เส้นทางสู่อำนาจ : วิถีแห่งรัฐประหาร

มุกดา สุวรรณชาติ

ปฏิบัติการ ไล่ล่า กลุ่มปรีดี พนมยงค์

เมื่อใช้นามปากกา “แมลงหวี่” เขียนเบื้องหลังประวัติศาสตร์ บทที่ 1 ว่าด้วยการปฏิวัติแบบปาฏิหาริย์ ในหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย ฉบับวันที่ 28 พฤศจิกายน 2490

ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เริ่มด้วยข้อความ

วงการที่ใกล้ชิดกับครอบครัวคุณควง นายกรัฐมนตรีปัจจุบันกล่าวกันว่า ด้วยเหตุที่คุณควงไม่ยอมเปลี่ยนแว่นให้เหมาะกับสายตาเวลาอ่านหนังสือมักจะอ่านผิดๆ พลาดๆ จนบางทีฟังเอาเรื่องไม่ได้

เช่นคนชื่อนายกิม อ่านเป็นนายหงิม คำว่ารัฐบาลอ่านเป็นรัฐประหาร ดังนี้เป็นต้น

ครั้นเมื่อคณะทหารได้ก่อการปฏิวัติขึ้นครั้งนี้มีเอกสารทางราชการเสนอผ่านมือคุณควงหลายฉบับ ซึ่งกล่าวถึงการปฏิวัติของคณะทหาร เวลาอ่านถึงคำว่าปฏิวัติทีไรคุณควงอ่านผิดเป็นปาฏิหาริย์ไปทุกที จนผู้ฟังซึ่งรวมตลอดถึงบุคคลในคณะรัฐบาลของคุณควงเองอ่อนใจ

เลิกทักท้วง

จึงเป็นอันว่า ในวงคณะของคุณควง การปฏิวัติรอบปีพุทธศักราช 2490 นี้ ท่านเรียกว่าปาฏิหาริย์ ตะปูควงคงไม่ทราบเลยว่า เกลียวตะปูที่ท่านขันลงไปด้วยคำคมคำนั้นได้จี้ถูกเส้นประชาชนถึงใจเพียงไร

การปฏิวัติครั้งนี้จะเป็นการขบถผิดกฎหมายหรือไม่ มิไยประเทศมหาอำนาจจะรับรองหรือไม่รับรองรัฐบาลก็ตาม ประชาชนชาวไทยส่วนมากเห็นด้วยกับคุณควงว่า การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองคราวนี้เป็นปาฏิหาริย์อย่างมหัศจรรย์

เหตุก็เพราะว่า การปฏิวัติได้บังเกิดขึ้นในท่ามกลางความหิวกระหายของประชาชนชาวไทย

 

รัฐประหาร 2490
ตามมติประชาชน

“แมลงหวี่” ได้แจกแจงต่อไปว่า ถ้าจะว่าตามทฤษฎีของหม่อมเสนีย์ ประการแรก ว่าด้วยอาหารใจ ประชาชนกำลังข้องใจอยู่ด้วยความลึกลับแห่งกรณีสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ซึ่งคณะปาฏิหาริย์สามารถคลี่คลายออกมาได้

ประการที่สอง ว่าด้วยอาหารท้อง

การปฏิหาริย์ครั้งนี้ก็ได้ก่อให้เกิดความหวังขึ้นในหมู่ประชาชนว่า คณะรัฐบาลคุณควงจะสามารถกวาดล้างการทุจริตในวงการบริหาร และปรับปรุงระดับค่าครองชีพให้ลดลงพอควร ให้ประชาชนมีทางยังชีพต่อไปได้โดยผาสุก

การปฏิวัติที่จะมีผลยั่งยืนอยู่ได้นั้นก็เพราะเป็นการปฏิวัติของประชาชน ด้วยความเห็นชอบและการสนับสนุนของประชาชน

เมื่อมองกันในทรรศนะนี้การปฏิวัติเมื่อปี พ.ศ.2475 กระเดียดค่อนข้างจะเป็นการปฏิวัติตามทฤษฎี

