มนัส สัตยารักษ์ : ผู้กำกับหนุ่ย

สารวัตรหนุ่ย

ภาพ พ.ต.อ.วทัญญู วิทยผโลทัย หรือ ผู้กำกับหนุ่ย หรือหลายคนคุ้นชินกับการเรียกว่า “สารวัตรหนุ่ย” ที่เดินตามหลังและถือถุงช้อปปิ้งให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ประเทศอังกฤษ

กับภาพร่วมเฟรมที่รวมกลุ่มไปกับนายทักษิณ ชินวัตร และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ระหว่างชมการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 ที่ประเทศรัสเซีย

ทั้ง 2 ภาพได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ในทางลบจากสื่อออนไลน์เป็นอย่างมาก ผู้บังคับบัญชาระดับสูงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ดูแลความมั่นคง ต่างให้สัมภาษณ์ชี้แจงการตรวจสอบข้อเท็จจริง ตั้งกรรมการสอบสวน ตลอดจนการสั่งพักงาน

ล่าสุดขาดจากสังกัดเดิม ช่วยราชการ ศปก.ตร. หรือ “เข้ากรุ”

ทั้ง 2 ภาพนี้บอกความพิกลพิการของการเมืองไทยและการบริหารจัดการของราชการไทย

ด้วยว่าอดีตนายกรัฐมนตรีทั้งสองอยู่ในฐานะเป็นผู้ต้องหาที่หลบหนีคดี

ส่วน พ.ต.อ.วทัญญู เป็นนายตำรวจในตำแหน่ง ผกก.ฝ่ายวิจัยและพัฒนา ศูนย์พัฒนาด้านการข่าว กองบัญชาการตำรวจสันติบาล เป็นข้าราชการประจำ กินเงินเดือนหลวง

มีประเด็นให้พูดถึงอยู่ 2 ประการคือ การเดินทางไปต่างประเทศของข้าราชการตำรวจ และงานอารักขาบุคคลสำคัญของตำรวจ ทั้งสองประเด็นผมมีเรื่องโบราณมาเล่าเพื่อประกอบการพิจารณา

ในยุคสมัยที่ผมยังเป็นตำรวจหนุ่มนั้น การเดินทางไปต่างประเทศดูจะเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องระมัดระวัง มีระเบียบข้อบังคับว่าข้าราชการจะต้องได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชาเป็นลายลักษณ์อักษร การฝ่าฝืนมีอัตราโทษสูงถึงให้ออกจากราชการ

การขออนุญาตไปยุโรป อเมริกา ออสเตรเรีย ญี่ปุ่นหรือจีน ส่วนใหญ่จะอ้างว่า “ไปติดต่อที่ศึกษาของบุตร-ธิดา” เป็นสูตรสำเร็จ มีเหตุผลเพียงพอที่จะได้รับการอนุญาต

ดูเหมือนจะไม่มีข้อยกเว้น แม้จะเป็นประเทศเพื่อนบ้านใกล้ชิดที่คุ้นเคยหรือสนิทสนมกันและเคยไปบ่อยๆ ก่อนจะเป็นข้าราชการ ไม่ว่าจะเป็นลาว เขมร พม่าหรือมาเลเซียก็ตาม สาเหตุหนึ่งของระเบียบนี้ น่าจะมาจากความเป็นศัตรูกันระหว่างลัทธิเสรีนิยมกับคอมมิวนิสต์

เคยมีเรื่องเล่า (จริงหรือเท็จไม่ยืนยัน) ข้าราชการลาวหมั่นไส้ข้าราชการไทย ทำหนังสือราชการถึงผู้ใหญ่ไทยว่า “ขออภัยที่ลาวให้การต้อนรับข้าราชการจากประเทศไทยไม่ดีพอ” โดยระบุชื่อ วันเดือนปี ที่เกิดเหตุ ทำให้ผู้ที่ถูกระบุชื่อถูกสอบสวนและถูกลงทัณฑ์

ครั้งเป็นรอง สว.กองปราบปราม ผมถูกส่งไปอยู่ที่อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย (เยื้องกับนครเวียงจันทน์ ประเทศลาว) 1 ปีเต็ม

แน่นอนว่าผมข้ามแม่น้ำโขงไปฝั่งเวียงจันทน์เป็นว่าเล่นทั้งที่มีจุดอ่อนไหวมากมาย

ผมไปเดินกับ “ขาใหญ่” พ.ต.ต.ประชา พูนวิวัฒน์ ผมมีเพื่อน นรต.ชาวลาว ที่เป็นคอมมิวนิสต์ และมีทั้งรุ่นพี่และรุ่นน้องหนีคดีอาญาจากเมืองไทย

ผมไม่เคยมีใบอนุญาตตามระเบียบข้อบังคับแต่อย่างใด เพียงแต่ผมไม่ “กร่าง” ให้เป็นที่น่าหมั่นไส้เท่านั้น

ที่เกาะปีนัง ประเทศมาเลเซียก็เช่นกัน ผมใช้ความระมัดระวังมากกว่าปกติ

ผมขับรถยนต์เก๋งออกจากท้องเรือเฟอร์รี่ขึ้นฝั่ง ถูกรถที่ขับตามหลังมาชนท้ายเบาๆ เสียหายแค่มีรอยแมวข่วนที่กันชนหลัง ผมบอกตำรวจมาเลย์ว่าไม่เอาเรื่องเพราะต้องรีบเดินทางกลับก่อนด่านปิด (ความจริงเพราะไม่อยากให้มีเร็กคอร์ดอะไรทั้งสิ้น)

ในกรณีของ พ.ต.อ.วทัญญูไปประเทศอังกฤษ ปรากฏในข่าวว่า ได้ขออนุญาตเดินทาง “ไปติดต่อที่ศึกษาของบุตร” ตามฟอร์ม

