กรองกระแส : สายน้ำ การเมือง รัฐประหาร กับพลังดูด คนละเรื่องเดียวกัน

กรองกระแส

 

สายน้ำ การเมือง

รัฐประหาร กับพลังดูด

คนละเรื่องเดียวกัน

 

ม่ว่าเรื่องทำหนังสือขอตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จากอังกฤษในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน ไม่ว่าเรื่องจดหมายเปิดผนึกของนายนคร มาฉิม พร้อมกับกล่าวคำขอโทษต่อนายทักษิณ ชินวัตร น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่ว่าเรื่อง คสช.แจ้งความกล่าวโทษรายการ “คืนวันศุกร์ให้ประชาชน” ของพรรคอนาคตใหม่
เหมือนกับเป็นคนละเรื่อง คนละสถานการณ์ แต่หากพิจารณาอย่างรอบด้านมากยิ่งขึ้นจะค่อยๆ ประจักษ์ว่าเป็นเรื่องเดียวกัน
นั่นก็คือ สืบเนื่องมาจากกรณี “รัฐประหาร”
ไม่เพียงแต่จะเป็นสถานการณ์ก่อนและหลังรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 หากแต่ยังเป็นสถานการณ์ก่อนและหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557
จากยุคของ “คมช.” มายังยุคของ “คสช.”
ในที่นี้จึงต้องยอมรับว่าจดหมายเปิดผนึกของนายนคร มาฉิม มีส่วนอย่างสำคัญในการฉายภาพแห่งปัญหาและความขัดแย้งนับแต่ภายหลังการเลือกตั้งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2548 ออกมาได้อย่างเด่นชัดว่าเป็นองค์ประกอบอย่างไร
ผ่านการเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ผ่านการเคลื่อนไหวขององค์กรพิทักษ์สยามเพื่อการแช่แข็งประเทศไทย และผ่านการเคลื่อนไหวปฏิรูปก่อนเลือกตั้งของ กปปส.

เหมือนกับจะรุก
สะท้อนการตั้งรับ

ต่อปรากฏการณ์การขอตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนเหมือนกับจะเป็นการรุกอีกก้าวต่อการถอยของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
แต่คำถาม 1 ก็คือ จากเดือนสิงหาคม 2560 ถึงเดือนสิงหาคม 2561 ทำไมจึงไม่มีการส่งตัว
อย่าว่าแต่จากอังกฤษ อย่าว่าแต่จากดูไบ อย่าว่าแต่จากรัสเซีย หากแม้กระทั่งเมื่อเดินทางไปยังจีน เมื่อเดินทางไปญี่ปุ่น และรวมถึงสิงคโปร์
ทำไมจึงไม่มีประเทศใดส่งตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้กับรัฐบาลไทย
เหมือนกับรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 จะเป็นการรุกเข้าใส่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกถอดถอน ถูกอายัดทรัพย์ ถูดดำเนินคดี กระทั่งในที่สุด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตัดสินใจเดินทางออกนอกประเทศเช่นเดียวกับกรณีของนายทักษิณ ชินวัตร
แต่ถามว่า ตราบ ณ วันนี้มีประเทศใดยินยอมส่งตัวนายทักษิณ ชินวัตร ให้ในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนบ้าง และถามว่า ตราบ ณ วันนี้มีประเทศใดยินยอมส่งตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนบ้าง
สถานการณ์เช่นนี้เองทำให้สภาพการรุกในทางการเมืองแปรเปลี่ยนเป็นการรับในทางการเมืองไปได้โดยอัตโนมัติ

จาก นคร มาฉิม
ถึง อนาคตใหม่

ปฏิบัติการของ คสช. ในการแจ้งความกล่าวโทษรายการ “คืนวันศุกร์ให้ประชาชน” ที่ดำเนินการโดยนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เท่ากับเป็นการเตะสกัดขาพรรคอนาคตใหม่ผ่าน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ด้วยความผิดที่เกือบจะเหมือนกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116
ประเด็นอันเป็นเนื้อหาใหญ่ใจกลางคือ กรณีของ “พลังดูด”
หากนำเอากรณีของพรรคอนาคตใหม่และนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ไปพิจารณาอย่างประสานกับกรณีของจดหมายเปิดผนึกของนายนคร มาฉิม ก็จะทำให้เข้าใจสถานการณ์ทางการเมืองนับแต่รัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 เป็นต้นมา
ทุกอย่างล้วนอยู่บนมูลฐานบทสรุปที่ว่า รัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 เป็นรัฐประหารเสียของ จึงจำเป็นต้องก่อรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557
และทำให้ไม่ตกอยู่ในความล้มเหมือนกับรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ที่อยู่ในสภาพเสียของ ความหมายอย่างแท้จริงของคำว่าเสียของก็คือ ไม่สามารถบดขยี้พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชนและพรรคเพื่อไทยได้อย่างแหลกละเอียด
เลือกตั้งเดือนธันวาคม 2550 พรรคพลังประชนชนะ เลือกตั้งเดือนกรกฎาคม 2554 พรรคเพื่อไทยชนะ
จึงต้อง “รัฐประหาร” และจึงต้องใช้ “พลังดูด”

กรณีพลังดูด
ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง

การกล่าวโทษพรรคอนาคตใหม่ที่ไปวิจารณ์ “พลังดูด” การยื่นฟ้องจดหมายเปิดผนึกนายนคร มาฉิม ที่เปิดโปงเบื้องหลังการรัฐประหารกำลังจะเป็นคนละเรื่องเดียวกัน
เหมือนกับ คสช.เป็นฝ่ายรุก เหมือนกับพรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายรุก
แต่เมื่อประมวลเอากรณีของ “พลังดูด” ประสานและวิเคราะห์กับกรณีของ “จดหมายเปิดผนึก” ประสานและวิเคราะห์กับกรณีการทำหนังสือขอตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จากทางการอังกฤษในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน
ทั้งหมดล้วนเนื่องมาแต่รัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 และรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557
ด้วยการประสาน “รัฐประหาร” เข้ากับ “พลังดูด”
โดยมีเป้าหมายอยู่ที่การสืบทอดอำนาจต่อไปอีกอย่างน้อย 20 ปี เพื่อมิให้รัฐประหารต้องเสียของ