สุรชาติ บำรุงสุข : ยุทธศาสตร์ผิด ประเทศพัง! อนาคตแห่งความล้มเหลวของไทย

“จะมีประโยชน์อะไรที่จะวิ่ง ถ้าวิ่งไม่ถูกทาง”

สุภาษิตเยอรมัน

หลังจากกลุ่มทหารหัวเก่าและปีกขวาจัดไทยประสบความสำเร็จในการยึดอำนาจในเดือนพฤษภาคม 2557 แล้ว

พวกเขาก็หันไปสู่ความพยายามในการ “หยุด” ประเทศไทยด้วยการสร้างกรอบทางกฎหมาย (รัฐธรรมนูญ) และกรอบทางนโยบาย (ยุทธศาสตร์ชาติ) ในการควบคุมประเทศให้เดินไปในทิศทางที่พวกเขาต้องการ

โดยไม่คำนึงว่าสิ่งที่พวกเขากำหนดให้เป็นทิศทางหลักของประเทศภายใต้ชื่อที่สวยหรูว่า “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” นั้นจะนำพาประเทศไปสู่อนาคตในรูปแบบใด

ในที่สุดการใช้อำนาจอย่างไร้ทิศทางของรัฐบาลทหารก็ปรากฏเป็นรูปธรรมอย่างยิ่ง เมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติใช้ระยะเวลาเพียง 1 ชั่วโมงผ่านความเห็นชอบรวดเดียว 2 วาระ เพื่อให้นายกรัฐมนตรีเตรียมนำขึ้นทูลเกล้าฯ และมีผลบังคับใช้ 20 ปี และผลนี้ผูกมัดให้รัฐบาลใหม่จะต้องดำเนินนโยบายตาม หากไม่ทำจะกลายเป็นความผิดในคดีอาญา และรัฐบาลอาจถูกถอดถอนได้

ดังนั้น บทความนี้จะทดลองนำเสนอด้วยการชี้ให้เห็นว่าเอกสารดังกล่าวไม่ใช่ “ยุทธศาสตร์ชาติ” หากแต่เป็นเพียง “ยุทธศาสตร์การเมือง” ของความพยายามในการสร้างสภาพบังคับในอนาคต

อะไรคือวัตถุประสงค์แห่งชาติ?

หลักการพื้นฐานในทางยุทธศาสตร์ก็คือ แผนปฏิบัติการใดก็ตามจะประสบความสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อเรารู้ว่าวัตถุประสงค์ของแผนนี้คืออะไร

ดังนั้น คงไม่ผิดนักที่จะกล่าวเป็นหลักการว่าภารกิจแรกของนักยุทธศาสตร์ก็คือ การระบุถึงวัตถุประสงค์แห่งชาติ (national objectives) เพื่อที่จะใช้เป็นปัจจัยพื้นฐานในกระบวนการกำหนดนโยบายของยุทธศาสตร์

คนที่เรียนวิชายุทธศาสตร์ทุกคนถูกสอนเสมอว่า ยุทธศาสตร์ที่ดีจะเกิดขึ้นไม่ได้โดยปราศจากความชัดเจนของวัตถุประสงค์แห่งชาติ

เพราะรัฐจะต้องกำหนดให้ชัดเจนว่าจุดสุดท้ายของยุทธศาสตร์นี้จะนำไปสู่จุดหมายปลายทางอะไรที่รัฐต้องการ

หรืออะไรคือวัตถุประสงค์ที่รัฐต้องการจะบรรลุในจุดสุดท้าย และจะบรรลุด้วยเครื่องมืออะไรและวิถีทางใด

ฉะนั้น ถ้าวัตถุประสงค์นี้ถูกนิยามด้วยความสับสนแล้ว ยุทธศาสตร์ที่ถูกกำหนดขึ้นก็กลายเป็นความสับสนในตัวเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

และความสับสนเช่นนี้ก็อาจทำให้กระบวนการที่เกิดขึ้นเป็นความไม่แน่นอน

ในทางทฤษฎีก็คือ แผนยุทธศาสตร์ที่เกิดขึ้นไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “coherence” หรือยุทธศาสตร์ขาดความเชื่อมโยงในการจัดความสัมพันธ์ของปัจจัยต่างๆ ในกระบวนการนี้

