เปิดใจ ‘ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ’ ถึงเวลา นปช.ต้องปฏิรูป! ส่วนพลังดูดแค่ตื่น แต่ไม่ต้องเต้น

“ใครก็ตามที่หวังผลในสนามเลือกตั้งและอยากจะสนับสนุนกระบวนการสืบทอดอำนาจก็ต้องพยายามย่อยสลายหรือพยายามทำให้ นปช. ซึ่งเป็นขบวนการที่ชัดเจนว่ายืนอยู่ตรงข้ามรัฐประหารมาตลอด ต้องทำให้อ่อนแอลง วิธีการที่ง่ายที่สุดก็คือการใช้วิธีแบบโบราณ คือไล่ดูดอย่างที่เป็นอยู่ในเวลานี้ ซึ่งผมเชื่อว่าคนที่กำลังทำ เขาประเมินสถานการณ์ผิดและไม่เข้าใจความเป็นมาของ นปช.ดี คงคิดว่าสิ่งที่ทำอยู่นี้จะทำให้เราอ่อนแอลง แต่ตรงกันข้ามมันจะทำให้เกิดความเข้มแข็งขึ้นด้วยซ้ำ”

นั่นคือคำตอบยืนยันจาก เต้น-ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. ที่มองต่อประเด็นร้อน หลังมีความพยายามจากกลุ่มก้อนการเมืองมาเดินหน้าดูด ฐานราก โดยพุ่งเป้ามาที่กลุ่มคนเสื้อแดง นปช.

ณัฐวุฒิมองว่าในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา นปช. ตรึงตัวเองอยู่ในที่ตั้งด้วยเหตุผลความจำเป็นหลายประการ กรณีดูดและพยายามดึงตัวครั้งนี้ ทำให้มวลชนเกิดความตื่นตัว มีการตรวจสอบกันเองภายในและส่วนใหญ่ยังคงยืนยันเรื่อง “หลักการประชาธิปไตย”

“คำถามสำคัญจากพี่น้องจากต่างจังหวัดถามผมเข้ามามากว่าสถานการณ์นี้เราจะทำอย่างไร?”

“ผมก็บอกว่าไม่ต้องทำอะไร ให้นั่งดูเฉยๆ ประโยชน์ที่ได้ก็คือทำให้เราตื่น แต่ไม่ต้องเต้น เพราะใครก็ตามที่ข้ามเส้นหลักการประชาธิปไตย ไปสนับสนุนการสืบทอดอำนาจ ถือว่าวินาทีนั้นไม่ใช่ นปช.อีกต่อไป และนั่นไม่ใช่คนส่วนใหญ่ เป็นเพียงจำนวนน้อยนิด”

“ถ้ามองปรากฏการณ์นี้ให้ไปสัมพันธ์กับผลการเลือกตั้งหลายครั้งที่ผ่านมา โดยโฟกัสที่พรรคเพื่อไทยก็จะพบว่าก่อนหน้านี้พรรคเพื่อไทยเจอสถานการณ์ที่หนักกว่าวันนี้มามาก เช่น รัฐประหารปี 2549 มีแกนนำพรรคคนสำคัญแยกตัวออกไปตั้งพรรคการเมืองอยู่มากมาย หรือหลังการพ้นตำแหน่งของนายกฯ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ มีกลุ่มเพื่อนเนวินออกไปสนับสนุนนายอภิสิทธิ์ แต่หลังจากนั้นผลการเลือกตั้งก็ชัดเจนว่าคนยังสนับสนุนพรรคเพื่อไทยอยู่”

“สำหรับ นปช. ผมเชื่อว่าความมั่นคงในหลักการมีมากกว่านักการเมืองในระบบ เพราะนักการเมืองในระบบ ได้ต่อสู้ในเขตเลือกตั้งของตัวเอง พอถึงเวลาก็จับกลุ่มรวมตัวกันในพรรค ซึ่งเกิดจากผลประโยชน์ทางการเมือง และความสัมพันธ์ส่วนบุคคล”

