อภิญญ ตะวันออก : บนถนนสายหนึ่ง และการมาถึงของสายใจ

สมัยหนึ่งฉันต้องไปที่ศรีสะเกษ แต่เมื่อไปถึง กลับกลายเป็นเรื่องเล่าที่คลุมเครือของเพื่อนซึ่งอาศัยในหมู่บ้านเขตป่ายูคาลิปตัสก็ทำให้ฉันตกอยู่ในมนต์สะกดอันยากจะอธิบายได้

เช่น หมู่บ้านผีปอบ ฉันเองก็ไม่แน่ใจว่าหญิงปอบชราจะอยู่ที่นั่นหรือไม่ ตอนที่เราเฉียดเข้าไปใกล้กระท่อมอันเงียบสงัดของหญิงชราที่ถูกเล่าลือว่าคือปอบ

แม้จะไม่เห็นปอบตัวเป็นๆ และเราก็มาเพื่อสกู๊ปป่ายูคาลิปตัส ดูเอาเถอะ ถ้ารู้ว่าอนาคตกระดาษจะไร้ความสำคัญ ฉันก็คิดว่าเราน่าจะให้ความสำคัญกับเรื่องปอบมากกว่า หรืออย่างน้อยก็ไข่มดแดง ด้วง แมงมันและอื่นๆ ที่กลายมาเป็นอาหารฮิตของผู้คนบางกลุ่มในยุคนี้

แต่ศรีสะเกษก็เป็นจังหวัดแรกๆ ที่ผลิตเพลงเขมรออกมาในนามฝรั่งพูดไทย-ทอดด์ ทองดี ลาแวล แต่สุรินทร์ซึ่งมีเขตติดกันยุคนั้นกลับได้รับการประชาสัมพันธ์แต่เรื่องช้าง แต่ในหมู่ชาวบ้านแล้วกลับพูดกันแต่วัดหนึ่งซึ่งมีหลวงตา ว่ากันว่าเป็นผู้มีวิทยา-อาคมด้านการสะเดาะและต่อกระดูก

ฉันไปที่นั่น ได้เห็นอะไรหลายอย่างที่เรียกว่าวิทยา-อาคม ผู้คนก็มาก มากันทุกสารทิศ สำหรับฉัน ช่างเป็นเรื่องที่ไม่ควรลืมนักหรอก

เพราะตอนล้มแขนเดาะเมื่อวัยเด็กและยังอยู่ในป่า ก็ได้หมอบ้านคนหนึ่งมาต่อกระดูก

 

แต่สุรินทร์ เมืองที่ฉันชอบออกเสียงว่าซะเร็น และจะขำอีกเล็กน้อยถ้าพูดว่า “ไปซะเร็น ต้องเก็นสรา” (ไปสุรินทร์ ต้องกินสุรา) ในความจำอันคลับคล้ายคลับคลานั้น ฉันพบว่า เคยสนทนากับพระรูปหนึ่ง ขณะนั้นท่านกำลังนำเครื่องดนตรีพื้นบ้านและกันตรึมนำมาฝึกเด็กๆ เพื่อสู้กับไมเคิล แจ๊กสัน

น่าประหลาดใจมากที่ราชันลูบเป้าได้เข้ามามีอิทธิพลถึงที่นี่ และพระคุณเจ้าชรา ผู้รู้ในศาสตร์เขมร บาลีและภาษาประกิต กำลังส่งเสริมให้ลูกหลานพื้นถิ่นหันมาสนใจเพลงกันตรึมและอายัยของบรรพบุรุษ แม้ว่าขณะนั้น ศิลปินอายัยคนสุดท้ายจะพเนจรไปหนใดมิทราบ และกันตรึมก็ไม่ได้ถูกบันทึกเป็นเทปคาสเส็ตขายกันเผยแพร่อย่างที่ทราบ

นั่นเป็นที่ฉันจดจำในอดีต

สารภาพตามตรง พระคุณเจ้าก็คงมรณภาพไปนานแล้ว แจ๊กสันเองก็เช่นกัน ส่วนป่ายูคาลิปตัสนั่นก็ลดลงไปเองด้วยมูลค่าที่ไม่ขยายไปตามยุคสมัย ความวิบัติสิ่งแวดล้อมที่คาดการณ์ไว้ก็สิ้นสุดลงตรงเอาแน่เอานอนกับโลกานี้ไม่ได้ อะไรๆ มันไม่ได้ไปในทิศเดียวกันเสมอ

ด้วยเหตุนั้น สิ่งที่เราคาดว่ามันจะดับสูญ พลันก็กลับมาอีกครั้ง เช่นกันตรึมและภาษาเขมรพื้นถิ่นในอีสานใต้