อีกทั้งยังอาจทำให้กระบวนการเช่นนี้เป็นสิ่งที่ไม่ได้รับความสนับสนุนจากประชาชน

และทุกคนตอบได้ดีเสมอโดยไม่จำเป็นต้องเป็นนักยุทธศาสตร์คนสำคัญว่า ยุทธศาสตร์ที่ปราศจากการสนับสนุนของประชาชนในประเทศแล้ว ยุทธศาสตร์นั้นก็ดำรงอยู่ในกระดาษและรอคอยเวลาแห่งความล้มเหลว

เราสามารถกล่าวเป็นข้อสรุปได้เสมอว่า เมื่อยุทธศาสตร์เริ่มต้นด้วยความสับสนในการกำหนดวัตถุประสงค์แห่งชาติแล้ว การนำเอายุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติไม่เป็นแต่เพียงความสับสนที่จะเกิดขึ้นเท่านั้น แต่จะกลายเป็นความยากลำบากทั้งในส่วนของยุทธศาสตร์และในส่วนของผู้ปฏิบัติอีกด้วย

และสิ่งที่รออยู่เบื้องหน้าก็คือความล้มเหลวอย่างหนีไม่พ้น

นักศึกษาในวิชายุทธศาสตร์จึงถูกสอนให้พึงสังวรเสมอว่าความล้มเหลวของรัฐในทางยุทธศาสตร์อาจจะไม่มีโอกาสแก้ตัวในครั้งหน้า

และความล้มเหลวทางยุทธศาสตร์คือความพ่ายแพ้ของรัฐไม่มีทางเป็นอื่น

อะไรคือยุทธศาสตร์การเมือง

ถ้าเราพิจารณาสถานการณ์การเมืองไทยคู่ขนานกับการกำเนิดของยุทธศาสตร์ 20 ปีแล้ว สิ่งที่เห็นได้ชัดก็คือความพ่ายแพ้ของปีกขวาจัดในการเมืองไทยที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

และขณะเดียวกันความเปลี่ยนแปลงทั้งในส่วนการเมืองไทยและการเมืองโลกเริ่มกลายเป็นกระบวนการลดทอนอำนาจและบทบาทของทหารในการเมืองไทย

การถอยร่นของกลุ่มขวาและการขยายตัวของกระแสเสรีนิยมที่ถูกขับเคลื่อนอีกส่วนจากกระแสโลกาภิวัตน์เริ่มปรากฏชัดขึ้นทั้งจากความพ่ายแพ้ของกองทัพจากการปราบปรามทางการเมืองในกรณี “พฤษภาทมิฬ” ในปี 2535

และถูกตอกย้ำให้เห็นชัดจากชัยชนะของพรรคการเมืองที่มากับนโยบายใหม่ คือชัยชนะของพรรคไทยรักไทยในต้นปี 2544

ซึ่งปรากฏการณ์เช่นนี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสถานะของชนชั้นนำ กองทัพ และกลุ่มปีกขวาหรือขบวนอนุรักษนิยมทั้งกระบวน ดังนั้น พวกเขาจึงต้องสร้าง “ยุทธศาสตร์การเมือง” ขึ้นเพื่อรองรับต่อการคงอำนาจและอิทธิพลของกระแสอนุรักษนิยมต่อไป

ยุทธศาสตร์การเมืองของกลุ่มนี้จึงไม่มีอะไรมากไปกว่าการ “ก่อกระแสล้มรัฐบาล”

และการก่อกระแสเช่นนี้มีเครื่องมือหลักที่ถูกใช้กับฝ่ายตรงข้ามที่ดีที่สุดก็คือการใช้กองทัพเป็นกลไกหลักของการทำรัฐประหาร

จนกล่าวเปรียบเทียบได้ว่า ยุทธศาสตร์การเมืองของกลุ่มอนุรักษนิยมในปีกขวาจัดมีวัตถุประสงค์เดียวที่ชัดเจนคือล้มรัฐบาลพลเรือนที่พวกเขาไม่ต้องการ

