บทวิเคราะห์ : กลยุทธ์ ครม.สัญจร กลยุทธ์การเมืองพลังดูด ภาพสะท้อนการเมืองแบบไทยๆ

แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีคนสำคัญ ไล่ลงมาถึงแม่ทัพภาคที่ 2 ที่ยืนยันว่าการลงพื้นที่ภาคอีสานของบิ๊กตู่ไม่มีนัยยะทางการเมือง

แต่ “สวนดุสิตโพล” ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ เรื่อง “ครม.สัญจร” ในสายตาประชาชนจากกลุ่มตัวอย่าง 1,132 คน ถามว่า ประชาชนคิดว่าการจัด ครม.สัญจร มีนัยยะทางการเมืองหรือไม่ พบว่า 61.21% เห็นว่ามีนัยยะทางการเมือง เป็นการลงพื้นที่เพื่อหยั่งเสียงของประชาชน มีความเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ต้องการดูกระแสการตอบรับของประชาชน

จะไม่ให้คนคิดได้อย่างไร เพราะมันเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องมาตั้งแต่กลางปีที่แล้ว ซึ่งประชาชนได้เห็นภาพบิ๊กตู่พบปะพูดคุยกับนักการเมืองคนที่บิ๊กตู่เคยวิจารณ์มาก่อนในช่วงแรกๆ ที่มีอำนาจ ทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการ

หลังการพูดคุย นักการเมืองส่วนใหญ่ก็ออกมาให้การสนับสนุน ประกาศว่าจะอยู่พรรคการเมืองที่พร้อมหนุนบิ๊กตู่เป็นนายกฯ ต่อ ภายใต้คำสั่ง คสช. ที่โละสมาชิกพรรคทั้งหมด ทุกพรรคต้องจัดระบบสมัครสมาชิกใหม่ จนพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งมีสมาชิกหลักล้านหดเหลือหลักแสน ส่วนเพื่อไทยจากหลักแสนเหลือแค่หลักหมื่น

ยังไม่นับการดึงนักการเมืองเข้ามาร่วมงานการเมืองในตำแหน่งสำคัญในช่วงหลังอีก เช่นกรณีตระกูลคุณปลื้ม หรือการดึงคนรุ่นใหม่จากพรรคประชาธิปัตย์-กปปส. ให้มาทำงานใน กทม. การเปิดตัวพลังประชารัฐ ล่าสุดคือกลุ่มสามมิตร ที่เดินหน้าดึงตัวอดีต ส.ส. หลายพื้นที่ทางภาคอีสาน และภาคเหนืออันเป็นฐานเสียงของเพื่อไทยนั่นเอง

เสียงวิจารณ์พลังดูดในการลงพื้นที่กระหึ่ม รัฐบาลต้องยกเลิกการพูดคุยกับนักการเมือง นำโดยนายสุพล ฟองงาม อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยและอดีต ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยอดีต ส.ส.อุบลราชธานี พท. และอื่นๆ จำนวนหนึ่ง ที่ก่อนหน้านี้มีข่าวออกตัวพร้อมจะเข้าร่วมกับกลุ่มสามมิตรและพรรคพลังประชารัฐ

ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ถึงกับน็อตหลุดกลางข่าวพลังดูด ใช้คำว่าจะชกปากคนที่มาด่าระหว่างลงพื้นที่จังหวัดอุบลฯ

“4 ปีที่ผ่านมา ที่ทรมาน เพราะอ่านหนังสือพิมพ์และดูโทรศัพท์ วันนี้เลิกอ่านแล้ว ใครด่าก็ชกปากแล้ว แต่เพราะผมเป็นนายกฯ ผมถึงต้องอดทน ผมไม่เคยทำร้ายใคร ก็มีสิทธิไม่ให้ใครมาเหยียบย่ำได้ และเรื่องที่ว่าใครดูด ถามว่าใครมาดูดใคร จะไปพรรคอะไรมันเรื่องของท่าน จะไปดูดอะไร เพราะวันนี้ประชาชนจะเลือกเอง ต้องเลือกคนดีๆ เลือกแบบเดิมทุกอย่างก็ตาย วันนี้ใครเกลียดผม ไม่ชอบผม ขอให้เลิกอ่านหนังสือพิมพ์สัก 5 วันแล้วจะรักผม” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

ในการลงพื้นที่จังหวัดอีสานตอนใต้ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวย้ำหลายครั้งว่าการลงพื้นที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องการเมือง และพร้อมพบปะกับนักการเมืองทุกคน ยกเว้นคนที่มีปัญหากับกฎหมาย รวมถึงการพูดกับประชาชนว่ายิ่งใกล้เลือกตั้งยิ่งต้องลงพื้นที่ให้มาก เพื่อชี้แจงประชาชน

