จรัญ มะลูลีม : ภูมิทัศน์ของอิสลามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (6)

จรัญ มะลูลีม

การเข้ามาของอิสลามในฟิลิปปินส์ถือเป็นกระบวนการเปลี่ยนผ่านโดยทันทีของศาสนาอิสลามของโลกมาเลย์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ตอนปลายของศตวรรษที่ 13 ได้มีการตั้งบ้านเรือนหรืออาณานิคมของชาวมุสลิมต่างชาติในซูลู (Sulu) ไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งชาวซูลูอาจจะประกอบไปด้วยครอบครัวของพ่อค้าชาวมุสลิมและชนกลุ่มน้อย ซึ่งแต่งงานกับสตรีท้องถิ่นและผู้เปลี่ยนศาสนาบางคน

ในความเป็นจริงอิสลามมาถึงมินดาเนาและซูลูในช่วงเวลาใดนั้นยากที่จะลงความเห็นลงไปได้ในเวลานี้ แต่การขยายตัวของอิสลามเกิดขึ้นหลังจากสมาชิกของครอบครัวผู้ปกครองในสุมาตราและโยโฮร์ (Johore) ได้มาถึงแล้ว และได้สร้างสถาบันทางการเมืองซึ่งให้ความสะดวกแก่การเปลี่ยนศาสนาของประชากรจำนวนมากขึ้นมา

สุลต่านแห่งซูลูองค์แรกซึ่งมีฉายาว่า ปะดุกา มหาซรี เมาลานา อัล-สุลต่าน ชารีฟุลฮาชิม (Paduka Mahasari Maulana al-Sultan Sharif ul-Hashim) ซึ่งการปกครองของพระองค์คาดการณ์กันว่าอยู่ระหว่างปี 1450-1480 นั้นมีรายงานอยู่ในเมืองซูลูว่าพระองค์มาจากสุมาตรา

พระองค์ทรงอภิเษกสมรสกับธิดาของ ราชา บากินดา (Rajah Baguinda) ซึ่งเดินทางมาจากเมืองมินังกาเบา (Menangkabaw) มาถึงซูลูตั้งแต่ต้น

ชารีฟุลฮาชิมได้สร้างสถาบันการเมืองแห่งระบอบสุลต่าน (Sultanate) ขึ้นในเมืองซูลูแห่งนี้

ส่วนในเมืองมินดาเนา ชารีฟ มุฮัมมัด กะบัง สุวัน (Sharif Muhammad Kabungsuwan) ผู้ก่อตั้งรัฐสุลต่านมากินดาเนา (Magindanaw Sultane) ได้มาถึงชายฝั่งของมินดาเนาในราวปี 1515 ตามรายงานของเมืองมากินดาเนา พระองค์ทรงเป็นโอรสของ ชารีฟ อะลี ซัยนุลอาบิดีน (Sharif Ali Zein ul-Abidin) จากดินแดนอาหรับและมารดาของพระองค์มาจากครอบครัวกษัตริย์ของโยโฮร์

เมื่อย้อนกลับไปสู่ครอบครัวของผู้ปกครองในภูมิภาคพบว่าการเป็นพันธมิตรที่มีการอำนวยความสะดวกสบายในการแต่งงานนั้นได้ก่อให้เกิดการติดต่อสัมพันธ์กันในอีกทางหนึ่ง แหล่งข่าวทั้งจากบรูไนและซูลูแสดงให้เห็นว่าสุลต่านซูลูองค์ที่ 7 มุฮัมมะดุลฮาลีม (Muhammad ul-Halim) มีความเกี่ยวดองกับครอบครัวของกษัตริย์บรูไน

พระมารดาของสุลต่าน บัดดารุดดีน (Badar ud-Din) ที่ I เป็นชาวเมืองตีราน (Tiran) ที่อยู่ทางชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของบอร์เนียว (Borneo)

หากการแต่งงานระหว่างกันได้เกิดขึ้นในหมู่ครอบครัวกษัตริย์ ซึ่งโดยจารีตแล้วจะมีการปกป้องสายตระกูลของพวกเขาเพื่อรักษาความชอบธรรมในการปกครองแล้ว

เราก็อาจตั้งสมมติฐานได้เช่นกันว่ามีการแต่งงานในหมู่ชนชั้นกลางและชนชั้นล่างของสังคมอีกด้วย

การแต่งงานระหว่างกันเหล่านี้เป็นการเชื่อมสัมพันธ์กับพันธมิตรทางการเมืองไปในเวลาเดียวกัน

เมื่อผู้ว่าการชาวสเปน คอร์ซีรา (Corcura) เข้าโจมตีซูลูในปี 1638 ราชาบองซู (Rajah Bongsu) ซึ่งเป็นสุลต่านแห่งซูลูได้รับการช่วยเหลือจากกลุ่มนักรบแห่งเมืองมากัสซาร์ (Makassar)

