นิธิ เอียวศรีวงศ์ : ประชาชนในระบอบประชาธิปไตย

นิธิ เอียวศรีวงศ์

หนังสือขายดีเล่มหนึ่งในสหรัฐเมื่อเร็วๆ นี้คือ How Democracies Die ผู้แต่งคือ Steven Levitsky และ Daniel Ziblatt ทั้งสองเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดแผนกรัฐศาสตร์ (Government) คนหนึ่งเชี่ยวชาญระบอบไม่ประชาธิปไตยในยุโรป อีกคนหนึ่งเชี่ยวชาญเรื่องเดียวกันในละตินอเมริกา

จุดมุ่งหมายที่เขียนเรื่องนี้ก็เพื่อปลุกคนอเมริกันให้ตื่นจากรัฐบาลของประธานาธิบดี Trump เขาชี้ให้เห็นว่า เผด็จการแบบวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ในเมืองไทย คือกองทัพเข้ายึดอำนาจแล้วล้มเลิกรัฐธรรมนูญ สถาปนาตนเองขึ้นเป็นรัฐบาลที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จนั้น พ้นยุคพ้นสมัยไปแล้ว ไม่เหลือที่ไหนเขาทำกันอีกในโลก ยกเว้นหนึ่งหรือสองประเทศเท่านั้น แต่เผด็จการก็ยังมีอยู่ในอีกหลายประเทศทั่วโลก หากเป็นเผด็จการจากการเลือกตั้ง ฆ่าประชาธิปไตยให้ตายลง โดยอาศัยทั้งช่องโหว่และข้อกำหนดบางอย่างในรัฐธรรมนูญนั้นเอง ทำลายตัวรัฐธรรมนูญลง แล้วก็ใช้วิธีการต่างๆ ทั้งถูกและผิดกฎหมายทำลายฝ่ายค้าน (ทั้งในและนอกสภา) ไปเรื่อยๆ จนในที่สุดก็ถืออำนาจเด็ดขาดแต่ผู้เดียว เผด็จการแบบนี้ในบางประเทศได้รับความนิยมจากประชาชนอย่างกว้างขวางด้วย ในบางประเทศถูกประชาชนกลุ่มใหญ่พอควรต่อต้าน แต่ก็ทำอะไรเผด็จการไม่ได้ เพราะการเลือกตั้งถูกทำให้เป็นแค่พิธีกรรมไปเสียแล้ว

เขาเตือนคนอเมริกันว่า ระบอบประชาธิปไตยอเมริกันไม่ได้แข็งแกร่งอย่างที่เข้าใจกัน มันพร้อมจะทำลายตัวเองได้เหมือนประชาธิปไตยของคนอื่น และหากย้อนกลับไปดูในประวัติศาสตร์สหรัฐ มันก็เคยทำลายตัวเองในบางสถานการณ์มาแล้ว เช่น การรอนสิทธิของคนดำในภาคใต้หลังสงครามกลางเมืองด้วยวิธีต่างๆ จนทำให้เสรีชนคนดำไม่มีเสียงทางการเมืองเหลืออยู่เลย

President Donald Trump speaks during a meeting with Dutch Prime Minister Mark Rutte in the Oval Office of the White House, Monday, July 2, 2018, in Washington. (AP Photo/Evan Vucci)