“ยิ่งใกล้เลือกตั้ง ผมยิ่งต้องลงพื้นที่ให้มากขึ้น เพื่อชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจ และการเลือกตั้งครั้งต่อไปเมื่อมีรัฐบาลใหม่ จะต้องเป็นรัฐบาลที่ไปได้ทุกที่ ยิ่งมีคนเกลียด ผมก็ต้องวิ่งไปหา” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

แต่คำพูดสำคัญ ซึ่งเป็นหลักใหญ่ใจความของปัญหาที่บิ๊กตู่พยายามอธิบายกับชาวบ้านคือปัญหาการเลือกผู้นำ

“ปัญหาทุกอย่างที่เกิดขึ้น เป็นเพราะการเลือกผู้นำที่ผิด จะมาโทษรัฐบาลฝ่ายเดียวไม่ได้ จึงอยากให้ประชาชนพิจารณาก่อนจะเลือกใครมาเป็นผู้นำ เพราะคนนั้นจะต้องรับผิดชอบ” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว ระหว่างพบปะประชาชนจังหวัดอำนาจเจริญ

เหล่านี้คือลีลาเด็ดของ พล.อ.ประยุทธ์ ในทางการเมือง

การปรากฏตัวของกลุ่มสามมิตรเป็นเรื่องน่าแปลกใจไม่เบา เพราะล้วนเป็นคนที่เคยทำงานกับรัฐบาลฝั่งไทยรักไทย พลังประชาชน และเพื่อไทย ระดับแกนนำอย่างกลุ่ม นปช. เช่น นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ หรือแรมโบ้อีสาน แกนนำ นปช. ถึงขนาดขอถอนสาบานย่าโม กลับมาเล่นการเมืองกับกลุ่มสามมิตร

ซึ่งช่วงหลังนี้จะเป็นการดูดนักการเมืองฝั่งเพื่อไทยและกลุ่ม นปช. นำโดยนายสมศักดิ์ เทพสุทิน ที่พยายามเข้าไปพูดคุยกับ นปช.หลายจังหวัดในภาคอีสาน

ล่าสุด มีข่าวว่ากลุ่มสามมิตรพยายามเทียบเชิญนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ นักการเมืองใหญ่แห่งเมืองโคราช มีเสียงจากนายชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา โฆษกพรรคชาติพัฒนาว่า “พรรคชาติพัฒนายินดีสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือระหว่างพรรคการเมืองเพื่อร่วมกันทำงานและยุติความขัดแย้งต่างๆ ที่ผ่านมา เพื่อให้ประเทศชาติเดินหน้าไปได้หลังการเลือกตั้งในปีหน้า”

กลุ่มสามมิตรยังพยายามติดต่อนักการเมืองรุ่นเก๋าอย่างนายอดิศร เพียงเกษ แห่งพรรคเพื่อไทย แต่ก็ถูกนายอดิศรออกมาตอบโต้ ขอตัดขาดไม่ต้องมายุ่ง

“ขอให้นายภิรมย์ พลวิเศษ แกนนำกลุ่มสามมิตร อย่าเอ่ยชื่อถึงผมเลย คุณทำของคุณไปเถิด ส่วนตัวนายภิรมย์เป็นคนเก่ง ผมก็ยังรักและเอ็นดูนายภิรมย์อยู่เสมอ แต่แนวทางของเราไปกันไม่ได้โดยเด็ดขาด คุณเชียร์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ แต่เราต่อต้าน พล.อ.ประยุทธ์” นายอดิศรย้ำชัดเจน

นอกจากพรรคเพื่อไทย ฝั่งประชาธิปัตย์เองก็วิพากษ์กระแสพลังดูดไม่เบา โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ถึงกับออกมายืนยันว่า มีการใช้เงิน ตำแหน่งและคดีความมาเสนอแลกเปลี่ยนให้ย้ายพรรคใหม่จริง และขอให้บิ๊กตู่ระวังการอนุมัติงบฯ ครม.สัญจร

ด้านแกนนำประชาธิปัตย์อีสาน อย่างนายอิสสระ สมชัย อดีต ส.ส.อุบลฯ ประชาธิปัตย์ ก็ส่งเสียงดังวิจารณ์ข่าวการลงพื้นที่ของนายกฯ กับจุดยืนพลังดูด

