ทบทวนความคิด-ความรู้สึก ถึงแม่และแดนสุขาวดีที่ใฝ่ฝันถึง

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ผมเพิ่งกลับมาจากจังหวัดระนองบ้านเกิด เพื่อไปทำบุญและเซ่นไหว้แม่ในวาระที่แม่จากไปครบหนึ่งปี

ใครต่อใครต่างบอกว่าหนึ่งปีผ่านไปเร็วจริงๆ แต่กับผม แม้จะผ่านไปเป็นปีแล้วทุกอย่างยังคงแจ่มชัดในความทรงจำเหมือนเกิดขึ้นเมื่อวาน

ผ่านไปหนึ่งปี ความคิดถึงค่อยๆ เพิ่มขึ้นอย่างไม่รู้ตัว ผมครุ่นคิดอะไรหลายเรื่อง ความตาย ความว่าง ความหมายของสิ่งต่างๆ ฯลฯ

แต่ทุกอย่างพร่าเลือน ไม่มีอะไรกระจ่างแจ้งเป็นคำตอบของอะไรได้

วันนี้คล้ายจะต้องเล่าเรื่องส่วนตัวกับท่านผู้อ่านอีกแล้ว โปรดให้อภัย แต่ก็จะขอลองเอาไปเชื่อมโยงกับความรู้ให้พอมีประโยชน์บ้าง หวังว่าท่านจะพึงใจไม่มากก็น้อย

 

หลังจากที่แม่ผมจากไป ผมมีความเศร้าอยู่ลึกๆ ในใจอย่างบอกไม่ถูก นั่นทำให้ผมรู้ว่า การจัดการกับความทรงจำไม่ใช่สิ่งที่ง่าย เพราะในเวลาที่เราอยากจะรักษาความทรงจำไว้ บางครั้งมันก็ทำให้เราเศร้า แต่ครั้นจะปล่อยให้จางหายไปก็ทำไม่ได้อีกเพราะอาลัย

ตั้งแต่แม่จากไปผมไม่เคยฝันถึงแม่เลย บางคนบอกว่าดีแล้ว แสดงว่าแม่ไม่มีห่วงหาอะไร แม่จากไปอย่างไม่มีความกังวล

แต่ผมอยากฝันถึงแม่ อยากฝันเห็นแม่หน้าตาแจ่มใสมีความสุข แวดล้อมด้วยบรรยากาศงดงามสว่างไสว ยืนยันว่าแม่ได้ไปเกิดในแดนสุขาวดีอย่างที่ผมหวัง

ถ้าผมได้ฝันเช่นนั้นสักครั้ง ผมคงมีความสุขอย่างบอกไม่ถูกจริงๆ

 

แดนสุขาวดี เป็นแนวคิดแบบมหายาน “สุขาวดี” แปลว่า มีความสุข หรือดินแดนแห่งความสุข ฝรั่งมักนิยมแปลว่า pureland หรือวิสุทธิภูมิ ทิเบตเรียก เตวา เชน

สุขาวดีเป็นชื่อของ “พุทธเกษตร” หมายถึงดินแดนทิพยโลกหรือวิสุทธิภูมิของพระพุทธะทั้งหลาย ซึ่งในความคิดแบบมหายาน พระพุทธะนอกจากจะมีที่เป็นมนุษยกายแบบพระโคตมะสิทธัตถะแล้ว ยังมีพระพุทธะแบบ “สัมโภคกาย” หรือกายอันเสวยทิพยสุขเป็นนิตย์ในพุทธเกษตรต่างๆ นับไม่ถ้วน

พระพุทธะเหล่านี้ได้ทรงตั้งสัจจาธิษฐานไว้ว่า เมื่อบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว จักได้ฉุดช่วยสรรพสัตว์ในลักษณะและเงื่อนไขที่แตกต่างกันตามพุทธปณิธานแต่ละองค์

พระไภษัชยคุรุพุทธมีปณิธานจะโปรดสัตว์ให้พ้นจากความเจ็บป่วยทั้งทางกายใจ พระอมิตาภพุทธมีปณิธานจะนำสัตว์ไปบังเกิดในพุทธเกษตรของท่านหลังจากตายไปแล้ว เป็นต้น

