เศรษฐกิจ / เตือนระวัง…วัฏจักรเศรษฐกิจ ก่อนสู่ปี’62 ผ่านจุดโตสูงสุดแล้ว

เศรษฐกิจ

 

เตือนระวัง…วัฏจักรเศรษฐกิจ

ก่อนสู่ปี’62 ผ่านจุดโตสูงสุดแล้ว

 

ในวันที่ 20 สิงหาคมนี้ สํานักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ จะรายงานตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ในช่วงไตรมาส 2/2561 และครึ่งปีแรก 2561 อย่างเป็นทางการ
แต่วันนี้ ยังคาดว่าอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ต่อเนื่องจากไตรมาส 1/2561 ที่ขยายตัวถึง 4.8% จนทำสถิติตัวเลขสูงสุดในรอบ 20 ไตรมาสที่ผ่านมา หรือสูงสุดในรอบ 5 ปี
เมื่อสำรวจความเห็นกูรูด้านเศรษฐกิจ ทั้งภาครัฐและเอกชน ยืนยันเป็นไปในทิศทางเดียวกัน!!

อย่าง “กุลยา ตันติเตมิท” ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ระบุว่า กระทรวงการคลังมองภาพรวมดีขึ้น จึงปรับเพิ่มประมาณการจีดีพีทั้งปี 2561 เป็น 4.5% และกรอบคาดการณ์อยู่ช่วง 4.2-4.8% จากเดิม 4.2% เพราะดูจากตัวเลขไตรมาสแรกออกมาดี และแนวโน้มต่อเนื่องถึงไตรมาส 2 ซึ่งจะส่งผลครึ่งแรกปี 2561 จีดีพีขยายตัวไม่ต่ำกว่า 4.5%
โดยเศรษฐกิจไทยทั้งปีจะขยายตัวได้เต็มเพดาน 4.8% ได้ต้องขึ้นกับปัจจับสนับสนุนหลัก ตั้งแต่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติต้องถึง 40 ล้านคน ค่าเงินบาทต้องอ่อน ปัญหาล่าช้าการเบิกจ่ายรัฐหมดลง และการลงทุนลุยทำเต็มที่ ซึ่งศักยภาพจีดีพีอาจมีโอกาสขยายตัวได้ถึง 5% ด้วยซ้ำ แต่ยังหวั่นปัจจัยภายนอกประเทศที่ไม่อาจควบคุมได้
เช่นเดียวกับ “สมประวิณ มันประเสริฐ” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา มองว่าเศรษฐกิจไทยดีขึ้น เพราะช่วงครึ่งปีหลัง ประชาชนจำนวนมาก “รู้สึกว่าเศรษฐกิจดีขึ้นแล้ว” จึงปรับอัตราการขยายตัวจีดีพีทั้งปีเพิ่มเป็น 4.7% ยึดตามแนวโน้มการขยายตัวเศรษฐกิจ แรงส่งจากไตรมาสแรกต่อถึงช่วงที่เหลือของปี และประเมินเศรษฐกิจไทยครึ่งปีแรกพบว่า เศรษฐกิจปีนี้จะขยายตัวได้ดีกว่าหลายปีที่ผ่านมา และขยายตัวดีขึ้นต่อเนื่องตามเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่ปรับตัวดีขึ้น ส่งผลดีต่อการบริโภค การค้า การลงทุนทั่วโลกปรับมาฟื้นตัวอีกครั้ง
ซึ่งเศรษฐกิจไทยก็ได้รับอานิสงส์การส่งออกไทยและการท่องเที่ยวขยายตัวดี การบริโภคขยายตัว เริ่มเห็นการลงทุนภาครัฐและเอกชนที่ออกมาต่อเนื่อง มีการกระจายของเม็ดเงินหมุนเข้ามาสู่ระบบเศรษฐกิจ

