ปัญหาของคนไทย ไม่ได้อยู่ที่อ่านหนังสือปีละกี่บรรทัด แต่อยู่ที่อ่านมันอย่างไร?

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

โดยไม่รู้แน่ว่าใครเป็นผู้ทำวิจัย? และมีกระบวนการทำวิจัยอย่างไร? แต่ก็อ้างต่อๆ กันมา คนไทยอ่านหนังสือเฉลี่ยเพียงปีละ 8 บรรทัดกันมานานหลายปีแล้วนะครับ

และก็เป็นเพราะการที่นำคำอ้างดังกล่าวมาใช้อยู่อย่างสม่ำเสมอนี้เอง ที่แสดงให้เห็นด้วยว่า สำหรับสังคมไทยแล้ว การอ่านมากนั้นสำคัญกว่าการอ่านอย่างพินิจพิเคราะห์ เพราะแม้ว่าจะเป็น “หนังสือ” เล่มเดียวกัน แต่คนอ่านก็อาจจะอ่านออกมาในจุดมุ่งหมายที่แตกต่างกันได้ เช่น อ่านว่าเขาเขียนว่าอย่างไร? หรือทำไมเขาถึงเขียนออกมาเช่นนั้น?

ไม่ว่าจะชอบใจหรือไม่ก็ตาม แต่ก็ต้องยอมรับว่าระบบการศึกษาไทยสอนให้เราอ่านเฉพาะในแบบแรกเสียเป็นส่วนใหญ่

ในเมื่อการเรียนการสอนยังให้ความสำคัญกับคำตอบที่ถูกหรือผิด มากกว่าที่จะเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในเรื่อง เนื้อหา หรือความคิดของผู้เขียนหนังสือ โดยเฉพาะระหว่าง “ผู้เรียน” และ “ผู้สอน” (คำว่า “อาจารย์” และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคำว่า “ครู” ในวัฒนธรรมไทยนั้นศักดิ์สิทธิ์เกินไป จนทำให้ผู้เรียนก็ระย่อที่จะแลกเปลี่ยน และผู้สอนเองก็ตะขิดตะขวงที่จะรับฟัง)

โดยถึงแม้ว่าหลักฐานทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ โลกของอุษาคเนย์จะมีพัฒนาการจนมีตัวอักษรใช้มาตั้งแต่หลัง พ.ศ.1000 แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าคนทุกคนจะสามารถอ่านออกเขียนได้ไปเสียหมด

และตัว “อักษร” ในสายตาคนอุษาคเนย์ยุคก่อนสมัยใหม่ ก็อาจจะไม่ได้สำคัญอะไรไปกว่า “ความศักดิ์สิทธิ์” ในรูปแบบของยันต์ คัมภีร์ หรือศิลาจารึกต่างๆ

 

ยันต์ที่สักลงไปด้วยตัวขอมหรือตัวมอญ จะไม่ศักดิ์สิทธิ์จนขนลุก ถ้าเราอ่านออกมาเป็นคำว่า นะโมพุทธายะ ซึ่งก็เป็นคาถาง่ายๆ ที่ใครก็สามารถท่องออกมาได้หากเคยผ่านหูมาแม้เพียงสักครั้งหนึ่ง

ในขณะที่ใบลาน สมุดไทย แต่ละเล่ม แต่ละฉบับ ก็เขียนขึ้นเป็นธรรมทานและเก็บไว้ในหอไตรมากกว่าที่จะถูกนำมาอ่าน แถมเมื่อจะอ่านแต่ละครั้งก็ต้องเป็นพระนำขึ้นมาอ่านเทศน์กันอยู่บนธรรมาสน์ ให้คนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้นั่งพับเพียบพนมมือรับฟังกันไป ถึงคนฟังอ่านได้ไปอ่านเองก็ไม่ได้บุญเท่ากับที่ไปนั่งพนมมือรับฟังอยู่หน้าธรรมาสน์

วัดเล็กวัดน้อยทั้งหลายดิ้นรนที่จะหาพระไตรปิฎกฉบับแปลภาษาไทยสักชุดมาใช้ในวัด แต่เมื่อได้มาแล้วจะมีสักกี่วัดที่ภิกษุลูกวัดจะใช้ “อ่าน” มากกว่าใช้ “ประดับ” ในตู้สวยงามอยู่ที่ศาลาการเปรียญ

