เกษียร เตชะพีระ : “ปรากฏการณ์อาชีพเฮงซวย” (Bullshit Jobs) : ตอนจบ

เกษียร เตชะพีระ

“ปรากฏการณ์อาชีพเฮงซวย (Bullshit Jobs) : ตอนจบ”

ย้อนอ่าน ตอนต้น

ครั้งหนึ่ง ระหว่างผมกำลังครุ่นคิดถึงการเติบโตที่ดูเหมือนไม่รู้จักจบจักสิ้นของหน้าที่รับผิดชอบทางการบริหารในกรมกองต่างๆ ด้านการศึกษาของอังกฤษนั้น ผมก็พลันนึกถึงภาพขุมนรกที่เป็นไปได้ภาพหนึ่งขึ้นมา

ขุมนรกที่ว่าเป็นที่รวมของบรรดาปัจเจกบุคคลที่ใช้เวลาส่วนใหญ่ของพวกเขาทำภาระหน้าที่ที่พวกเขาไม่ชอบและแถมทำได้ไม่เก่งเป็นพิเศษอีกต่างหาก เอาเป็นว่าพวกเขาถูกจ้างมาเพราะพวกเขาเป็นช่างทำตู้ที่ยอดเยี่ยม และแล้วพวกเขาก็พลันค้นพบว่าตัวเองถูกคาดหมายให้ใช้เวลามากมายไปทอดปลาเสียนี่ ภาระหน้าที่นั้นเอาเข้าจริงแล้วก็ไม่จำเป็นต้องทำ – อย่างน้อยก็มีปลาให้ต้องทอดจำนวนจำกัดมาก

แต่ถึงกระนั้นด้วยเหตุบางอย่างพวกเขาทั้งหมดพากันหมกมุ่นขุ่นเคืองกับความคิดที่ว่าเพื่อนร่วมงานของเขาบางคนอาจกำลังได้ใช้เวลาไปกับการทำตู้นานกว่าพวกเขา และไม่ได้มาแบ่งเบาความรับผิดชอบในการทอดปลาไปบ้างอย่างเป็นธรรม และมิช้ามินานก็มีปลาทอดห่วยๆ ไร้ประโยชน์กองสุมเป็นพะเนินเทินทึกไม่หมดไม่สิ้นเกลื่อนกลาดทั่วห้องทำงาน และทั้งหมดนั่นคือสิ่งที่ใครๆ เขาทำกันในทางเป็นจริง

ผมคิดว่าเอาเข้าจริงนี่แหละคือคำบรรยายที่ค่อนข้างเที่ยงตรงของพลวัตทางศีลธรรมแห่งระบบเศรษฐกิจของเราเอง

เอาล่ะ ผมตระหนักดีว่าข้อถกเถียงทำนองนั้นใดๆ จะต้องเจอกับคำคัดค้านต่างๆ นานาทันที : “ลื้อเป็นใครวะถึงมีหน้ามาพูดว่าอาชีพอะไร “จำเป็น” จริงๆ น่ะ? แล้วถึงไงไอ้ที่เรียกว่า “จำเป็น” น่ะมันคืออะไรกัน? ลื้อเป็นศาสตราจารย์มานุษยวิทยา – อาชีพนั่นน่ะมัน “จำเป็น” อะไรรึ? (และอันที่จริงผู้อ่านหนังสือพิมพ์แท็บลอยด์จำนวนมากคงถือว่าการดำรงอยู่ของอาชีพของผมเป็นคำนิยามแห่งการใช้จ่ายทางสังคมที่สิ้นเปลืองเผงเลยทีเดียว)

และในระดับหนึ่ง ก็เห็นได้ชัดว่านี่เป็นความจริง กล่าวคือ มันไม่อาจมีมาตรวัดคุณค่าทางสังคมที่เป็นภววิสัยได้

ผมจะไม่ถือวิสาสะไปเที่ยวบอกใครก็ตามผู้ปักใจเชื่อว่าพวกเขากำลังอุทิศคุณูปการที่เปี่ยมความหมายให้แก่โลกว่าเอาเข้าจริงพวกเขาไม่ได้กำลังทำอะไรอย่างนั้นหรอก แต่กับพวกคนเหล่านั้นที่ปักใจเชื่อด้วยตัวเองว่าอาชีพของพวกเขาไม่มีความหมายล่ะ?