บ่อยครั้งที่ชาวเตอร์มาตัน (Ternatans) ได้เข้าช่วยเหลือสุลต่านบุยซาน (Buisan) แห่งมากินดาเนาในสงครามต่อต้านการรุกรานของอาณานิคม ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอยู่บ้างในชะตากรรมของชาวมุสลิมฟิลิปปินส์

มีประชาชนที่ถูกอ้างถึงโดยชาวสเปนว่าเป็นชาวโมโร (Moros) อยู่ด้วยชาวโมโรหมายถึงชาวมุสลิมฟิลิปปินส์และกลุ่มชาวเผ่าของมินดาเนา ชาวโมโรพยายามสถาปนารัฐเอกราชอิสลามขึ้นในมินดาเนาโดยตั้งชื่อรัฐของพวกเขาว่าบังสะโมโร (Bangsamoro)

คำว่าบังสะโมโรเป็นการผสมกันของคำมาเลย์ดั้งเดิมซึ่งหมายถึงชาติหรือรัฐ (nation or state) กับคำว่าโมโร (Moro) ซึ่งเป็นภาษาสเปน

การลุกฮือที่สำคัญของฝ่ายโมโรปรากฏขึ้นระหว่างที่มีสงครามฟิลิปปินส์-อเมริกา (Philippine-American War) ความขัดแย้งและการก่อกบฏได้ดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องในฟิลิปปินส์จากสมัยก่อนอาณานิคมจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าการแก้ปัญหาในมินดาเนาจะประสบความสำเร็จอันเนื่องมาจากการเจรจาสันติภาพระหว่างฝ่ายแนวหน้าโมโรอิสลามเพื่อการปลดปล่อยหรือ MILF กับฝ่ายรัฐบาลก็ตาม

ประเด็นที่มีความเกี่ยวพันกับการแยกตัวของฝ่ายโมโรได้แก่ปัญหาความขัดแย้งว่าด้วยรัฐซาบาห์ (Sabah) ซึ่งมาเลเซียอ้างว่าเป็นส่วนของพื้นที่เล็กๆ ที่ได้มาจากอาณานิคมอังกฤษ

แต่ชาวโมโรถือว่าเป็นดินแดนที่ถูกต้องตามกฎหมายของสุลต่านซูลู

อิสลามในผืนแผ่นดินใหญ่

ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมในผืนแผ่นดินใหญ่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในอินโดจีน (Indochina) ซึ่ง มีจำนวนน้อยนั้นไม่ค่อยถูกนำเอามากล่าวถึง

และบ่อยครั้งได้กลายมาเป็นชุมชนที่ถูกลืม

หากเปรียบเทียบกับชนกลุ่มน้อยมุสลิมริมฝั่งทะเล


มุสลิมในประเทศไทย

ประเทศไทยเป็นประเทศพหุสังคมทางศาสนา โดยมีประชากรราว 68.2 ล้านคน คนส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธ

สถิติจำนวนประชากรชาวมุสลิมมีความแตกต่างกันในหลายสำนักแต่ก็เชื่อกันว่ามีชาวมุสลิมอยู่ในประเทศไทยอยู่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ถึงร้อยละ 7

ในขณะที่ประชากรที่นับถือศาสนาคริสต์ ฮินดู (Hinduism) และซิกข์ (Sikhism) มีอยู่ราวร้อยละ 1 จากประชากรทั้งหมด

ปัจจุบันศาสนาอิสลามเป็นศาสนาของชนกลุ่มน้อยที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยชาวมุสลิมจะไปรวมตัวกันอยู่ในภาคใต้ตอนล่าง (Southernmost provinces) ของจังหวัดนราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสตูล

รวมแล้วพวกเขาจะมีอยู่ราวร้อยละ 65-85 ของประชากรท้องถิ่นโดยส่วนใหญ่จะเป็นคนเชื้อชาติมาเลย์

ประวัติศาสตร์การมาถึงของศาสนาอิสลามสามารถย้อนกลับไปถึงสมัยอยุธยา (1350-1767) เมื่อประเทศไทยในเวลานั้นยังรู้จักกันในชื่อสยาม (Siam) ราชอาณาจักรมาเลย์ทางภาคใต้ยังไม่ได้รวมอยู่กับประเทศไทย และไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของไทยจนกว่าจะถึงปี 1902 อิสลามมาถึงประเทศไทยจากหลายทิศทาง จากหมู่เกาะมาเลย์-อินโดนีเซีย เยเมน (หะเฏาะเราะเมาต์) เปอร์เซีย อินเดีย เมียนมาร์ จีน และกัมพูชา

