พระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ที่พระราชทานเงินสร้างสถาบันการศึกษาและให้ทุนแก่ นร.กัมพูชา [คุยกับทูต]

คุยกับทูต ลง วิซาโล ไทย-กัมพูชา สัมพันธ์อันราบรื่นไร้พรมแดน (4)

“ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานเงินเพื่อก่อสร้างสถาบันการศึกษาในประเทศกัมพูชาที่จังหวัดกำปงธม (Kampong Thom) ซึ่งตอนนี้กำลังก่อสร้างอาคารเพิ่มเติมอีกหนึ่งแห่ง และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานทุนการศึกษาแก่นักเรียนและครูจากจังหวัดกำปงธม และจังหวัดกำปงสปือ (Kampong Speu) เพื่อมาศึกษาต่อที่ประเทศไทย”

การติดตั้งระบบเซลล์แสงอาทิตย์ใน วิทยาลัยกำปงเฌอเตียล ราชอาณาจักรกัมพูชา

นายลง วิซาโล (H.E. Mr.Long Visalo) เอกอัครราชทูตแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาประจำประเทศไทย กล่าวถึงโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในประเทศกัมพูชา หนึ่งในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านความร่วมมือระดับนานาชาติ

วิทยาลัยกำปงเฌอเตียล

จากสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างไทย-กัมพูชา และความสนพระราชหฤทัยในอารยธรรมเขมร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเยือนราชอาณาจักรกัมพูชาหลายครั้ง

และทุกครั้งชาวกัมพูชาจะรอเฝ้าฯ รับเสด็จด้วยอัธยาศัยอันดียิ่ง

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และนายกรัฐมนตรีสมเด็จฮุน เซน

พระองค์จึงมีพระราชประสงค์ที่จะตอบแทนไมตรีจิตของชาวกัมพูชา ด้วยการให้ของขวัญที่ยั่งยืนแก่ชาวกัมพูชา นั่นคือการศึกษา แสดงถึงความเป็นมิตรที่ดีต่อกันของประชาชนทั้งสองประเทศ

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินก่อสร้างและพัฒนาวิทยาลัยกำปงเฌอเตียล ในอำเภอปราสาทซ็อมโบร์ จังหวัดกำปงธม และเสด็จฯ เป็นองค์ประธานเปิดวิทยาลัยกำปงเฌอเตียล เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน ค.ศ.2005

ในการนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานทุนการศึกษาแก่นักเรียนเพื่อให้มาศึกษาต่อในประเทศไทยในหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิตและหลักสูตรอาชีวศึกษา เพื่อนำความรู้กลับไปสอนและพัฒนาการจัดการศึกษาของวิทยาลัย

วิทยาลัยกำปงเฌอเตียล

พร้อมทั้งพระราชทานเครื่องดนตรีปี่พาทย์ครบชุด และพระราชทานทรัพย์สำหรับจ้างครูท้องถิ่นผู้ชำนาญการสอนนาฏศิลป์และดนตรี

“ทางด้านสาธารณสุข สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานเงินแก่ศูนย์ป้องกันโรคมาลาเรียในสามจังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศกัมพูชา คือ สตึงแตรง (Steung Treng) รัตนคีรี (Ratanakiri) และมณฑลคีรี (Mondulkiri) ทำให้เกิดความร่วมมือทางด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะการป้องกันโรคตามแนวชายแดนร่วมกันระหว่างไทยและกัมพูชาเป็นอย่างมาก”

ท่านทูตชี้แจง

วิทยาลัยกำปงเฌอเตียล

“ความสัมพันธ์ทางด้านการค้าระหว่างกัมพูชากับไทย ในปี ค.ศ.2017 คือเมื่อปีที่แล้ว มีมูลค่าการค้าระหว่างกันเพิ่มขึ้น 10% และตอนนี้กัมพูชากับไทยวางแผนร่วมกันเพื่อเพิ่มการค้าแบบทวิภาคี ให้ถึงจำนวน 15 พันล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี ค.ศ.2020”