ดังจะเห็นได้ว่า เมื่อวัตถุประสงค์ทางการเมืองมีความชัดเจน การขับเคลื่อนเครื่องมือที่จะใช้ในการโค่นล้มรัฐบาลดังกล่าวก็มีความชัดเจน

และอาจกล่าวได้ว่ายุทธศาสตร์ของกลุ่มขวาจัดไทยไม่เคยเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์

พวกเขาต้องการโค่นรัฐบาลที่ไม่อยู่ในกระแสอนุรักษนิยม

และวัตถุประสงค์นี้กำหนดการใช้เครื่องมือ (means)

ฉะนั้น กองทัพจึงเป็นเครื่องมือทางยุทธศาสตร์ที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว

เพราะในโลกที่เป็นจริงของการเมืองไทยแล้ว แทบจะไม่มีรัฐบาลพลเรือนใดที่จะต้านทานการใช้กำลังรบในการยึดอำนาจได้เลย

อะไรคือวัตถุประสงค์จริงที่แอบแฝง?

ความพ่ายแพ้และสภาวะของการถดถอยของกลุ่มอนุรักษนิยมที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้รัฐประหาร 2557 มาพร้อมกับ “ความฝันชุดใหญ่” ที่ต้องการจะหยุดทุกอย่างให้อยู่ภายใต้ “โลกเก่า” ของการเมืองไทย

ซึ่งแน่นอนว่าความสำเร็จของการรัฐประหารที่กรุงเทพฯ ไม่สามารถนำไปสู่ “ตัวแบบพม่า” ด้วยการ “ปิดประเทศ” แม้ครั้งหนึ่งจะมีข้อเสนอให้ “แช่แข็ง” ประเทศ แต่ความคิดเช่นนี้เป็นสิ่งที่ขายไม่ได้กับเงื่อนไขของสังคมไทยที่เป็นสังคมเปิดมาอย่างยาวนาน

ดังนั้น เมื่อปิดประเทศให้อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลทหารเช่นปรากฏการณ์ในแบบของพม่าไม่ได้ สิ่งที่สามารถทำให้เกิดขึ้นได้จริงในทางปฏิบัติก็คือ การออกแบบอำนาจแฝงทางการเมืองที่อยู่นอกเหนือไปจากการออกแบบรัฐธรรมนูญ ที่ไม่ได้ต้องการให้ระบอบการเมืองไทยเป็นประชาธิปไตยเท่านั้น

หากแต่ยังต้องการให้เกิดความอ่อนแอในการเมืองของฝ่ายพลเรือนอีกด้วย

เพราะความอ่อนแอเช่นนี้จะเป็นปัจจัยสำคัญที่เปิดโอกาสให้ระบอบอำนาจนิยมแอบแฝงตัวเข้ามา หรือเป็นความพยายามของการดำรงสภาวะแบบ “พันทาง” (hybrid) อันเป็นลักษณะที่การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองอยู่ในแบบครึ่งๆ กลางๆ ไม่เดินไปสู่ระบอบประชาธิปไตย

ดังนั้น เมื่อการเมืองถูกออกแบบให้เป็นพันทางแล้ว ก็ต้องการความมั่นใจว่าระบอบการเมืองไทยจะไม่เดินหน้าไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย ขบวนอนุรักษนิยมไทยจึงต้องการเครื่องมืออีกชิ้นเพื่อเป็นหลักประกันของความสำเร็จ

จึงต้องมีการออกแบบทางการเมืองครั้งสำคัญในรูปของ “ยุทธศาสตร์ 20 ปี”

เพื่อทำให้อนาคตอีก 20 ปีข้างหน้าอยู่ภายใต้การ “ครอบงำ” ของกระแสอนุรักษนิยม

อะไรคือยุทธศาสตร์ฝ่ายขวา

ยุทธศาสตร์การเมืองของฝ่ายขวาจัดเช่นนี้จึงมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนในการพิทักษ์ระบอบอำนาจนิยมของทหาร และขณะเดียวกันก็เพื่อค้ำประกันการคงอยู่ของอำนาจและชุดความคิดของขบวนอนุรักษนิยม เพราะการผ่านยุทธศาสตร์ของรัฐบาลทหารใช้เวลาเพียงหนึ่งชั่วโมง