เราคงเคยได้ยิน “อมิตาภพุทธ” ที่หลวงจีนมักจะกล่าวในหนังจีนกำลังภายในอยู่บ่อยๆ นี่เป็นพระนามของพระพุทธะ “อมิตาภพุทธะ” แห่งดินแดนสุขาวดีพุทธเกษตร

อมิตาภะ แปลว่ามีแสงสว่างไม่มีที่สุด ในทิเบตมักจะวาดพระวรกายสีแดง เป็นหนึ่งใน “ปัญจพุทธะ” ในพุทธวงศ์ทั้งห้า

 

เรื่องราวของพระองค์ปรากฏใน พระสูตร “สุขาวดีวยูสูตร” และพระสูตรอื่นๆ ของฝ่ายมหายาน ไม่มีปรากฏในฝ่ายเถรวาท

พระอมิตาภะ มีปณิธานที่จะฉุดช่วยสรรพสัตว์ โดยทรงตั้งปณิธานว่า หากได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิแล้ว สัตว์ใดระลึกถึงพระองค์ สวดพระนามพระองค์แม้เพียงสิบคาบ เมื่อตายไปแล้วจักไปบังเกิดในสุขาวดีพุทธเกษตร

ในดินแดนนั้นไร้ซึ่งความทุกข์ แวดล้อมไปด้วยความงามของทิพยโลก สัตว์นั้นจักไปบังเกิดในดอกบัว รอเวลาผลิบาน เมื่อบานแล้วได้ฟังธรรมจากพระอมิตาภพุทธะ ซึ่งมีพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรและพระโพธิสัตว์มหาสถามปราปติ์ (ในทิเบตว่าเป็นพระโพธิสัตว์วัชรปาณี) อยู่เคียงข้าง ก็จะบรรลุธรรมออกไปฉุดช่วยสรรพสัตว์อื่นๆ ต่อไป

พุทธเกษตรจึงเป็น “เกษตร” ของเหล่าพุทธะที่จะเติบโตงอกงามออกไปอย่างมหาศาล เป็นที่มุ่งที่หวังที่จะพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง

ด้วยเหตุนี้ จึงมีความนิยมในหมู่พุทธศาสนิกชนฝ่ายมหายานในทุกประเทศที่จะสวดถึงพระนามพระอมิตาภะอยู่บ่อยๆ และถือเป็นพุทธานุสติเมื่อจะตายของพุทธศาสนิกชนในฝ่ายนั้นโดยเฉพาะ

 

แนวคิดจากพระสูตรได้พัฒนามาเป็นพุทธศาสนานิกาย สุขาวดีซึ่งมีต้นกำเนิดในจีน (ไม่ใช่อินเดีย) และแพร่หลายไปสู่ประเทศต่างๆ

ในญี่ปุ่น นิกายโจโดชิน หรือนิกายสุขาวดีที่แท้ เป็นนิกายที่มีคนนับถือมากที่สุด ถึงกับมีคำพูดว่า “เซนของซามูไร โจโดของชาวบ้าน”

เหตุที่นิกายสุขาวดีแพร่หลาย มีผู้วิจารณ์ว่า ก็เพราะ “ความง่าย” แค่สวดมนต์พระนามไม่กี่ครั้งก็รอดได้แล้ว ชาวบ้านซึ่งไม่ต้องใช้สติปัญญาอะไรมากเลยพากันนับถือ

ความเข้าใจเช่นที่ว่านี้ แม้แต่ปราชญ์ทางพุทธศาสนาของบ้านเราอย่างท่านพุทธทาสก็เคยวิจารณ์ไว้ในทำนองเดียวกัน และท่านถึงกับเห็นว่า เซนนั้นล้ำเลิศกว่ามาก

อันที่จริงแล้วเซนกับสุขาวดีมีความใกล้ชิดกันอย่างยิ่ง คณาจารย์บางท่านเป็นทั้งนักปฏิบัติในเซนและในสุขาวดี

ผมลองอ่านแนวคิดของนิกายสุขาวดี พบว่ามันไม่ได้ง่ายขนาดนั้นและออกจะยากด้วยซ้ำ เป็นต้นว่า การสวดพระนามอมิตาภพุทธะ มิใช่การวิงวอนร้องขออย่างที่หลายคนเข้าใจ