“ไม่เห็นรัฐมนตรีที่มีชื่อจะปฏิเสธ ทำเหมือนปากว่าตาขยิบ เพราะถ้ารับว่ามีการทำจริงก็อาจถูกมองว่าเอาเปรียบคนอื่น แต่โดยข้อเท็จจริงก็อย่างที่รู้กัน กระแสการเชิญชวนคนมาร่วมพรรคใหม่ค่อนข้างจะจริง และเป็นจริงตามข่าวตลอด ถึงจะปฏิเสธอย่างไรแต่ภาพที่เห็นเป็นอย่างไรนั้น ดังนั้น ไม่ใช่เรื่องเสียหาย ถ้ารับว่ารัฐบาลอยากทำงานต่อ ก็พูดมาเลย ไม่เป็นไร อย่าแก้ตัวไปเรื่อย” นายอิสสระกล่าว

จากนี้จึงต้องจับตาว่าจะมีใครประกาศตัวเข้าร่วมกับกลุ่มสามมิตร และกลุ่มประชารัฐอีก เพราะในทางการเมืองก็ยังเหลือเวลาอีกนาน

ส่วนเสียงของคนนอกซึ่งไม่ใช่ทั้งฝ่ายรัฐบาล และฝั่งเพื่อไทย นปช. ที่มองพลังดูด ก็มีหลากหลาย หนึ่งในนั้นคือ วีระ สมความคิด อดีตแกนนำเสื้อเหลือง ที่มองว่าการเมืองแบบนี้จะก่อให้เกิดความไม่ปรองดองและจะเกิดรุนแรงขึ้นในอนาคต

“นี่คือการปฏิรูปทางการเมืองก่อนการเลือกตั้งใช่ไหม เล่นการเมืองแบบน้ำเน่า สกปรก เอาเปรียบกันเช่นนี้ ไม่มีความเป็นธรรมในสังคม ปรองดองเกิดขึ้นไม่ได้ ความแตกแยกในสังคมจะทวีความรุนแรงแน่นอน” นายวีระระบุ

หรือความเห็นของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่สนับสนุนพลังดูดดังกล่าวโดยให้เหตุผลว่า “เป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะทำให้พวกเราเห็นชัดว่านักการเมืองคนไหนทรยศต่อจรรยาบรรณของอาชีพตัวเอง ใครที่ทรยศกับจรรยาบรรณวิชาชีพตัวเองนี้ จารึกไว้ให้ชัดว่าใครสนับสนุนเผด็จการ เป็นโอกาสที่ดีมาก ผมสนับสนุนให้ทำ”

ต้องยอมรับว่าการดูดกันในทางการเมืองไม่ใช่เรื่องใหม่ เคยเกิดขึ้นมาแล้วมากมายในการเมืองไทย ซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนาทางการเมือง ที่สถาบันทางการเมืองในประเทศยังไม่ลงตัว อยู่ระหว่างการจัดวางตำแหน่งแห่งหนที่ควรจะเป็น

การดูดเกิดขึ้นในการเมืองแบบประชาธิปไตย เพราะในระบบเผด็จการไม่มีการเลือกตั้ง แต่ต้องพูดให้ชัดลงไปอีกนิดว่า การดูดกันในทางการเมือง มักเกิดขึ้นในสังคมประชาธิปไตยที่ด้อยคุณภาพด้วย เพราะประชาธิปไตยที่มีคุณภาพ พรรคการเมืองจะอยู่ได้ด้วยอุดมการณ์การเมืองที่ชัดเจน

การดูดตัวนักการเมือง จึงเป็นวิธีคิดทางการเมืองแบบดั้งเดิม ตั้งอยู่บนแนวคิดแบบอิทธิพล-บารมี ซึ่งมีอยู่ในสังคมที่มีลักษณะความสัมพันธ์แบบเก่า แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป สังคมมีพัฒนาการมากขึ้น วิธีคิดแบบประชาธิปไตยเข้ามาเปลี่ยนมุมมองความสัมพันธ์ทางสังคมไปเยอะ การดูดตัวนักการเมืองจึงแทบไม่จำเป็น เพราะการเมืองแบบสังคมสมัยใหม่ไม่ได้ยึดติดกับตัวบุคคล แต่ยึดติดกับแนวคิดทางการเมืองของแต่ละพรรคต่อปัญหาของสังคมในช่วงเวลาขณะนั้น

สำหรับการเมืองไทย การดูดที่เกิดขึ้นมาก จึงเป็นปรากฏการณ์หนึ่งของสังคมช่วงเปลี่ยนผ่านนั่นเอง การกำจัดวิธีดูดนักการเมืองให้ดีที่สุด ไม่ใช่การห้ามไม่ให้มีนักการเมือง แต่คือให้กลไกประชาธิปไตยทำงานและเพิ่มพลังตรวจสอบให้เข้มแข็ง

เมื่อประเทศก้าวสู่การเมืองแบบอุดมการณ์ ต่อสู้กันด้วยความคิด การเมืองตัวบุคคลก็จะไม่จำเป็น การดูดก็จะไม่จำเป็นอีกต่อไป