เสฐียรพงษ์ วรรณปก : ไม่มีอะไรเกิดขึ้นลอยๆ ในพระพุทธศาสนา

จุดเด่นของพระพุทธศาสนาอย่างหนึ่งคือคำสอนที่ว่า ทุกอย่างเกิดขึ้นดับไป ตามเหตุปัจจัย ไม่มีอะไรที่เกิดขึ้นลอยๆ โดยไม่มีเหตุปัจจัย

คำสอนที่ว่านี้เรียกหลายอย่าง บางทีก็เรียกว่า ไตรลักษณ์ (ลักษณะ 3 ประการ หรือลักษณะที่ปรากฏในสรรพสิ่งเหมือนๆ กัน) มี 3 ประการ คือ

1. สรรพสิ่งที่เกิดขึ้นมา ไม่เที่ยงแท้ถาวร แปรเปลี่ยนไปตามกาล และดับไปตามกาลเวลา ไม่มีอะไรที่เป็นอมตะนิรันดร์กาล มีแต่ในคำพูดเล่นสำนวนเท่านั้น

2. สรรพสิ่งที่เกิดขึ้นมา ล้วนคงอยู่ในสภาวะเดิมไม่ได้แม้วินาทีเดียว ที่เราเห็นว่ามันคงที่ ไม่เปลี่ยนแปลงเลยนั้น เพราะ “ความถี่” แห่งการเปลี่ยนแปลงมันสูง มันเร็วมาก จนมองไม่เห็นว่ามันเปลี่ยน ดุจมองเปลวไฟที่เกิดดับ เกิดดับ ตลอดเวลา เป็นเปลวเดียวไม่เกิด ไม่ดับเลยฉะนั้น

3. สรรพสิ่งเป็นเพียง “ก้อนธรรมชาติ” ที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวขององค์ประกอบต่างๆ เท่านั้น ตราบใดที่องค์ประกอบเหล่านั้นยังคงทำงานร่วมกันอยู่

สิ่งนั้นก็ดำรงอยู่ได้ แท้ที่จริงหามี “ตัวตน” ที่แท้ไม่

ยกตัวอย่างคนเรานี่แหละ ไม่ต้องยกอื่นไกล ที่เรียกว่า “คน” ที่เรียกว่านายดำ นายแดงนั้น เป็นเพียงส่วนประกอบขององค์ประกอบขององค์ประกอบ 5 ส่วน อันเรียกว่า “ขันธ์ 5” คือ

ส่วนที่เป็นรูปธรรม คือร่างกาย อันประกอบขึ้นจากดิน น้ำ ลม ไฟ

ส่วนที่เป็นนามธรรม คือการรับรู้ ความจำได้หมายรู้ ความรู้สึกต่างๆ และความคิดปรุงแต่งต่างๆ

พูดสั้นๆ ว่ารูปกับนาม หรือรูปธรรมกับนามธรรม

ส่วนประกอบเหล่านี้มันเองก็ไม่เที่ยงแท้ แปรเปลี่ยนตลอดเวลา ถึงเวลาอันสมควรมันก็ดับสลายไป ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไม่มีใครบังคับมันได้ เช่น ถึงคราวมันเสื่อมไปตามกาล ฟันที่แข็งแรงดี มันก็โยกคลอน ผมที่ดำสลวยมันก็หงอก ผิวหนังที่เต่งตึงมันก็เหี่ยวย่น หย่อนยาน ใครห้ามมันได้ล่ะ

ขนาดวิ่งไปหาหมอศัลยกรรม ดึงนั่น ปะนี่ ก็เพียงชะลอไว้ชั่วครู่ชั่วกาลเท่านั้น บางคนทำแล้วแทนที่จะสวยจะดีกว่าเดิม กลับน่าเกลียดไปกว่าเดิมก็มี (ฉีดซิลิโคนให้หน้าอกเต่งตึง ไม่ทันไร มันละลายห้อยโตงเตงเป็นฟักแฟงเสียอีกแน่ะ น่ากลุ้มแทนชะมัด)

เมื่อส่วนประกอบแต่ละอย่างมันไม่เที่ยงแท้ถาวร เป็นไปตามกฎธรรมดา จะหา “ตัวตน” ที่แท้จริงได้แต่ที่ไหน นายนั่น นางนี่ ก็เพียงคำสมมุติเรียกกันเท่านั้นเอง เอาเข้าจริงนายนั่น นางนี่ก็ไม่มี

บางครั้งพระพุทธเจ้าก็ตรัสเรียกหลักคำสอนที่ว่านี้ว่า “ปัจจยาการ” (อาการที่เป็นปัจจัย อาการที่มันอาศัยกันเป็นไป)