“แต่สำหรับ นปช. ที่มีความรู้สึกร่วมกัน ผ่านการต่อสู้กันมา ร่วมเป็นร่วมตาย ต้องแบกรับความไม่ยุติธรรมทั้งหลายทั้งปวงที่เราเห็นกันอยู่ ทำให้นี่ไม่ใช่เรื่องที่ใครจะมาแยกหรือฉุดไปได้ง่ายๆ”

“โดยสรุปก็คือว่า เป็นธรรมดาที่เขาต้องโฟกัสเราเป็นเป้า แต่ด้วยความที่คนจะมาดูดมีระดับพัฒนาการทางการเมืองน้อยกว่าคนที่จะถูกดูด พูดให้ชัดไปเลยว่ากลุ่มสามมิตรมีความยึดโยงกับหลักการประชาธิปไตยน้อยมาก แม้คนที่มีอำนาจ-บทบาททางการเมืองมากกว่า แต่พลังเรื่องหลักการน้อยกว่า จะไม่สามารถมาดูดกลุ่มมวลชนที่มีพลังในทางการเมืองสูงกว่าไปได้”

“ส่วนชื่อที่ออกมา หรือว่ามีคนที่หวั่นไหว คนหวั่นไหวส่วนใหญ่คือคนที่ใจพร้อมจะไปอยู่แล้ว ถ้าจะสังเกตหลายรายชื่อที่ปรากฏมาเรารู้กันเป็นการภายในก่อนหน้านี้แล้วว่าเขาอาจจะไม่ได้อยู่ร่วมกับ นปช. สื่อมวลชนอาจรู้สึกว่านี่มันน่าตื่นเต้น”

“แต่สำหรับพวกผมมันไม่ใช่ “ข่าวใหม่” เราได้เห็นร่องรอยและสภาพหัวใจกันมาตลอด”

“ผมเติบโตพร้อมๆ กับ นปช. ผมไม่ใช่คนเดือนตุลา ผมไม่ใช่คนพฤษภาทมิฬ ผมเริ่มต้นพร้อมกับ นปช. ผมจึงมั่นใจว่าผมรู้จักและเข้าใจขบวนการนี้ดี แล้วผมสัมผัสถึงพัฒนาการนี้ด้วยตัวเอง”

“ผมบอกพรรคพวกเพื่อนฝูงว่าอย่าไปหวั่นไหว กลุ่มสามมิตรหรือว่าพลังดูดตอนนี้ทำหน้าที่เป็นหน่วยคัดแยกคนที่ใจไม่พร้อมออกไป กรณีของคุณสุภรณ์ อัตถาวงศ์ (แรมโบ้อีสาน) ก็ไม่ได้เหนือความคาดหมาย ก่อนหน้านี้ก็รับทราบข่าวและเห็นท่าทีประมาณนี้จากคุณสุภรณ์อยู่แล้ว”

“เมื่อเจ้าตัวออกมาประกาศก็ถือว่าความสัมพันธ์ในนาม นปช.ยุติไป แต่ความเป็นเพื่อนยังคงอยู่ และผมคงจะไม่ไปเหยียบย่ำ ถือว่าเราปล่อยมือและแยกทางกันตรงนี้สำหรับอุดมการณ์ จากนี้อะไรจะเกิดขึ้นในวันข้างหน้าขอให้เป็นเรื่องของหลักการ ให้ประชาชนทำหน้าที่ตัดสินใจ”