และการกลับมาอย่างถูกที่ถูกเวลานี้ ช่างเป็นปรากฏการณ์อันรื่นรมย์ต่อฉันคนเล่าเรื่อง โดยความจริงเชิงประจักษ์นั้นก็คือ มีสตรีนางหนึ่งผู้มีนามว่า “เจน สายใจ” หรือสายใจ คุณมาส นักร้องสาวกันตรึมเชื้อสายเป็นเขมรสุรินทร์ต่างหากที่เป็นผู้นำพาไปสู่เส้นทางแห่งการฟื้นคืนดังกล่าว

 

แม้คำกล่าวนั้น จะเกริ่นมาก่อนหน้านี้ 2-3 ปีแล้ว เกิดตอนที่เจน สายใจ เดินทางไปทัวร์คอนเสิร์ตที่สหรัฐอเมริกาเมื่อ 4 ปีก่อน และได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น

แต่การกลับไปอีกครั้งในนามองค์การ I-CARE ที่ก่อตั้งโดยชาวเขมรสหรัฐผู้อุปถัมภ์ เจน สายใจ ทัวร์คอนเสิร์ตร่วม 20 มลรัฐตลอดระยะ 4 เดือนเต็ม อันจะจบก่อนฤดูใบไม้ร่วงจะมาเยือน

ขอเน้นว่า นี่คือการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนว่าจะมีนักร้องไทยที่ได้รับการต้อนรับไม่ต่างจากทูตวัฒนธรรม ทั้งๆ ที่เจน สายใจ ก็ไม่ได้เป็นนักร้องวัยใส เธอมีอายุ 43 ปีแล้ว ลำพังดวงตาคู่โตสดใสและเสียงอันเจือหวาน คงไม่ถึงกับทำให้คนเขมรไกลบ้านพากันหลงหนัก

มีความพ้องในทางใด จึงทำไมคนเขมรโพ้นทะเลสนใจในผลงานของเจน สายใจ?

ลำพังความเป็นแขฺมร์-สุรินทร์อย่างเดียวไม่น่าจะมีส่วนให้เธอมาไกลถึงเพียงนี้

 

แต่เจน สายใจ เป็นอีกความหมายหนึ่ง เธอคือส่วนหนึ่งของรอยต่อแห่งความหวังในสิ่งที่เขมรถิ่นกลางโหยหา คือสำเลง/สำเนียงอันใสซื่อของชาวแขฺมร์เลอหรือชาวเขมรบน ที่กล่าวกันมาตลอดว่า นี่คือแขฺมร์เดิม

และความโหยหาดังกล่าวนี้เอง ที่ทำให้เกิด “ปรากฏการณ์สองฟากวัฒนธรรม” โดยเฉพาะความรู้สึกที่ขาดหายอะไรบางอย่างในกลุ่มเขมรลี้ภัยที่อยู่ในสหรัฐ ผู้ที่โตมากับเพลงเก่าอันไพเราะไปด้วยทำนองและเนื้อภาษา แต่ยังซาบซึ้งได้ไม่ทัน ก็เกิดภัยสงคราม นำมาซึ่งการล้มหายตายจากในชีวิตครอบครัว

เจน สายใจ เป็นเหมือนมรดกวัฒนธรรมกัมพูชาของผู้ที่พลัดที่นาคาที่อยู่ แต่กลับเต็มเปี่ยมไปด้วยการสร้างแรงบันดาลใจ

ภาษาเขมรของเจน เมื่อแรกทัวร์สหรัฐครั้งแรก สุดจะ “สะเดียง” แต่ครั้งนี้ การขับร้องที่ได้รับการยอมรับว่าในขั้นดีมาก เธอมีแววร้องเพลงเก่า กลุ่มเพลงที่เขมรประเทศที่ 3 ต่างลุ่มหลงในความไพเราะงดงามของภาษาและดนตรี ในขณะที่สภาพวงการเพลงเขมรเดิมเขมรแท้กำลังถูก “กลืนกิน” ด้วยวิถีดนตรีป๊อปและวัฒนธรรมแร็ป ที่ส่งผลต่อความนิยมเพลงเก่ามรดกดั้งเดิม อย่างสะเทือนทีเดียว

สืบเนื่องนี้เอง ทาวน์มิวสิกต้นสังกัดจึงปรับลุกส์ให้เจน สายใจ จากนักร้องกันตรึมแนวตลก ทะลึ่งและสนุกสนานที่คิดว่าเหมาะกับตลาดล่าง แต่กลับพบว่าเพลง “ครูขี้เมา” ของเธอกลับถูกแบน สังกัดเจน สายใจ จึงเบนเข็ม จับเธอมาเป็นร้องแนวเพื่อชีวิต ด้วยวัยและน้ำเสียง เจนจึงกลายเป็นนักร้องเพลงมรดก “เพลงปีเดิม” เพียงคนเดียวของกัมพูชาเวลานี้ ที่สามารถต้านกระแสเพลงแร็พที่นิยมกันหนักในหมู่คนรุ่นใหม่

