พิศณุ นิลกลัด : ประโยชน์เหลือเชื่อ ของการปั่นจักรยาน

พิศณุ นิลกลัด

การแข่งขันจักรยาน ตูร์ เดอ ฟรองซ์ จะเข้าเส้นชัยในวันอาทิตย์ที่ 29 กรกฎาคมนี้ หลังจากเริ่มแข่งขันกันมาตั้งแต่วันที่ 7 กรกฎาคม

มีรายงานการศึกษาที่น่าสนใจ ตีพิมพ์ใน European Heart Journal เมื่อปี 2013 นำโดยคณะแพทย์ผู้ศึกษาจากโรงพยาบาล European Georges Pompidou ในกรุงปารีส พบว่านักปั่นจักรยานชาวฝรั่งเศสที่แข่งขันตูร์ เดอ ฟรองซ์ มีอายุยืนกว่าชายฝรั่งเศสทั่วไปถึง 6 ปี และมีอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็ง, โรคระบบหายใจ, โรคระบบทางเดินอาหาร รวมทั้งโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด น้อยกว่าคนทั่วไป

คณะผู้ศึกษาได้เก็บข้อมูลสุขภาพจากนักปั่นจักรยานชาวฝรั่งเศสที่ร่วมแข่งตูร์ เดอ ฟรองซ์ จำนวน 786 คน ตั้งแต่ปี 1947 ถึง 2012

จากนักปั่น 786 คน มีจำนวน 208 คนที่เสียชีวิตในปีต่างๆ จนถึงปี 2012

คณะแพทย์ผู้ศึกษาให้ความเห็นว่า การที่นักปั่นตูร์ เดอ ฟรองซ์ ชาวฝรั่งเศส มีอายุยืนกว่าชายฝรั่งเศสทั่วไป อาจเป็นเพราะนักปั่นมีกรรมพันธุ์ดี หรืออาจมาจากการปั่นจักรยาน ฝึกซ้อมอย่างหนัก ซึ่งต้องทำการศึกษาเพื่อหาข้อสรุปต่อไป

สมัยนี้การปั่นจักรยานเป็นวิธีออกกำลังกายที่ได้รับความนิยมทั่วโลก

เพราะคนทุกเพศทุกวัยสามารถขี่จักรยานได้

และมีการศึกษามากมายยืนยันประโยชน์ของการปั่นจักรยานว่าดีต่อทั้งร่างกาย จิตใจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

งานวิจัยจาก British Heart Foundation สำรวจชายและหญิง 600 คนในอังกฤษ พบว่าคนจำนวน 23% ต้องการออกเดตกับนักปั่นจักรยานมากกว่านักกีฬาประเภทอื่น

นอกจากนี้ยังมองว่านักปั่นจักรยานมีความฉลาดและเท่กว่าคนทั่วไป 13% และใจบุญกว่าคนทั่วไป 10%

สําหรับคนที่มีคู่อยู่แล้ว งานสำรวจของ Cyclescheme ในสหราชอาณาจักร ซึ่งศึกษาผลกระทบระหว่างการปั่นจักรยานและชีวิตรัก พบว่าคนจำนวน 89% บอกว่าการปั่นจักรยานจากที่ทำงานกลับบ้านช่วยให้เขามีอารมณ์ที่ดีกับแฟน เพื่อน และครอบครัว

66% คิดว่าการปั่นจักรยานช่วยพัฒนาความสัมพันธ์ให้พวกเขา

39% บอกว่าการเดินทางไปไหนมาไหนด้วยจักรยานทำให้พวกเขามีพลังมากขึ้น และช่วยเสริมชีวิตรักให้ปึ๋งปั๋ง

รอเจอร์ วอล์กเกอร์ (Roger Walker) ที่ปรึกษาด้านระบบปัสสาวะของโรงพยาบาล Spire St. Anthony”s Hospital ในเมืองเซอร์เรย์ ประเทศอังกฤษ บอกว่าการปั่นจักรยานได้รับการพิสูจน์มาแล้วว่าช่วยพัฒนาระบบหัวใจและหลอดเลือด และทำให้เลือดสูบฉีดดีขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพให้ชีวิตรัก

เป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับคนที่อยู่หรือกำลังก้าวเข้าสู่วัยกลางคน

ที่ประเทศอิตาลี ดร.โรมูอัลโด้ เบลาร์ดิเนลลี่ (Dr. Romualdo Belardinelli) ผู้บริหารของสถาบันหัวใจลานชีซี่ (Lancisi Heart Institute) ในเมืองอันคอนา (Ancona) ได้ทำการทดสอบกับผู้ชายจำนวน 30 คนที่ประสบปัญหาเสื่อมสมรรถภาพทางเพศและกล้ามเนื้อหัวใจไม่แข็งแรง

โดยให้ปั่นจักรยาน 3 ครั้งต่อสัปดาห์เป็นเวลาติดต่อกัน 8 สัปดาห์ พบว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่กับผู้ที่มีปัญหาด้านหัวใจ

โดยนอกจากร่างกายจะดูดซึมออกซิเจนได้มากขึ้นและเลือดไหลเวียนได้ดีขึ้นแล้ว

ในการทำแบบสำรวจยังพบว่าภรรยาและแฟนชื่นชมพวกเขาว่าสามารถแสดงลีลากุ๊กกิ๊กได้เร่าร้อนยิ่งกว่าเดิมด้วย!!!

การปั่นจักรยานเป็นประจำยังช่วยขจัดความซึมเศร้า และทำให้ร่างกายจัดการกับฮอร์โมนความเครียดอย่างอะดรีนาลิน (Adrenaline) และคอร์ติซอล (Cortisol) ได้ดีขึ้นด้วย

เพราะการที่ฮอร์โมนความเครียดเหล่านี้หลั่งออกมามากจะส่งผลเสียต่อชีวิตรัก ทำให้ความตื่นตัวทางเพศหยุดชะงัก

สิ่งที่นักปั่นจักรยานหลายๆ คนต่างกังวลกันอยู่ตลอดก็คือ การนั่งปั่นจักรยานเป็นเวลานานๆ จะทำให้เกิดอาการชาบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ได้ทั้งชายและหญิง รวมถึงอาการฟกช้ำและติดเชื้อ

ซึ่งรอเจอร์ วอล์กเกอร์ บอกว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยผู้ชายที่ปั่นจักรยานบ่อยๆ และเป็นเวลานาน รายงานว่าอวัยวะเพศตอบสนองต่อความรู้สึกช้า มีอาการชาที่ฝีเย็บซึ่งอยู่ระหว่างอวัยวะเพศกับทวารหนัก รวมถึงอาการต่อมลูกหมากอักเสบ

แต่ก็ยังไม่มีการศึกษาใดที่เชื่อมโยงว่าการปั่นจักรยานเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดมะเร็งต่อมลูกหมากในผู้ชาย

งานศึกษาหนึ่งจากประเทศนอร์เวย์ที่เน้นเรื่องผลข้างเคียงของอานจักรยานต่อนักปั่นผู้ชาย ได้สอบถามนักปั่นจักรยานผู้ชายจำนวน 160 คนที่เพิ่งผ่านการปั่นทัวร์จักรยานระยะทาง 521 กิโลเมตร พบว่านักปั่นจำนวน 1 ใน 5 คนมีอาการชาบริเวณอวัยวะเพศ ซึ่งบางรายอาการคงอยู่นานเป็นสัปดาห์

และผู้ชายจำนวน 21 คน (13%) ยังประสบปัญหาน้องชายไม่แข็งตัวในสถานการณ์จำเป็น

แต่อาการเหล่านี้จะดีขึ้นเมื่อผ่านไปอย่างน้อย 1 สัปดาห์

เรื่องของอานจักรยาน ทางประเทศสหรัฐอเมริกาก็ได้ทำงานวิจัยกับตำรวจสายตรวจหน่วยหนึ่งของเมืองซินซินเนติ รัฐโอไฮโอ ที่ต้องปั่นจักรยานตรวจตราความเรียบร้อยเฉลี่ยวันละ 5 ชั่วโมงครึ่งทุกวัน

ก็พบว่าหลายคนมีความรู้สึกชาบริเวณอวัยวะเพศ

ซึ่งกลุ่มที่ปั่นนานที่สุดใน 1 วันก็มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอาการน้องชายไม่แข็ง

และคนที่ทิ้งน้ำหนักตัวลงบนอานจักรยานเยอะๆ จะเป็นกลุ่มที่เจอปัญหามากที่สุด

แต่รอเจอร์ วอล์กเกอร์ บอกว่า นักปั่นจักรยานทุกคนสามารถวางใจได้ เพราะปัจจุบันอานจักรยานมีเทคโนโลยีและการออกแบบที่ก้าวหน้ามากขึ้น

เนื่องจากทุกคนตื่นตัวกับอาการต่างๆ ที่เป็นปัญหาและคิดค้นเครื่องมือป้องกันไม่ให้เกิดอาการเหล่านั้น

ทำให้แม้ว่าจำนวนนักปั่นจักรยานผู้ชายจะมีมากขึ้น แต่รายงานปัญหาด้านระบบปัสสาวะไม่ได้สูงขึ้นตามไปด้วย

โดยรวมแล้วงานวิจัยพบว่าประโยชน์ที่ได้รับจากการปั่นจักรยานมีมากมายกว่าความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาความบกพร่องทางเพศและระบบปัสสาวะ นอกจากนั้นยังช่วยบริหารหัวใจ เผาผลาญแคลอรี่ สร้างกล้ามเนื้อ และบริหารข้อต่อสำคัญๆ ได้โดยไม่เกิดแรงกระแทกเหมือนกับการวิ่ง

และที่สำคัญ…ผ่านการพิสูจน์มาแล้วว่าช่วยทำให้ชีวิตรักปึ๋งปั๋งมากยิ่งขึ้น