จักรวรรดิในกำแพง : กำเนิดจักรวรรดิ ตอนจบ “สิ้นฮั่นแต่ไม่สิ้นจักรวรรดิ”

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

ฮั่นสมัยหลังกับเงื่อนปมใหม่ทางการเมือง (ต่อ) 

ปัญหาจากที่กล่าวมานี้หากไม่นับการตกเป็นเบี้ยล่างให้แก่เจ้าของที่ดินดังที่กล่าวไปแล้ว เงินทองที่สั่งสมแล้วแทบไม่เหลือก็คือ การถูกพวกพ่อค้าขูดรีดเอาจากการฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้านั้นเอง

และนี่ก็คือเหตุผลที่ว่า เหตุใดจึงมีชาวนาอยู่ไม่น้อยที่คิดอ่านติดอาวุธให้กับตัวเอง หากมิใช่เพราะคิดก่อการกบฏ

ชนชาติตามที่กล่าวมานี้ถือเป็นชนชาติหลักๆ ที่ในรายละเอียดแล้วยังประกอบไปด้วยอนุชนชาติหรือชนชาติอื่นอยู่อีกจำนวนหนึ่ง ชนชาติเหล่านี้เป็นทั้งมิตรและศัตรูกับจีนสุดแท้แต่ละยุคแต่ละสมัย และมีปฏิสัมพันธ์เช่นนี้กับจีนมานานหลายร้อยปีก่อนหน้านี้แล้ว

เฉพาะยุคฮั่นนี้ถือเป็นยุคแรกๆ ที่ปฏิสัมพันธ์ได้เกิดขึ้นในขณะที่จีนเป็นจักรวรรดิแล้ว เมื่อนำปัญหานี้รวมเข้ากับปัญหาที่เกิดแก่ราษฎรตามที่กล่าวข้างต้น และรวมเข้ากับปัญหาการเมืองภายในราชสำนักที่เต็มไปด้วยการแก่งแย่งอำนาจแล้ว สิ่งที่ตามมาจึงมิใช่อะไรอื่น

หากคือ วิกฤตการณ์ที่เป็นไปอย่างถึงที่สุด เป็นไปอย่างที่ราชวงศ์ฮั่นมิอาจยืนอยู่ได้อีกต่อไป

 

ความลงท้าย

การศึกษาเกี่ยวกับกำเนิดของจักรวรรดิจีนตลอดบทนี้ทำให้เห็นว่า การทำจีนให้เป็นปึกเป็นแผ่นได้กลายเป็นหลักคิดที่ลงรากปักลึกแล้ว แต่กว่าที่จะเป็นเช่นนี้ได้จีนต้องผ่านศึกระหว่างรัฐต่างๆ นานนับหลายร้อยปี

ดังนั้น เมื่อลงรากปักลึกเช่นนี้แล้ว สิ่งที่เหลือจึงคือแนวทางในการทำให้จักรวรรดิอยู่อย่างเสถียรสถาพร และนั่นก็คือสิ่งที่ฉินล้มเหลวตลอดราชวงศ์ ด้วยแนวทางที่ฉินใช้นั้นคือแนวทางของสำนักนิตินิยม ที่ปกครองด้วยกฎหมายที่มีบทลงโทษที่อำมหิตเกินกว่าสังคมจีนจะรับได้

ดังนั้น ถึงแม้ฉินจะทำให้เห็นถึงความเป็นปึกแผ่นอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปเงินตรา มาตราชั่ง ตวง วัด และอักษรจีนให้มีรูปแบบและมาตรฐานเดียวกัน หรือการสร้างเส้นทางคมนาคมเชื่อมต่อถึงกันทั่วจักรวรรดิก็ตาม แต่การปฏิรูปที่ว่านี้ก็ไม่อาจเหนี่ยวรั้งมาตรการทางกฎหมายที่แข็งกร้าวไปได้ ฉินจึงล่มสลายไปด้วยเหตุนี้

เมื่อฮั่นก้าวขึ้นมาแทน ฮั่นได้เห็นข้อผิดพลาดบกพร่องของฉินแล้วนำมันมาสรุปบทเรียนให้แก่ตนเอง ฮั่นจึงใช้แนวทางที่ผ่อนคลายบนหลักคิดของลัทธิขงจื่อ ซึ่งแตกต่างกันมากกับหลักคิดนิตินิยมที่ฉินใช้ โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับจริยธรรมและคุณธรรม

ด้วยแนวทางที่ว่าจึงมีส่วนอย่างมากที่ทำให้ฮั่นเป็นราชวงศ์ที่อยู่มาได้กว่า 400 ปี

ส่วนวิธีแก้ปัญหาที่ฉินเคยประสบอย่างมีนัยสำคัญในเรื่องหนึ่งก็คือ เจตนารมณ์ที่จะให้อำนาจทั้งปวงอยู่ในมือของบุคคลในสกุลหลิว ในฐานะที่เป็นสกุลที่สถาปนาราชวงศ์ขึ้นมา แต่ก็ควรกล่าวด้วยว่า ตลอดเวลายาวนานดังกล่าวก็ใช่ว่าฮั่นจะไร้ซึ่งปัญหา