ไม่นานมานี้ ผมกลับไปติดต่อกับเพื่อนสมัยเรียนที่ผมไม่ได้พบหน้าค่าตามาตั้งแต่อายุ 12 ขวบ ผมประหลาดใจที่ค้นพบว่าในระหว่างที่เราขาดการติดต่อกันนั้น เขาเริ่มจากเป็นกวี แล้วต่อมาก็เป็นหัวหน้าวงร็อกอินดี้ ผมเคยได้ยินเพลงบางเพลงของเขาทางวิทยุโดยไม่เอะใจสักนิดว่าเจ้านักร้องเป็นคนที่เอาเข้าจริงผมรู้จัก

เห็นได้ชัดว่าเขาฉลาดปราดเปรื่อง มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และไม่ต้องสงสัยเลยว่างานของเขาได้ช่วยสร้างความสดใสและประเทืองชีวิตแก่คนทั่วโลก

แต่กระนั้น หลังจากออกอัลบั้มที่ไม่ประสบผลสำเร็จมาสองอัลบั้ม เขาก็ไม่ได้ต่อสัญญา และเมื่อตกอยู่ในสภาพมีหนี้สินและลูกสาวแรกเกิดรุมเร้า เขาก็ลงเอยอย่างที่เขาบอกว่า “เลือกทางที่พวกไร้ทิศทางจำนวนมากเลือกโดยปริยาย คือไปเข้าโรงเรียนกฎหมาย” ตอนนี้เขาเป็นนักกฎหมายบริษัท ทำงานในบริษัทเด่นดังของนิวยอร์ก

เขาเป็นคนแรกที่ยอมรับออกมาเองว่าอาชีพของเขาช่างไร้ความหมายสิ้นดี ไม่ได้อุทิศคุณูปการอะไรให้แก่โลกเลย และตามการประเมินของเขานั้น จริงๆ แล้วมันไม่ควรมีอยู่ด้วยซ้ำไป

มีคำถามจำนวนมากที่เราถามได้ตรงนี้ เริ่มต้นที่ว่ามันบอกอะไรเกี่ยวกับสังคมของเราหรือ ที่ดูเหมือนมันจะก่อให้เกิดอุปสงค์อันจำกัดจำเขี่ยยิ่งสำหรับกวี-นักดนตรี แต่กลับก่อให้เกิดอุปสงค์ที่ดูเหมือนอเนกอนันต์สำหรับผู้เชี่ยวชาญกฎหมายบริษัท?

(คำตอบ : ถ้าหากประชากร 1 เปอร์เซ็นต์ควบคุมทรัพย์สินที่ใช้จ่ายได้ส่วนใหญ่เอาไว้ ไอ้สิ่งที่เราเรียกว่า “ตลาด” ก็ย่อมสะท้อนสิ่งที่คนพวกนี้คิดว่าเป็นประโยชน์หรือสำคัญนั่นแหละ หาใช่คนพวกอื่นไม่) แต่ยิ่งไปกว่านั้น มันแสดงให้เห็นว่าคนส่วนใหญ่ที่มีอาชีพไร้ค่านั้นในท้ายที่สุดแล้วก็ตระหนักถึงความข้อนี้เหมือนกัน อันที่จริง ผมไม่แน่ใจว่าผมได้เคยพบนักกฎหมายบริษัทหน้าไหนสักคนที่ไม่คิดว่าอาชีพของเขาเฮงซวย ที่พูดนี่ก็เป็นจริงกับอุตสาหกรรมใหม่ๆ เกือบทั้งหมดที่ผมเอ่ยถึง คร่าวๆ ข้างต้นเหมือนกัน มีชนชั้นนักวิชาชีพกินเงินเดือนทั้งชนชั้นที่ถ้าเผื่อคุณพบพวกเขาในงานปาร์ตี้และยอมรับว่าคุณทำอะไรบางอย่างที่อาจถือได้ว่าน่าสนใจ (เช่น เป็นนักมานุษยวิทยา เป็นต้น) แล้วละก็ พวกเขาก็อยากจะหลีกเลี่ยงแม้แต่จะคุยกันถึงสายงานของเขาอย่างสิ้นเชิงเลยทีเดียว แต่ลองให้เขาดื่มสักสองสามแก้ว แล้วพวกเขาก็จะเปิดฉากเทศนาด่ากราดอย่างสาดเสียเทเสียว่าเอาเข้าจริงอาชีพของพวกเขาช่างไร้ค่าและงี่เง่าถึงปานใด