“ส่วนความพยายามใช้เรื่องของความปรองดองมาอ้างว่าทุกวันนี้มีเสื้อแบ่งฝักแบ่งฝ่ายนั้น ผมมองว่า ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่าคนใส่สีเสื้อไม่เหมือนกัน ไม่ได้พูดคุยกัน เพราะปกติเวลาผมเจอแกนนำของอีกฝ่ายหนึ่งไม่ว่าจะเป็นพันธมิตรหรือ กปปส. ตามงานสังคมต่างๆ เราก็ทักทายพูดคุยกัน ลึกๆ ในใจก็ไม่มีใครที่จะคิดฆ่าแกงกันหรือว่าเป็นศัตรูส่วนตัวระหว่างกัน”

“ดังนั้น การที่จะสร้างเรื่องปรองดอง เพียงแค่ให้ทุกคนละสีเสื้อ ให้ทุกคนลืมทุกสิ่งที่เกิดขึ้นหรือหันหน้ามาคุยกัน ผมมองว่าเป็นเรื่องที่ผิวเผินมาก 10 กว่าปีที่ต่อสู้กันมากลายเป็นเรื่องเสียเวลาเปล่า วันนี้สำคัญที่สุดก็คือว่าเราต้องช่วยทำให้บ้านเมืองนี้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงก่อน แล้วเดินหน้าไปตามหลักสากล ถ้ามีสิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐาน ต่อให้คนใส่สีเสื้อไม่เหมือนกันเลย ความปรองดองยังเกิดขึ้นได้ อย่าไปอธิบายคำว่า “ปรองดอง” ปนกับคำ “ผลประโยชน์ทางการเมือง” หรือ “เป้าหมายทางอำนาจ” ที่ซ่อนอยู่ในสถานการณ์นี้”

“ขณะที่การนำเรื่องคดีความมาเป็นหนึ่งในข้อเสนอ เป็นการทำลายโครงสร้างของประเทศทั้งระบบ ถ้าเกิดขึ้นจริงเท่ากับว่าคนกลุ่มนี้กำลังจะควบคุมทั้งอำนาจนิติบัญญัติ เพื่อดูดคนให้ได้ ส.ส. มากที่สุด คุมทั้งฝ่ายบริหารคือการสืบทอดอำนาจ แล้วก็ต้องไปกำกับฝ่ายตุลาการ เพราะสามารถใช้กระบวนการยุติธรรมในการต่อรองเป็นเครื่องมือช่วยดูดผู้คนให้เข้ามาร่วมได้ ถ้าเป็นจริงนี่ไม่มีสัญญาณอะไรเลยที่บอกได้ว่าบ้านเมืองจะออกจากวิกฤต ยิ่งทำให้ปัญหาดำดิ่งลงลึกเสียหายมากขึ้น”

“บทเรียนที่พลังดูดครั้งนี้จะได้รับ ผมคิดว่านี่คือบทเรียนซ้ำแล้วซ้ำเล่าของคณะรัฐประหาร ไม่มีเกมการเมืองใดที่ประชาชนจับไม่ได้ไล่ไม่ทัน โดยเฉพาะปัจจุบันที่สังคมไทยมีพัฒนาการทางการเมืองอย่างรวดเร็วมาก”

“การรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนทำได้อย่างทันท่วงทีตลอดเวลา แต่ว่ามันก็น่าประหลาดใจอยู่ตรงที่ว่า แม้จะมีบทเรียนในอดีตที่เห็นว่าทำแบบนี้ไม่สำเร็จ แต่คณะยึดอำนาจทุกชุดก็พยายามที่จะเดินตามรอยเก่าทุกที เวลานี้สิ่งที่เป็นอยู่ไม่ใช่นวัตกรรมใหม่ทางการเมือง มันเป็นเพียงการย่ำซ้ำรอยเดิม และผมก็เชื่อว่า บทสรุปก็คงไม่ต่างไปจากเดิม”

“ภาวนาแต่เพียงว่าเมื่อฝ่ายผู้มีอำนาจหรือกระบวนการในการสืบทอดอำนาจได้ทำทุกอย่างตามแผนการที่วางไว้แล้ว ถึงที่สุด เขาควรที่จะ “เคารพการตัดสินใจของประชาชน” อย่าไปใช้อำนาจบิดเบือนมติของประชาชนส่วนใหญ่ เพราะถ้าหากเป็นแบบนั้นมันก็สุ่มเสี่ยงที่จะเกิดเหตุการณ์บานปลายได้”