คําว่า “อารักขาบุคคลสำคัญ” กับ “ติดตามนักการเมือง” เป็นคำที่แตกต่างกันในความเหมือน หรือเหมือนกันในความแตกต่าง แต่ที่แน่ๆ ก็คือมันมาจาก “เหตุผลพิเศษ”

วันและเวลาผ่านมานานเสียจนผมเลือนๆ ไปแล้วว่ากรมตำรวจมีกฎเกณฑ์อย่างไรใน 2 ภารกิจนี้ คิดได้อย่างเดียวว่าเป็นเหตุผลพิเศษหรือเป็นเหตุผลส่วนตัวก็น่าจะได้

ในความเป็นนายตำรวจกองปราบปราม ผมเคยจัดให้ตำรวจในแผนกทำงานทั้ง 2 อย่างเป็นประจำ เช่น ให้ติดตามนักการเมืองที่ร้องขอผ่านมาทางผู้บังคับบัญชาโดยเจาะจง

ส่วนตัวเองก็เคยทำหน้าที่นี้ ซึ่งก็เป็นเพียงชั่วคราวตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่เจาะจงมาเป็นครั้งคราว ครั้งหนึ่ง พล.ต.ท.กิตติ เสริบุตร ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง สั่งทางโทรศัพท์ให้ผมพร้อมกำลังตำรวจไปอารักขา ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี ที่บ้านพักถนนเอกมัย เมื่อเหตุวิกฤตผ่านไปแล้วก็เสร็จสิ้นภารกิจ ไม่ได้อารักขาเป็นประจำ

นายตำรวจอารักขานายกรัฐมนตรี ที่เป็นตำนานคือ พล.ต.อ.ชุมพล โลหะชาละ (ครั้งเป็น พ.ต.อ.) อารักขาจอมพล ป. พิบูลสงคราม ไปจนถึงพนมเปญ ประเทศเขมร เมื่อครั้งที่ พล.อ.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ปฏิวัติในปี 2500 การปฏิบัติหน้าที่ด้วยความจงรักภักดีทำให้ได้เป็นนายตำรวจอารักขานายพจน์ สารสิน และ พล.อ.ถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีคนถัดมา

ในบางกรณีภารกิจอารักขาหรือติดตามนักการเมืองก็คล้ายๆ กับ “ยันต์กันผี”

นายตำรวจนครบาลท่านหนึ่งเคยหนี “ความกดดัน” ไปเป็นนายตำรวจติดตาม พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ หัวหน้าคณะปฏิวัติ ทั้งๆ ที่อยู่ในตำแหน่งสารวัตรใหญ่ ซึ่งถือว่าเป็นหัวหน้าหน่วยราชการที่สำคัญ (ปัจจุบันคือตำแหน่ง ผกก.สน.) และกรมตำรวจเคยมีคำสั่งหรือระเบียบ ห้ามไปช่วยราชการนอกหน่วย

ผมเองก็เกือบได้เป็นนายตำรวจติดตาม ฯพณฯ วีระ มุสิกพงศ์ ด้วยเหตุผล “มีเพื่อนเป็นรัฐมนตรี หมาไม่กัด” แต่บังเอิญวีระเป็นรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ได้มาจากการปฏิวัติรัฐประหาร แผนการหนีความกดดันของผมจึงไม่บรรลุผล

กล่าวเฉพาะภาพและพฤติกรรมของ พ.ต.อ.วทัญญูหนนี้ ด้านหนึ่งเป็นการแสดงบท “กตัญญุตา” ต่อตระกูลชินวัตร แต่อีกด้านหนึ่งเท่ากับตบหน้ารัฐบาลปัจจุบัน

ทำให้ผมไปสืบค้นประวัติ “ไม่ธรรมดา” ของเขามาได้ส่วนหนึ่ง… เขาเป็น นรต.รุ่น 49 ตามโควต้า “ช้างเผือก” ด้วยสถานะนักฟุตบอลเยาวชนทีมชาติ เส้นทางรับราชการส่วนใหญ่อยู่ในภารกิจอารักขาและติดตามรับใช้นักการเมืองจึงเติบโตเร็ว

อย่างไรก็ตาม ครั้งหนึ่งเขาก็ “ถูกกัด” ถูกย้ายไปเป็นสารวัตร สภ.กรงปินัง จังหวัดยะลา จนกระทั่ง พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ รอง ผบ.ตร. ในขณะนั้นขอตัวมาช่วยราชการในสำนักงาน ต่อมาเติบโตขึ้นอย่างพรวดพราดเมื่อพรรคพลังประชาชนชนะการเลือกตั้ง

แม้ใครต่อใครจะตะโกนไล่รุนแรง และใครหลายคนเชื่อว่าเขาจะลาออกในไม่นาน แต่ส่วนหนึ่ง (รวมทั้งผม) ก็อดที่จะสงสัยไม่ได้ว่า ทำไมนายกฯ ตู่และรองฯ ป้อม ซึ่งถูกตบหน้ากลับโต้ตอบอย่างเบามือ

หรือนักรัฐประหารทั้ง 2 ท่านนี้กำลังแสดงบท “กตัญญุตา” เช่นเดียวกับ พ.ต.อ.วทัญญู

อีกจุดหนึ่งที่ทำให้สงสัยก็คือ ทั้งตำรวจและรัฐบาลแถลงข่าวไม่ค่อยตรงกัน

ผลการพิสูจน์ภาพร่วมเฟรมกับวีไอพีหลายคนกำลังชมการแข่งขันฟุตบอลโลกที่รัสเซียว่าเป็นภาพตัดต่อและตกแต่งหรือไม่ จะเป็นตัวอธิบายความจริง