ตรงนี้เป็นความรุนแรงที่ทำร้ายจิตใจอย่างลึกซึ้ง จะให้ใครสักคนแม้แต่แค่ขยับปากพูดถึงเรื่องศักดิ์ศรีของแรงงานออกมาได้อย่างไรเมื่อเขาแอบรู้สึกว่าอาชีพการงานของเขาเอาเข้าจริงไม่ควรดำรงอยู่ด้วยซ้ำ?

ไหนเลยมันจะไม่ก่อให้เกิดความรู้สึกโกรธเกรี้ยวและเจ็บแค้นลึกๆ ในใจขึ้นมาได้ แต่กระนั้นมันก็เป็นอัจฉริยภาพพิลึกพิเรนทร์ของสังคมเราที่บรรดาผู้ปกครองสังคมดันนึกหาวิธีที่จะประกันให้ความโกรธเกรี้ยวนั้นหันไปทิ่มแทงบรรดาพวกที่เอาเข้าจริงมีโอกาสทำงานที่มีความหมายแทนได้ เหมือนในกรณีพวกทอดปลานั่นแหละ

ตัวอย่างเช่น ในสังคมของเรา ดูเหมือนจะเป็นกฎเกณฑ์ทั่วไปว่ายิ่งงานของคนคนหนึ่งยังประโยชน์ให้คนอื่นอย่างเห็นได้ชัดมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีโอกาสน้อยลงเท่านั้นที่คนคนนั้นน่าจะได้ค่าตอบแทนสำหรับงานที่ตนทำ เราหามาตรวัดที่เป็นภววิสัยในเรื่องนี้ยากตามเคยอีกนั่นแหละครับ แต่วิธีง่ายๆ อย่างหนึ่งที่จะรู้เรื่องนี้ได้ก็คือตั้งคำถามว่า : จะเกิดอะไรขึ้นหากคนเหล่านี้ทั้งชนชั้นหายไปซะเฉยๆ อย่างนั้นเอง?

คุณอยากจะว่ากล่าวอะไรก็ตามใจเกี่ยวกับพยาบาลเอย คนเก็บขยะเอย หรือช่างซ่อมรถเอย แต่เห็นได้ชัดว่าถ้าหากจู่ๆ เกิดพวกเขาพากันสลายหายวับไปกับหมอกควันหมด มันจะส่งผลลัพธ์ฉับพลันทันทีอย่างฉิบหายวายป่วง โลกที่ไม่มีครูหรือคนงานท่าเรือย่อมจะลำบากเดือดร้อนแน่ในไม่ช้า และกระทั่งโลกที่ไม่มีนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์หรือนักดนตรีสกาก็ย่อมเป็นที่น่าพิสมัยน้อยลงอย่างแน่ชัด

ทว่ามันไม่ชัดเจนแจ่มแจ้งหรอกนะครับว่ามวลมนุษยชาติจะเดือดร้อนทรมานอย่างไรถ้าหากบรรดาซีอีโอของกองทุนหุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์ นักล็อบบี้ นักวิจัยด้านประชาสัมพันธ์ นักคณิตศาสตร์ประกันภัย นักการตลาดทางโทรศัพท์ เจ้าหน้าที่บังคับคดีหรือที่ปรึกษากฎหมายต้องสลายหายวับไปแบบเดียวกัน (บางคนสงสัยว่าชะรอยโลกน่าจะดีขึ้นมาอย่างสังเกตเห็นได้เลยเชียว) หากไม่รวมอาชีพอันเป็นข้อยกเว้นที่ป่าวร้องโพนทะนาคุณความดีกันเซ็งแซ่เพียงหยิบมือเดียว (เช่นแพทย์ทั้งหลาย) แล้ว

