่ทางทีมที่ซื้อตัวนักเตะกำหนดขึ้นเอง

แต่ละทีมมีการตรวจสุขภาพนักเตะก่อนรับเข้าร่วมทีมอย่างละเอียดยิบ ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้เวลาตรวจ 2 วัน เช่น ทำสแกน MRI, ตรวจเลือด, ตรวจสายตา, ตรวจการได้ยิน, ตรวจข้อต่อทุกส่วนของร่างกาย, ตรวจปฏิกิริยาตอบสนอง รวมถึงตรวจฟัน

หากตรวจแล้วไม่ผ่านตามมาตรฐานที่ทีมตั้งไว้ นักเตะก็ไม่สามารถเซ็นสัญญาร่วมทีมได้

เดฟ เฟวเรอร์ (Dave Fevre) ผู้อำนวยการฝ่ายเวชศาสตร์การกีฬาของทีมแบล๊กเบิร์น โรเวอร์ส และเคยเป็นนักกายภาพบำบัดของทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เปรียบนักฟุตบอลที่ย้ายจากทีมอื่นว่า เหมือนกับรถมือสองที่ผ่านการใช้งานมาแล้ว จึงต้องมีการตรวจเครื่องเคราอย่างละเอียดก่อนตัดสินใจซื้อ

ค่าตัวของนักเตะสมัยนี้มหาศาล บางคนคิดแล้วเป็นเงินหลายร้อยล้านบาท ดังนั้น ทีมฟุตบอลจะต้องตรวจสุขภาพนักเตะอย่างละเอียดยิบว่ามีสภาพร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรงคุ้มค่ากับเงินค่าตัว


เดฟ เฟวเรอร์ อธิบายถึงขั้นตอนการตรวจสุขภาพของนักฟุตบอลก่อนเซ็นสัญญาว่า ผู้ที่ทำหน้าที่ตรวจคือแพทย์ประจำทีม, นักกายภาพบำบัด และคณะฟิตเนสของทีม ซึ่งจะใช้การตรวจ 2 วัน แล้วส่งผลการตรวจให้กับผู้จัดการทีมและผู้บริหารของทีมพิจารณาว่าจะเซ็นสัญญากับนักเตะหรือไม่

สําหรับทีมพรีเมียร์ ลีกสมัยนี้ให้ความสำคัญกับการตรวจอัตราการเต้นของหัวใจเป็นอย่างมาก โดยนักเตะอายุ 24 ปีขึ้นไปจะต้องเข้ารับการตรวจหัวใจอย่างละเอียดเป็นประจำทุกปี เพราะฟุตบอลเป็นกีฬาที่นักเตะต้องวิ่งเป็นระยะเวลานาน หากการทำงานของหัวใจผิดปกติ นักฟุตบอลอาจหัวใจวายขณะแข่งขันได้

นอกจากนี้ เดฟ เฟวเรอร์ บอกว่า นักเตะตำแหน่งต่างกัน การเน้นการตรวจร่างกายก็ต่างกันไปด้วย เช่น ตำแหน่งผู้รักษาประตู จะเน้นการตรวจหัวไหล่ ข้อศอก ข้อมือ และที่แน่นอนคือตรวจมือ

อวัยวะที่ผู้เล่นทุกตำแหน่งต้องตรวจคือฟัน

หลายคนสงสัยว่า การตรวจสุขภาพฟันไปเกี่ยวอะไรด้วยกับการเป็นนักฟุตบอล

คำตอบคือ เกี่ยวมาก

เพราะหากเกิดมีฟันคุด ฟันผุอย่างรุนแรง และเกิดปวดฟันจัดขึ้นมา อาจปวดจนลงแข่งขันไม่ได้ หรือหากต้องผ่าฟันคุดก็จะใช้เวลาพักรักษาตัวหลายวัน

ในปี 2015 University College London ได้ให้ทันตแพทย์ 6 คนตรวจสุขภาพฟันของนักฟุตบอลพรีเมียร์ ลีก และทีมสโมสรอื่นๆ ในอังกฤษและเวลส์ โดยคณะผู้ศึกษาได้ทำการสุ่มนักฟุตบอลพรีเมียร์ ลีก, EFL Championship และ League 1 จำนวน 187 คน อายุระหว่าง 18-39 ปี

พบว่า 37% ของนักฟุตบอลพรีเมียร์ ลีก และในอังกฤษที่ทำการสุ่มสำรวจ มีปัญหาฟันผุอย่างน้อย 1 ซี่

77% มีปัญหาเหงือกอักเสบ

45% บอกว่ารู้สึกไม่พอใจกับสุขภาพฟัน

57% มีปัญหาฟันสึก (Tooth Erosion)

20% บอกว่า ปัญหาสุขภาพฟันและช่องปากมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต

7% บอกว่า ปัญหาสุขภาพฟันและช่องปากมีผลกระทบต่อการฝึกซ้อม และการลงแข่งขัน

อย่างไรก็ตาม คณะผู้ศึกษายังหาสาเหตุไม่ได้ว่า ทำไมนักฟุตบอลในอังกฤษมีปัญหาสุขภาพฟันและสุขภาพช่องปากรุนแรงขนาดนี้

สโมสรเวสต์แฮม ยูไนเต็ด เป็นทีมฟุตบอลทีมแรกๆ ในอังกฤษที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพฟันของนักฟุตบอลทีมเป็นอย่างยิ่ง หลังจากที่ปี 2012 ราเวล มอร์ริสัน (Ravel Morrison) ซึ่งเป็นนักเตะของทีมในตอนนั้นปวดฟันอย่างหนักตอนเดินทางไปเตะอุ่นเครื่องที่เยอรมนีในช่วง Pre-Season Tour ซึ่งทีมต้องส่งตัวราเวล มอร์ริสัน กลับไปถอนฟันที่อังกฤษ ถูกถอนไปถึง 7 ซี่ และทางทีมต้องออกค่าทำรากเทียมเป็นเงินถึง 28,000 ปอนด์ หรือ 1 ล้าน 2 แสนบาท

นับจากนั้น ทีมเวสต์แฮมให้ความสำคัญกับสุขภาพฟันของนักเตะในทีมเป็นอย่างมาก มีการตรวจสุขภาพฟันของนักเตะในทีมเป็นประจำทั้งช่วงฤดูกาลแข่งขันและหลังจบฤดูกาล เพื่อจะได้ไม่มีปัญหาปวดฟันตอนแข่งขันหรือฝึกซ้อม

หากผลการตรวจสุขภาพร่างกายอย่างละเอียดออกมาแล้วได้ผลไม่น่าพอใจ ทางทีมก็จะไม่เซ็นสัญญากับนักเตะ เพราะถือว่าเป็นการลงทุนที่เสี่ยง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่านักเตะคนนั้นๆ จะหมดอนาคตนักฟุตบอลอาชีพ เพราะนักเตะคนนั้นอาจผ่านมาตรฐานการตรวจสุขภาพของทีมฟุตบอลทีมอื่น

ในบางกรณี แม้นักเตะจะมีอาการบาดเจ็บไม่พร้อมลงแข่งขัน แต่ทางทีมก็เซ็นสัญญา เพราะมองการณ์ไกลว่าเมื่อนักเตะพักฟื้นจนหายเป็นปกติแล้ว จะสามารถเล่นได้ดีและเป็นประโยชน์กับทีมในอนาคต