เยือน ILOILO ฟิลิปปินส์ เยี่ยมครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้า ตอนที่ 7 “พัฒนาคุณภาพการศึกษา”

สมหมาย ปาริจฉัตต์

Drug Education

บทสนทนาว่าด้วยการศึกษาไทย ฟิลิปปินส์ ระหว่างกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กับผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการฟิลิปปินส์ ดำเนินต่อไป จนกระทั่ง Mr.Jesus L.R. Mateo ปลัดกระทรวงศึกษาธิการฟิลิปปินส์ (Undersecretary Department of Education) มาถึง เข้าสมทบ

ยื่นมือมาจับทักทายกับทุกคน พร้อมขอโทษที่มาล่าเพราะไปทำธุระให้คนที่บ้าน และการจราจรในมะนิลาติดขัดหนัก น่ารักจริงๆ คนรักภริยา

ก่อนให้เจ้าหน้าที่ฉายภาพ Education Development Updates ขึ้นจอ การจัดการศึกษาของฟิลิปปินส์ เป็นฐานข้อมูลประกอบการพูดคุยกันต่อ

 

เริ่มต้นด้วยหลักการใหญ่ 4 ประการ Quality คุณภาพการศึกษา Accessible โอกาสการเข้าถึงการศึกษา Relevant ความสัมพันธ์กับงานที่ทำ และ Liberating ความเป็นอิสระ

ที่น่าคิด น่าสนใจ หลักการข้อสามให้น้ำหนักกับการนำการศึกษาไปใช้ประโยชน์ได้ในชีวิตจริง สอดคล้องกับสถานการณ์จ้างงานในโลกปัจจุบัน ผู้จ้างให้ความสำคัญกับกระดาษ ใบประกาศนียบัตร ปริญญา น้อยลงๆ ไม่สำคัญว่าคุณเรียนจบอะไรมา สำคัญว่าคุณทำอะไรเป็นบ้าง ทำอะไรได้บ้าง

การศึกษาจึงต้องตอบสนองและตรงกับงานที่ทำ ไม่ใช่เรียนไปแล้วไม่รู้ว่าจะเอาไปใช้อะไร อย่างไร เรียนไปแล้วไม่ได้ใช้ หรืองานที่ทำไม่ตรงกับสิ่งที่เรียนมา การศึกษาก็เปล่าประโยชน์

หลักยึดทั้ง 4 ข้อแปรออกมาสู่การวางโครงสร้างหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานในระดับชั้นปฐมวัย ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 ดังภาพที่นำมาให้เห็นนี่แหละครับ

ฟิลิปปินส์เพิ่งขยายการศึกษาขั้นพื้นฐานจาก 10 ปีเป็น 12 ปีเมื่อปี 2556 สิ่งที่น่าสนใจอีกประการ การกำหนดนโยบายสาธารณะด้านการศึกษา การศึกษาเพื่อปวงชน Education for All มีคณะกรรมการระดับชาติ (National Education Committee for All) รับผิดชอบ ระดมภาคส่วนต่างๆ เข้าร่วม ทั้งภาครัฐ นอกภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาชน จนถึงท้องถิ่นและโรงเรียน โดยเฉพาะระดับท้องถิ่นมี Local School Broad ด้านการสนับสนุนงบประมาณให้โรงเรียน มีข้อกำหนดว่า 1% ของภาษีทรัพย์สินที่จัดเก็บได้ ต้องนำให้กับการศึกษา

 

ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประมูลมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าฯ หัวหน้าคณะ เล่าถึงกิจกรรมที่ได้ไปร่วมงานมอบประกาศนียบัตรนักเรียนโรงเรียนมัธยมคานิงกัลวันวาน สัมผัสมือแสดงความยินดีกับนักเรียนและพ่อแม่ผู้ปกครองหลายร้อยคน หลายร้อยครั้ง ประทับใจมาก

“การสนับสนุนการศึกษาโดยเฉพาะโรงเรียนในเขตพื้นที่ชนบทห่างไกล ในเมืองไทยมีโรงเรียนบนภูเขาสูงมากมายหลายแห่ง ทางการช่วยเหลือระดมภาคส่วนต่างๆ ไปส่งเสริมให้การศึกษามีคุณภาพมากขึ้น”

“คุณขึ้นเขา เราขับเรือ” ปลัดกระทรวงศึกษาธิการฟิลิปปินส์ตอบ เหตุจากภูมิประเทศเป็นเกาะแก่งจำนวนมาก ต้องเดินทางโดยทางเรือเพื่อไปดูและช่วยเหลือโรงเรียน

ทีมงานฝ่ายดูแลงบประมาณกระทรวงศึกษาธิการเสริมว่า งบฯ ด้านการศึกษาเป็นอันดับหนึ่ง มีโครงการปฏิรูประบบงบประมาณ ปฏิรูประบบภาษี กำลังจะหาจากภาษีอื่นๆ อีก