ปัญหาของฮั่นอาจแยกได้เป็นสามประการ

 

ประการแรก เป็นปัญหาเดิมๆ ที่เคยมีมาก่อนหน้านี้ นั่นคือ ความอ่อนแอของจักรพรรดิ หรือจักรพรรดิวางตนเป็นทรราช

ประการต่อมา เป็นปัญหาที่เกิดจากการมีผู้ใช้อำนาจแทนจักรพรรดิ ปัญหานี้แม้จะเคยมีมาในยุคก่อนหน้านี้ แต่ก็ไม่ชัดเจน กว้างขวาง และซับซ้อนเท่าในยุคฮั่น ปัญหานี้จึงเป็นปัญหาใหม่

ประการสุดท้าย แม้จะผูกขาดอำนาจโดยสกุลหลิวก็ตาม แต่วิธีนี้ก็ล้มเหลวเมื่อถึงเวลาหนึ่งบุคคลทั้งในและนอกสกุลหลิวต่างก็แย่งชิงอำนาจกันเอง กล่าวเฉพาะนอกสกุลหลิวแล้วกลุ่มที่มีความสำคัญกลุ่มหนึ่งก็คือ เจ้าศักดินา (จูโหว)

พ้นไปจากปัญหาดังกล่าวซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดจากเงื่อนปัจจัยภายในโดยตรงแล้ว ปัญหาที่เหลือซึ่งมีความสำคัญต่อจักรวรรดิอย่างมากก็คือ ความขัดแย้งที่มีกับชนชาติที่มิใช่ฮั่น

ปัญหานี้โดยมากมักมาจากจีนเป็นด้านหลัก คือมาจากการขยายดินแดนของจีน ส่วนที่ว่าชนชาติที่มิใช่ฮั่นเป็นภัยคุกคามของจีนนั้นมักเป็นปัญหารอง

ความขัดแย้งกับชนชาติที่มิใช่ฮั่นนี้มีมายาวนานก่อนหน้านี้หลายร้อยปีแล้ว พอมาถึงยุคฉินและฮั่นปัญหานี้ก็ยังคงอยู่ และจะยังคงอยู่ต่อไปแม้ในชั้นหลังอีกนับพันปีแม้จนทุกวันนี้

 

ส่วนการแก้ปัญหามักจะวนเวียนกันไปมาระหว่างการทำศึกกับการเจรจาเพื่ออยู่ร่วมกันอย่างสันติ หรือการแบ่งแยกแล้วปกครอง กรณีหลังนี้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อชนชาตินั้นๆ เกิดขัดแย้งกันเอง แล้วจีนก็ฉวยโอกาสอยู่ข้างฝ่ายหนึ่งแล้วต่อต้านอีกฝ่ายหนึ่ง ส่วนการแก้ปัญหาจะเป็นแนวทางใดย่อมขึ้นอยู่กับนโยบายของจักรพรรดิในแต่ละสมัย

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดแก่ฮั่นและจะยังคงเกิดแก่ราชวงศ์ในชั้นหลังนี้ ถึงที่สุดแล้วก็มิอาจทำลายแนวทางที่ฮั่นได้วางเอาไว้ในเรื่องหนึ่งคือ หลักคิดของลัทธิขงจื่อ ที่ราชวงศ์ในชั้นหลังต่อมาต่างก็สืบทอดแนวทางนี้เรื่อยมาแม้จนราชวงศ์สุดท้าย

เหตุดังนั้น จึงไม่แปลกหากจะกล่าวว่าฮั่นได้ริเริ่มสิ่งใหม่ๆ ให้แก่จักรวรรดิ และในฐานะผู้ริเริ่มการอธิบายเรื่องราวของฮั่นจึงมักใช้เนื้อที่ไปไม่น้อย

จะเห็นได้ว่า ปัญหาของฮั่นจากที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ถึงที่สุดแล้วบทบาทของจักรพรรดิจะมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด และยังคงสำคัญเช่นนี้แม้กับจักรพรรดิของราชวงศ์ในชั้นหลัง ฐานะนี้ของจักรพรรดิจึงเป็นตัวบ่งชี้ฐานะของจักรวรรดิไปในตัว ว่าจะมีเสถียรภาพมากน้อยเพียงใดหรือไม่มีเลยจนราชวงศ์ต้องล่มสลาย ซึ่งทั้งฉินและฮั่นต่างได้แสดงให้เห็นแล้ว

ราชวงศ์ทั้งสองจึงเป็นได้ทั้งต้นแบบที่สำเร็จและที่ล้มเหลวให้กับในราชวงศ์ต่อๆ มาเช่นกัน

 