ท่านสอนหลักกว้างๆ ว่า

“เมื่อสิ่งเหล่านี้มี สิ่งเหล่านั้นก็มี เพราะสิ่งเหล่านี้เกิด สิ่งเหล่านั้นก็เกิด

เมื่อสิ่งเหล่านี้ไม่มี สิ่งเหล่านั้นก็ไม่มี เพราะสิ่งเหล่านี้ดับ สิ่งเหล่านั้นก็ดับ”

นี้เป็น “สูตร” กว้างๆ คำอธิบายก็คือ ทุกอย่างเป็น “ปัจจัย” (อิงอาศัยกัน) ไม่มีอะไรอยู่ได้ลอยๆ ต่างหาก โดยไม่อิงอาศัยสิ่งอื่น

และเพราะมันอิงอาศัยกันอย่างนี้ จึงไม่มีอะไรเที่ยงแท้ถาวร หรืออยู่ได้โดดๆ

สมัยเป็นเด็ก ผู้ใหญ่เล่านิทานให้ฟังเรื่องหนึ่ง ตอนนั้นก็ไม่รู้ดอกว่านิทานมันสอนอะไร มารู้เอาเมื่อโตแล้ว

นิทานมีอยู่ว่า อวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกายต่างก็ทำหน้าที่ของตัวไม่ก้าวก่ายกัน เมื่อมันทำหน้าที่ของตัวโดยสมบูรณ์ ร่างกายก็เป็นไปได้ตามปกติ ไม่ติดขัดหรือขัดข้องอะไร อยู่มาวันหนึ่ง อวัยวะต่างๆ เหล่านี้เกิดถกเถียงกันขึ้น

มือ คุยโม้กับเพื่อนว่า ในบรรดาอวัยวะเหล่านี้ ข้า (มือ) สำคัญที่สุด ที่คนไม่ตายก็เพราะกินอาหาร ถ้าข้าไม่หยิบอาหารเข้าปาก คนก็ตายแหงแก๋แล้ว

เท้า เถียงว่า ไม่จริงดอก ข้าต่างหากสำคัญกว่า ถ้าข้าไม่เดินไปหาอาหาร เอ็งก็ไม่มีปัญญาหยิบอาหารใส่ปาก

ตา บอกว่า ข้าต่างหากมีความสำคัญ ถ้าตามองไม่เห็น ถึงจะมีตีน มีมือ มันก็หยิบไม่ถูกหรอกเว้ย

ปาก เถียงว่า พวกท่านล้วนหาความสำคัญไม่ ข้า (ปาก) ต่างหาก ถ้าข้าไม่อ้าปากรับอาหาร จ้างก็ไม่มีทางอิ่ม อดตายแหงๆ

ฟันก็บอกว่า ถึงเอ็งจะอ้ารับอาหาร ถ้าข้าไม่เคี้ยว ก็ไม่มีทางกินอาหารได้ ตายอยู่ดีแหละ

กระเพาะ เถียงว่า ถึงเอ็งเคี้ยวกลืนอาหารเข้าไป ถ้าข้าไม่ทำหน้าที่ย่อย ก็ท้องอืดตายแน่นอน เพราะฉะนั้น ข้า (กระเพาะ) สำคัญกว่าใครเว้ย

ตูด เถียงว่า อะไรๆ ก็สู้ข้าไม่ได้ดอก ถึงกระเพาะจะย่อยอาหาร เหลือแต่กาก แต่ขี้ ถ้าข้าไม่ระบายออกรูก้นแล้ว รับรองเน่าตาย เหม็นยิ่งกว่าหมาเน่าลอยน้ำอีก อย่ามัวแต่เถียงกันเลย เชื่อเถอะ ข้า (ตูด) สำคัญที่สุด

เมื่ออวัยวะทั้งหมดถกเถียงกันอย่างนี้ ไม่มีใครยอมใคร ในที่สุดก็ประท้วง ไม่ทำหน้าที่ของตัว วันเวลาผ่านไปไม่ถึงสัปดาห์ “คน” (อันเป็นองค์รวมของอวัยวะทั้งหมด) ก็ล้มป่วยลง และสิ้นชีวิตเพราะขาดอาหารในที่สุด

“สาระ” ที่นิทานเรื่องนี้สื่อให้รู้ก็คือ อวัยวะทุกส่วนต่างต้องอาศัยกัน อยู่โดยลำพังไม่ได้ ถ้าต่างฝ่ายต่างทำงานร่วมกัน “คน” ก็อยู่ได้ ไม่ตาย แต่ถ้าแต่ละฝ่ายขัดแย้งกัน “คน” (ที่เป็นองค์รวม) ก็อยู่ไม่ได้เช่นกัน