“การลงทุนทางการศึกษาเป็นพันธสัญญาจากรัฐเพื่อยกระดับคุณภาพ ระดับการศึกษาพื้นฐานมีโครงการ K-12 Education Program วางกรอบแนวทางการจัดทำหลักสูตร (Philippine Basic Education Curriculum Framework) โดยเน้นพัฒนาการศึกษาในเรื่องเหล่านี้

1. การให้ความรู้เกี่ยวกับยาเสพติด Drug Education

2. ความรู้เรื่องเพศศึกษาแบบเจาะลึก Comprehensive sexuality education

3. โครงการฝึกพลเมือง Citizenship Training Program

4. วิชาแนะแนวในคาบโฮมรูม Homeroom Guidance

5. การฝึกงานในสถานที่จริง Work Immersion

6. ให้คูปองส่วนลดค่าใช้จ่ายทางการศึกษา Joint Delivery Voucher Program

7. ปรับบริบทของหลักสูตรการศึกษา Curriculum Contextualization

สอดคล้องกับประเด็นที่นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการไทยพูดคุยกับรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการฟิลิปปินส์ระหว่างเดินทางไปเยือนเมื่อเดือนเมษายน 2560 ถึงการแลกเปลี่ยน 6 เรื่อง สามในนั้นคือ การศึกษาเพื่อป้องกันการติดยาเสพติด การศึกษาด้านการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีและด้านการสาธารณสุข การรับมือกับภาวะโลกร้อน

 

ที่น่าติดตาม ขณะที่ฟิลิปปินส์บอกว่าเน้นความสำคัญการใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อกลางการจัดการเรียนการสอนเสมือนเป็นภาษาประจำชาติ โดยกำหนดให้เริ่มต้นตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ฝ่ายไทยพร้อมสนับสนุนเรื่องการทดสอบการประเมินนานาชาติ Pisa การวิเคราะห์และประเมินผล รวมถึงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวปฏิบัติที่ดีระหว่างกัน

ผมเลยต้องกลับไปดูผลการทดสอบโครงการจัดสอบนักเรียนนานาชาติ (Pisa) ล่าสุด ปี 2015 ประเทศที่เข้าร่วม 72 ประเทศไม่มีฟิลิปปินส์อยู่ด้วย

ส่วนไทยเข้าร่วมผลได้อันดับที่ 53 จากคะแนนเต็ม 500 วิทยาศาสตร์ได้ 421 การอ่านได้ 409 คณิตศาสตร์ได้ 415

ไทยคงเล่าประสบการณ์ที่ได้รับให้ฟิลิปปินส์รับรู้ โดยเฉพาะประเด็นการสุ่มหรือคัดเลือกโรงเรียนที่เข้าทดสอบมีผลถึงคะแนนและอันดับที่ออกมา อย่างน้อยก็เพื่อเตรียมพร้อมเด็กและครูในเวทีทดสอบครั้งต่อๆ ไป ทั้งไทย ทั้งฟิลิปปินส์ ผลจะออกมาอย่างไร น่าจับตาทีเดียว

เสียดายไม่ได้ถามปลัดกระทรวงศึกษาธิการฟิลิปปินส์ ว่าจะลงสนามหรือไม่ เมื่อไหร่

กับอีกคำถามที่พลาดไปคือ ฟิลิปปินส์มีปัญหาโรงเรียนกวดวิชาแบบเมืองไทยบ้างหรือไม่ ขนาดญี่ปุ่นยังมีปัญหานี้

เพราะเห็นโฆษณาโรงเรียนนานาชาติจนถึงมหาวิทยาลัยหลายต่อหลายแห่งในหนังสือพิมพ์หลายฉบับ เชิญชวนให้สมัครเข้าเรียน สะท้อนภาพธุรกิจการศึกษาแข่งกันสุดเหวี่ยง

 

ครับ ทั้งหลายทั้งปวงเป็นภาพความเป็นไปทางการศึกษา รวมถึงประเด็นความร่วมมือว่าด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษา การวิจัยที่ใช้เทคโนโลยีเป็นฐาน การจัดการฝึกอบรม การส่งเสริมศักยภาพของผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษา

ความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการไทยและมหาวิทยาลัยราชภัฏจัดหลักสูตรฝึกอบรมออนไลน์เพื่อพัฒนาความเป็นมืออาชีพ ภาวะผู้นำ การบริหารจัดการและเทคโนโลยี จัดทำกรอบมาตรฐานครู

โดยเน้นส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิตอลเพื่อให้สอดคล้องกับการเรียนรู้ในศตวรษที่ 21

ซึ่งล้วนน่ารอดูผลการปฏิบัติจริงของทั้งสองฝ่ายกันต่อไป