แต่การปฏิวัติในปี พ.ศ.2490 นี้เป็นการปฏิวัติตามมติของประชาชน

ทั้งนี้ก็เพราะเมื่อคณะปฏิวัติได้ทำการยึดอำนาจและเปลี่ยนการปกครองจากระบอบราชาธิปไตยมาเป็นประชาธิปไตยเมื่อ พ.ศ.2475 นั้น ประชาชนชาวไทยยังไม่พร้อมที่จะปฏิวัติตามด้วย การเดินทางตามวิถีทางรัฐธรรมนูญตลอดเวลา 15 ปีมานี้จึงเป็นมาด้วยอาการกะปลกกะเปลี้ยอย่างที่สุด

แต่วิถีทางของประชาธิปไตยนั้นไม่ว่าในประเทศไหนจะเป็นไปโดยราบรื่นสะดวกสบายตลอดทางนั้นไม่มี ต้องคอยแก้ไขปรับปรุงกันไปตลอดทางจนกว่าประชาชนของชาติจะตื่นขึ้นรับแสงสว่างแห่งประชาธิปไตย และพร้อมที่จะรับเอาเครื่องมือของประชาธิปไตยไปใช้ปกครองตัวเอง

เปรียบเหมือนสอนเด็กเดิน กว่าจะเดินได้แข่งก็ต้องมีล้มลุกคลุกคลาน หน้าโน ปากเจ่อไปบ้าง แต่ก็ยังดีกว่าที่จะอุ้มเข้ากะเอวกันเรื่อยไปจนเด็กเป็นง่อยเดินไม่ได้

การที่เป็นมา 15 ปีนี้จึงไม่เสียหลาย

โดยเฉพาะความอลเวงทางการเมืองในยุคกรุงแตกก่อนการปฏิวัติแบบปาฏิหาริย์ครั้งนี้ได้เป็นเครื่องกระตุ้นเตือนปลุกให้ประชาชนชาวไทยตื่นขึ้นเป็นอันมาก ถึงขนาดที่จะเข้าใช้สิทธิปกครองตนเองเพื่อป้องกันมิให้โจรการเมืองเข้าปล้นระหว่างหลับได้อีก

ความหวังจึงมีอยู่ทั่วไปว่า วาระนี้จะเป็นการเปิดศักราชใหม่โดยการปฏิวัติตามทฤษฎีของผู้ก่อการ พ.ศ.2475 จะก้าวไปสู่การปฏิวัติประชาธิปไตยด้วยความเห็นชอบสนับสนุนของประชาชน

 

หนทางสะดวก
ของประชาธิปัตย์

หากอ่านข้อเขียนของ “แมลงหวี่” จะเห็นได้ว่า ทาง 1 สดุดีการรัฐประหารเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 ขณะเดียวกัน ทาง 1 ตั้งความหวังว่ารัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ ได้ปลุกและเพาะสร้าง “ความหวัง” ที่จะแก้ไขปัญหาให้ประชาชน

ความหวัง 1 คือความหวังที่จะร่วมมือกับคณะรัฐประหารบดขยี้เครือข่ายของอำนาจเก่าคือ นายปรีดี พนมยงค์

ความหวัง 1 คือความหวังที่พรรคประชาธิปัตย์จะสร้างกรอบทางการเมืองใหม่ให้กับตนเอง

“ปรากฏอยู่ในคำแถลงนโยบายทางการทหารซึ่งนายกรัฐมนตรีได้แถลงต่อหนังสือพิมพ์ นโยบายที่แถลงนี้มีใจความสำคัญว่า จะจัดให้ทหารเป็นกำลังของชาติอย่างแท้จริง และจะป้องกันมิให้ทหารเล่นการเมือง กับจะขัดขวางมิให้นักการเมืองใช้ทหารเป็นเครื่องมือดำเนินนโยบาย”

หลักการในทาง “ความคิด” นี้ได้รับการอธิบายอย่างเป็น “รูปธรรม” พร้อมกันด้วยว่า

“ด้วยเหตุที่บุคคลในคณะรัฐบาลผสมของคุณควงได้แถลงความจริงใจอันเป็นที่เชื่อฟังได้ว่าแต่ละคนมิได้มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องด้วยในการปฏิวัติครั้งนี้ จึงน่าจะเชื่อฟังได้ต่อไปว่า นโยบายที่แถลงนี้เป็นนโยบายอันแท้จริง มิใช่นโยบายอัดแผ่นเสียงที่เคยใช้กันมา