นี้แหละครับคือหลัก “ปัจจยาการ” (อาการที่ทุกสิ่งอาศัยกันเป็นไป) หลักคำสอนนี้สามารถนำมาปรับใช้กับการดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้เป็นอย่างดี

สังคมจะอยู่อย่างสันติสุข มีความเจริญก้าวหน้า ก็เพราะแต่ละคนมีส่วนสำคัญ และสำคัญทัดเทียมกัน ในการสร้างสรรค์จรรโลง คนละไม้คนละมือ

ไม่มีใครสำคัญที่สุดเพียงคนเดียว ไม่มีใครไร้ค่าโดยสิ้นเชิง

ทุกคนมีความสำคัญและมีส่วนร่วมเสมอๆ กัน

พูดภาษาพระก็ว่า ทุกคนต่างเป็น “ปัจจัย หรือทุกคนต่างอิงอาศัยกัน ในอันที่จะสร้างสรรค์ จรรโลงสังคมให้เจริญก้าวหน้า และประสบสันติสุข”

คำสอนเรื่องปัจจยาการ ทำให้เรามองกว้าง มองลึก เข้าใจความจริงครบถ้วนสมบูรณ์

ในบางโอกาส พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า “หลักแห่งเหตุผล” โดยแสดงครบชุดในหลักอริยสัจ 4 คือ

ทุกข์และนิโรธ เป็นผล

สมุทัยและมรรค เป็นเหตุ

ทรงชี้ว่า ความทุกข์ (ปัญหาของชีวิตทุกรูปแบบ) ไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ มันมีเหตุเป็นแดนเกิด และเหตุที่ทำให้ทุกข์เกิดนั้นก็คือตัณหา (ความทะยานอยาก) ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะอยากได้ อยากดี อยากมี อยากเป็น ในสิ่งที่ยังไม่ได้ ยังไม่มี ยังไม่เป็น, ไม่ว่าจะอยากให้สิ่งที่น่าปรารถนาที่ได้แล้ว มีแล้ว เป็นแล้ว คงอยู่ตลอดไป, หรือไม่ว่าอยากสลัดทิ้งสิ่งที่ไม่ต้องการออกไป สรุปว่าความอยากของคนนี้แหละเป็นสาเหตุให้เกิดทุกข์

ทรงชี้ต่อไปว่า การหลุดพ้นจากความทุกข์โดยสิ้นเชิงนั้น มีได้ และมิใช่ว่าอยู่ๆ ทุกข์จะหมดไป ต้องมีสาเหตุที่ทำให้หมด สาเหตุแห่งการดับทุกข์นั้นก็คือ การปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์ 8 (คือความเห็นชอบ ดำริชอบ เจรจาชอบ การกระทำชอบ เลี้ยงชีพชอบ พยายามชอบ ระลึกชอบ ตั้งใจมั่นชอบ)

หลักเหตุผลนี้ พระอัสสชิเถระได้สรุปลงด้วยโศลกสั้นๆ ว่า

เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา เตสํ เหตํ ตถาคโต (อาห)

เตสญฺจ โย นิโรโธ จ เอวํ วาที มหาสมโณติ

สิ่งทั้งหลายเกิดแต่เหตุ พระตถาคตเจ้าตรัสเหตุแห่งสิ่งเหล่านั้น และการดับเหตุแห่งสิ่งเหล่านั้น พระมหาสมณะตรัสสอนอย่างนี้

พระอัสสชิเป็นน้องสุดท้องของปัญจวัคคีย์ ถูกส่งออกไปประกาศพระพุทธศาสนาร่วมกับพระอรหันต์ 60 รูป หลังจากได้ไปทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาชั่วระยะเวลาหนึ่ง ได้ทราบว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมายังเมืองราชคฤห์ และประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน จึงเดินทางมาเพื่อเฝ้าพระพุทธเจ้า

เช้าวันหนึ่งพระอัสสชิออกบิณฑบาตในเมืองราชคฤห์ เด็กหนุ่มชื่ออุปติสสะ ศิษย์ของเจ้าลัทธิชื่อสัญชัย เวลัฏฐบุตร พบเข้า รู้สึกประทับใจในบุคลิกอันงามสง่าและสำรวมของท่าน จึงเข้าไปสนทนาด้วย

อุปติสสะขอให้พระอัสสชิแสดงธรรมให้ฟัง พระอัสสชิออกตัวว่า ตัวท่านเพิ่งจะบวชไม่นาน ไม่สามารถแสดงธรรมโดยพิสดาร จึงกล่าวโศลกสั้นๆ ดังข้างต้น