จนทำให้อดคิดไม่ได้ว่าอนาคต 20 ปีของประเทศใช้เวลาตัดสินเพียง 1 ชั่วโมงโดยกลุ่มคนใน “รัฐสภาทหาร” ไม่ใช่การตัดสินโดยรัฐสภาที่มาจากตัวแทนของประชาชน

และอาจต้องกล่าวว่าการผ่านมติที่เกิดขึ้นไม่ได้มาจาก “ฉันทานุมัติ” ของประชาชน เป็นแต่เพียงการลงมติของระบอบอำนาจนิยมเพื่อพิทักษ์ระบอบเดิม

ยุทธศาสตร์เช่นนี้จึงสะท้อนให้เห็นถึงวัตถุประสงค์ในตัวเองอย่างชัดเจนว่าวัตถุประสงค์สำคัญคือการสถาปนาอำนาจทางการเมืองของระบอบทหารให้มีความยั่งยืน

และเป็นหลักประกันว่า ไม่ว่าระบอบเลือกตั้งจะฟื้นคืนขึ้นมาจากเงื่อนไขทางการเมืองอย่างใดก็ตาม รัฐบาลที่เกิดขึ้นหลังจากการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองแล้วจะยังคงถูกควบคุมโดยรัฐบาลทหารไม่เปลี่ยนแปลง

และน่าสนใจว่าการควบคุมนี้มีระยะเวลานานถึง 20 ปี หรือเทียบได้กับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งถึง 5 สมัย

ซึ่งการสร้างอำนาจในเชิงสถาบัน (institutionalization) ในรูปแบบเช่นนี้เป็นสิ่งที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในการเมืองไทย

ดังนั้น การผลักดันยุทธศาสตร์จนผ่านการลงมติของสภาจึงดูเหมือนเป็นชัยชนะ

แต่ทั้งหมดคือภาพสะท้อนของความกลัวและการขาดหลักประกันทางการเมืองของฝ่ายขวา เพราะพวกเขาแพ้ในสนามเลือกตั้งมาโดยตลอด

ยุทธศาสตร์นี้จึงเป็นการสร้าง “อำนาจรัฐซ้อน” ที่รัฐบาลทหารจะอยู่ในการเมืองไทยต่อไปอีก 20 ปี

ฉะนั้น ความกลัวอันเป็นผลมาจากความถดถอยของกลุ่มอนุรักษนิยมส่งผลให้ยุทธศาสตร์นี้กลายเป็นเครื่องมือของ “การควบคุมทางการเมือง” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ดังจะเห็นสิ่งที่เป็นข้อกำหนดว่าหากรัฐบาลในอนาคตไม่ปฏิบัติตามจะมีโทษทางอาญา และยังถูกถอดถอนจากการดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ด้วย

ซึ่งเท่ากับการส่งสัญญาณว่าข้อกำหนดนี้ไม่ใช่ยุทธศาสตร์ในความหมายทางวิชาการ แต่เป็น “ข้อบังคับทางกฎหมาย” เพราะมีบทลงโทษ หรืออาจต้องกล่าวว่ายุทธศาสตร์นี้เป็นกฎหมาย

ถ้ายุทธศาสตร์เป็นกฎหมายก็จะกลายเป็น “ความตลก” อย่างน่าขมขื่น เพราะไม่มียุทธศาสตร์ของประเทศไหนมีสถานะเป็น “ข้อบังคับ” และมี “บทลงโทษ” เว้นเสียแต่ยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลทหารไทยผลักดันออกมามีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนในการควบคุมทางการเมืองและควบคุมรัฐบาลพลเรือนในอนาคตด้วย

เพราะในทางทฤษฎีแล้ว ยุทธศาสตร์เป็นการประกาศถึงเป้าหมายที่รัฐต้องการจะบรรลุในอนาคต

แต่ถ้าเป็นกฎหมาย จะมีคำถามสืบเนื่องว่า ถ้ารัฐไม่ประสบความสำเร็จตามยุทธศาสตร์นี้ ใครจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบทางกฎหมาย ผู้ร่างหรือผู้ปฏิบัติ?