ที่เหลือคือชี้ให้เห็นว่า Trump กำลังวางยาพิษประชาธิปไตยอเมริกันให้ตายลงอย่างไร

ผมอ่านแล้วก็เห็นด้วยหมด ทั้งๆ ค้างคาใจกับหลักการวิเคราะห์ของอาจารย์ทั้งคู่ เพราะเขาประกาศอย่างชัดเจนเลยว่า พลังอำนาจของประชาชนผ่านการเลือกตั้งและอื่นๆ (เช่นซื้อหรือเสพสื่อ) ในการกำกับควบคุมผู้ปกครอง ทำให้ประชาธิปไตยไม่อาจถูกฆ่าให้ตายได้ เป็นหลักการที่ผิด ประชาธิปไตยอยู่รอดได้ไม่ใช่เพราะประชาชน แต่เพราะ (สิ่งที่ผมขอเรียกว่า) กลไกทางการเมืองของระบอบประชาธิปไตยไม่ถูกทำให้เป็นหมัน ยังสามารถทำหน้าที่ของมันต่อไปได้ เช่น พรรคการเมือง, ศาล, รัฐธรรมนูญ, สื่อ, ระบบเลือกตั้ง, ระบบตรวจสอบที่เป็นกลาง ฯลฯ เจ้าพวกเหล่านี้ต่างหากที่ประกันมิให้ผู้ได้รับเลือกตั้งฆ่าประชาธิปไตยลงได้

เผด็จการจากการเลือกตั้งทั้งหมดที่เขายกขึ้นมาล้วนทำลายกลไกเหล่านี้ลงก่อน จึงสามารถสถาปนาอำนาจเผด็จการของตนขึ้นได้

บางครั้งภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย (ที่ถูกแก้ไขเพียงบางส่วน) ด้วยซ้ำ เหมือนรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่เรามีในตอนนี้ ก็สามารถรองรับเผด็จการจากการเลือกตั้งได้สบายเลย

บางครั้งโอกาสของเผด็จการจากการเลือกตั้งก็อาจเกิดขึ้น เพราะประชาชนมีอำนาจมากอย่างไร้ขีดจำกัด หรือเป็นประชาธิปไตยเกินไป ตัวอย่างเช่น การหยั่งเสียงไพรมารีในสหรัฐ ไพรมารีที่ทำมาแต่เดิมนั้นมีจุดมุ่งหมายเพียงการหยั่งเสียงประชาชนว่านิยมผู้สมัครคนไหน แต่ไม่มีผลผูกพันให้พรรคต้องส่งคนที่ชนะลงเลือกตั้งเสมอไป พูดอีกอย่างหนึ่งคือ ถึงอย่างไร คณะตั้วเฮียของพรรคย่อมเป็นผู้ตัดสินใจขั้นสุดท้ายเสมอ

เรื่องมาเกิดในการเลือกผู้สมัครประธานาธิบดีของพรรคเดโมแครตในปี 1968 ที่ชิคาโก ท่ามกลางกระแสต่อต้านสงครามเวียดนาม ผู้สมัครที่ต่อต้านสงครามและน่าจะมีคะแนนเสียงสูงสุดคือโรเบิร์ต เคนเนดี้ ถูกสังหารไปแล้ว จึงเหลือแต่ผู้สมัครที่ต่อต้านสงครามมากบ้างน้อยบ้าง และไม่โดดเด่นเท่าไรนัก ฝูงชนพากันเดินขบวนเพื่อกดดันให้ที่ประชุมพรรค (convention อันเป็นพิธีกรรมสำหรับหาเสียงอีกอย่างหนึ่ง) เลือกผู้สมัครที่สัญญาจะเปลี่ยนนโยบายทำสงครามในเวียดนาม แต่ตั้วเฮียของพรรคกลับตัดสินใจเลือกรองประธานาธิบดีฮิวเบิร์ต ฮัมฟรีย์ ซึ่งถึงอย่างไรก็ต้องผูกพันตัวเองกับสงครามเวียดนามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เป็นตัวแทนพรรค มัน “ตลก” เกินไป เพราะฮัมฟรีย์ไม่เคยประกาศตัวว่าจะลงแข่งขันประธานาธิบดี และไม่ลงสมัครในการหยั่งเสียงไพรม์มารีของรัฐใดเลย ดังนั้น การตัดสินใจของตั้วเฮียเดโมแครต จึงเท่ากับบอกว่าแม้แต่เสียงของมึงที่ถูกหยั่งในไพรมารี กูยังไม่อยากฟังเลย

เท่านั้นแหละครับ เกิดจลาจล ผู้ประท้วงข้างนอกพยายามจะเข้ามาในที่ประชุมพรรค ตำรวจชิคาโกซึ่งเป็นลูกน้องของตั้วเฮียอีกคนหนึ่งของพรรคเดโมแครต ซึ่งครองตำแหน่งนายกเทศมนตรีติดต่อมานาน ยิงทั้งแก๊สน้ำตาและตีกบาลของผู้ประท้วงด้วยกระบองจนเลือดตกยางออก ไม่นับจับกุมไปอีกหลายร้อย ภาพนี้ออกทีวี “สด” ไปทั้งประเทศ สร้างความตระหนกให้คนอเมริกันจากมหาสมุทรหนึ่งไปถึงอีกมหาสมุทรหนึ่ง ทำให้คนอเมริกันสำนึกได้ว่า เสียงของประชาชนต้องเป็นเสียงตัดสิน “เมื่อประชาธิปไตยป่วย ก็ต้องให้ยาประชาธิปไตยเพิ่มขึ้น” อันเป็นข้อสรุปของคณะกรรมการที่พรรคเดโมแครตตั้งขึ้นเหมือนกัน

ในที่สุดทั้งสองพรรคก็ต้องแก้ไขกติกา ถือเอาเสียงของประชาชนในการหยั่งเสียงไพรมารีเป็นตัวตัดสินเพียงอย่างเดียว ตั้วเฮียของทั้งสองพรรคจ๋อยลงไปถนัด

ในทัศนะของผู้เขียนทั้งสองคน แม้มองตั้วเฮียอย่างหมิ่นๆ เหมือนกัน ด้วยการเรียกว่า “ห้องที่เต็มไปด้วยควันบุหรี่” หลังเวที แต่มีความสำคัญคือ เป็นตัวกรองมิให้ผู้สมัครที่มีข้อบกพร่องได้ผ่านไปเป็นตัวแทนของพรรค ข้อบกพร่องหนึ่งที่ตั้วเฮียไม่ชอบคือแนวโน้มที่จะเป็นเผด็จการ ไม่ใช่เพราะตั้วเฮียเป็นเทวดานะครับ แต่สามารถมองเห็นแนวโน้มนี้ได้จากที่เคยสัมพันธ์กับคนคนนั้นมาก่อน และเห็นว่าไม่ค่อยฟังเสียงของคณะตั้วเฮีย เอาแต่ใจตัวเอง ฉะนั้น หากเป็นประธานาธิบดีขึ้นมาก็อาจมองข้ามหัวตั้วเฮียไป (นี่ผมเติมให้เอง ผู้เขียนไม่ได้อธิบายชัดๆ อย่างนี้)

เหตุฉะนั้นเมื่อเสียงประชาชนคือเสียงสวรรค์เสียแล้ว ก็ไม่มีตัวกรองอะไรเหลืออยู่ ที่ร้ายไปกว่าไม่มีตั้วเฮียคอยกำกับก็คือ ชัยชนะในไพรมารีต้องลงทุนสูงมาก จึงเปิดโอกาสให้ทุนประชารัฐเข้ามาสนับสนุนผู้สมัครแต่ละคนด้วยเงินจำนวนมหาศาล ทุนประชารัฐกลายเป็นตั้วเฮียกลุ่มใหม่ ซึ่งทำหน้าที่ “กรอง” ผู้สมัครด้วยมาตรฐานอีกอย่างหนึ่ง คือหมอนี่จะทำประโยชน์ให้กูในฐานะประธานาธิบดีได้อย่างไรบ้าง อย่าลืมว่าทุนประชารัฐไม่มีพันธะทางการเมืองต้องรับผิดชอบเหมือนตั้วเฮียของพรรค ลงทุนกับนักการเมืองคนที่อาจให้กำไรสูงสุดเท่านั้นเป็นพอ

เสียงสวรรค์ของประชาชนจึงอยู่บนสวรรค์เท่านั้น จะยกขบวนประท้วงทุนประชารัฐ ก็ไม่รู้จะไปประท้วงที่ไหน เพราะ convention ของทุนประชารัฐอาจอยู่ที่โรงแรมหรูริมหาดบาฮามาส์ ไม่ได้อยู่ที่ชิคาโกอีกแล้ว

และนี่คือเหตุผลที่คนกะล่อน (demagogue) อย่างทรัมป์ ซึ่งบังเอิญรวยเสียจนไม่ต้องพึ่งทุนประชารัฐเพียงอย่างเดียว ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีในที่สุด

ผู้เขียนทั้งสองยังพูดถึงการพังสลายของกลไกประชาธิปไตยอื่นๆ อีกหลายอย่าง เช่น พรรคการเมือง ต้องไม่มองคู่แข่งเป็นคู่อาฆาตที่ต้องล้างผลาญกัน ป่วนในสภานอกกติกา เช่น ยกเก้าอี้ทุ่ม ขว้างปาสิ่งของใส่ประธานแล้ว รัฐบาลไม่พัง ต้องออกไปเป่านกหวีดเรียกทหารมายึดอำนาจ องค์กรอิสระต้องไม่ถูกแทรกแซง ศาลต้องคงความเป็นอิสระของตนให้มั่นคง ไม่เอียงข้างพรรคการเมืองใด และไม่เอียงข้างอำนาจนอกระบบใด ถึงองค์กรไม่อิสระเช่นหน่วยงานรัฐ ก็ต้องเป็นกลางทางการเมืองด้วย ไม่ปล่อยให้นักการเมืองใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนไปรังแกฝ่ายตรงข้าม (ตรวจภาษีย้อนหลัง, ไม่อนุมัติการลงทุน, กักการส่งออก-นำเข้าของบริษัทที่สนับสนุนฝ่ายค้าน ฯลฯ)

พูดถึงเรื่องนี้แล้ว ผมก็เห็นด้วยกับกลุ่มเสื้อเหลืองว่า นักการเมืองที่มีแนวโน้มจะกลายเป็นเผด็จการจากการเลือกตั้งในเมืองไทยนั้นมีอยู่คนเดียวคือคุณทักษิณ ชินวัตร ผู้ชนะการเลือกตั้งอื่นแหยและไร้ “กึ๋น” เกินกว่าจะเป็นได้ หรือชนะมาด้วยเงื่อนไขที่ต้องแบ่งอำนาจกับคนอื่น ทั้งที่เป็นนักการเมืองและนอกวงการเมืองมากเกินกว่าจะเผด็จอำนาจไว้ในมือตัวคนเดียวได้ คุณทักษิณนั้นมีคุณสมบัติ (หรือโทษสมบัติ) ครบถ้วนที่จะเป็นเผด็จการจากการเลือกตั้งเลย เช่น แสดงให้เห็นว่ากติกาของระบอบประชาธิปไตยนั้น หากขัดขวางการพัฒนาก็ไม่พึงเคารพนัก หมิ่นแคลนพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามว่าไร้เดียงสา เชื่อหรือปฏิบัติมาตรการความรุนแรงเพื่อบรรลุผลได้เร็ว ขัดขวางเสรีภาพของปรปักษ์ทางการเมืองเช่นสื่อ ฯลฯ

การเคลื่อนไหวของกลุ่มเสื้อเหลืองจึงชอบธรรมและควรทำอย่างยิ่ง เพื่อป้องกันมิให้ประชาธิปไตยไทยถูกนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งฆ่าตายเสีย แต่พวกเขาล้ำเส้นของการประท้วงจนกระทั่งแม้แต่ประชาธิปไตยก็ไม่ใช่เป้าหมายที่จะรักษาเอาไว้ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ถึงเขาชนะ ประชาธิปไตยก็ตายเหมือนกัน

