ไขปริศนาความสำเร็จ ของ I HATE YOU I LOVE YOU จากปากคำ ย้ง-ทรงยศ สุขมากอนันต์

ชั่วโมงนี้ไม่มีซีรี่ส์ไหนที่ดังเท่ากับ I HATE YOU I LOVE YOU ซีรี่ส์สืบสวนสอบสวนแกะกล่องที่เป็นการร่วมมือกันของนาดาว GDH และ LINE TV กำกับฯ โดย ย้ง-ทรงยศ สุขมากอนันต์

แค่เพียงยอดผู้ชมออนไลน์สดๆ ใน EP แรกก็ปาไปกว่า 400,000 วิวแล้ว แถมภายใน 24 ชั่วโมง ยังซัดไปถึง 5 ล้านวิว!

ปัจจุบันกำลังเข้าสู่ EP ที่ 4 แล้ว และก็ยังคงได้รับความนิยมอย่างล้นหลามเช่นเคย พร้อมกับวลีเด็ด “ใครฆ่านานะ”

สำหรับใครที่ยังไม่เคยดู I HATE YOU I LOVE YOU คือซีรี่ส์ที่ตีแผ่ชีวิตวัยรุ่นตามสไตล์ที่ทรงยศถนัด (แบบที่เคยสร้างปรากฏการณ์มาแล้วกับ ฮอร์โมน)

ความพิเศษของ I HATE YOU I LOVE YOU นอกจากจะมีดาราวัยรุ่นแถวหน้ามาแสดงนำ เช่น “ปันปัน-ฝน-สกาย-เจเจ” และเป็นซีรี่ส์แนวสืบสวนสอบสวนที่ให้คาดเดาไปต่างๆ นานาว่าตัวละครเอกที่ถูกฆาตกรรมนั้นใครเป็นฆาตกร

นี่น่าจะเป็นครั้งแรกๆ ในเมืองไทยที่มีการทำมินิซีรี่ส์ 5 ตอน โดยแต่ละตอนเล่าผ่าน “มุมมอง” ของตัวละครแต่ละตัว ต่างกับวิธีแบบ “ราโชมอน” ที่เป็นการเล่าผ่านทัศนคติ

จุดเริ่มต้นการเล่าเรื่องแบบ 5 ตอนจบผ่านตัวละครแต่ละตัว เกิดจากปัญหาของซีรี่ส์ตอนสั้นที่ส่วนใหญ่มักจะถูกผู้ชมติงว่าเป็นความสนุกที่ไม่สุด

ทรงยศให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวออนไลน์ The Momentum ว่า

“ตอนคุยกันในทีม มีคนเสนอขึ้นมาว่าให้แต่ละตอนนำเสนอผ่านมุมมองของตัวละครแต่ละตัวดีไหม ถ้าในเรื่องมีตัวละครที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์แค่ 5 ตัว ซีรี่ส์มี 5 ตอนจบ เราเล่าผ่านตัวละครก็น่าจะตอบโจทย์ได้ว่าทำไมซีรี่ส์ถึงมีแค่ 5 ตอน แต่บอกก่อนว่ามันไม่ใช่ราโชมอน เพราะราโชมอนคือการตีความผ่านทัศนคติของตัวละคร ขณะที่ HATELOVE จะนำกล้องไปตามแค่ตัวละครตัวเดียวในแต่ละตอน เป็นการถ่ายทอดในเชิงมุมมอง ซึ่งเรื่องทั้งหมดจะเล่าออกมาตรงๆ ไม่ถูกบิดเหมือนการเล่าผ่านทัศนคติ”

เมื่อปรึกษาหารือกันในทีม ทั้งรูปแบบและวิธีการจากหนังอย่าง Van-tage Point และละครเวที Sleep No More จนได้โครงเรื่อง และคอนเซ็ปต์คร่าวๆ กระทั่งเข้าสู่ขั้นตอนพัฒนางานกับทีมเขียนบท

ถึงอย่างนั้นทรงยศก็ไม่มั่นใจกับความใหม่ของงานสไตล์นี้อยู่ดี

เขาจึงเรียกนักแสดงมานั่งอ่านบทพร้อมกันเพื่อหาช่องโหว่ที่เกิดขึ้น

“ในบทร่างแรกที่เราลองเขียนดู ตอนที่ 1 น้องๆ ทุกคนดูสนุกกันมาก แต่พอถึงตอนที่ 2 นักแสดงส่วนใหญ่พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเบื่อ เพราะเหตุการณ์เกิดขึ้นซ้ำกับในตอนแรก ผมก็กลับมาคิดกันว่าจะทำยังไงให้คงความสนุกได้อยู่ สุดท้ายเลยคิดว่าคงต้องมีเหตุการณ์บางอย่างที่สร้างความแตกต่างให้กับเรื่อง โดยที่แต่ละตอนเราอาจจะไม่รู้เลยว่าตัวละครตัวอื่นไปทำอะไรมา”

ผลลัพธ์จึงออกมาเป็นซีรี่ส์สืบสวนที่เคลือบไปด้วยชีวิตของวัยรุ่นที่เบาหวิวแต่น่าติดตาม

แต่ผมคิดว่านั้นเป็นเพียงรายละเอียดปลีกย่อยของความสำเร็จ

ปัจจัยหลักคือตัวทรงยศเองมากกว่า

อะไรคือความคิดที่ทำให้เขากล้าแหวกขนบขนาดนี้ และสร้างปรากฏการณ์จากการทำซีรี่ส์ได้บ่อยๆ?


