สมชัย ศรีสุทธิยากร : การวางยุทธศาสตร์ ของพรรคการเมือง

สมชัย ศรีสุทธิยากร

ชัยชนะของการเลือกตั้ง การได้เป็นรัฐบาล คือปรารถนาที่สูงสุดของนักการเมืองและพรรคการเมือง

คงไม่มีนักการเมืองหรือพรรคการเมืองไหนบอกว่าจะลงสมัครเพื่อหวังแพ้ หรือไม่หวังเป็นรัฐบาล

ดังนั้น นอกเหนือจากคุณสมบัติส่วนตัวของผู้สมัครรับเลือกตั้งที่เป็นทุนเดิมของแต่ละคนแล้ว

การกำหนดยุทธศาสตร์การเลือกตั้งของพรรคการเมือง จึงมีความหมายและมีส่วนสำคัญในการชี้ขาดถึงชัยชนะในการเลือกตั้ง

พรรคการเมืองแต่ละพรรคมีที่ไปที่มาแตกต่างกัน องค์ประกอบด้านสมาชิก อุดมการณ์ของผู้มาร่วมยิ่งต่างกัน จุดเด่นจุดขายของพรรคล้วนแตกต่างกัน

วันนี้ นาทีนี้ เมื่อปี่กลองการเลือกตั้งใกล้เข้ามา การกำหนดยุทธศาสตร์ที่แต่ละพรรคคิดว่าดีหรือเหมาะสม คงเหมือนกับการเสี่ยงทายแล้วว่า ยุทธศาสตร์แบบใดที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ

ยุทธศาสตร์ของพรรคเก่า VS. พรรคใหม่

มีความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างพรรคเก่าและพรรคใหม่

บ้างว่าพรรคเก่าได้เปรียบเนื่องจากจัดตั้งมานาน ย่อมมีโครงสร้างการจัดการที่เข้มแข็ง มีรากฐานเครือข่ายสมาชิกที่จัดตั้งไว้อย่างเป็นระบบมากกว่า

บ้างก็ว่า พรรคเก่าเสียเปรียบ เนื่องจากคนเบื่อแล้ว พรรคใหม่จะเป็นความหวังของผู้คน เป็นต้น

การเลือกตั้งครั้งนี้จึงเป็นการเปิดหน้าท้าสู้กันระหว่างพรรคเก่าและพรรคใหม่อย่างชัดเจน

ยุทธศาสตร์ของพรรคเก่า เช่น ประชาธิปัตย์ ชาติไทยพัฒนา ชาติพัฒนา เพื่อไทย ภูมิใจไทย จึงเป็นเรื่องการรักษาฐานที่มั่น มิให้ผู้สมัครคนสำคัญของพรรคต้องถูกเจาะ และการรักษาพื้นที่ที่ตนเองมี ส.ส. อยู่ก่อนหน้า

ในขณะเดียวกันยังต้องสร้างความเชื่อมั่นว่า ยังมีโอกาสชนะเลือกตั้ง มีโอกาสได้เป็นรัฐบาล

ซึ่งบทหนักที่สุดจะอยู่กับพรรคเพื่อไทย เพราะความหวั่นไหวถูกสร้างขึ้นในบทที่อยู่ตรงข้ามรัฐบาลทหาร

ทำให้กลายเป็นจุดอ่อนที่ถูกกล่าวว่า แม้ชนะก็ยังเป็นฝ่ายค้าน

ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์และพรรคขนาดกลางเพียงทำจำนวน ส.ส. ให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ และรอเทียบเชิญร่วมรัฐบาล

ดูเหมือนจะเป็นประเด็นขายที่ง่ายกว่า

ประเด็นการขายของพรรคเพื่อไทย จึงต้องสร้างความเชื่อมั่นที่สูงยิ่งแก่มวลสมาชิก

โดยการอ้างผลสำรวจของโพลต่างๆ ที่ยังชี้ให้เห็นว่า ยังชนะเลือกตั้งโดยมีเสียงเป็นอันดับหนึ่ง

พร้อมสร้างจินตนาการที่ท้าทายขึ้นไปอีกว่า หากรัฐบาลทหารยังไม่สามารถสร้างความนิยมแก่ประชาชนในช่วงไม่ถึงหนึ่งปีที่เหลือนี้ได้

ผลการเลือกตั้งแบบชนะถล่มทลาย (Landslide) จะมีให้เห็น หากการขายดังกล่าวได้ผล ก็จะสามารถรักษาสมาชิกเดิมให้อยู่ได้

แต่หากไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นดังกล่าวได้ เลือดก็จะยังคงไหลออกไม่หยุด