โอกาสกำลังคอยท่าอยู่แล้วที่รัฐบาลคุณควงจะได้ดำเนินการตามนโยบายแบ่งแยกอำนาจตามว่านี้ให้สมดุลเพื่อความมั่นคงของบ้านเมืองในอนาคต

โดยฝากอำนาจสังหารไว้แก่ทหาร แต่ในเวลาเดียวกัน ยึดอำนาจทางจิตใจและความนิยมของประชาชนไว้แก่นักการเมือง

ด้วยวิธีแบ่งแยกอำนาจดังนี้ เมื่อใดนักการเมืองบริหารงานด้วยความเห็นแก่ตัว ไม่เป็นประโยชน์แก่ชาติและประชาชน อำนาจย่อมมีอยู่แก่ฝ่ายทหารที่จะใช้ฟาดฟันนักการเมืองให้สิ้นอำนาจทางการเมืองได้ แต่ในเวลาเดียวกัน ถ้าทหารใช้อำนาจทำลายนักการเมือง ผู้บริหารราชการโดยซื่อสัตย์สุจริตแก่ชาติและประชาชน อำนาจก็ยังมีอยู่แก่ประชาชนที่จะประณามว่าทหารทำการขบถทรยศต่อชาติ”

หลักการนี้เองที่พรรคประชาธิปัตย์นำไปบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2492

 

แผนการมหาชนรัฐ
หมัดตรงจากทหาร

ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ กับคณะรัฐประหาร เริ่มขึ้นเพียง 1 สัปดาห์หลังการรัฐประหาร

1 รัฐบาลได้ออกพระราชกำหนดคุ้มครองความสงบสุขเพื่อให้การดำเนินการไปตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2490 โดยให้คณะรัฐประหารมีอำนาจใช้กำลังทหารเพื่อการป้องกันและปราบปรามผู้กระทำการต่อต้านการรัฐประหาร

พระราชกำหนดนี้ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช แถลงถึงเป้าหมายและเหตุผลตรงไปตรงมา

“ตราบใดที่เสรีไทยยังไม่วางอาวุธ ทหารก็จะต้องคอยคุมเชิงอยู่ จะได้ขอแรงจอมพลให้ช่วยเก็บอาวุธเสรีไทยก่อนให้เรียบร้อยราบคาบ”

1 คณะรัฐประหารโดย พ.ท.กาจ เก่งระดมยิง ได้แถลงถึงการพบ “แผนการมหาชนรัฐ”

จากนั้น ก็นำไปสู่การค้นบ้านมะลิวัลย์กองบัญชาการหนึ่งของเสรีไทย การจับ พ.อ.ทวน วิชัยขัทคะ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม

การจับนายเสนาะ นิลกำแหง และนายชาญ บุญนาค เสรีไทย

การออกประกาศจับนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์, นายเตียง ศิริขันธ์, นายทองเปลว ชลภูมิ อดีตรัฐมนตรี ตามมาด้วยการค้นบ้านนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ พบห้องใต้ดินมีอาวุธซ่อนอยู่มากมาย การจับนายวิจิตร ลุลิตานนท์ พร้อมกับข้อหาให้เงินสนับสนุนแก่ฝ่ายพลพรรคมหาชนรัฐ

“แมลงหวี่” ได้กล่าวถึง “แผนการมหาชนรัฐ” ในหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย ฉบับวันที่ 13 พฤศจิกายน 2490 ว่า

“บุคคลที่เป็นกลางและไม่เห็นด้วยกับการใช้กำลังเปลี่ยนแปลงรัฐบาลต้องยอมจำนนต่อเหตุผลฝ่ายคณะปฏิวัติ 9 พฤศจิกายน ก็เพราะเหตุอันเดียวกันนี้เอง และต้องยอมรับว่า ถ้ารัฐประหารแบบธรรมปฏิวัติวันที่ 9 พฤศจิกายน ไม่เกิดขึ้นเสียก่อนด้วยผลที่ไม่มีการหยาดโลหิตคนไทยแม้แต่คนเดียวนั้นแล้ว การปฏิวัติแบบโลกาวินาศนองเลือกที่ 30 พฤศจิกายน ก็จะบังเกิดขึ้น”

เป็นการเขียนภายหลังการค้นบ้านนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ พร้อมกับคำแถลงที่ว่าพบอาวุธจำนวนมากมาย

 