ส่วนศิลาจารึกทั้งหลายก็ปักไว้อยู่ในปราสาทราชวัง ที่ไพร่ทาสข้าไททั่วไปทั้งหลายอย่าหมายแม้แต่ตีนจะได้ไปเหยียบ จารึกตามวัดในศาสนาพุทธก็ประดับไว้บนยอดเจดีย์ หากจะอ่านก็ต้องตั้งนั่งร้านกันขึ้นไปก่อน ทำนองเดียวกับที่ทุกวันนี้เราเขียนชื่อลงไปในกระเบื้องที่จะมุงหลังคาโบสถ์หลังใหม่ (หลังจากบริจาคทานไปแล้วเป็นค่ากระเบื้อง) คงไม่มีใครคิดจะปีนขึ้นไปดูว่า กระเบื้องแผ่นที่เราควักกระเป๋าบริจาคไปนั้นมุงอยู่บนหลังคาหรือเปล่าเมื่อโบสถ์สร้างเสร็จแล้ว

ตัว “อักษร” จึงไม่ได้มีหน้าที่สำหรับใช้ “อ่าน” เท่านั้น แต่ยังใช้สร้าง หรือสื่อความกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ด้วยต่างหาก

 

ในสังคมที่ตัวอักษรศักดิ์สิทธิ์ขนาดนี้ อักษรที่เขียนกันเป็นเล่มหนาๆ จะศักดิ์สิทธิ์ขนาดไหน? อย่าหมายแม้แต่จะได้วิพากษ์วิจารณ์เลยทีเดียว แค่ไม่ต้องกราบหนังสือก่อนเข้านอนก็บุญหัวแล้ว

พี่ไทยเราจึงชอบที่จะยกย่องผู้ที่มีความรู้มาก แต่ไม่ค่อยจะยกย่องผู้ที่สามารถสร้างความรู้ขึ้นมาได้เองเท่าไหร่นัก หากต่างชาติไม่ยกย่องขึ้นมาก่อน

ฝรั่งเองในยุคก่อนที่จะมีการประดิษฐ์แท่นพิมพ์ขึ้นมาหลังยุคมือก็มีมุมมองถึงตัวอักษรในทำนองที่ศักดิ์สิทธิ์คล้ายๆ กับเรา

หนังสือ Confessions ของเซนต์ออกุสติน (Siant Augustine) ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 4 พูดถึงนักบุญแอมโบรสด้วยความประหลาดใจว่า ท่านไม่ได้อ่านออกเสียง ในขณะที่คลอดิอุส ปโตเลมี (Claudius Ptolemy) ที่มีอายุอยู่ในช่วงราว ค.ศ.90-168 เขียนถึงการอ่านในหนังสือชื่อ On the Criterion ว่า

“บางครั้งคนเราก็อ่านเงียบๆ เมื่อต้องใช้สมาธิอย่างมากเพราะเสียงอาจรบกวนความคิดได้”

 

ในขณะที่การ “อ่าน” ในความหมายอย่างปัจจุบัน ช่างแตกต่างกันเหลือเกินกับการอ่านในสมัยดั้งเดิม ตั้งแต่แรกที่ชาวสุเมเรียนจารจารึกแผ่นแรก ตัวอักษรเหล่านั้นก็ล้วนแต่มีความหมายให้ออกเสียงสะกดได้ คำเขียนในภาษาอารบิก และฮิบรูที่เป็นภาษาดั้งเดิมของพระคัมภีร์ในศาสนาคริสต์ ไม่มีความแตกต่างในการแสดงกิริยา “อ่าน” และกิริยา “พูด” เพราะทั้งสองภาษาเรียกกิริยาทั้งคู่ด้วยคำคำเดียวกัน

มีผู้อธิบายความถึงภาษิตเก่าแก่ของฝรั่งบทหนึ่งที่ว่า scripta manent, verba volant ซึ่งปัจจุบันมักจะแปลความกันว่า สิ่งที่เขียนไว้คงอยู่ สิ่งที่พูดหายไปในอากาศ เป็นการแปลความที่บิดเบือนไปจากความหมายเดิมมากทีเดียว เพราะแต่เดิมภาษิตบทนี้หมายความว่า ข้อเขียนนั้นไร้อารมณ์ตายซาก แต่คำพูดที่เปล่งออกมามีปีก และสามารถโบยบินได้

หลักฐานของโลกตะวันตกช่วงก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 10 จึงล้วนแสดงให้เห็นว่า แต่เดิมการอ่านเป็นการอ่านออกเสียง การอ่านในใจถือเป็นสิ่งพิกลแม้แต่ในห้องสมุดก็ตาม

ทำไมจึงต้องอ่านออกเสียง?

