วงค์ ตาวัน : การมุ้ง “ทอมกระทืบ”-การเมือง “ชกปาก”

วงค์ ตาวัน

ยุคที่มีกล้องวงจรปิด มีมือถือไว้ถ่ายคลิปในทุกๆ เหตุการณ์ได้อย่างฉับไว ทำให้เราได้เห็นความจริงของสังคมในทุกวันนี้ว่าเต็มไปด้วยผู้คนที่ใช้อารมณ์ ใช้กำลังความรุนแรงเข้าหากัน ไม่ว่าจะบนท้องถนนต่างๆ ตามสถานที่ต่างๆ ส่วนหนึ่งอาจเพราะชีวิตเต็มไปด้วยความเร่งร้อน อะไรต่อมิอะไรก็เลยร้อนไปหมด

ยิ่งไปกว่านั้น การใช้ความรุนแรงของคนในครอบครัว ระหว่างสามีกับภรรยา ไปจนถึงคู่รักหนุ่มสาว หรือคู่รักเพศเดียวกัน ซึ่งเป็นข่าวเศร้าสลดอยู่เสมอๆ

“เพราะไม่ใช่แค่วิวาทกันเฉพาะหน้าแล้วผ่านเลยไป แต่ต้องใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันทุกวันทุกคืน จึงมีการใช้ความรุนแรงซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนสุดท้ายบานปลายสายเกินแก้”

ที่เพิ่งเป็นข่าวเกรียวกราว สาวทอมใช้กำลังทำร้ายแฟนสาวอย่างไม่ปรานีปราศรัยจนได้รับบาดเจ็บค่อนข้างหนัก แล้วมีผู้นำภาพจากวงจรปิดและจากคลิปมือถือมาโพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก จนเกิดกระแสอื้ออึงไปทั้งเมือง

ด้วยภาพที่ปรากฏนั้น เป็นการกระทำที่รุนแรงอย่างยิ่ง

เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องรีบออกติดตามจับกุมอย่างฉับไว โดยมีหลักฐานชัดเจนจนไม่สามารถปฏิเสธได้

“ถือเป็นโชคดีของหญิงสาวรายนี้ ที่ระบบกฎหมายเข้ามาจัดการกับสาวทอมได้ก่อนที่เธอจะต้องถูกทำร้ายไปเรื่อยๆ มากกว่านี้”

ความที่ลงมือก่อเหตุในลานจอดรถของหอพักนั่นเอง ทำให้มีพยานเห็นเหตุการณ์มากมาย และได้กล้องวงจรปิดพร้อมคลิปด้วย ทำให้เรื่องราวกระจ่างชัด จนถูกดำเนินคดีทันที

โดยทั่วไปเชื่อได้ว่า การใช้กำลังทำร้ายเพศที่อ่อนแอกว่า ในครอบครัว หรือในหมู่คู่รัก เกิดขึ้นมากมายในสังคมไทยยุคนี้

แต่ส่วนใหญ่เกิดในห้องพัก ในบ้าน ยากที่คนนอกจะรู้เห็นชัดเจนหรือสามารถบันทึกภาพไว้เป็นหลักฐานได้ หรือเพื่อนบ้านเพื่อนข้างห้องอาจรับรู้จากเสียงการร่ำร้องหรือการตบตี ก็ไม่สามารถยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือได้ ด้วยมักไม่อยากยุ่งเรื่องภายในของครอบครัวอื่น

“เรื่องเช่นนี้มีอยู่มาก และหลายรายลงเอยถึงแก่ชีวิต”

เพราะไม่มีเพื่อนสังคมเข้าไปช่วยหยุดยั้งได้ ยิ่งในกรณีที่ฝ่ายหญิงไม่มีทางไป หรือหาทางออกในชีวิตให้กับตัวเองไม่ได้ มักกลายเป็นทาสอารมณ์ให้กับคู่รักที่แข็งแรงกว่า แล้วก็เพิ่มความโหดเหี้ยมมากขึ้นๆ จนเป็นเรื่องเศร้าสลดไปในที่สุด

คดีสาวทอมกับแฟนสาวและบทบาทของกระแสสังคม จึงเป็นแบบอย่างที่ช่วยเตือนสติของผู้ใช้ความรุนแรงต่อคนรักได้เป็นอย่างดี

ทั้งน่าจะขยายไปถึงการใช้ความรุนแรงมากกว่าเหตุผลของทุกๆ ส่วนในสังคมด้วย

ไม่เว้นแม้แต่กรณีผู้นำการเมืองหัวร้อน!