กฎทั่วไปที่ผมยกมาข้างต้นก็ใช้ได้ดีอย่างน่าตกใจทีเดียว

ที่วิตถารยิ่งไปกว่านั้นก็คือดูเหมือนจะรู้สึกกันอย่างกว้างขวางว่าเรื่องมันก็น่าจะเป็นอย่างนี้นี่แหละ นี่เป็นจุดแข็งลับๆ อย่างหนึ่งของประชานิยมฝ่ายขวา คุณจะเห็นมันได้เมื่อหนังสือพิมพ์แท็บลอยด์ปลุกปั่นกระแสให้โกรธแค้นคนงานรถไฟใต้ดินขึ้นมาในฐานที่บังอาจทำให้กรุงลอนดอนเป็นอัมพาตระหว่างเกิดข้อพิพาทเรื่องสัญญาจ้างงาน

ข้อความจริงที่ว่าคนงานรถไฟใต้ดินสามารถทำให้กรุงลอนดอนเป็นอัมพาตแสดงให้เห็นว่าเอาเข้าจริงงานของพวกเขาจำเป็น

แต่ดูเหมือนว่าความข้อนี้แหละที่ทำให้ผู้คนหงุดหงิดรำคาญใจ มันยิ่งกระจ่างชัดไปกว่านี้อีกในสหรัฐ ที่ซึ่งพวกพรรครีพับลิกันประสบความสำเร็จอย่างโดดเด่นในการระดมความโกรธแค้นเข้าใส่ครูโรงเรียนหรือคนงานผลิตรถยนต์ (และข้อสำคัญคือไม่ระดมความโกรธแค้นเข้าใส่ผู้บริหารโรงเรียนหรือผู้จัดการอุตสาหกรรมรถยนต์ซึ่งอันที่จริงเป็นตัวการก่อปัญหาขึ้น) ในฐานที่ดันได้ค่าจ้างและสิทธิประโยชน์ที่ว่ากันว่าล้นเหลือ มันราวกับว่าพวกครูและคนงานเหล่านี้กำลังถูกว่ากล่าวว่า “แต่พวกลื้อต้องไปสอนเด็กนี่หว่า! หรือต้องไปผลิตรถซีวะ! พวกลื้อต้องทำอาชีพจริงๆ! แล้วแถมพวกลื้อยังบังอาจมาคาดหวังว่าจะได้เงินบำนาญและการดูแลรักษาสุขภาพแบบคนชั้นกลางอีกรึ?”

ถ้าจะมีใครเกิดออกแบบระบอบการทำงานที่เหมาะเจาะสมบูรณ์แบบกับการธำรงรักษาไว้ซึ่งอำนาจของทุนการเงินขึ้นมาแล้ว ก็ยากที่จะมองเห็นว่าพวกเขาจะออกแบบมันให้ดีกว่านี้ได้อย่างไร ในระบอบนี้ คนงานจริงผู้ทำการผลิตถูกบีบเค้นขูดรีดไม่รามือ ส่วนพวกที่เหลือก็ถูกแบ่งแยกออกเป็นชั้นชนคนตกงานผู้หวาดหวั่นขวัญเสียและถูกดูหมิ่นเกลียดชังทั่วไป กับชั้นชนที่ใหญ่กว่าผู้โดยพื้นฐานแล้วถูกจ้างมาให้อยู่ว่างๆ ในตำแหน่งที่ออกแบบมาให้พวกเขาสำนึกสำเหนียกตนเข้ากับมุมมองและทีทรรศน์ของชนชั้นปกครอง (อันได้แก่ พวกผู้จัดการ นักบริหาร ฯลฯ) และโดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกชนชั้นปกครองที่มาจุติอยู่ในแวดวงการเงิน แต่ขณะเดียวกันชั้นชนที่ใหญ่กว่านี้ก็หล่อเลี้ยงความขุ่นเคืองเดือดปุดๆ ต่อใครหน้าไหนก็ตามที่ได้ทำงานอันมีคุณค่าทางสังคมอย่างชัดเจนมิอาจปฏิเสธได้

เห็นได้ชัดว่าระบบนี้ไม่เคยถูกออกแบบขึ้นมาอย่างรู้สำนึกเลย ทว่ามันปรากฏขึ้นมาจากการลองผิดลองถูกนานเกือบศตวรรษ

แต่มันก็เป็นคำอธิบายเดียวว่าทำไมพวกเราทั้งหมดถึงไม่ได้ทำงานกัน 3-4 ชั่วโมงต่อวันทั้งๆ ที่เรามีสมรรถนะทางเทคโนโลยีที่จะทำได้เช่นนั้น