คลับของชาติตะวันตก ตอนที่ 2 “ทรัมป์และโลกเสรีนิยมใหม่”

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

ความเสื่อมถอยจนถึงอาจล่มสลายลงของระบบเสรีนิยม แม้เหตุปัจจัยหลักมาจากปัจจัยภายในดังที่กล่าวเอาไว้แล้ว

อย่างไรก็ตาม เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ความคิดและนโยบายสำคัญบางประการประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งแท้จริงแล้วสหรัฐอเมริกาคือผู้ให้กำเนิด พัฒนาและพิทักษ์รักษาระบบเสรีนิยมมาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2

ประธานาธิบดีทรัมป์กลับเป็นผู้ก่อผลกระทบอย่างมากต่อระบบเสรีนิยม

ผลกระทบของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ต่อระบบเสรีนิยมไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดขึ้นเวลาไหน

ประเด็นนี้ เพราะเราไม่รู้ว่าตำแหน่งประธานาธิบดีของเขาจะยืนยาวสักแค่ไหน บางทีประธานาธิบดีทรัมป์จะเผชิญหน้ากับกระบวนการถอดถอน (impeachment)

หรือเขาอาจเข้าสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีอีกสมัย ถ้าเขาทำเช่นนั้น เขาอาจจะชนะการเลือกตั้งและได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นสมัยที่ 2 ก็ได้

การดำเนินการด้านนโยบายต่างประเทศของประธานาธิบดีทรัมป์ช่างไม่มีความแน่นอนอย่างมาก

ได้แก่ การหันหลังกลับต่อความผูกพันของสหรัฐอเมริกาต่อ Trans-Pacific Partnership-TPP อันเป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงความสุดขั้วของการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่ก่อให้เกิดการคาดคะเนได้หลายประการถึงตำแหน่งประธานาธิบดีของเขาจะมีผลกระทบต่อระเบียบโลก (World order) อย่างไร

หากทว่ามีสิ่งไม่คาดฝันเกิดขึ้นจากตำแหน่งประธานาธิบดีทรัมป์ ระบบเสรีนิยมกำลังเผชิญสิ่งท้าทายที่เกิดขึ้นอยู่ อย่างไรก็ตาม องค์ประกอบของระบบเสรีนิยมจะยังคงดำรงอยู่ได้ แต่ระบบเสรีนิยมจะไม่มีการครอบงำ (dominance) ซึ่งครั้งหนึ่งระบบนี้เคยเหมาเอาว่าเป็นการครอบงำของพวกเขา ยุคสมัยของอำนาจนำเสรีนิยม (Liberal hegemony) เป็นอดีตไปแล้ว

การทะยานขึ้นของส่วนอื่นๆ เป็นเรื่องจริง

 

ภูมิภาคเอเชีย

ภูมิภาคเอเชียได้เข้ามาอยู่ร่วมกับระบบเสรีนิยมนับตั้งแต่ยุคของสงครามเย็น (cold war)

สาธารณรัฐประชาชนจีนและอินเดีย มหาอำนาจชั้นนำของภูมิภาคเอเชียได้รวบรวมระบบเศรษฐกิจแบบเปิด (economic openness) เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศของตนนับตั้งแต่ยุคสงครามเย็นเป็นต้นมา ขณะนี้มีสถาบันพหุพาคี (multilateral institution) หลายสถาบันในภูมิภาค ศูนย์กลางของสถาบันพหุภาคีอยู่รายล้อมอาเซียน แต่มหาอำนาจของเอเชียจะไม่ใช่ผู้กอบกู้ระบบเสรีนิยม อย่างที่บางคนคาดหวัง

ในขณะที่สาธารณรัฐประชาชนจีนได้แสดงการสนับสนุนระบบเสรีนิยม อันนี้เป็นเพียงสาธารณรัฐประชาชนจีนใช้เป็นเพียงอ้างอิงทางเศรษฐกิจและบางด้านทางสถาบัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การลื่นไหลของการค้าและการลงทุน

สาธารณรัฐประชาชนจีนจะไม่สนับสนุนหลักการพื้นฐานต่างๆ ทางการเมืองของระบบเสรีนิยม อันได้แก่ ระบอบประชาธิปไตยและด้านสิทธิมนุษยชนต่างๆ ถึงแม้จะเป็นอาณาบริเวณด้านเศรษฐกิจ นโยบายและยุทธศาสตร์ต่างๆ ของสาธารณรัฐประชาชนจีนคือ Asian Infrastructure Investment Bank-AIIB และ Belt and the Road Initiative-BRI

