หลังเลนส์ในดงลึก / ปริญญากร วรวรรณ / ‘เถื่อน’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
ช้างป่า - ในหลายพื้นที่บนโลกใบนี้ ดูเหมือนว่าการกระทบกระทั่งระหว่างช้างและคนหนักหนารุนแรงมากขึ้น การร่วมมืออย่างจริงจังเพื่อหาวิธีการอยู่ร่วมกันคือเรื่องจำเป็น

หลังเลนส์ในดงลึก / ปริญญากร วรวรรณ

 

‘เถื่อน’

 

เวลาในป่า ทำให้ผมรู้จักความหมายในอีกด้านหนึ่งของคำว่า “เถื่อน”
สำหรับผม คำว่าเถื่อน เมื่อพูดถึงสัตว์ป่า นั่นหมายถึงความตรงไปตรงมา ไม่ซับซ้อน แสดงออกมาอย่างที่กำลังรู้สึก ไม่ว่าจะเป็นการก้าวร้าว โกรธ หวาดกลัว วางใจ รวมถึงขณะอยู่ในอารมณ์รักใคร่
มีบ้างบางครั้งที่พวกมันปกปิดอาการหวาดกลัวด้วยความก้าวร้าว
และมีหลายครั้งที่ก้าวร้าว เมื่อถูกไล่ต้อนกระทั่งจนมุม
ผมใช้คำว่า “เถื่อน” กับผู้ชายคนหนึ่ง
ใช้ในวันที่เขาจากไป และผมมีโอกาสได้รู้จักเขาจริงๆ

ชายหนุ่มผมสกินเฮด ผิวคล้ำจัด ร่างล่ำสัน วัย 26 ปี ที่ผมพบ ชื่อว่าฮาบิ
เขาอยู่ในหมู่บ้านไอร์กือเนาะ อำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส
บนภูเขาที่ชุกชุมด้วยเหตุการณ์ความไม่สงบ ผมทำงานร่วมกับฮาบิระยะเวลาหนึ่ง
เขาเข้ามาร่วมงานกับโครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก (ส่วนภาคใต้) โดยการชักชวนของปรีดา เทียนส่งรัศมี หัวหน้าโครงการ
แม้จะสนิทสนมและได้ร่วม “ผจญภัย” บนภูเขาด้วยกันเสมอ
แต่เราต่างไม่รู้หรอกว่า ผมหรือเขาเป็นใคร มีภูมิหลังกันมาเช่นไร
ผมไม่เคยถามฮาบิ และฮาบิก็ไม่เคยถามเช่นกัน
ผมรู้เพียงว่า ก่อนมาร่วมติดตามดูแลนกเงือก อาชีพฮาบิคือเลื่อยไม้ ถางป่า รวมทั้งปีนต้นไม้ล้วงเอาลูกนกเงือกไปขาย
บ่ายแก่ๆ วันหนึ่ง เขาบอกเราว่าจะออกไปซื้ออะไหล่รถมอเตอร์ไซค์
เขาไม่ได้กลับมาหาเราอีก
ฮาบิถูกยิงตายระหว่างทางเข้าเมือง

ที่พักของเราในหมู่บ้านไอร์กือเนาะ เป็นบ้านใต้ถุนสูง รายล้อมด้วยสวนมังคุด เงาะ ลองกอง และทุเรียน
“เฮ้ย ไอ้บิ อย่ายุ่งกับของเราโว้ย” ปรีดาตะโกนบอกฮาบิที่กำลังรื้อเป้เขา ล้วงเอากระเป๋าสตางค์ขึ้นมาเปิดดู ฮาบิหันมายิ้ม โยนกระเป๋าไว้ข้างเป้ ก่อนถอดเสื้อยืดสีมอๆ แขวนกับขื่อ
“ร้อน เราไปอาบน้ำแล้ว” เขาพูดไทยชัด ชีวิตปกติเขาใช้ภาษายาวีอันเป็นภาษาถิ่น ห่างจากบ้านราว 50 เมตร ลำธารน้ำใสไหลผ่านแนวหินระเกะระกะ
ฮาบิเดินไปคว้าผ้าขาวม้าผมที่ตากไว้กับราวไม้ไผ่
“บิ นั่นผ้าขาวม้าผม ใช้ไม่ได้” ผมตะโกนบ้าง
เขาหันมายิ้มอีกครั้ง ไม่ทำตามที่ผมบอก เดินไปตามทางเล็กๆ สู่ลำห้วย
ผมส่ายหัว หันมายิ้มกับปรีดา
เรานั่งบนแคร่ไม้ไผ่ ฮาบิพามาดูบ้านที่สร้างด้วยไม้ไผ่หลังนี้ บ้านสร้างมานานพอสมควร ฟากที่ทำพื้นและฝาเต็มไปด้วยมอด
“เจ้าของไม่อยู่ เขากลัว ทิ้งสวนเข้าไปอยู่ในเมืองแล้ว” ฮาบิบอก
บ้านหลังนี้กลายเป็นศูนย์นกเงือกบ้านไอร์กือเนาะ
เราใช้เป็นที่พัก ก่อนและหลังการขึ้นไปทำงานบนภูเขา
นอกจากผลไม้จะอุดมสมบูรณ์ ด้านหลังเป็นบริเวณที่ลำห้วยสองสายบรรจบกัน
บ้านในสวนเต็มไปด้วยขี้มอด เป็นที่พักที่สบายของเรา