ขณะที่คดีสาวทอมทำร้ายแฟนสาวกลายเป็นกระแสใหญ่ในสังคมไทย ผู้คนแสดงความเห็นอย่างล้นทะลักในโซเชียลมีเดีย มีการพูดถึงบทเรียนการใช้ความรุนแรงระหว่างคนรักในสังคมยุคใหม่ว่าเกิดขึ้นมากมายหลายกรณี สมควรต้องสรุปเป็นบทเรียนให้ได้

ระหว่างนั้นเอง ผู้นำการเมืองไทยซึ่งอยู่ระหว่างเดินสายสัญจรไปหลายๆ พื้นที่ โดยเดินสายไปก็ต้องปฏิเสธไปว่า ไม่ได้มาหาเสียงเพื่อเตรียมเลือกตั้งครั้งหน้า ไม่ได้เอางบประมาณมาลงตามพื้นที่เพื่อเรียกคะแนนนิยม และไม่ได้ตั้งใจมาพบปะเพื่อดูดอดีต ส.ส.คนไหน

“ในการปราศรัยกับประชาชนนั้น ก็ได้กล่าวถึงการวิพากษ์วิจารณ์ของสื่อมวลชนที่มีมาตลอด 4 ปีที่อยู่ในอำนาจ โดยแสดงอารมณ์ถึงการจะชกปากคนที่มาด่า”

บรรดาคอการเมืองพากันส่ายหน้า และนี่ไม่ใช่การหลุดปากอย่างแน่นอน เพราะหลายต่อหลายหนที่มักแสดงอารมณ์เช่นนี้

ส่วนหนึ่งคงมาจากความเป็นผู้นำหน่วยกำลัง ที่อยู่กับการใช้อำนาจและความเด็ดขาดมายาวนาน

“จนเกิดคำถามว่า การเมืองจะไม่อยู่บนพื้นฐานการถกเถียงระหว่างความคิดต่าง การบริหารรัฐบาลจะไม่เปิดโอกาสให้ใครเห็นแย้ง หรือเสนอความเห็นที่เป็นอื่นได้เลยหรืออย่างไร!?”

ทั้งที่ผู้คนทั้งสังคมเพิ่งป่าวประณามสาวทอมที่ใช้กำลังรุนแรงต่อหญิงสาวคนรัก อยู่ระหว่างการต่อต้านการใช้ความรุนแรงในระหว่างความรักของคนสองคน

แต่ในระดับชาติ ผู้นำทางการบริหารก็พูดจาโจ่งแจ้งถึงการชกปากคน

แสดงให้เห็นว่าสังคมไทยเรา เน้นการใช้อารมณ์มากกว่าการพูดคุยโต้แย้งด้วยเหตุผลอย่างอดทน

“เช่นนี้แล้วระหว่างเหตุการณ์สาวทอม กับเหตุการณ์ในการเมืองระดับชาติ ก็อยู่ในระดับที่ไม่ต่างกันเท่าใดนัก”

แล้วจะน่าสยดสยองอย่างมาก หากย้อนมองการใช้ความรุนแรงเข้าจัดการปัญหาของการเมืองไทยที่มีมาตลอด ปรากฏเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์เลือดหลายต่อหลายหน

การใช้ทหารปราบปรามผู้ชุมนุมจนล้มตายไปกว่า 70 ชีวิต เมื่อ 14 ตุลาคม 2516 การสร้างกระแสใส่ร้ายป้ายสีแล้วล้อมฆ่านักศึกษาประชาชนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อ 6 ตุลาคม 2519

การปราบปรามม็อบเมื่อพฤษภาคม 2535 โดยรัฐบาลทหาร รสช. มีประชาชนล้มตายไปกว่าครึ่งร้อย

จนกระทั่งรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน ที่เข้ามาแก้ไขปัญหาหลังจากนั้นต้องมีมติให้เลิกการใช้ทหารมาสลายม็อบทางการเมืองอย่างเด็ดขาด ให้จัดตั้งตำรวจปราบจลาจล และให้ใช้หน่วยนี้เท่านั้นในการควบคุมฝูงชน