ไม่ว่าจะเป็นหลักปัจจยาการ (อิทัปปัจจยตา หรือปฏิจจสมุปบาท) ไม่ว่าจะเป็นหลักไตรลักษณ์ ไม่ว่าจะเป็นหลักอริยสัจ 4 ล้วนเน้นประเด็นตรงกัน

1. สรรพสิ่งมิได้เกิดขึ้นลอยๆ มีเหตุมีปัจจัยทำให้เกิด

2. ปรากฏการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง มิได้มาจาก “เหตุ” เพียงเหตุเดียว หากมาจาก “ปัจจัย” หลายๆ อย่างรวมกันเข้า

3. เมื่อรู้ว่าสรรพสิ่งจะเกิดหรือดับ เพราะเหตุและปัจจัยหลายอย่าง เมื่อต้องการความเจริญก้าวหน้าในทางใด จึงควรสร้างเหตุและปัจจัยที่จะทำให้ก่อเกิดผลในทางนั้น

4. ไม่ควรนั่งรอ นอนรอโชคชะตา หรือการดลบันดาลของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยมิได้ลงมือสร้างสรรค์ด้วยความพากเพียรพยายามของตน

ชาวพุทธที่เชื่อมั่นในหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า จะเชื่อในกฎแห่งการกระทำ (กรรม) มากกว่าจะนอนรอโชคชะตาหรือความหวังลมๆ แล้งๆ เพราะเชื่อว่าคนเราจะเจริญหรือเสื่อม ขึ้นอยู่กับการกระทำของเขาเอง ดังนิทานชาดกเรื่องต่อไปนี้เป็นตัวอย่าง

พระราชาของสองแว่นแคว้นทำสงครามแย่งชิงอาณาจักรกัน การสู้รบดำเนินไปเป็นเวลานาน ไม่มีใครแพ้ไม่มีใครชนะ จนต้องพักรบ แล้วก็เริ่มรบกันใหม่ เป็นระยะๆ ฤๅษีตนหนึ่งได้ฌานเหาะเหินเดินอากาศได้ วันหนึ่งเหาะไปพบท้าวสักกเทวราช (พระอินทร์) จึงถามพระอินทร์ว่า พระราชาทั้งสององค์ที่กำลังสู้รบกันอยู่นั้น ใครจะชนะ

พระอินทร์บอกว่า พระราชา ก. จะชนะ

ฤๅษีจึงนำความมาเล่าให้ศิษย์คนหนึ่งฟัง ต่อมาคำทำนายนั้นได้ล่วงรู้ไปถึงพระกรรณของพระราชาทั้งสอง

พระราชาองค์ที่ได้รับคำทำนายว่าจะชนะก็ประมาท นึกว่าตนจะชนะอยู่แล้ว จึงไม่ใส่ใจปรับปรุงกองทัพให้เตรียมพร้อม

ส่วนพระราชาองค์ที่ได้รับคำทำนายว่าจะแพ้ ก็ตั้งหน้าตั้งตาฝึกฝนกองทัพของตนให้เชี่ยวชาญในกระบวนการสู้รบ ไม่ตั้งอยู่ในความประมาท กองทัพของตนจึงพร้อมที่จะเข้าสู่สงครามทุกเมื่อ

เมื่อถึงวันสู้รบกันอีกครั้ง พระราชาองค์ที่ได้รับคำทำนายว่าจะชนะ ประสบความพ่ายแพ้ยับเยิน

ฤๅษีเองก็เสียหน้า ที่ทุกอย่างไม่เป็นไปตามคำทำนาย จึงไปต่อว่าพระอินทร์ที่บอกตนเช่นนั้น

พระอินทร์บอกฤๅษีว่า คำทำนายไม่ผิดดอก ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติ พระราชาองค์ที่ตนทายว่าจะชนะต้องชนะแน่นอน แต่บังเอิญพระราชาอีกองค์ไม่ได้ประมาท เพียรพยายามฝึกฝนตนเองและกองทัพ เตรียมการให้พร้อมอยู่เสมอ เมื่อรบเข้าจริงๆ จึงกลับตาลปัตรเอาชนะฝ่ายตรงข้ามได้ พระอินทร์ได้กล่าวสรุปว่า

“คนที่พากเพียรพยายามจนถึงที่สุด แม้เทวดาก็กีดกันเขาไม่ได้”

ครับ หลักกรรม (หลักการกระทำ) สามารถบันดาลให้คนเป็นอย่างใดก็ได้ จึงไม่ควรฝากอนาคตไว้กับการนอนคอยโชคชะตา