ฮาบิเข้ามานั่งในซุ้มบังไพรที่ผมกำลังเฝ้าดูนกชนหิน
“เมื่อก่อนเราไม่รู้ว่านกเงือกมีประโยชน์ ถึงปีนขึ้นไปล้วงเอาลูกมันไปขาย” ฮาบิพูดเสียงเบา
โพรงนกอยู่กับต้นตะเคียนใหญ่สักสองคนโอบ อยู่ห่างไปราว 30 เมตร
ตั้งแต่ช่วงโคนต้นถึงปากโพรง มีตะปูขนาด 4 นิ้ว ตอกลึกเข้าไปในต้นราวหนึ่งนิ้ว เรียงเป็นแนว
“ตะปูนั่น เราตอกไว้เอง ไว้เหยียบขึ้นไปล้วงเอาลูกนก” ฮาบิพูดต่อ
“เราตะแคงตีนเหยียบ ใช้นิ้วชี้กับนิ้วโป้งจับตะปู ขึ้นไม่ยากหรอก”
ผมมองไปที่ตะปู ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยในการขึ้นด้วยวิธีนั้น
ดูเหมือนเรียกว่าบ้าบิ่น คงเหมาะสมกว่าใช้คำว่ากล้า กับการขึ้นต้นไม้อย่างนั้น
“บางปีเราได้เงินหลายหมื่น ลูกนกขายได้ตัวหนึ่งเป็นพันๆ” เขาเล่า
ฮาบิและเพื่อนๆ จับจองพื้นที่บนภูเขา แถบนี้มีโพรงรังนกเงือกอยู่ตรงไหน เขารู้หมด
พวกเขาขึ้นไปล้วงเอาลูกนก แบบไม่มีพิธีรีตองอะไรทั้งสิ้น
ต่างจากชาวบ้านเชิงเขาบูโด อย่างแบมุ ซึ่งจะใช้ไม้ท่อนยาวๆ มาประกบต้นโพรง และใช้ไม้สั้นๆ มัดด้วยเถาวัลย์ ลักษณะคล้ายขั้นบันได ปีนขึ้นไป
“ต่อไปนี้เราจะไม่ขึ้นไปล้วงลูกนกแล้ว จะช่วยพวกพี่ทำงาน” ฮาบิพูดชัดเจน
“เราจะบอกเพื่อนๆ ด้วยว่าไม่ให้ใครขึ้น ถึงคนโตๆ ก็ฟังเราพูด”
ผมมองหน้าชายหนุ่มผิวคล้ำ เห็นความมุ่งมั่นเปล่งประกายอยู่ในแววตา

ฮาบิช่วยงานได้มาก เดินป่าคล่อง แม่นยำ ไม่หลง เขาพาไปดูโพรงนกเงือกหลายโพรง ฮาบิเดินเร็ว นำหน้าลิ่ว ตัวปลิว ไม่สนใจจะช่วยแบกสัมภาระอย่างอื่น ข้าวสาร เสบียง อุปกรณ์ต่างๆ เป็นหน้าที่ของเรา
ถึงที่ตั้งแคมป์ ฮาบิไม่รีรอที่จะรื้อเป้ เสบียง หยิบอาหารที่กินได้ไปกิน หายไปจากแคมป์นานๆ และกลับมาพร้อมกับผลไม้ ไม่ก็สะตอหอบใหญ่
“ทุเรียนต้นนี้โดนช้างดันล้ม มังคุดกับเงาะนี่ด้วย” เขาโยนผลไม้ที่หอบมาลงพื้น
ฮาบิเคยเดินนำผมไปพบกับช้างกลุ่มเล็กๆ ที่ดูจะหงุดหงิด ขี้โมโห พวกมันได้กลิ่นเรา และวิ่งเข้าหา จนเราต้องวิ่งหนี
“ช้างถูกชาวบ้านที่เข้ามาปลูกผลไม้ยิงไล่บ่อย พวกมันเลยไม่ชอบคน”
ฮาบิพูดตอนเรานั่งหอบเพราะความเหนื่อย หลังหลบพ้นช้างแล้ว
มังคุดกับเงาะหอบใหญ่ ฮาบิกินเกือบหมด
คืนนั้นเขาท้องเสีย ฮาบิใช้ใต้เปลเป็นส้วมอย่างสบายใจ

วันนั้นฮาบิออกไปซื้ออะไหล่รถมอเตอร์ไซค์
“กลับจากงานนี้ เราจะมาอยู่กับพวกพี่ตลอดไม่ไปไหนแล้ว เราอยากอนุรักษ์” วันนั้นเขาพูดเช่นนี้
ผมไม่รู้หรอกว่า “งาน” ของฮาบิคืออะไร ไม่เคยคิดจะถาม
“บิมันรู้ว่ามีรถตาม มันล้ม มอเตอร์ไซค์ขวางถนน และชักปืนยิง” เซ น้องชายที่ซ้อนรถไปด้วย เล่าให้เราฟังวันต่อมา
คนขับรถโดนกระสุน แต่อีกสองคนบนกระบะหลังยืนขึ้นตอบโต้ฮาบิ
“มันโดนลูกปืนนับไม่ถ้วนเลย” เซหลบหนีมาได้

ผมเรียกชายหนุ่มวัย 26 ปี ผิวคล้ำ ผมทรงสกินเฮดคนนี้ด้วยความสนิทสนมว่า “ไอ้เถื่อน”
กับช่วงเวลาที่ผมเห็นในสิ่งที่เขาเป็น
“เถื่อน” ในความหมายที่ผมรู้จัก
ผมเชื่อว่าเป็นการเรียกอันเหมาะสม