 

นับแต่สมัยดึกดำบรรพ์ มนุษย์คิดว่า “เสียง” สัมพันธ์อยู่กับ “ความเป็นจริง” หากสามารถเปล่งเสียงที่ถูกต้องก็สามารถก่อให้เกิดปรากฏการณ์ที่เป็นจริงได้ ในโลกตะวันออกอย่างชมพูทวีปเชื่อว่า หากเปล่งเสียงว่า “โอม” ซึ่งเป็นเสียงพระนามแห่งพระเจ้า ก็สามารถโน้มนำอำนาจของพระเป็นเจ้าให้เกิดขึ้นจริง คาถาอาคมทั้งหลายจึงมีฤทธิ์เดชได้ด้วยทัศนะอย่างนี้เอง

ปราชญ์ควบตำแหน่งกวีผู้ล่วงลับอย่าง “ท่านจันทร์” ม.จ.จันทร์จิรายุ รัชนี เคยอธิบายไว้ว่า คนแต่ก่อนอ่านวรรณคดีด้วยหู ไม่ได้อ่านด้วยตา เพราะวรรณคดีแต่ก่อนแต่งเพื่อขับหรือร้องให้ฟังและดู ทำให้เชื่อมโยงถึงเพลงดนตรี เช่น เสภา, ทำนองเสนาะ ฯลฯ

ในสมัยหนึ่ง “หนังสือ” จึงมีฐานะเป็นเครื่องช่วยจำ และมีไว้สำหรับ “อ่านออกเสียง” ต่างหากนะครับ

 

ปราชญ์ (แต่คนนี้ควบตำแหน่งนักประวัติศาสตร์ผู้คมคาย) อย่าง อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยให้ความเห็นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมการอ่าน และบทบาทหน้าที่ของ “หนังสือ” ในช่วงหลังการประดิษฐ์แท่นพิมพ์ไว้ในที่ใดที่หนึ่งว่า

ปัจจัยสำคัญที่สุดในการอ่านของยุโรปช่วงนั้น น่าจะมาจากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดในหัวสมองมนุษย์มากกว่า นั่นก็คือความปั่นป่วนวุ่นวายทางสังคมและศาสนาทำให้คนยุโรปมาประจักษ์ว่า ความจริงมิได้มีอยู่ด้านเดียว ข้อมูลที่มีความสำคัญต่อชีวิต ไม่อาจหาได้จากพระและมูลนายเพียงเท่านั้น

การพังทลายของอำนาจผูกขาดความรู้ ที่พระและมูลนายเคยถือร่วมกันมา ปลดปล่อยผู้คนให้ต้องดิ้นรนไปแสวงหาข้อมูลจากแหล่งอื่นๆ หนังสือจึงขายได้ ไม่ใช่เพราะราคาถูกลงเพียงอย่างเดียว แต่เพราะคนซื้อต้องเห็นว่าเอาเงินจำนวนนั้นไปซื้อหนังสือ จะคุ้มค่าที่สุดต่างหาก

สังคมไทยไม่เคยมีการเปลี่ยนผ่านทางความคิดอย่างในยุโรป รัฐและศาสนา (และความเชื่อต่างๆ) ของเราแม้จะแยกออกจากกันในเชิงโครงสร้างและการจัดการแล้ว แต่ยังไม่เคยแยกจากกันในทางอุดมคติ เรายังมีอะไรอีกหลายสิ่งอย่างที่ศักดิ์สิทธิ์ แตะต้องมิได้ ยิ่งอย่าคิดจะวิจารณ์ ตัวหนังสือในมโนสำนึกของเรายังคงศักดิ์สิทธิ์อยู่

(ตัวอย่างง่ายๆ ก็ลองเงยหน้าขึ้นไปดูบนเพดานรถยนต์ราคาเรือนล้านที่ออกแบบระบบป้องกันภัยมาอย่างดีหลายๆ คันก็ยังเห็นแป้งขาวๆ วาดเป็นยันต์คุ้มภัยต่างๆ สติ๊กเกอร์ที่แปะอยู่ท้ายรถเพื่อหลอกอะไรที่มองไม่เห็นสักอย่างหนึ่งว่า รถคันนี้ไม่ได้มีสีอย่างที่เราเห็น แต่เป็นสีที่เขียนอยู่ด้วยตัวอักษรนี่ต่างหาก หรือป้ายบ้านนี้ดีอยู่แล้วรวยก็ได้ครับ)

ปัญหาของคนไทยจึงไม่ได้อยู่ที่เราอ่านปีละ 8 บรรทัด หรือวันละ 800 บรรทัดหรอกนะครับ แต่อยู่ที่เราอ่านมันอย่างไรต่างหาก?