นายลง วิซาโล เอกอัครราชทูตกัมพูชา เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม

เมื่อวันที่ 21-22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี้ กระทรวงพาณิชย์ไทยและกัมพูชาได้ลงนามยุทธศาสตร์การสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของเมืองหน้าด่านชายแดนไทย-กัมพูชา เพื่อผลักดันการค้ารวมให้สู่เป้า 15 พันล้านเหรียญสหรัฐ ภายใน 3 ปีในระหว่างการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee : JTC) ไทย-กัมพูชา ครั้งที่ 6 ณ กรุงพนมเปญ

อันเป็นการกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนกับกัมพูชาให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น

ปัจจุบันกัมพูชาเป็นคู่ค้าอันดับที่ 8 ของไทยในอาเซียน และเป็นคู่ค้าอันดับที่ 21 ของไทยในโลก

สำหรับการค้าของไทยกับกัมพูชาในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ค.ศ.2012-2016) มีมูลค่าเฉลี่ยประมาณปีละ 4,992.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนในปี ค.ศ.2017 การค้ารวมไทย-กัมพูชา มีมูลค่า 6,164.9 ล้านเหรียญสหรัฐ

โดยไทยเป็นฝ่ายเกินดุลการค้า 4,375.1 ล้านเหรียญสหรัฐ

“สำหรับการพัฒนาเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor : EWEC) หรือเส้นทางหมายเลข 9 (R9) นั้นเสร็จแล้ว ซึ่งหมายความว่าการเชื่อมต่อระหว่างไทยกับกัมพูชาและเวียดนามได้แล้วเสร็จ และขณะนี้เราใช้กันทุกวัน ส่วนแนวระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ก็กำลังดำเนินการอยู่”

ในปัจจุบันทั้ง 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง คือ ไทย พม่า ลาว จีน (ยูนนานและกวางสี) เวียดนาม และกัมพูชา ได้กําหนดแนวพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจ 3 แนวพื้นที่ ได้แก่

แนวตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor : EWEC) เชื่อมโยงพม่า-ไทย-ลาว-เวียดนาม ระยะทาง 1,500 กิโลเมตร ได้แก่ เมาะละแหม่ง-เมียวดี/แม่สอด-พิษณุโลก-ขอนแก่น-กาฬสินธุ์-มุกดาหาร/สะหวันนะเขต-ดองฮา-ดานัง

แนวเหนือ-ใต้ (North-South Economic Corridor : NSEC) 2 เส้นทางหลัก ได้แก่ เชื่อมโยงจีน-พม่า/ลาว-ไทย (คุนหมิง-เชียงรุ่ง-ต้าหลั่ว-เชียงตุง-ท่าขี้เหล็ก/แม่สาย-กรุงเทพฯ และคุนหมิง-เชียงรุ่ง-บ่อเต้นหลวงน้ำทา-ห้วยทราย/เชียงของ-กรุงเทพฯ) ระยะทางประมาณ 1,280 กิโลเมตร และจีน-เวียดนาม (คุนหมิง-ฮานอย-ไฮฟอง)

แนวตอนใต้ (Southern Economic Corridor : SEC) เชื่อมโยงไทย-กัมพูชา-เวียดนาม 3 เส้นทาง ได้แก่ กรุงเทพฯ-อรัญประเทศ/ปอยเปต-พนมเปญ-โฮจิมินห์ซิตี้-วังเตา ระยะทาง 1,005 กิโลเมตร กรุงเทพฯ-ตราด/เกาะกง-สแรแอมปึล-กัมปอต-ฮาเตียน-กามู-นําเชา ระยะทาง 907 กิโลเมตร กรุงเทพฯ-เสียมราฐ-สตึงแตรง-รัตนคีรี-OYadav-Play Ku-Quy Nhon ระยะทาง 1,150 กิโลเมตร