AFP PHOTO / KIM JAE-HWAN / AFP / KIM JAE-HWAN

แต่ถ้าไม่อยากล้ำเส้นแบบผมและผู้คนอีกมากที่พยายามต่อต้านทักษิณเหมือนกัน จะต้องทำอย่างไร? คำตอบไม่ชัดเท่าเสื้อเหลือง ตัวผมเองเชื่อว่า ต้องปลุกประชาชนด้วยวิธีที่เราสามารถทำได้ ให้เห็นพิษภัยของการปล่อยให้นายกฯ จากการเลือกตั้ง ใช้อำนาจโดยไม่มีขีดจำกัดของกฎหมายและกติกาประชาธิปไตย แต่ต้องชัดเจนแต่ต้นด้วยว่า ทักษิณนั้นเป็นอันตรายต่อประชาธิปไตย ไม่ใช่ต่อ “ความเป็นไทย” ซึ่งเผด็จการตัวจริงใช้เป็นข้ออ้างในการยึดอำนาจเสมอ หากไม่ชัดในเรื่องนี้ ก็จะเตะหมูเข้าปากหมาที่เถื่อนกว่าและฆ่าประชาธิปไตยอย่างฉับพลันกว่า

ผมและคนที่คิดแบบผม กำลังคิดทำอะไรที่ไม่ตรงกับหลักการวิเคราะห์ของอาจารย์ฮาร์วาร์ดสองคนที่แต่งหนังสือเล่มนี้ คือเราฝากความหวังไว้กับประชาชน ผมคิดว่าพลังของประชาธิปไตยเท่านั้นที่สามารถปกป้องประชาธิปไตยได้

จนเดี๋ยวนี้ผมก็ยังคิดอย่างนั้นอยู่ เพราะประชาธิปไตย ซึ่ง “กลไก” ต่างๆ ช่วยรักษาไว้นั้นอาจไม่ได้เปิดโอกาสให้ประชาชน โดยเฉพาะคนเล็กคนน้อย มีเสียงดังพอที่คนอื่นจะได้ยินเสมอไป ในขณะที่ให้อำนาจตั้วเฮียในการตัดสินใจส่งผู้สมัคร จะแน่ใจได้อย่างไรว่า ระหว่างความถูกต้องกับชัยชนะ ตั้วเฮียจะเลือกอะไร ตั้วเฮียมีโอกาสเลือกผิดได้ไม่ต่างจากประชาชนไม่ใช่หรือ ยิ่งปล่อยให้ทุนประชารัฐเข้ามา “ซื้อ” นโยบายเป็นเรื่องๆ ไป ใครจะเป็นคนดูแลผลประโยชน์ของชาวไร่อ้อย, คนปลูกข้าวโพด และแรงงานระดับล่าง

ผมไม่ทราบว่าแกนนำเสื้อเหลืองคิดอะไร การที่ขบวนการหันมาจับ “มวลชน” แต่ต้น ก็ต้องยอมรับว่าในเมืองไทย “กลไก” ประชาธิปไตยไม่สู้จะบริบูรณ์และเข้มแข็งนัก พรรคการเมืองไม่มีสมรรถนะจะให้ความรู้ทางการเมืองแก่ประชาชนของตน ต้องรอโอกาสอยู่เพียงไม่กี่อย่าง เช่น หาเสียงเลือกตั้ง, หรือเป่านกหวีด ไม่มีหน่วยงานของพรรคที่รับผิดชอบเรื่องการให้ความรู้ทางการเมืองเลยด้วยซ้ำ องค์กรอิสระหรือสถาบันอะไรที่ควรจะอิสระก็อิสระไม่จริง เพราะถูกแทรกแซงเสมอ ไม่ใช่แทรกโดยทักษิณคนเดียวเสียด้วย มีคนกลุ่มอื่นแทรกเข้ามากำหนดร่วมด้วยเหมือนกัน สื่อมุ่งขายสินค้าของตนมากกว่าทำสื่อจริง ฯลฯ ด้วยเหตุดังนั้น เสื้อเหลืองจึงไม่อาจทำงานกับ “กลไก” ประชาธิปไตยได้ ต้องหันมาเคลื่อนไหวเชิงมวลชนมาแต่ต้น หรืออาจติดต่อกับ “กลไก” ที่อประชาธิปไตยอย่างยิ่งไปเลย เพื่อไล่ทักษิณออกไปให้ได้

ผมขอชวนคุยเรื่องประชาชนและ “กลไก” ประชาธิปไตยต่อในครั้งหน้า

(ยังมีต่อ) กดอ่านต่อ