วุฒิสภา สภาขุนนาง
ประชาธิปัตย์เดินหน้า

ตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2490 กำหนดให้มีวุฒิสมาชิกจำนวน 100 คนที่พระมหากษัตริย์จะต้องทรงแต่งตั้ง

ปรากฏว่าในจำนวน 100 คน

มีบรรดาศักดิ์ระดับเจ้าพระยา 1 ระดับพระยา 53 ระดับพระ 15 ระดับหลวง 9 เป็นเชื้อพระวงศ์ 12 รวมแล้วมาถึง 90 จาก 100

“แมลงหวี่” ยกย่องอย่างชื่นชมว่า

“วุฒิสภาของเรานี้เป็นสภาประวัติศาสตร์ ชื่อของสมาชิกแต่ละท่านฟังดูเหมือนจะอ่านออกมาจากหน้ากระดาษพงศาวดารไทย”

มาถึง ครม.นายควง อภัยวงศ์

ปรากฏว่า พระยาศรีวิสารวาจา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ม.จ.วิวัฒนไชย ไชยันต์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง น.อ.พระยาศราภัยพิพัฒน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ม.ล.เดช สนิทวงศ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พล.ท.ชิต มั่นศิลป์ สินาดโยธารักษ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ม.จ.สิทธิพร กฤดากร เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ

ส่วนคณะรัฐประหารได้ขอโควต้าเพียง 3 ตำแหน่งจากทั้งหมด 21 ตำแหน่ง

หนังสือ “พลิกแผ่นดิน” ของประจวบ อัมพะเศวต ระบุว่า เพื่อให้ความมั่นใจกับรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ให้สัญญาว่า

ข้อ 1 ข้าพเจ้าไม่เป็นนายกรัฐมนตรีหรือครองตำแหน่งทางการเมืองตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง

ข้อ 2 ข้าพเจ้าไม่คิดจะตั้งพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่งขึ้น และยึดพรรคนั้นเป็นเครื่องมือเพื่อหาอำนาจทางการเมือง

ข้อ 3 ข้าพเจ้าไม่คิดลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

ช้อ 4 อำนาจทางการเมืองทั้งสิ้นข้าพเจ้ายกให้นายกรัฐมนตรีคนใหม่คือ นายควง อภัยวงศ์

ข้อ 5 ข้าพเจ้าจะไม่ชักจูงให้รัฐบาลเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศ โดยเฉพาะเกี่ยวกับพันธกรณีตามสนธิสัญญา และเรื่องการส่งข้าวไปเลี้ยงชาติที่อดอยาก

อย่าได้แปลกใจหาก “แมลงหวี่” จะจบข้อเขียน “ว่าด้วยการปฏิวัติแบบปาฏิหาริย์” ว่า

“ประชาชนจะลืมเสียไม่ได้ว่าหลักประกันอันมั่นคงที่สุดนั้นคณะทหารผู้ทำการปฏิวัติได้ให้ไว้แล้วเป็นเยี่ยงอย่างอันดีงามสมกับความปรารถนาดีของเขา

หลักประกันนั้นคือ การที่คณะปฏิวัติไม่ได้เรียกร้องขออำนาจหรือประโยชน์ตอบแทนอะไร

รางวัลสูงสุดเขาได้รับแล้วคือ การรับใช้ชาติบ้านเมืองด้วยการเสี่ยงชีวิตเข้าดำเนินการรัฐประหารครั้งนี้ ถ้าประชาชนจะถือเอาเป็นแบบอย่างอันดีต่อไปว่า ในการปฏิวัติหรือก่อรัฐประหารนั้นบุคคลผู้ร่วมก่อการจะต้องไม่เรียกร้องขออำนาจหรือผลประโยชน์ตอบแทนอย่างใดแล้ว

ต่อไปข้างหน้า การปฏิวัติก็จะเป็นไปเพื่อประโยชน์ของชาติโดยแท้ และจะเป็นวิธีการที่พึงนำมาใช้ต่อเมื่อถึงคราวคับขันหมดทางไป ทั้งจะไม่เป็นวิถีทางสำหรับโจรการเมืองเข้าปล้นชาติดังที่เป็นมาแล้ว

หลักการอันนี้ ประชาชนชาวไทยมอบให้เป็นของขวัญแก่คณะทหารผู้ก่อการปฏิวัติเพื่อรักษาไว้ด้วยดีตลอดไป”

เป็นการเขียนเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2490