“สมัยก่อน นักท่องเที่ยวที่จะเดินทางไปยังกัมพูชาจะต้องผ่านกรุงเทพฯ ก่อน แต่ปัจจุบันสามารถบินตรงไปยังเสียมราฐและพนมเปญได้เลย ด้วยเหตุนี้เราจึงสามารถพัฒนาด้านการท่องเที่ยวได้มากขึ้น ปัจจุบันเรามีจำนวนนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือ เกาหลีใต้ เวียดนาม และไทย ต่างจากแต่ก่อนที่ไทยครองอันดับหนึ่งของนักท่องเที่ยวในกัมพูชา”

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศรายงานว่า กัมพูชาในวันนี้คือประเทศที่มีการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็ว ทั้งเมืองหลวงและเมืองรอง สู่ความทันสมัย เนื่องจากการหลั่งไหลเข้าไปทำงานและใช้ชีวิตแบบลงหลักปักฐานของชาวต่างชาติเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะชาวจีน ญี่ปุ่น เกาหลี และเวียดนาม

จากการที่กฎหมายกัมพูชาอนุญาตให้ชาวต่างชาติสามารถเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อาคารตั้งแต่ชั้นที่ไม่ติดกับพื้นดิน ส่งผลให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีการขยายตัวอย่างมาก ทั้งบ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม อพาร์ตเมนต์ โรงแรม ศูนย์การค้าทันสมัย

ทั้งนี้ คาดว่าภายใน 3 ปี กรุงพนมเปญจะมีจำนวนคอนโดมิเนียมเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 40 ต่อปี และจำนวนห้องพักจะเพิ่มขึ้นถึงอย่างน้อย 1 หมื่นยูนิต

“สำหรับชายแดนไทย-กัมพูชานั้นมีความยาวมากนับพันกิโลเมตร และมีด่านตรวจคนเข้าเมืองมากมายหลายจุด ทั้งนี้ เพื่อป้องกันปัญหาแรงงานกัมพูชาเข้าเมืองผิดกฎหมาย รวมทั้งปัญหาการค้ามนุษย์ การหลอกลวงแรงงานไปทำงาน”

“เรื่องการค้ามนุษย์ เป็นการร่วมมือกันระหว่างคนกัมพูชาและคนไทย ในประเทศกัมพูชาผู้ค้ามนุษย์จะรับสมัครคนจากจังหวัดห่างไกล บางครั้งมาจากชายแดนเวียดนาม จากนั้นเตรียมเอกสารแบบนักท่องเที่ยวเข้าประเทศไทยเพื่อทำงานอย่างผิดกฎหมาย”

นายลง วิซาโล เอกอัครราชทูตกัมพูชา เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม

ความร่วมมือทางด้านแรงงาน เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสวัสดิการแรงงานกัมพูชา และลดความเสี่ยงในการตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ ซึ่งไทยและกัมพูชากำลังผลักดันกระบวนการพิสูจน์สัญชาติและทำเอกสารเดินทางให้แล้วเสร็จ ตามข้อตกลงร่วมกันภายในปีนี้

นอกจากนี้ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ยังได้ช่วยจัดฝึกอาชีพช่างให้แรงงานกัมพูชาเป็นการเชื่อมสัมพันธ์ไทย-กัมพูชาเพื่อลดปัญหาการค้ามนุษย์และส่งเสริมการค้าชายแดน

“เราดำเนินงานร่วมกับประเทศไทยด้วยการให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (One-Stop Service) ในกระบวนการออกหนังสือเดินทางแก่คนกัมพูชาเพื่อให้เข้ามาทำงานในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย จากจำนวนประมาณหนึ่งล้านห้าหมื่นคน ตอนนี้ก็เหลือเพียงแสนกว่าคนที่ยังรอการลงทะเบียน”