ดังนั้น จึงไม่แปลกที่เห็นอดีตเจ้าของพรรคที่อยู่ในแดนไกลต้องออกปากออกตัวอย่างแรงในช่วงนี้

ยุทธศาสตร์ของพรรคใหม่กลับไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะพรรคใหม่เกิดขึ้นจำนวนมากเป็นร้อยพรรคเนื่องจากทุกคนเห็นเป็นโอกาสที่จะขายความสดใหม่เป็นทางเลือกแก่ประชาชน

แต่ความเสียเปรียบในทุกทางนับแต่การไม่เป็นที่คุ้นเคยของประชาชน ต้องสร้างรากฐานสมาชิกใหม่จากศูนย์ การหาแหล่งทุนสนับสนุนที่พอเพียงกับการต่อสู้ในศึกเลือกตั้ง

ดังนั้น พรรคใหม่ต้องทะยานตนเองให้โดดเด่นจากความแหลมคมในนโยบายที่แตกต่าง หรือจากจุดขายที่ต้องเดาใจประชาชนให้ถูกทาง

พรรคใหม่ เช่น พรรคอนาคตใหม่ ดูเหมือนจะประสบความสำเร็จในการสร้างทางเลือกที่แตกต่าง

ในขณะที่พรรครวมพลังประชาชาติไทย (ของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ หรือ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ยังไม่แจ่มชัด) กลับยังไม่สามารถสร้างจุดขายที่แตกต่างอะไรได้มาก นอกจากการชูเรื่องของการปรองดองสลายสีสลายเสื้อซึ่งเป็นเรื่องที่พูดกันมานานแต่ไม่เคยประสบความสำเร็จ

ส่วนพรรคใหม่มาแรงแบบพลังประชารัฐ ใช้จุดขายคือเป็นพรรคของรัฐบาลปัจจุบัน ชูนายกฯ ประยุทธ์ และการสร้างภาพให้เห็นโอกาสการเป็นรัฐบาลหลังการเลือกตั้งที่เหนือพรรคอื่น ทำให้จูงใจผู้สมัครได้ระดับหนึ่ง

แต่จะขายได้จริงหรือไม่คงต้องดูผลเลือกตั้ง

นอกเหนือจากพรรคใหม่ 3 พรรคนี้แล้ว พรรคใหม่อื่นๆ ที่เหลือ ยังไม่เห็นผลสำเร็จในการสร้างภาพให้เห็นจุดเด่นในด้านความแตกต่าง หรือแม้บอกจะชูนายกฯ ประยุทธ์ แต่น้ำหนักก็เบาบางจนไม่เป็นจุดที่ขายได้ เพราะทุกคนรู้ว่า พล.อ.ประยุทธ์มีสิทธิตอบรับการเป็นหนึ่งในสามชื่อจากพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียว ถึงเวลาจริงใช่ว่าทุกพรรคจะชูชื่อนี้ได้ทั้งหมด

บทสรุปยุทธศาสตร์ของพรรคเก่าและพรรคใหม่ จึงอยู่ที่ความเหนื่อยของพรรคใหม่มากกว่าพรรคเก่าในทุกวิถีทาง

ยุทธศาสตร์ของพรรคใหญ่ VS. พรรคเล็ก

กติกาการเลือกตั้งที่ออกแบบในกฎหมายลูก ของ อ.มีชัย ฤชุพันธุ์ ที่เปลี่ยนมาใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว คะแนนผู้แพ้ไม่ตกน้ำ สามารถนำมารวมทั้งประเทศเพื่อคำนวณกลับไปยังจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่ควรจะได้

ลือกันว่า เป็นไปเพื่อลดทอนพลังของพรรคใหญ่ สร้างความได้เปรียบให้แก่พรรคขนาดกลางและพรรคขนาดเล็ก

คือถึงแม้จะไม่ชนะเลือกตั้งในเขตแต่ก็มีโอกาสนำคะแนนมารวมเพื่อให้ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

แต่สิ่งที่คิดต่อคือ คะแนนจะได้มากน้อยนั้นย่อมแปรผันไปตามจำนวนเขตที่ส่ง พรรคที่ส่งผู้สมัครครบทุกเขตหรือมากเขต ย่อมได้เปรียบพรรคที่ไม่สามารถส่งครบ หรือส่งจำนวนเขตน้อยกว่า