พร้อมกับนำความมั่นใจ หลังหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี มอบนโยบายผลักดันส่งออกและตัวเลขการทำงานให้กระทรวงพาณิชย์ อยากเห็นตัวเลขขยายตัว 10% ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะรับลูกแค่ไหน จะคงตัวเลขเดิม 8-9% หรือขยับถึง 10% หลังการประชุมหารือร่วมผู้ส่งออกในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ในวันที่ 7 สิงหาคมที่จะถึงนี้ น่าจะมีการชัดเจน!!
ประกอบกับก่อนหน้านี้ รองสมคิดนั่งหัวโต๊ะสั่งการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ โดยเฉพาะช่วง 2 เดือนสุดท้ายปีงบประมาณ 2561 ให้รัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ เร่งทำงานและแก้ไขปัญหาการเบิกจ่ายที่ยังล่าช้า ให้บรรลุตัวเลขที่ได้กำหนดไว้
ขณะที่กระทรวงการคลังลุยทุกรูปแบบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ล่าสุด เพิ่มนโยบายช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกร โดยวันที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ได้แก่ โครงการขยายเวลาการชำระต้นเงินกู้ 3 ปี ตามความสมัครใจให้แก่เกษตรกรลูกค้าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กว่า 3.81 ล้านครัวเรือน โดยจะพักหนี้ไม่เกิน 300,000 บาท ผู้ที่มีหนี้เกินได้รับสิทธิ์เฉพาะหนี้ไม่เกิน 300,000 บาทแรก โครงการตั้งแต่ 1 สิงหาคม 2561 ถึง 31 กรกฎาคม 2564
และโครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ 3% ต่อปี นาน 1 ปี เกษตรกรที่มีสิทธิ์คือ ผู้ที่มีต้นเงินกู้ไม่เกิน 300,000 บาทเท่านั้น โดยรัฐบาลรับภาระดอกเบี้ยแทนเกษตรกร 2.5% ต่อปี และ ธ.ก.ส. รับภาระแทน 0.5% ต่อปี ใช้งบฯ ดำเนินการ วงเงินรวม 16,000 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ 1 สิงหาคม 2561 ถึง 31 กรกฎาคม 2562
รวมทั้งอยู่ระหว่างศึกษาโครงการคืนเงินให้กับผู้มีรายได้น้อยที่มีการเติมเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและนำไปใช้จ่ายซื้อสินค้าในชีวิตประจำวัน โดยจะคืนเงินเท่ากับภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ที่เสียจากราคาสินค้าต่างๆ ซึ่งจะช่วยลดภาระของผู้มีรายได้น้อยอีกทางหนึ่ง คาดว่าไม่เกินไตรมาส 3 ปีนี้จะชัดเจน
โดยนำมาวิเคราะห์ถึงเสาค้ำเศรษฐกิจต่างๆ ทั้งการส่งออกยังดี จำนวนนักท่องเที่ยวยังแยะ เงินใช้จ่ายเริ่มสะพัดจากเร่งรัดของภาครัฐ และการค้าขายเริ่มดีขึ้น
นับว่าวันนี้เศรษฐกิจไทยถือว่ามีความมั่นคง

แต่วันข้างหน้า “ประมาทไม่ได้” และเริ่มมีเสียงนักเศรษฐศาสตร์ออกมาส่งสัญญาณเตือนเศรษฐกิจโลก รวมถึงไทย จากนี้อาจไม่ได้ดังคาดหวัง และวัฏจักรเศรษฐกิจรอบนี้ที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง อาจถึงจุดสูงสุดแล้ว!!
สะท้อนจากการประเมินตัวเลขเศรษฐกิจโลกของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดการณ์จีดีพีโลกปี 2561 ขยายตัว 3.9% และปี 2562 คงตัวเลขเดิม 3.9% ขณะที่ปริมาณการค้าโลก ไอเอ็มเอฟ ปรับลงมาอยู่ที่ 4.8% ลงจากเดิม 0.3% และปี 2562 ลดลงอีก 0.2% อยู่ที่ 4.5% เหตุผลหลักคือ วิตกเรื่องสงครามการค้าของประเทศผู้นำเศรษฐกิจโลก ทั้งสหรัฐ จีน ยุโรป ตอบโต้กันไปมา อาจก่อความรุนแรงและลุกลามขึ้นเรื่อยๆ แม้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังประเมินว่าผลกระทบสงครามการค้าปีนี้ยังไม่มากนัก จนกระทบคาดการณ์ส่งออก 9% เพราะมีตัวเลขสะสมที่ดีครึ่งปีแรกโต 11.1% แต่ปี 2562 หดตัวเหลือ 5%
อีกเสาค้ำเศรษฐกิจคือ การท่องเที่ยว จากกรณีเรือล่มที่จังหวัดภูเก็ต “พรเพ็ญ สดศรีชัย” ผู้อำนวยการสำนักวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจ ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. มองว่า ธปท. ยังต้องติดตามผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวจีน ว่ายังมีความเชื่อมั่นเดินทางมาท่องเที่ยวไทยเท่าเดิมไหม โดยดูยอดจองโรงแรมเดือนกรกฎาคมชาวจีนในภูเก็ตพบว่าลดลงค่อนข้างสูง อาจต่อเนื่องถึงไตรมาส 3 ได้ ก็จะมีผลต่อการพิจารณาในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 8 สิงหาคม ถึงการปรับประมาณการหรือไม่ และกระทบต่อประมาณการตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปี 38.3 ล้านรายหรือไม่ หลังครึ่งแรกมาเที่ยวไทยแล้ว 19.5 ล้านราย
ดังนั้น ระยะต่อไปที่เศรษฐกิจไทยจะพึ่งพาได้แน่ๆ คือ การเติบโตจากภายใน กับความหวังภาครัฐเร่งเดินหน้าโครงการลงทุนต่างๆ ตามโรดแม็ป เพื่อสร้างความเชื่อมั่นจนเอกชนลงทุนตามมา และกระตุ้นการใช้จ่ายการบริโภคภาคเอกชน เม็ดเงินกระจายลงสู่เศรษฐกิจอย่างน้อยๆ ก็เป็นแสนๆ ล้าน
หากเสาค้ำเศรษฐกิจทั้งภายในแข็งแรง และภายนอกไม่รุนแรงเพิ่มเติม ความหวังจีดีพีไทยโต 5% ไม่น่าจะไกลเกินเอื้อม!!