กล่าวเฉพาะความล้มเหลวที่นำไปสู่การล่มสลายของฮั่นแล้วก็ไม่ต่างกับโจว ที่ในปลายราชวงศ์กษัตริย์ของราชวงศ์แม้จะมีอยู่แต่ก็ไร้ความสำคัญ และก็เพราะเหตุนี้เรื่องราวในช่วงก่อนฮั่นจะล่มสลายจึงเป็นเรื่องราวของบุคคลอื่นเป็นหลัก

ไม่ใช่เรื่องราวของจักรพรรดิอย่างที่ควรจะเป็นทั้งที่ราชวงศ์ยังไม่ล่มสลาย

เรื่องราวของบุคคลอื่นคือเรื่องราวของกลุ่มอำนาจทางการเมืองที่หลากหลาย คือหลากหลายทั้งที่มา ฐานะ และบทบาทที่มีสีสันชวนเร้าใจ จากเหตุนี้ ก่อนฮั่นจะล่มสลายลงอย่างแท้จริง (อย่างน้อยก็ในทางทฤษฎี) เวลาจึงผ่านไปเนิ่นนาน

และทำให้เรื่องราวของบุคคลอื่นถูกบอกเล่าไปเหมือนไม่มีจักรพรรดิอยู่ในจีน

ภาวะเช่นนี้จึงขัดแย้งกันในตัวอย่างน่าสนใจ และทำให้งานศึกษานี้ต้องอธิบายการล่มสลายของฮั่นผ่านเรื่องราวของบุคคลอื่นในบทต่อไป

อย่างไรก็ตาม นับแต่ที่จักรพรรดิฉินสื่อตั้งราชวงศ์ฉิน (ก.ค.ศ.221-206) และให้กำเนิดจักรวรรดิจีนเป็นครั้งแรก ฉินมีจักรพรรดิเพียงสองพระองค์ก็สิ้นวงศ์ ครั้นฮั่นตั้งราชวงศ์เพื่อสร้างจักรวรรดิขึ้นมาใหม่จนถึงสิ้นวงศ์ ฮั่นมีจักรพรรดิรวมทั้งสิ้น 26 พระองค์ โดยฮั่นสมัยแรกหรือฮั่นตะวันตก (ก.ค.ศ.206-ค.ศ.25) มีจักรพรรดิ 14 พระองค์ และฮั่นสมัยหลังหรือฮั่นตะวันออก (ค.ศ.25-220) มีจักรพรรดิ 12 พระองค์

โดยระหว่างนี้ฮั่นถูกคั่นกลางโดยราชวงศ์ซิน (ค.ศ.9-23) ซึ่งมีหวังหมั่งเป็นจักรพรรดิ และด้วยเหตุที่มีซินมาคั่นกลาง บางที่จึงระบุช่วงเวลาของฮั่นสมัยแรกไว้ที่ ก.ค.ศ.206-ค.ศ.9 คือไม่ระบุถึง ค.ศ.25

ดังนั้น การนับอายุของฮั่นจึงมีสองแบบ

จะนับแบบใดสุดแท้แต่เหตุผลในการอธิบาย แต่โดยทั่วไปแล้วมักนับรวมเวลาของซินเข้าไปด้วยเพื่อให้เห็นความต่อเนื่อง หรือไม่ก็ด้วยเห็นว่าช่วงเวลาของซินเป็นช่วงสั้นๆ เท่านั้น

หากนับเช่นนี้แล้วฮั่นจะมีอายุ 426 ปี โดยละไว้ในฐานที่เข้าใจว่ามีกรณีของซินรวมอยู่ด้วย

 

ในที่สุด จักรวรรดิจีนก็ถือกำเนิดขึ้นมา และเป็นผลผลิตที่ถูกบ่มเพาะมานานหลายร้อยปีก่อนกว่าที่จะเกิดมาได้ ดังนั้น กำเนิดของจักรวรรดิจีนจึงมิใช่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นลอยๆ โดยไร้ที่มาที่ไป หากคือปรากฏการณ์ที่เกิดบนฐานคิดที่ได้ปักหลักปักฐานอย่างมั่นคง ที่ไม่ว่าผู้ใดหลังจากนี้หากคิดอ่านจะตั้งตนเป็นใหญ่แล้วการตั้งตนนั้นจักต้องมุ่งไปสู่จักรวรรดิเท่านั้น

แต่การที่จักรวรรดิตั้งอยู่บนฐานคิดที่มั่นคงแล้วนี้ กลับมิได้หมายความว่าจักรวรรดิจะมีความมั่นคงไปด้วย ซึ่งก็มีเงื่อนปัจจัยหลายประการที่นำไปสู่ภาวะที่ว่านี้ แต่ประการที่สำคัญที่สุดคือ บทบาทของจักรพรรดิ

จักรพรรดิจึงเป็นเงื่อนปมสำคัญที่จะทำให้จักรวรรดิอยู่หรือไป