การสถาปนาอิสลามในมะลักกาในระหว่างสมัยของสุลต่านอิสกันดัร (Sultan Iskandar) นำไปสู่การขยายตัวของอิสลามในหมู่เกาะของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมาถึงปัตตานีในปี 1387

ภาคใต้ตอนบนของไทยอย่างสงขลาเป็นที่พบปะกันของภาษาที่ใช้ตามชายแดนระหว่างผู้พูดภาษามาเลย์กับผู้พูดภาษาไทย

อาจสังเกตได้ว่าการเผชิญหน้ากันระหว่างมาเลย์อิสลามและไทยพุทธเป็นหนึ่งในสองรูปแบบของศาสนา “ที่เป็นรูปแบบของท้องถิ่น” ที่เคร่งครัดซึ่งมาจากความแตกต่างทางชาติพันธุ์ ศาสนา

การมาถึงของอิสลามในประเทศไทยมาจากหลายทิศทางของประเทศ ส่วนใหญ่มาจากผู้อพยพชาวมุสลิมที่มาจากสำนักคิดทางศาสนาและพื้นฐานทางชาติพันธุ์

ตอนกลางของประเทศจะมีชาวมุสลิมที่มีเชื้อสายเปอร์เซีย (อิหร่าน) ปากีสถาน อินโดนีเซียและจาม (Cham)

ส่วนชาวมุสลิมที่อยู่ทางเหนือ เช่น ลำปาง เชียงใหม่ นั้นเป็นผู้มีเชื้อสายเบงกอล (Bengali) ชาวเมียนมาและยูนนาน (ชาวจีน)

คนเหล่านี้อพยพเข้าสู่ประเทศไทยด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ (พวกเขาหนีจากการถูกประหัตประหารทางศาสนาจากน้ำมือของคอมมิวนิสต์ในจีนและพวกชาตินิยมในเมียนมาร์)

นอกจากนี้ ยังมีผู้ที่เปลี่ยนเข้ารับนับถือศาสนาอิสลาม หากไม่เป็นผู้ถือสำนักคิดซุนนี ก็จะเป็นชุมชนของชาวชีอะฮ์กลุ่มเล็กๆ อยู่ด้วย ชาวชีอะฮ์จะมาจากกลุ่มย่อยของสองสำนักคิดคืออิมามีและโบห์รา (Imami and Bohras) และมุสตะลีอิสมาอีส

นอกเหนือไปจากความแตกต่างทางชาติพันธุ์ก็มีความหลากหลายทางด้านภาษาอยู่ภายในชุมชนมุสลิม ชาวมุสลิมส่วนใหญ่ในภาคใต้จะพูดภาษามาเลย์ ในขณะที่ชาวมุสลิมที่อยู่ในส่วนต่างๆ ของประเทศไทยจะสนทนากันด้วยภาษาไทย ทั้งในบ้านและในที่สาธารณะ จนถึงเวลานี้พวกเขาไม่คุ้นเคยกับภาษาของบรรพบุรุษของพวกเขาอีกต่อไป

ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อัตลักษณ์ทางศาสนานั้นบ่อยครั้งจะมีความเกี่ยวข้องอยู่กับชาติพันธุ์ อย่างเช่นชาวมาเลย์เป็นชาวมุสลิม (Malays are Muslim) ชาวไทยเป็นชาวพุทธ (Thais are Buddhist) ส่วนชาวจีนนั้นอาจเป็นได้ทั้งชาวคริสต์หรือชาวเต๋าที่เกิดจากการผสมผสานกัน

แม้ว่าการประกอบสร้างทางด้านชาติพันธุ์จะก่อรูปอัตลักษณ์ขึ้นมา แต่ก็อาจกล่าวได้ว่าในประเทศไทยชาวมุสลิมและชาวพุทธมีอัตลักษณ์ที่เป็นมารยาททางสังคม แง่คิดที่เป็นภาพรวม และรูปแบบในภาคปฏิบัติร่วมกัน

ชาวไทยมุสลิมจะดำรงรักษาการแสดงออกของพวกเขาผ่านอัตลักษณ์ และสัญลักษณ์แห่งตัวตนผ่านสถาบันทางศาสนา

อย่างเช่น มัสญิด (Mosque) ปอเนาะ (Pondok) หรือมัดเราะซะฮ์ (Madsasah) สำนักจุฬาราชมนตรี (Office of Chularatchmontri) หรือชัยคุลอิสลาม (Shaikh al-Islam)

หรือไม่ก็โดยผ่านงานประจำปีทางศาสนาซึ่งเฉลิมฉลองในระดับชาติ รวมทั้งงานเมาลิดินนะบี (Maulid-al-Nabi)

หรือที่รู้จักกันในชื่องานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย