บีนแบ็กในออฟฟิศนั้นสำคัญไฉน

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

วงการเทคโนโลยีเป็นวงการที่บริษัททุ่มสุดตัวเพื่อดึงดูดคนที่มีพรสวรรค์เข้ามาทำงานด้วย

และหนึ่งในวิธีที่จะทำให้คนเก่งๆ อยากเข้ามาทำงานและอยู่ไปด้วยกันนานๆ ก็คือการสร้างสิ่งแวดล้อมที่กระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และอำนวยความสะดวกพนักงานให้ได้มากที่สุด

ที่โดดเด่นในด้านนี้ก็เห็นจะเป็นกูเกิลกับเฟซบุ๊กซึ่งขึ้นชื่อเรื่องการมีออฟฟิศแสนสนุก ของกินฟรี มีสถานที่ออกกำลังกาย สระว่ายน้ำ เครื่องเล่นเกม บริการซักผ้า รถยนต์ไฟฟ้า รถจักรยานให้ใช้ฟรี และอื่นๆ อีกมากมายที่ช่วยลดความแข็งกระด้างของการเป็นบริษัทลง จนกลายเป็นคล้ายๆ กับสนามเด็กเล่นที่ผู้ใหญ่มารวมตัวกันเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมล้ำๆ ให้กับโลกใบนี้

หลังจากนั้นมาบริษัทอื่นๆ โดยเฉพาะบริษัทที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีก็พากันเดินตามเทรนด์นี้ด้วยการแข่งกันออกแบบออฟฟิศของตัวเองให้สนุกที่สุด โต๊ะพูล สไลเดอร์ บีนแบ็ก ห้องงีบ คลาสโยคะ ฯลฯ กลายเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกประจำออฟฟิศที่ขาดไม่ได้

ใครที่มาจากออฟฟิศที่ไม่มีของเจ๋งๆ เหล่านี้ ถ้าได้ไปเยือนก็จะต้องร้องอู้หู ด้วยความตื่นตะลึงปนอิจฉา และอดไม่ได้ที่จะรู้สึกหดหู่ทันทีที่กลับไปออฟฟิศตัวเองแล้วเห็นแต่ฉากกั้นโต๊ะทำงานสี่เหลี่ยมสีเทาเรียงกันเป็นพรืด กับแพนทรี่เล็กๆ ที่มีแค่กระติกน้ำร้อนกับขวดใส่ผงกาแฟ น้ำตาล และครีมเทียม พร้อมช้อนคนอันแสนเศร้าที่ทุกคนต้องใช้ร่วมกัน

แต่คำถามก็คือ เก้าอี้บีนแบ็ก สไลเดอร์ หรือของกินฟรี ที่ว่ามาทั้งหมด ใช่สิ่งที่พนักงานต้องการจริงหรือเปล่า

 

ลิงก์ทฺอิน (LinkedIn) โซเชียลเน็ตเวิร์กสำหรับติดต่องานได้ทำการสำรวจเกี่ยวกับเทรนด์วัฒนธรรมในที่ทำงาน? : กุญแจสำคัญสำหรับการดึงดูดคนมีพรสวรรค์ชั้นเยี่ยมในปี 2018 ออกมา หลายเรื่องน่าสนใจและน่าจะเป็นประโยชน์กับทั้งบริษัทที่ต้องการคนเก่งๆ มาร่วมงานด้วย ทั้งพนักงานที่เอาไว้ใช้เป็นมาตรฐานตรวจสอบว่าบริษัทไหนมีคุณสมบัติที่ดีที่น่าทำงานด้วย เราไปดูกันเลยค่ะ

เคล็ดลับที่ 1 : ลงทุนกับพนักงาน

ผลการสำรวจของลิงก์ทฺอินระบุว่าสิ่งที่จะทำให้พนักงานอยู่กับบริษัทนานกว่าห้าปีคือมีสวัสดิการที่แข็งแรง อย่างเช่น วันลา ลาคลอด ลาเลี้ยงบุตร หรือสวัสดิการทางด้านสุขภาพ พร้อมๆ ไปกับความรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้ทำงานในที่ที่ มีความสมดุลระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิต ที่ทำงานมีวัฒนธรรมที่ส่งเสริมให้พนักงานเป็นตัวของตัวเอง และการทำงานส่งผลกระทบด้านบวกให้เกิดขึ้นกับสังคม