อะไรคือความล้มเหลว?

นักศึกษาในวิชายุทธศาสตร์ถูกสอนเสมอว่ากระบวนการคิดทางยุทธศาสตร์ต้องมี “ความยืดหยุ่น” (flexibility)

ความคิดแบบ “ตึงตัว” (rigid) ที่เชื่อว่าทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไม่ได้คือความล้มเหลวในตัวเองทางยุทธศาสตร์

เพราะกระบวนการทางยุทธศาสตร์ไม่เกิดขึ้นจากการ “นั่งเทียน” โดยการใช้จินตนาการแบบไร้ปัญญา หากแต่กระบวนการนี้เกิดขึ้นจากการพิจารณาถึงความเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อม และสภาพแวดล้อมดังกล่าวมีทั้งบริบทภายนอกและภายใน ซึ่งก็มีลักษณะที่เป็น “พลวัต” (dynamic) อยู่ตลอดเวลา

ดังนั้น ยุทธศาสตร์ที่ดีจะต้องปรับได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกระบวนการนี้จะต้องตรวจสอบและประเมินสภาวะแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง และผลของการประเมินอันเกิดจากความเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมนั้นๆ จะกลายเป็น “ปัจจัยนำเข้า” (input) เพื่อให้รัฐบาลสามารถปรับยุทธศาสตร์ให้สอดรับกับสภาวะที่เป็นจริงของโลกทั้งภายนอกและภายใน และนำไปสู่ “ปัจจัยนำออก” (output) เป็นยุทธศาสตร์ใหม่

แต่นักยุทธศาสตร์ของรัฐบาลไทยกลับคิดแบบ “ไร้เดียงสา” ว่ายุทธศาสตร์เป็นสิ่งที่ต้องตายตัวและเปลี่ยนแปลงไม่ได้ แล้วถ้าเปลี่ยนก็จะเป็นความผิดทางกฎหมาย ซึ่งหากเป็นเช่นนี้แล้ว ยุทธศาสตร์ 20 ปีของรัฐบาลทหารจะเป็นยิ่งกว่า “พระคัมภีร์” ที่ไม่อนุญาตให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงใดๆ ทั้งสิ้น

คนเรียนวิชายุทธศาสตร์ทุกคนถูกพร่ำสอนเสมอว่า ยุทธศาสตร์ที่ไร้การปรับตัวคือความพ่ายแพ้ และการไม่ปรับตัวก็คือความล้มเหลวของแผนยุทธศาสตร์ในตัวเอง

ฉะนั้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือ การกำหนดอนาคตของประเทศไทยด้วยแผนที่ปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ก็เท่ากับเป็นการละเลยต่อความเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อม

ยุทธศาสตร์ชุดนี้จึงถูกทำขึ้นด้วยสมมุติฐานว่า โลกภายนอกและภายในของรัฐไทย “หยุดนิ่ง”

หรือรัฐไทยในมุมมองทางยุทธศาสตร์จึงราวกับดำรงอยู่ใน “โลกที่ไม่เปลี่ยนแปลง”

ซึ่งกระบวนคิดที่มีลักษณะเช่นนี้ก็คือจุดเริ่มต้นที่ผิดพลาดทั้งหมด และจะยิ่งผิดพลาดมากขึ้นเมื่อยุทธศาสตร์เช่นนี้ถูกนำไปใช้ในทางปฏิบัติ เพราะความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเป็นสัจธรรม

บทเรียนพื้นฐานที่นักเรียนวิชายุทธศาสตร์ถูกสอนเป็นข้อเตือนใจก็คือ ยุทธศาสตร์ที่ผิดพลาดคือหายนะของประเทศ

และหายนะของไทยในอีก 20 ปีข้างหน้าในทางยุทธศาสตร์ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว!