ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 27 กรกฎาคม - 2 สิงหาคม 2561 |
---|---|
คอลัมน์ | ดังได้สดับมา |
ผู้เขียน | วิเวกา นาคร |
เผยแพร่ |
จากนั้น เสถียร โพธินันทะ ก็อรรถาธิบายว่า การที่อาจารย์นาคารชุนตั้งทฤษฎีเชิงปฏิเสธเช่นนี้เพื่อทำลายอุปาทานทั้งที่หยาบและละเอียดคือ ทำลายทั้งกามุปาทาน และทิฏฐุปาทาน สำแดงลักษณะแท้จริงว่าสิ่งทั้งปวงมีความสูญเป็นลักษณะ
อาจารย์นาคารชุนปฏิเสธความเป็นอยู่มีอยู่ในตัวมันเองของสภาวธรรมทั้งหลาย ด้วยวิธีปฏิเสธความเกิด คือ ปนุตปาทะก่อน
เพราะเมื่อความเกิดไม่มีแล้ว ความดับ ฯลฯ ก็พลอยหมดความหมายไปด้วย
การปฏิเสธความเกิดจึงเท่ากับการปฏิเสธสิ่งที่มีอยู่โดยตัวของมันเอง อาจารย์นาคารชุนจึงได้ให้คำสรุปว่า
“ธรรมทั้งหลายไม่อุบัติขึ้นเอง ไม่อุบัติจากสิ่งอื่น ทั้งไม่อุบัติขึ้นเองด้วย รวมกันและไม่ใช่ว่าปราศจากเหตุ เพราะฉะนั้น จึงรู้ว่าไม่มีการอุบัติขึ้นเลย”
อรรถกถาของนีลเนตรให้ข้ออุปมาโดยสมมติง่ายๆ ว่า เหมือนกับเมล็ดพืชเมล็ดแรกนั้นเกิดขึ้นในสมัยใด แม้เราจะสืบสวนขึ้นไปจนถึงเบื้องปฐมกัปเราก็หาไม่พบว่า เมล็ดพืชเมล็ดแรกเกิดจากอะไร มีอะไรเป็นปฐมเหตุ
เราไม่อาจหาไปจนพบถ้ามีปฐมเหตุอะไรเป็นมูลให้เกิดปฐมเหตุนั้นอีกเล่า สืบสาวไปไม่มีที่สิ้นสุด ความเกิดแห่งเมล็ดนี้จึงไม่ปรากฏ (ที่ปรากฏว่ามีเมล็ดพืชนั้นเป็นมายา)
เมื่อความเกิดไม่ปรากฏว่าจะกล่าวเมล็ดพืชมันดับ ไม่มีเลยหรือก็หามิได้ เพราะเมล็ดพืชที่เราเห็นอยู่นั้นมี (อย่างมาก) สืบเนื่องกันมาเรื่อยจนปัจจุบัน และจากปัจจุบันก็จักสืบต่อไปอีกถึงอนาคต
ถึงกระนั้น เมล็ดพืชนั้นก็มีภาวะเที่ยงนะซิ
เปล่าเลย เพราะหากมีภาวะเที่ยงแล้วไซร้เมล็ดพืชจะงอกงามเป็นต้น ใบ กิ่งก้าน สาขาไม่ได้
ถ้าไม่เที่ยง เมล็ดพืชนั้นก็ชื่อว่าขาดสูญด้วยหรือไม่
ไม่ขาดสูญหรอก เพราะกิ่ง ใบ สาขา ดอกผลของพืชนั้นย่อมสืบสันตติเนื่องมาจากเมล็ด
ดังนั้นไซร้ ควรกล่าวว่าเป็นหนึ่งก็ไม่ควร เพราะหากเป็นหนึ่งแล้ว กิ่ง ใบ ดอก ผล จะมีไม่ได้ จะต้องเป็นตัวเมล็ดพืชนั้นเอง
ถ้าไม่ใช่หนึ่งก็สมควรกล่าวว่า แตกต่างแยกจากเมล็ดพืชเด็ดขาดหรือ