เคล็ดลับที่ 2 : รักษาคุณค่า

71 เปอร์เซ็นต์ของคนที่ให้ข้อมูลในการสำรวจบอกว่าพวกเขายินยอมได้เงินเดือนที่น้อยลงเพื่อแลกกับการทำงานกับบริษัทที่พวกเขาเชื่อมั่นว่ามีคุณค่าที่ดีที่พวกเขาเห็นพ้องด้วย สองในห้าบอกว่าจะลาออกจากงานที่ทำอยู่ทันทีถ้าหากว่าพวกเขาถูกร้องขอให้ทำอะไรบางอย่างที่ขัดต่อศีลธรรมและความรู้สึกผิดชอบชั่วดีส่วนตัว

เคล็ดลับที่ 3 : สร้างวัฒนธรรมให้ทุกคนรู้สึกว่าอยู่ถูกที่ถูกทาง

ความหมายของข้อนี้ก็คือ การสร้างสิ่งแวดล้อมให้พนักงานรู้สึกว่าพวกเขาได้อยู่ในที่ที่สามารถเป็นตัวของตัวเองได้มากที่สุด พนักงานหันไปรอบข้างก็เจอแต่เพื่อนร่วมงานที่แคร์กันอย่างจริงใจ ซึ่งนี่ถือเป็นกุญแจสำคัญที่สุดในการที่จะทำให้พนักงานอยู่กับองค์กรได้นานกว่าห้าปี นั่นก็คือการทำให้พนักงานรู้สึกเพลิดเพลินกับการทำงานและเพื่อนร่วมงานที่ส่งเสริมให้พวกเขาเป็นตัวของตัวเองได้นั่นเอง

ผลการสำรวจยังบอกอีกว่า คนทำงานกว่า 70% จะออกจากงานทันทีถ้าหากว่าต้องทนกับวัฒนธรรมในที่ทำงานที่แย่ แม้ว่าตัวเองจะทำงานอยู่ในบริษัทชั้นนำที่มีชื่อก็ตาม

ขณะที่คนอีก 65% บอกว่า ถ้าเจอที่ทำงานแย่ก็จะยอมทิ้งงานแล้วไปรับเงินเดือนที่ต่ำกว่า

หรือยอมทิ้งตำแหน่งสูงๆ เพื่อแลกกับการไม่ต้องทนทำงานในที่ที่มีสิ่งแวดล้อมไม่เป็นมิตร

 

กลับมาตอบคำถามที่ถามไว้ตอนต้นกันค่ะ

ผลสำรวจนี้บอกว่า สิ่งดึงดูดใจอย่างเช่น อาหารฟรี ห้องเล่นเกม หรืออะไรต่อมิอะไรทั้งหลายแหล่ที่ตอนนี้กลายเป็นจุดขายของบริษัทจำนวนมากนั้นไม่ใช่สิ่งที่พนักงานอยากได้ขนาดนั้น แถมยังเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ดึงดูดใจน้อยที่สุดในบรรดาปัจจัยทั้งหมดเสียด้วยซ้ำ ซึ่งสิ่งที่พนักงานอยากได้มากกว่าบีนแบ็กหรือโต๊ะสนุ้ก คือการได้เห็นว่าบริษัทมีโครงการต่างๆ ที่จะช่วยส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ของพนักงาน หรือโอกาสในการทำงานเพื่อสังคมมากกว่า

จริงอยู่นะคะว่าคนจำนวนไม่น้อยเลือกทำงานในที่ที่ได้เงินเดือนเยอะที่สุด เพราะเงินเดือนคือสิ่งที่จับต้องได้ พร้อมจ่ายพร้อมใช้

เวลาพ่อแม่พี่ป้าน้าอาถามตัวเลขก็ตอบได้อย่างภาคภูมิใจ

แต่จะเห็นได้ชัดว่าเทรนด์ของการตัดสินใจเลือกที่ทำงานโดยดูจากปัจจัยอื่นก็มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

สวัสดิการชั้นเยี่ยมที่เพียงพอต่อความต้องการประกอบกับการทำงานกับคนที่เข้ากันได้อาจจะเป็นสิ่งที่ทำให้พนักงานอยู่กับองค์กรได้นานจนฝ่ายทรัพยากรบุคคลไม่ต้องปวดหัวกับเทิร์นโอเวอร์ที่สูงลิบลิ่ว

อีกหนึ่งตัวอย่างที่น่าสนใจของการสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิตให้กับพนักงานเพื่อดึงดูดใจให้อยู่ด้วยกันไปนานๆ

ก็อย่างเช่นกรณีของบริษัทควัลทริกส์ (Qualtrics) บริษัทผู้ผลิตซอฟต์แวร์ ที่คิดนโยบายที่ล้ำมากๆ ออกมา

ควัลทริกส์ให้เงินพนักงานกว่า 1,700 คน คนละ 1,500 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณห้าหมื่นบาท) ให้เอาไปใช้ซื้อประสบการณ์ที่ปกติจะไม่ได้ซื้อหากันได้ง่ายๆ ไม่ว่าจะเป็นการไปดำน้ำกับปลาฉลาม ไปกำแพงเมืองจีน ไปกระโดดร่มจากบนเครื่องบิน ไปดูละครเวทีบรอดเวย์ ฯลฯ โดยที่บริษัทจะไม่เข้ามายุ่มย่ามอะไรด้วยเลย

พนักงานอยากทำอะไรก็วางแผนเอาเอง แล้วใช้เงินห้าหมื่นบาทที่บริษัทให้ไปทำซะ

เสร็จแล้วก็เอากลับมาเล่าให้เพื่อนพนักงานด้วยกันได้ฟังบ้างก็เท่านั้น

ผู้บริหารของควัลทริกส์บอกว่านี่เป็นโอกาสที่พนักงานจะสามารถทำกิจกรรมอะไรก็ได้ที่เคยคิดเอาไว้ว่าอยากทำให้สำเร็จก่อนตาย

ซึ่งกิจกรรมที่ทำก็จะไม่ถูกนำมาประเมินผลหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำงาน เป็นเพียงการให้ประสบการณ์ที่แปลกใหม่กับพนักงานโดยหวังว่าพวกเขาจะส่งต่อประสบการณ์ที่ดีนั้นให้กับลูกค้าของบริษัทอีกทอดหนึ่ง

ที่มาของนโยบายนี้ก็มาจากการสำรวจความต้องการของพนักงานยุคมิลเลนเนียลซึ่งเป็นพนักงานส่วนใหญ่ของบริษัทและเป็นเจเนอเรชั่นที่บอกว่าต้องการประสบการณ์มากกว่าข้าวของเงินทอง ดังนั้น บริษัทไหนที่มีกลุ่มมิลเลเนียลทำงานอยู่เยอะก็น่าจะลองนำโจทย์ข้อนี้ไปขบคิดต่อนะคะว่ามีประสบการณ์แปลกใหม่ที่มีคุณค่าแบบไหนบ้างที่สามารถหยิบยื่นให้พนักงานได้

กลยุทธ์ไหนจะเหมาะสมที่สุดในการดึงดูดพนักงานมีความสามารถให้ทำงานกับบริษัทได้นานๆ นั้นอาจจะไม่มีสูตรตายตัว และขึ้นอยู่กับลักษณะของแต่ละบริษัทที่แตกต่างกันออกไป

บางทีสิ่งที่เวิร์กกับบริษัทหนึ่งก็อาจจะไม่เวิร์กกับอีกบริษัทก็ได้

แต่ซู่ชิงเชื่อว่า สิ่งที่สำคัญก็คือการทำให้ทุกคนในทีมเห็นตรงกันถึงความสำคัญของงานว่ามันสามารถเปลี่ยนสังคมของเราให้ดีขึ้นได้อย่างไรบ้าง เพราะนี่จะเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนเราไปข้างหน้าเรื่อยๆ ได้นานที่สุด

แล้วจะมีอาหารฟรี ดนตรีเพราะ เบาะนอนนุ่มเพิ่มให้ด้วยก็คงไม่มีใครปฏิเสธแน่นอน