“นปช. เองคงไม่สามารถไปจัดวางตัวเองให้เป็นตัวแปรสำคัญในการเลือกตั้งครั้งหน้าได้ แต่เราจะยึดหลักการประชาธิปไตยอย่างถึงที่สุด เราไม่ยอมรับนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และด้วยข้อจำกัดที่เราไม่สามารถที่จะเคลื่อนไหวอะไรได้ ทำให้พวกผมเองนั่งทำการบ้านกันภายใน แล้วเราพบว่ายังมีหลายเรื่องที่ นปช.ต้องพัฒนาหรือใช้คำว่าปฏิรูปก็ได้ เพื่อให้เป็นองค์กรที่พร้อมสำหรับการต่อสู้สำหรับสถานการณ์ในอนาคต บางเรื่องเราเองก็จำเป็นต้องทบทวน จำเป็นต้องปรับแก้”

“แต่สำหรับกลุ่มอื่น ผมไม่แน่ใจว่าเขายังคงสภาพเป็นองค์กรต่อสู้ทางการเมืองหรือไม่ เพราะอย่างพันธมิตรฯ ก็ประกาศยุติบทบาทตัวเองไปนานแล้ว ในขณะที่ กปปส. กลายเป็นพรรค รปช. ซึ่งไม่สามารถจับต้องจุดยืนได้เลย เพราะว่าในเวลานั้น กปปส. ประกาศหัวเด็ดตีนขาดว่ายังไงก็ “ต้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” ถึงขั้นขัดขวางไม่ให้คนไปลงคะแนน”

“แต่มาวันนี้ เขากลับมาแสดงความพร้อมสูงสุดที่จะเลือกตั้งถึงขั้นไปตั้งพรรคการเมือง ทั้งที่เรื่องการปฏิรูปก็ยังไม่มี หรือตอนนั้นเขาประกาศยอมตายถวายชีวิตเพื่อต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น แต่วันนี้ที่มีข่าวความไม่ชอบมาพากลในการใช้อำนาจของคณะปัจจุบันมากมายแต่ก็ไม่มีปฏิกิริยาเลย”

“ผมเคยฟังคำให้สัมภาษณ์ของคุณสุเทพหน้าศาลอาญารัชดาฯ เมื่อถูกถามเรื่องการตรวจสอบคอร์รัปชั่น คุณสุเทพบอกว่าไม่ได้มีหน้าที่เป็นฝ่ายค้าน จึงไม่ต้องดำเนินการตรงนี้ ซึ่งต่างกับท่าทีเมื่อปี 2556-2557 ดังนั้น ขบวนการมวลชนที่จุดยืนหรือหลักการเคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลา ส่วนตัวผมไม่แน่ใจว่า แบบนี้จะเรียกว่าขบวนการต่อสู้ได้หรือ?”

“นปช.เราล้มลุกคลุกคลาน เลือดโซมกายแผลเต็มตัว เราเริ่มต้นด้วยการต้านรัฐประหารปี 2549 วันนี้จุดยืนของเราก็ยังคงต้านรัฐประหารอยู่ เราเชื่อว่ากระบวนการประชาธิปไตยสามารถแก้ไขในตัวมันเอง โดยไม่มีอำนาจนอกระบบ แม้ว่า นปช. อาจจะไม่เข้มแข็งเหมือนกับในอดีต แต่เรายืนยันยังอยู่ แต่สำหรับบางกลุ่มผมหาร่องรอยไม่เจอแล้วว่าเขาจะอยู่ที่ไหน หรือหลักการที่เขายึดถือคืออะไร” ณัฐวุฒิทิ้งท้าย