มิได้เลย หากแตกต่าง แยกจากเมล็ดพืชแล้วกิ่งก้าน สาขา ใบ ดอก ก็ควรจะมีขึ้นเองโดยปราศจากเมล็ดพืชเป็นปัจจัย
ถ้าอย่างนั้น กิ่ง ก้าน ใบ ดอกออกจากเมล็ดพืชเหมือนงูเลื้อยออกจากโพรงอย่างนั้นซิ
เปล่าอีกเหมือนกัน เพราะเราต่อยเมล็ดพืชออกเราก็หาไม่พบ กิ่งก้าน สาขา ใบ ดอกในเมล็ดนั้น ฉะนั้น เราจึงลงบัญญัติได้ว่า เมล็ดพืชนั้นแท้จริงเป็นเพียงมายา
อนึ่ง เมื่ออธิบายโดยปรมัตถ์ต่อโศลกที่ว่า ธรรมทั้งปวงไม่เกิดขึ้นเอง ฯลฯ นั้น มีอรรถาธิบายว่า ความรู้สึกของสามัญชนย่อมขึ้นอยู่กับหลัก 2 หลัก
คือหลัก 1 ถือว่าสิ่งทั้งปวงย่อมมีเหตุเป็นแดนเกิด
ซึ่งสำนักพระพุทธศาสนาอื่นๆ ย่อมถือตามนัยนี้ว่า สังขตธรรมย่อมเกิดจากเหตุปัจจัย เช่น สำนักเถรวาทหรือสถวีรวาทถือว่ามีปัจจัยอยู่ถึง 24 ซึ่งเป็นบ่อเกิดแห่งสังขตธรรมทั้งหลาย
สำนักสรวาสติวาทินและวิชญาณวาทินถือว่ามีปัจจัยอยู่ 4 ส่วน
อีกหลัก 1 ถือว่าสิ่งทั้งปวงเกิดขึ้นโดยไร้เหตุ ซึ่งเป็นพวกอุจเฉทวาท นัตถิกวาท โลกายตลัทธิ เชื่อถือกัน และการยึดถือในอุบัติทั้ง 4 คือ
(1) เกิดขึ้นเอง
(2) อาศัยสิ่งอื่นเกิดขึ้น
(3) เกิดขึ้นเองด้วย อาศัยสิ่งอื่นด้วยรวมกัน
(4) ไม่มีเหตุ
มีอุทาหรณ์ เช่น คณาจารย์ในพระพุทธศาสนาบางพวกถือว่าจักขุวิญญาณย่อมมีอยู่ในตัวเอง การเกิดขึ้นแห่งจักขุวิญญาณคือ จักขุวิญญาณอันมีอยู่เดิมนั้นสำแดงปรากฏขึ้น อีกพวกหนึ่งถือว่าจักขุวิญญาณไม่ใช่จะมีอยู่เดิม ต้องอาศัยจักขุอินทรีย์ รูปายตนะ แสงสว่าง ที่ว่าง ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้จึงปรากฏขึ้น
ส่วนพวกถือไม่มีเหตุนั้นมิพักต้องอธิบายทิฐิทั้ง 4 อุทาหรณ์นี้
จากนี้จึงเห็นได้อย่างเด่นชัดว่า หลักธรรมอย่างที่เสถียร โพธินันทะ นำเสนอและระบุว่า คือนิกายตรีศาสตร์ หรือซาหลุงจงในภาษาจีน
เป็นเรื่องในเชิง “ปรัชญา”
ที่สมัคร บุราวาศ เคยตั้งข้อสังเกตว่า ปราชญ์ของมหายานคร่ำเคร่งอยู่ในการถกเถียง อธิบายในเรื่องเชิงปรัชญาจึงนับว่าใกล้เคียงกับความเป็นจริง เพราะเพียงแต่เปิดวิวาทะในเรื่องการมีอยู่ และการไม่มีอยู่ จึงสลับซับซ้อนเป็นอย่างยิ่ง
เราจะตามกระบวนการนำเสนอของเสถียร โพธินันทะ ต่อไป