ด้วยเหตุว่า ปณิธานของพระอมิตาภะที่ตั้งไว้สมัยยังเป็นพระโพธิสัตว์นั้นย่อมจะสำเร็จแล้ว เพราะพระองค์ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว นั่นแปลว่า พวกเราทั้งหลายไม่ว่ายากดีมีจน บาปชั่วแค่ไหน ต่างก็จะได้รับการฉุดช่วยทั้งหมดไม่เว้นแต่หนึ่งเดียว

ที่ต้องมีก็คือ ความไว้วางใจต่อปณิธานนั้น ว่าเราได้รับการช่วยแล้ว ซึ่งที่จริงความไว้วางใจหรือศรัทธาในข้อนี้ นับว่าเป็นสิ่งที่ยากที่สุดที่จะทำให้เกิดมีขึ้นได้ การสวดพระนามจึงเป็นเพียงการสรรเสริญพระปณิธานเท่านั้น

ฟังเผินๆ แล้วอาจดูคล้ายแนวคิดและวิธีปฏิบัติของฮินดูที่เรียกว่า “หรินามสังกีรตัน” หรือการท่องบ่นพระนามพระเจ้า โดยเชื่อว่า ในกลียุคนี้ บาปโทษมีมาก ลำพังแต่กำลังตนก็อาจไม่พ้นทุกข์ได้ จึงต้องอาศัยพระกรุณาธิคุณของพระเป็นเจ้าด้วยการท่องพระนามของพระองค์

แม้จะคล้ายกัน แต่พุทธศาสนาฝ่ายสุขาวดีมิได้ต้องการให้เพียงเรารอดพ้นไปเสวยสุขสบายในสุขาวดี แต่ต้องการให้เราได้บรรลุพระโพธิญาณเพื่อช่วยสรรพสัตว์ต่อไป

 

มิตรสหายบางท่านกล่าวกับผมว่า ที่จริงแนวคิดของสุขาวดีคือการย้อนกลับไปสู่รากฐานของมหายาน คือกลับไปสู่ “มหากรุณา” ของพระพุทธะและพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย เพราะนั่นเป็นคุณลักษณะที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของความเป็นมหายาน

การเชื่อมั่นในสุขาวดี ที่จริงคือการเชื่อมั่น ใน “มหากรุณา”ว่า พระพุทธะและพระโพธิสัตว์นั้นจักได้ช่วยเราและสรรพสัตว์ทั้งหลายจริงๆ ไม่ใช่ความคิดเลื่อนลอย

การเชื่อมั่นเช่นนั้น ย่อมทำให้เราพยายามที่จะบ่มเพาะความกรุณาไว้ในใจของเราไปด้วยอีกทาง ดั่งคำในนิกายสุขาวดีว่า “นำเอาหัวใจของพระอมิตาภะมาเป็นหัวใจของเรา” เมื่อทำเช่นนั้นได้ ก่อนที่เราจะละจากโลกนี้ไปเราก็ได้ทำให้โลกที่เราอยู่กลายเป็นสุขาวดี

ผมเป็น “สัตว์บาป” โหลยโท่ย ช่วยอะไรใครไม่ได้ ไม่ว่าบุพการีหรือตัวเอง ผมจึงใฝ่ฝันถึงสุขาวดี ว่าสักวันจะไปเจอแม่ที่นั่นด้วยพระมหากรุณาธิคุณ

หรือได้เห็นแม่ในแดนนั้นสักแวบ ส่วนผมจะไปไหนก็ได้ทั้งนั้น

ที่จริงเรื่องราวของสุขาวดีมีอีกมากและมีผู้รู้ยิ่งกว่าผม ดังนั้น สถาบันวัชรสิทธาเขาจึงจัดเสวนาเรื่องนี้ในวันที่ 5 สิงหาคม มีผมและมิตรสหายไปพูดคุย ใครอยากรู้เพิ่ม ขอเชิญชวนไปร่วมแบ่งปันกันครับ

นะโม อมิตาภพุทธ!!