แต่แล้วรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ก็ใช้อำนาจ ศอฉ. ให้ใช้กระสุนจริงและเจ้าหน้าที่ทหารในการแก้ปัญหาม็อบเสื้อแดงในปี 2553 ซ้ำรอยเดิมอีก และมีคนตาย 99 คน

“นี่คือประวัติศาสตร์เลือด ที่ต้องจดจำและต้องไม่ปล่อยให้การแก้ปัญหาการเมืองอยู่บนพื้นฐานการใช้อารมณ์ การใช้ความรุนแรงอีกต่อไป!”

แต่การเมืองที่จะใช้ความรุนแรงเข้าจัดการปัญหานั้นมักมาจากการเมืองในยุคเผด็จการ ที่เน้นความเฉียบขาด จัดการบ้านเมืองให้สงบราบคาบ

นั่นจะนำมาซึ่งการไร้สิ้นเสรีภาพของคนคิดต่าง ประชาชนไม่สามารถมีส่วนร่วมในทางการเมือง ไปจนถึงการสูญเสียชีวิตเลือดเนื้อของนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

การใช้วิธีรัฐประหารเข้าควบคุมสถานการณ์บ้านเมือง หรือกลุ่มคนที่เชียร์ให้ทหารเข้ามาล้มกระดานเพื่อตัดสินปัญหาในยามการเมืองเกิดวิกฤต ล้วนแต่เป็นแนวคิดและวิธีการที่อยู่บนพื้นฐานการใช้อำนาจและความรุนแรงเข้ามาแก้ไขปัญหาเช่นกัน

“ไม่ใช่วิถีการเมืองที่เจริญทางปัญญา”

ที่น่าสนใจก็คือ ในเหตุการณ์ 99 ศพนั้น รัฐบาลอภิสิทธิ์-สุเทพ ในนาม ศอฉ. ซึ่งใช้ทหารเข้ามาจัดการม็อบ บรรดาแกนนำกองทัพในปี 2553 นั้นก็คือคณะรัฐประหารเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 หรือรัฐบาล คสช. ในปัจจุบัน แล้วการรัฐประหารปี 2557 เกิดขึ้นเพราะสถานการณ์บ้านเมืองเข้าสู่ทางตัน โดยม็อบ กปปส. ที่มีนายสุเทพเป็นแกนนำ

จุดที่เห็นชัดว่าอะไรเป็นอะไรก็คือ เมื่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์ยอมถอยกรูด ประกาศยุบสภาให้เลือกตั้งใหม่ แต่แกนนำ กปปส. ประกาศไม่ยอมรับหนทางประชาธิปไตย อ้างว่าต้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ทำให้เข้าสู่จุดที่ทหารเข้ามายึดอำนาจ ซึ่งก็คือกองทัพที่ร่วมกันกับรัฐบาลเมื่อปี 2553 ที่เกิดเหตุ 99 ศพนั่นเอง

“ถ้ามองเป็นขบวนการร่วมกัน ก็ชัดว่าเป็นขบวนการที่อยู่กับการใช้กำลังและอำนาจจัดการปัญหา!”

จากนี้ยังเป็นขบวนการร่วมกัน เพื่อทำให้อำนาจหลังการเลือกตั้งครั้งหน้ายังอยู่กับคณะ คสช.ต่อไป และมีนายสุเทพตั้งพรรคใหม่เพื่อร่วมเป็นรัฐบาลชุดหน้านี้ด้วย

“แบบนี้แล้ว ท่วงทำนองผู้นำการเมืองหัวร้อน ก็คงดำเนินต่อไปในการเมืองสมัยหน้าหรือไม่!?”

ถ้าสังคมไทยไม่ยอมรับและร่วมกันแสดงพลังเพื่อต่อต้านสาวทอมที่ใช้ความรุนแรงกับสาวคนรัก

ทั่วทั้งสังคมอาจจะต้องมองไปถึงการใช้กำลังความรุนแรงในปัญหาทุกระดับ

รวมทั้งในการเมืองระดับชาติสไตล์ชกปากด้วย!