นโยบายเหล่านี้จะทำเพื่อสนับสนุนการค้าและการลงทุนระดับโลกและแบบแผนต่างๆ ของการพัฒนา แม้ว่านโยบาย AIIB และนโยบาย BRI ประสบความสำเร็จเพียงบางส่วน

ในระยะยาว AIIB และ BRI จะเสริมสร้างให้ระเบียบระหว่างประเทศที่นำโดยจีน (Chinese-led international order) อยู่เหนือยูราเซีย (Eurasia) และเหนือไปกว่านั้น (1)

นโยบายและสถาบันทางเศรษฐกิจการเมืองโลกที่จีนสร้างขึ้นมาเมื่อไม่นานคือประมาณ 2012 เป็นต้นมา แต่กลับมีบทบาทเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มากมายและมีพลัง เช่น ธนาคาร AIIB มีสมาชิกเกือบ 70 ประเทศ

มีประเทศที่ส่งเงินสนับสนุนหลายประเทศ โดยทางการจีนนำเงินส่วนหนึ่งมาเป็นทุนสมทบธนาคารนี้ รวมทั้งมีอดีตประธานาธิบดี อดีตนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังชั้นนำทั้งสหรัฐอเมริกา ยุโรป เอเชียและอเมริกาเหนือได้รับเชิญมาเป็นผู้บริหารระดับสูงเป็นจำนวนมาก

ในขณะที่นโยบาย BRI เงินทุนสนับสนุนส่วนใหญ่มาจากทางการจีน แต่มีเป้าหมายทางนโยบายด้านการลงทุนด้านการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ทางรถไฟ ท่าเรือ ถนน สะพาน รวมทั้งขายหัวรถจักรรถไฟความเร็วสูงและอุปกรณ์ของรถไฟความเร็วสูง รวมทั้งเจ้าหน้าที่เทคนิคการซ่อมและทำนุบำรุงแก่โครงการนี้กับหลายประเทศทั่วโลกทั้งในยุโรป เอเชียกลาง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แอฟริกา (2)

 

ระบบเสรีนิยมกับสิ่งท้าทายใหม่

เพียงแค่ความล้มเหลวในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างและการดำเนินการของระบบเสรีนิยมให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจโลก ความอ่อนเปลี้ยขององค์การการค้าโลก ความผิดพลาด เช่น การเริ่มทำสงครามการค้า (Trade war) การกีดกันทางการค้าและการสนับสนุนระบบอำนาจนิยมและประชานิยมของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ รวมทั้งระเบียบโลกใหม่ที่สร้างขึ้นมาอย่างรวดเร็วและแข็งแรงของจีนและอินเดีย ก็ทำให้ระบบเสรีนิยมพังทลายไม่เป็นท่าแล้ว

โลกในปัจจุบันและอนาคตโดยรวมมีความขัดแย้งดำรงอยู่หลายประการ

แต่ทว่าไม่ใช่ความขัดแย้งเชิงอุดมการณ์ ความขัดแย้งทางการทหารที่เข้าใจง่ายๆ และชัดเจนจับต้องได้

ดังในอดีตอีกต่อไปแล้ว ความขัดแย้งปัจจุบันมีทั้งระบบและรูปแบบใหม่ๆ ของระบบภูมิภาคต่างๆ ที่เชื่อมโยงและพึ่งพาซึ่งกันและกัน (interdependence) ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) โรคระบาดและการก่อการร้าย (Terrorism)

การแลไปข้างหน้า (outlook) เช่นนี้เป็นเหตุเป็นผลมากกว่า “ฉากทัศน์” เชิงวาระสุดท้ายของความยุ่งเหยิงและล่มสลายที่เหล่าปัญญาชนเสรีนิยมในโลกตะวันตกมีจินตนาการถึงผลของการสิ้นสุดระบบที่นำโดยสหรัฐอเมริกา (US-led order)

สำหรับผม นักสังเกตการณ์ภายนอกคนหนึ่งมองว่า ฉากทัศน์ของปัญญาชนตะวันตกผิดพลาดมาก่อน และดูเหมือนพวกเขาจะผิดพลาดอีกครั้ง

ช่วยกันแลไปข้างหน้าดีกว่า

———————————————————————————————————————–
(1) Ukrist Pathmanand, “China”s OBOR Strategic Implications for Mainland Southeast Asia” ชุดโครงการวิจัยเรื่อง ASEAN Connectivity : from Physical to (in) Human Security project (2017) สนับสนุนโดยฝ่ายวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์แม่น้ำโขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
(2) Ibid.,