โล่เงิน : พ่อดิ่งตึกศาล “คดีลูกถูกแทง” สะเทือนวงการ “ยุติธรรม” เมื่อต้นน้ำกำหนดปลายทาง

นับเป็นเหตุการณ์สะเทือนใจอย่างมาก หลังจากที่นายศุภชัย ทัฬหสุนทร อายุ 52 ปี ได้พุ่งกระโดดจากชั้น 8 อาคารศาลอาญา ตกลงมาเสียชีวิต

หลังเกิดเหตุ จากการสอบสวนมีการคาดการณ์ พ้องกับคำให้การของผู้ใกล้ชิดว่าเหตุที่นายศุภชัยตัดสินใจทำอัตวินิบาตกรรมนั้นมีเหตุผลมาจากผิดหวังเเละเครียดอย่างรุนเเรงภายหลังที่ศาลอาญาพิพากษาให้ยกฟ้องนายณัฐพงษ์ เงินคีรี จำเลยที่ถูกกล่าวหาว่าใช้อาวุธมีดปลายแหลมแทงนายธนิต บุตรชายของนายศุภชัย จนถึงแก่ความตาย

คดีนี้เกิดในท้องที่ สน.ดินแดง ตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน 2559

นางเรวดี ภรรยาผู้ตาย ได้เล่าว่า ที่ผ่านมาตำรวจให้ครอบครัวหาหลักฐานฝ่ายเดียว จึงรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม จนสามีลาออกจากงานประจำมาเพื่อหาหลักฐานติดตามคดี เนื่องจากคู่กรณีเป็นผู้มีอิทธิพล มีฐานะ ทำให้พยานไม่กล้าบอกว่าใครเป็นคนร้ายที่แท้จริง ทั้งกล้องวงจรปิดบางตัวที่จุดเกิดเหตุไม่สามารถใช้การได้ แต่เชื่อว่าหากตำรวจมีความพยายามหาหลักฐานมากกว่านี้ก็จะสามารถนำคนร้ายตัวจริงมาลงโทษได้

“ไม่คิดมาก่อนว่าสามีจะฆ่าตัวตาย ก่อนหน้านี้ก็ยังอารมณ์ดี จนกระทั่งสิ้นคำพิพากษา คิดว่าสามีไปเข้าห้องน้ำ ไม่คิดว่าจะโดด ตอนนั้นก็คิดจะกระโดดฆ่าตัวตายตามแต่มีคนมาดึงไว้ หากที่สุดแล้วไม่ได้รับความเป็นธรรมก็มีสิทธิที่จะคิดสั้น แม้ว่าคนอื่นจะมองว่าเป็นคนโง่ก็ตาม” ภรรยาผู้เสียชีวิตกล่าว

โดยนางเรวดีในฐานะโจทก์ร่วม ยืนยันจะสู้คดีต่อในชั้นอุทธรณ์และฎีกา

เหตุการณ์ในครั้งนี้นอกจากเป็นโศกนาฏกรรมแล้วยังสะท้อนถึงความไม่เชื่อมั่นใน “กระบวนการยุติธรรม” และความไม่เข้าใจในขั้นตอน “กระบวนการยุติธรรม” เป็นอย่างยิ่ง

เพราะตามขั้นตอน คดีดังกล่าวนั้นยังสามารถยื่นอุทธรณ์ และสามารถสู้คดีได้ถึงชั้นฎีกา เพื่อให้ศาลสูงพิจารณาคดีได้อีก

ในมุมมองของศาลอุทธรณ์และฎีกาก็อาจจะเห็นว่ามีน้ำหนักรับฟังได้แล้วโดยไม่สงสัยและเห็นต่างจากศาลชั้นต้นก็เป็นได้

นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม ได้สรุปเหตุผลที่ศาลยกฟ้องจำเลยไว้เป็นประเด็นใหญ่ๆ คือ ประจักษ์พยานที่อ้างว่าเห็นเหตุการณ์และให้การไว้ในชั้นสอบสวน ไม่อาจมาเบิกความในชั้นศาลได้

เนื่องจากอยู่ระหว่างการรักษาอาการป่วยทางจิตที่โรงพยาบาล จึงต้องรับฟังคำให้การชั้นสอบสวนที่นำส่งในชั้นศาลประกอบพยานหลักฐานอื่น

แต่พยานหลักฐานอื่นยังมีน้ำหนักไม่เพียงพอที่จะฟังลงโทษจำเลยได้ ซึ่งภาพถ่ายวงจรปิดที่มีการอ้างกัน เห็นแต่เพียงปากทางเข้าซอยที่เกิดเหตุ แต่ไม่สามารถบันทึกภาพบริเวณจุดเกิดเหตุไว้ได้

อีกทั้งพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์อื่น เช่น ดีเอ็นเอ ก็ไม่ปรากฏในสำนวน

เมื่อศาลพิจารณาอย่างรอบคอบแล้วจึงมีคำพิพากษายกฟ้อง เป็นการยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยตามกฎหมาย

นายพิทักษ์ อบสุวรรณ อธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญา ที่เป็นโจทก์ฟ้องคดียืนยันว่าคดีนี้จะต้องมีการยื่นอุทธรณ์คดีต่อศาลสูงอย่างแน่นอน