1.โฟกัสที่คอนเทนต์

จากการเปลี่ยนแพลตฟอร์มบนหน้าจอโทรทัศน์สู่หน้าจอในแอพพลิเคชั่นบน Line TV หนึ่งในโจทย์หลักที่สำคัญของการทำงานคือ ทำอย่างไรให้ช่องทางในการเข้าถึงที่ยากลำบากไม่กลายเป็นอุปสรรค

ทรงยศให้สัมภาษณ์กับ The Momentum ว่า “ตอนที่คุยกับ Line TV ผมบอกกับเขาว่าใช้วิธีง่ายๆ ที่สุดเลย คอนเทนต์ที่เราทำต้องหาดูไม่ได้ตามช่องทางปกติ สมมติจะทำซีรี่ส์วัยรุ่น เราก็ต้องมีวิธีการพูด และประเด็นที่แตกต่างจากคนอื่นๆ เพราะช่องทางของเราเข้าถึงยาก ถ้าช่องทางเข้าถึงยาก แล้วซีรี่ส์ไม่ต่างจากละครวัยรุ่นทั่วๆ ไปอีก คนก็ไม่จำเป็นต้องมาดูเรา

ทรงยศจึงไม่กลัวเรื่องแพลตฟอร์ม แต่โฟกัสไปที่คอนเทนต์เป็นหลัก โดยไม่ได้ว่าจะมีคนดูไหม

“เวลาทำงานก็ต้องตีประเด็นออกมาให้ชัด ทำให้คนดูสนุกกับเรา”

2.อย่าเอาแค่ขายได้ ต้องใส่ทัศนคติลงไปด้วย

หนึ่งในจุดเด่นของซีรี่ส์วัยรุ่นในแบบฉบับทรงยศ คือ “ความแรง และความเรียล” แต่ตัวเขาบอกว่ามันอาจจะเป็นดาบสองคม

“สารภาพตามตรงว่า เวลาคิดอะไรเร็วๆ ง่ายๆ ความแรงเป็นสิ่งที่ง่ายมาก ทั้งการคิดสตอรี่บอร์ด หรือการทำบท เวลาพูดเรื่องวัยรุ่น หรืออะไรที่มีความซับซ้อนมากมันก็มักจะมีความแรง เพราะวัยรุ่นไม่เหมือนผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่จะมีความซับซ้อนที่เต็มไปด้วยประสบการณ์และวุฒิภาวะ เป็นความแรงในเชิงทัศนคติซึ่งต่างจากวัยรุ่นที่มีความรุนแรงในด้านการกระทำ”

ทรงยศย้ำว่า “อีกเหตุผลหนึ่งที่ต้องยอมรับเลยคือความแรงมันหลอกให้คนมาสนใจได้ง่าย แต่ยิ่งแรง คนให้ความสนใจมาก มันก็ยิ่งเพิ่มแรงกดดันให้เรามาก ยิ่งวันที่งานของเราถูกเผยแพร่ เรายิ่งต้องพิสูจน์ตัวเองให้ได้ว่างานของเราไม่ได้มีแค่ความแรง

“ผมไม่อยากเป็นคนทำคอนเทนต์ที่เหนื่อยเปล่า โดยไม่ได้พูดถึงทัศนคติของตัวเอง หรือปราศจากความเป็นตัวตนของเรา ถ้าเราแฮปปี้ที่มันดังเพราะมันแรง มันจะเป็นทัศนคติที่ cheap หรือดูไม่มีราคา

“ผมพยายามเตือนตัวเองอยู่เสมอเพื่อไม่ให้ทำงานที่มีค่าแค่เนื้อหาแรงๆ เพราะเมื่อไรก็ตามที่เป็นเช่นนั้น ผมจะกระจอกมากเลย”

3.ปรับตัว

หนึ่งในปัญหาที่คนทำงานมักจะกังวลกันคือความเปลี่ยนแปลง

ทรงยศก็เจอปัญหานี้เช่นกัน เพราะพวกเขาต้องสร้างภาพยนตร์ให้คนดูบน “โทรศัพท์มือถือ” ไม่ใช่ “โทรทัศน์” อีกต่อไป

เขามองว่าการเปลี่ยนแพลตฟอร์มนี้มีผลต่อการทำงานของเขามาก แต่ก็จำเป็นที่จะต้องปรับตัว

“เราต้องคิดว่าคนส่วนใหญ่เขาดูผ่านโทรศัพท์กัน ทุกอย่างในจอจะเล็กลงกว่าเดิม เวลาถ่ายอินเซิร์ตอะไร รายละเอียดในจอบางอย่างก็จะเล็กจนคนดูมองไม่เห็น หรือรายละเอียดบางอย่างที่คนทำหนังอย่างเราอยากจะคงมันไว้ ถ้าอยากจะติสต์ อยากจะอาร์ต แต่คนดูสังเกตไม่ออก มันก็เป็นวิธีที่ไม่ฉลาดในการสื่อสารกับเขา”

“เวลาเราเปลี่ยนแพลตฟอร์มทำงาน เราก็ต้องปรับตัวเองตามให้ทัน”