พลังกระแสดังกล่าว มีส่วนทำให้นักร้องคลื่นเก่าเกือบทุกคน รวมทั้งราชินีเพลงเขมรอย่างฮีม ซีวอน-เมง แก้วเพชจดา ตกกระแสทางอาชีพไปในทันที

โดยเหตุที่ศิลปินกัมพูชาส่วนใหญ่ล้วนเป็นกระบอกเสียงให้รัฐบาล ประชาชนที่ค่อนข้างเกลียดชังรัฐอยู่แล้ว จึงมาลงหนักที่ศิลปินกลุ่มนี้

ขณะที่การมาของเจน สายใจ ไม่ต่างจากศิลปินขนานแท้ที่ไร้พรรคการเมืองหนุนหลัง เธอยังแสดงถึงศักยภาพ ความพยายามที่จะพัฒนาการร้องเพลงเขมรเก่า หรือแม้แต่เพลงเขมรสุรินทร์อย่าง “โอละหน่าย” (ดัดแปลงจาก “โอละหนอ”/กัมพูชา)

และเพลงที่โดนใจคนเขมรมากที่สุดเวลานี้ คือเพลงที่ให้กำลังใจต่อความเป็นมนุษย์

 

นับแต่เพลง “ปักษีจำกรง” ที่ร้องโดยมุล กามาจ เรื่อยมา ชาวเขมรนอกราชอาณาจักร ดูจะไม่ประสบพบพานกับบทเพลงที่มีเนื้อหาเชื่อมั่นต่ออุดมการณ์และศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์เลย

แต่ “ลูกสาวตำรวจจราจร” ของเจน สายใจ ได้ปลุกปลอบชีวิตจิตใจของพวกเขาให้เชื่อมั่นต่อความดี ความเพียร ความอุตสาหะ และเชื่อมั่นว่า ไม่ว่ามนุษย์ยุคนี้จะถูกย่ำยีศักดิ์ศรีสักเพียงใด เธอและเขาก็จะต่อสู้กับโชคชะตาอย่างกล้าหาญ

บทสัมภาษณ์ต่อวีโอเอ/วอชิงตันตอนหนึ่ง ถึงความพยายามในการศึกษาเล่าเรียนกระทั่งสำเร็จการศึกษาระดับมหาบัณฑิตจากราชภัฏสุรินทร์ ขณะอายุ 42 ปีแล้ว เจนกล่าวว่า เธอใช้เวลา 2 ปีแรกไปกับชั้นเรียนเสาร์-อาทิตย์ และอีก 3 ปีไปกับวิทยานิพนธ์ (https:youtu.be/FlzSOZL4mkM)

ในทางอาชีพ เจน สายใจ ยังนำเงินส่วนหนึ่งที่เธอออกเดินสายในต่างประเทศ ทั้งยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย ไปกับการมอบอุปกรณ์การศึกษา กีฬา และปัจจัยไทยธรรมแก่โรงเรียนและวัดที่ขาดแคลน ในเขตเสียมเรียบ อุดรมีชัยและบันเตียเมียนเจีย ตลอดจนโรงเรียนตามแนวพรมแดนในจังหวัดสุรินทร์

บ่งบอกถึงคติที่มีต่อการศึกษา จนสื่อเขมรสำนักวอชิงตันมองว่า นี่คือต้นแบบของแรงบันดาลใจที่ดีต่อคนหนุ่มสาวกัมพูชาที่ต้องบากบั่นดิ้นรน และตอกย้ำว่า ทำไม I-CARE กัมพูชา จึงต้องการเจน สายใจ ไปเป็นตัวแทนแก่สถาบัน ซึ่งเจน สายใจก็ทำหน้าที่ด้านภาพลักษณ์ขององค์กรได้อย่างสมบูรณ์แบบ

ไม่แตกต่างใดเลย ที่จะกล่าวว่าเธอไม่ใช่เขมร

แต่เจน สายใจ กลับพิสูจน์อีกว่า ศิลปินชายขอบที่ยุคสมัยหนึ่งเคยถูกลืมทั้ง 2 ฝั่งพรมแดน แต่ความเป็นศิลปินคุณภาพนั้น คือเมล็ดแห่งพันธุ์กล้าที่สามารถสร้างสรรค์ประโยชน์ต่อสังคมเสมอ

ไม่ว่าเธอจะถือกำเนิดผ่านภพมาตุภูมิ หรือทางชนชาติพันธุ์

แต่เธอได้ลงมือเติมรอยทางอันเคยขุรขระและแห้งกรังที่คนรุ่นเก่าเคยถมไว้ ให้กลายมาเป็นหนทางแห่งความงามที่ราบเรียบและโล่งเตียน

รอวันหนึ่งวันใดที่จะเปิดกว้างออกไปอย่างไร้พรมแดน