ยุทธศาสตร์ของพรรคใหญ่จึงเปลี่ยนจากในอดีตที่เขตไหนหากแพ้แน่ก็จะไม่ส่งผู้สมัคร มาเป็นพยายามเลือกเฟ้นหาผู้สมัครที่ดีที่สุดลงให้ครบทุกเขต หรือมากเขตที่สุดเท่าที่จะทำได้ กวาดทุกคะแนนเก็บทุกหยดให้มากที่สุด ถึงไม่ได้ที่หนึ่งก็ขอเป็นที่สองที่สามในเขต เพื่อเอาคะแนนให้มากที่สุดให้ได้

ยุทธศาสตร์ของพรรคกลางและเล็กก็เปลี่ยนไปเช่นกัน เดิมอาจมีพรรคจังหวัด เช่น พลังชล พรรคพื้นที่ เช่น ชาติพัฒนา และชาติไทยพัฒนา พรรคเล็กมากในอดีตอาจหวัง ส.ส. เพียงในบางเขตของจังหวัด ก็จะส่งเท่านั้น แต่ภายใต้กติกาใหม่ เป็นตัวบีบบังคับให้ต้องส่งทุกเขต

ดังนั้น พรรคเล็กย่อมมีความเสียเปรียบและเหนื่อยกว่าพรรคใหญ่ รวมทั้งไม่อาจหวังผลมาก หากไม่สามารถสรรหาตัวผู้สมัครที่เป็นแถวหนึ่งแถวสองในจังหวัดได้

ยุทธศาสตร์ชูทหาร VS. ไม่ชูทหาร

พูดกันว่าทหารไม่เกี่ยวกับการเมือง แต่ในการเลือกตั้งที่จะมาถึง เมื่อ คสช. เริ่มเปิดเผยท่าทีอยากอยู่ต่อถ้าประชาชนเอาด้วย พร้อมยังสร้างกลไกต่างๆ ที่รองรับความได้เปรียบในการจัดตั้งรัฐบาล

อาทิ การแต่งตั้ง ส.ว.กับมือ จำนวน 200 คน

และยังคงสิทธิในการเลือกจิ้มอีก 50 คนจากผู้ผ่านกระบวนการคัดเลือก ส.ว. จากทั้งประเทศ

การให้ ส.ว. มีสิทธิในการลงคะแนนเลือกผู้เป็นนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส.

ประเด็นเหล่านี้จะกลายประเด็นโจมตีในการหาเสียงที่สำคัญ

กลายเป็นความแตกแยกใหญ่สองแนวทาง คือ เอาหรือไม่เอาทหาร เอาหรือไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ

ยุทธศาสตร์นี้เป็นเหมือนการซื้อล็อตเตอรี่ ยังไม่รู้ผลว่าการชูทหาร หรือไม่ชูทหาร ยุทธศาสตร์ใดจะเป็นยุทธศาสตร์ที่ได้ผล

ดังนั้น เราจะเห็นพรรคการเมืองซีกหนึ่งแทงฝั่งไม่เอาทหาร ในขณะที่อีกซีกหนึ่งชูทหารเป็นจุดขาย

ความอยู่รอดปลอดภัยไม่ว่าล็อตเตอรี่จะออกฝั่งใดอยู่ที่พรรคการเมืองขนาดกลางที่เล่นยุทธศาสตร์แทงกั๊ก

คือพร้อมสนับสนุนทุกฝ่ายหากประชาชนเลือก เป็นการเล่นยุทธศาสตร์การเอาตัวรอดที่แม้จะขัดใจคนดู แต่ก็ปลอดภัยที่สุด

ยังไม่เห็นยุทธศาสตร์เชิงนโยบาย

จนถึงทุกวันนี้ ยังมีพรรคการเมืองน้อยมากที่จะเดินหน้าในด้านยุทธศาสตร์การพัฒนานโยบายที่ดี ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะยังไม่ปลดล็อกทางการเมืองจึงทำให้การดำเนินการดังกล่าวทำได้ไม่เต็มที่ หรือยังเก็บไว้เป็นไม้ตายสุดท้ายในช่วงใกล้เลือกตั้งเนื่องจากกลัวการลอกเลียนนโยบายแบบเกทับบลั๊ฟแหลก

การมองโลกในแง่ดีคือ อาจมีนโยบายแต่ยังไม่ถึงเวลาหาเสียงจึงยังไม่เปิดเผย

แต่ถ้าโลกความเป็นจริงคือ การเล่นยุทธศาสตร์ดูด ส.ส. โดยไม่สนใจภูมิหลังใดๆ สำคัญกว่ายุทธศาสตร์เรื่องนโยบายเป็นไหนๆ

คงได้แต่สงสารประเทศไทยครับ