ส่วนประเด็นว่าไม่มีประจักษ์พยานไปเบิกในศาลทำให้ยกฟ้องนั้น ขอชี้แจงว่า ที่เราไม่ได้ประจักษ์พยานปากนี้ไปเบิกความเนื่องจากป่วยรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล ตรงนี้คณะทำงานเราก็จะดูว่ามีช่องทางขั้นตอนที่จะสู้คดีตรงนี้อย่างไร

ส่วนจะสามารถนำประจักษ์พยานปากที่ว่านี้เข้าสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์ได้หรือไม่ จะมีการประชุมกับคณะทำงานในเรื่องนี้

นายวิญญัติ ชาติมนตรี เลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิและเสรีภาพ (สกสส.) ให้ข้อคิดเห็นว่า ข้อเท็จจริงในคดีนี้มีว่าจำเลยแทงและทำร้ายผู้ตายจริงหรือไม่ ภาระหน้าที่การพิสูจน์ข้อเท็จจริงจึงตกแก่อัยการโจทก์ ซึ่งอัยการจะทำการสืบพยานได้ตามรูปคดีที่ได้มีการสอบสวนไว้เท่านั้น

จึงต้องย้อนถามว่าตอนอัยการรับสำนวนสอบสวนได้คำนึงทางหนีทีไล่และความสมบูรณ์ข้อกล่าวหาละเอียดรอบคอบหรือไม่

เพราะ “ประจักษ์พยาน” คือพยานบุคคลที่ได้รู้ได้เห็นข้อเท็จจริงเหตุการณ์นั้นด้วยตนเอง ในคดีอาญาถือเป็นพยานที่สำคัญที่สุด ซึ่งเมื่ออ้างว่ามีประจักษ์พยานที่ได้เคยให้การในชั้นสอบสวนไว้

แต่ในชั้นสืบพยาน พยานนั้นไม่ได้มาเบิกความยืนยันคำให้การของตน ซึ่งการสืบพยานต้องกระทำต่อหน้าจำเลยเพื่อให้โอกาสจำเลยหรือทนายจำเลยถามค้านพยาน จึงทำให้คำให้การพยานที่ไม่ได้มาเบิกความนี้เป็นเพียงพยานบอกเล่า

แต่ในเรื่องนี้ แม้จะไม่มีประจักษ์พยานมาเบิกความ กฎหมายก็ยังเปิดช่องกรณีมีเหตุจำเป็นไม่สามารถนำพยานบุคคลซึ่งเป็นผู้ที่ได้เห็น ได้ยิน หรือทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องที่ให้การด้วยตนเองได้

ถือเป็นเหตุอันสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจึงรับฟังบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนนั้นได้

หน้าที่ส่วนนี้ จึงอยู่ที่อัยการโจทก์ว่าละเลยเพิกเฉยไม่ติดตามหรืออยู่ในวิสัยที่จะเอาใจใส่ติดตามพยานมาได้หรือไม่ ล้วนแต่กลายเป็นปริศนากลางทาง

อีกทั้งกฎหมายก็ไม่ได้ห้ามไม่ให้ศาลรับฟังประกอบพยานอื่น ดังนั้น เมื่อไม่มีกล้องวงจรปิด ไม่มีพยานบุคคลที่ใกล้ชิดเหตุการณ์มาเบิกความประกอบเป็นพยานแวดล้อม

ศาลจึงต้องชั่งน้ำหนักพยานที่มีถึงลักษณะและแหล่งที่มาซึ่งน่าเชื่อถือสามารถพิสูจน์ความได้หรือไม่ จึงจะนำมาประกอบพยานหลักฐานอื่นได้ ก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลจะให้น้ำหนักมากน้อยเพียงใด

เลขาฯ สกสส. ชี้อีกว่า สำนวนสอบสวนต้นทางถือว่าสำคัญ จะมีมาตรฐานหรือไม่ก็อยู่ที่การทำสำนวนของตำรวจ หากไม่สามารถแสวงหาพยานหลักฐานที่มีคุณภาพมากพอแก่การพิสูจน์ความจริงได้ แนวทางคดีก็ย่อมเป็นไปตามพยานหลักฐานที่ปรากฏในทางพิจารณา แม้ความจริงเรื่องนี้อาจจะมีการทำร้ายและใช้อาวุธมีดปลายแหลมแทงก็ตาม

กรณีที่ญาติของผู้ตายแสดงความคับแค้นใจออกมาว่าตำรวจหรือพนักงานสอบสวนไม่ให้ความเป็นธรรม ต้องย้อนถามว่าที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำเต็มที่หรือไม่ หรือมีการทำลายพยานหลักฐาน

พนักงานอัยการได้ใช้ความรู้ตรวจสอบกลั่นกรองและใช้อำนาจให้ได้ข้อสมบูรณ์เพียงใด จึงเป็นเรื่องที่ต้องหาคำตอบ

พร้อมทิ้งท้ายว่า

“ผู้ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมที่จะสร้างความยุติธรรมที่เป็นรูปธรรมได้ นอกจากต้องมีหน้าที่เพิ่มพูนความรู้และทำหน้าที่ทางจริยธรรมที่ดีแล้ว ยังต้องร่วมกันสร้างความสมเหตุสมผลที่มีลักษณะสาธารณะ ไม่ได้เป็นเพียงคนเดียวหรือกลุ่มจำกัด แต่ความสมเหตุสมผลต้องมีเป้าหมายที่คนทั้งหมด เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและเข้าถึงความยุติธรรมได้อย่างเท่าเทียมด้วย”